Skip to main content
sharethis

ในบรรยากาศที่น่าปวดร้าวเช่นปัจจุบัน God Bless the Child เป็นเพลงแจ๊สที่เหมาะสมกับประเทศยามนี้ในความรู้สึกของกูรูแจ๊ส จิรภัทร อังศุมลี หรือ ‘สิเหร่’ หนึ่งในนักเขียนที่เดินทางไปเยี่ยม 7 นักศึกษา ด้วยความเชื่อว่าพวกเขาคือความหวัง

‘แด่ 7 เงา’

7 เงาพาดผ่านซี่กรง
แม้ตัวตนจะถูกคุมขัง
ถึงไม่มีแสงตะวัน
แต่กลับทรงพลังและท้าทาย
7 เงาทอดยาวและหวัง
เธอจุดพลังให้ส่องแสง
ดับความมืดอันรุนแรง
ให้ตะวันส่องแสงคืนมา

.........

เป็นบทกวีสั้นๆ ที่ จิรภัทร อังศุมาลี เขียนให้แก่นักศึกษา นักกิจกรรม ทั้ง 7 คนในวันที่เขาเดินทางไปเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พร้อมลูกโป่งและหนังสือในมือ

ใครคือจิรภัทร อังศุมาลี? เขาคือนักเขียนรุ่นใหญ่คนหนึ่งของวงการ งานของเขาผ่านเข้ารอบซีไรต์หลายครั้ง เช่น นวนิยายเรื่อง ‘คราบ’ รวมเรื่องสั้น ‘วิปริต’ ขณะที่อีกตัวตนหนึ่งของเขา...ถ้าดนตรีแจ๊สเป็นศาสนา เขาก็คงเปรียบได้กับเจ้าลัทธิ งานเขียนบอกเล่าเรื่องราวของดนตรีแจ๊สของ ‘สิเหร่’ ถูกจัดเป็นงานคลาสสิกไปแล้ว... บางทีการแนะนำเขามากไปกว่านี้อาจเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย

เรานัดหมายกับเขาที่ร้านขายแผ่นเสียง Recoroom ภาพของ Bill Evans นักเปียโน แจ๊ส ระดับตำนาน แปะอยู่บนผนังร้าน (เปล่า, เราไม่ได้รู้จัก Bill Evans เราถาม และจิรภัทรตอบ นั่นทำให้เราต้องมาหาเพลง My Foolish Heart ของเขาฟังในภายหลัง) หนังสือ วรรณกรรม หรือดนตรีแจ๊ส ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะสนทนากับเขาในวันฟ้าครึ้มเช่นวันนี้

แต่จะคุยเรื่องที่อึมครึมกว่านั้น-การเมือง

 

เราเป็นคนค่อนข้างจะเสรีนิยมด้วยซ้ำไป

14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องถึง 6 ตุลาคม 2519 จิรภัทรผ่านบทเรียนเจ็บปวดของการเมืองไทยในฐานะนักข่าวและนักเขียน เขาเล่าว่าเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เขาถูกเรียกตัวให้เร่งปิดต้นฉบับ เรื่องราว 14 ตุลาคม 2516 เป็นความโชคดีที่เขาต้องนั่งเขียนงาน แทนที่จะไปอยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ตามหน้าที่ปกติที่เขาทำในช่วงนั้น เขาไม่ใช่ประเภทขาบู๊ ไม่ใช่พวกที่ชอบออกไปแอคชั่นอยู่หน้าขบวน ไม่เคยเข้าป่า หลัง 6 ตุลาคม เขาหลบไปอยู่ที่ภูเก็ตบ้านเกิดช่วงสั้น เอาหนังสือต้องห้าม 200 กว่าเล่มในยุคนั้นใส่ลังไปฝากข้างบ้านที่กรุงเทพฯ

“อย่างพวกผมเป็นพวกที่กำลังจะตาย เป็นพวกที่ไม่ค่อยมีประโยชน์แล้ว มันก็ควรจะแบบว่า เอ่อ ควรจะออกมาแสดง ต่อต้านในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม มันควรจะมีบ้าง”

“คนแบบเราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เราเป็นคนค่อนข้างจะเสรีนิยมด้วยซ้ำไป เราดูหนัง เราฟังเพลง เราสูบกัญชา เพียงแต่เรารักความเป็นธรรม คืองเราไม่ใช่คอมมิวนิสต์แน่นอน ให้ผมเข้าป่าก็ไม่เอา ทำไมต้องให้เราเข้าป่า ผมยังอยากดู ยังอยากฟังเพลง ชีวิตผมเป็นแบบนี้”

จิรภัทรยังเคยไปนั่งฟังการปราศรัยขับไล่ทักษิณ ชินวัตร สมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่เคยออกหน้า เขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย...

“แต่ทำไมพอเขาออก มันควรจะจบ แต่คุณไปเรียกทหารมาปฏิวัติทำไม ผมไม่เข้าใจ อย่างคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) คุณก็มาจากประชาธิปไตย คุณก็มาจาก ส.ส. แล้วอยู่ๆ คุณจะมาปฏิรูปประเทศอะไรของคุณ ผมว่ามันตลก จริงๆ มันเป็นข้ออ้างแค่นั้นเอง คุณทักษิณก็อาจเป็นข้ออ้าง เหมือนก่อนสมัย 6 ตุลาที่มีผีคอมมิวนิสต์ ทักษิณก็เหมือนผีคอมมิวนิสต์คนหนึ่ง เพียงแต่ยุคสมัยมันต่างกัน”

 

น้องๆ พวกนี้ทั้งหมดคืออนาคตของชาติ พวกผมเป็นพวกที่กำลังจะตาย

เขาชอบอยู่เงียบๆ กับเพลงแจ๊สและเขียนหนังสือ มนุษย์ผู้ฝักใฝ่เสรีนิยมการจะให้ถือธงนำการประท้วงคงเป็นสิ่งเกินวิสัย แต่การออกมาเปิดหน้าเปิดตามาเยี่ยม 7 นักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง (ก่อนหน้าเขาเคยเดินทางไปเยี่ยม 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม) ค่อนข้างผิดวิสัยของตัวเขาเอง เพราะอะไร? เกิดการแตกหักทางความคิด ความรู้สึก หรือว่าทนไม่ไหว?

“ก็ไม่ใช่ว่าไม่ไหว แต่คล้ายๆ กับว่ามันน่าจะเป็นหน้าที่ของคนทำงานศิลปะ ที่นอกจากจะเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่เป็นเยาวชน น้องๆ พวกนี้ทั้งหมดคืออนาคตของชาติที่แท้จริง ตอนนี้มันอยู่ในจุดที่ขนาดน้องๆ เด็กๆ เขาถูกกระทำที่แบบค่อนข้างจะไม่เป็นธรรม เราในฐานะผู้ที่อายุ 60 กว่าแล้วก็ควรจะเป็นผู้ที่ให้กำลังใจเขา มันควรจะเป็นหน้าที่ของเรา พอถึงจุดหนึ่งก็ควรจะออกมาเปิดเผยตัว แต่ก็ไม่ยังไม่ชอบนะ ไม่ใช่ว่าจะชอบอะไรแบบนั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่จะลุยก็เอา บางทีมันก็คล้ายๆ ว่าจำเป็นเพื่อที่จะให้น้องๆ เขาเห็นว่าเราก็ใส่ใจเขา

“มันน่าจะเป็นหน้าที่ของคนทำงานศิลปะ ที่นอกจากจะเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่เป็นเยาวชน น้องๆ พวกนี้ทั้งหมดคืออนาคตของชาติที่แท้จริง ตอนนี้มันอยู่ในจุดที่ขนาดน้องๆ เด็กๆ เขาถูกกระทำที่แบบค่อนข้างจะไม่เป็นธรรม”

“อย่างพวกผมเป็นพวกที่กำลังจะตาย เป็นพวกที่ไม่ค่อยมีประโยชน์แล้ว มันก็ควรจะแบบว่า เอ่อ ควรจะออกมาแสดง ต่อต้านในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม มันควรจะมีบ้าง ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้นำ ไม่ได้คิดอะไรแบบนั้นนะ เพียงแต่ว่ามันถึงเวลา คล้ายๆ กับว่าให้พวกเขารู้บ้างว่าคนที่วัยแบบเดียวกับเขา ไม่ได้ชอบ ไม่ได้คิดแบบเขาเสมอไป เพราะคน คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มันก็วัยเดียวกันผมนั้นแหละ 60 กว่าขึ้นไปทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของคนแก่ที่เห็นแก่ตัว พูดง่ายๆ คือให้เห็นว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่วัยเดียวกับมึง เขาก็ไม่ได้ชอบมึง ไม่ได้เอ็นจอยกับสิ่งที่มึงเขียนออกมา ไม่ได้เอ็นจอยกับที่มึงบอกว่า 2 ปี ออกกฎหมายมากกว่านักการเมือง 5 เท่า แล้วมันเป็นกฎหมายที่ไหน มันเป็นคำสั่ง ใครก็ทำได้ถ้าเป็นลักษณะอย่างเดียวกับพวกมัน นึกถึงความจริง มันก็ควรจะมีการตอบโต้บ้างเท่าที่เป็นไปได้”

 

คุณบอกว่าคุณชอบประชาธิปไตย แต่ทำไมคุณต้องเอาทหารมาปกครอง

คนในแวดวงขีดๆ เขียนๆ รับรู้ดีว่า ความขัดแย้งทางการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมาสร้างความแตกร้าวต่อผู้คนในวงการมากเพียงใด ความคิดถูกตัดแบ่งเป็นสองขั้ว พร้อมกับมิตรภาพที่เคยมีถูกตัดขาดออกเป็นสองฟาก จิรภัทรไม่ใช่ข้อยกเว้น

“จริงๆ จะว่าทะเลาะก็ไม่ทะเลาะ เพียงแต่คล้ายๆ กับว่าแบ่งกันชัดเจนขึ้น เขาเปิดเผยตัวเขา โอเค มันก็ชัดเจนว่าเขาอยู่ฝ่ายโน้น เขาเอ็นจอยกับพวกปฏิรูป เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับทหาร แต่เขาต้องการปฏิรูป แต่อย่างน้อยๆ ที่แน่ๆ คนพวกนั้นเขาเกลียดทักษิณ ซึ่งถ้าถามผม เราก็ไม่ชอบทักษิณ ทักษิณก็ทุนนิยมตัวใหญ่เลย มันไม่ได้มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยอะไร ถึงขนาดบอกว่าถ้าจังหวัดไหนไม่เลือกเพื่อไทยก็ไม่ได้งบประมาณ คือคนแบบนี้ก็ไม่ต่างจากคุณประยุทธ์สักเท่าไหร่ ต่างกันตรงไหน ความคิดเหมือนกันด้วยซ้ำไป ถ้าถาม เราก็ไม่ชอบทักษิณ เพียงแต่ว่าเราชอบประชาธิปไตย ก็เท่านั้นเอง

“เพื่อนๆ ที่คบกัน คุณบอกว่าคุณชอบประชาธิปไตย แต่ทำไมคุณต้องเอาทหารมาปกครอง ปฏิรูปอะไร ผมไม่เข้าใจ ถ้าการเมืองมันเลว มันก็เลวมาตลอด ก็แค่ไปตามระบบของมัน ยิ่งลักษณ์ลาออก ก็จบแล้ว คุณก็เลือกตั้งกันใหม่ จริงๆ แล้วคล้ายๆ ว่ามันเป็นข้ออ้างทั้งหมด มันเป็นข้ออ้างของระบบ ของทุนใหญ่ ของคนแก่ที่ตามโลกไม่ทัน ของคนแก่ที่อ้างว่าเป็นคนดีที่คับแคบและล้าหลัง ต้องบอกว่าหน้าด้านด้วย ต้องบอกว่าเขาทำทุกอย่าง เขาไม่แคร์ มันไม่ใช่การปฏิรูปบ้าบออะไร ปรองดองก็ไม่มี 2 ปีกว่า มันจะปรองดองกันได้ยังไง”

“คุณบอกว่าคุณชอบประชาธิปไตย แต่ทำไมคุณต้องเอาทหารมาปกครอง ปฏิรูปอะไร ผมไม่เข้าใจ ถ้าการเมืองมันเลว มันก็เลวมาตลอด ก็แค่ไปตามระบบของมัน”

ถามว่าเขาทำอย่างไรกับความหมางเมินที่เกิดขึ้น

“ผมก็ตามใจเขา เราไปบังคับเขาไม่ได้ ถ้าไม่พูดก็ไม่พูด ก็โอเค มีน้องๆ หลายคนที่เคยยกมือไหว้ มันก็ไม่ยกมือไหว้ ผมก็แล้วแต่ ผมก็ไม่เดือดร้อน เรื่องของเขา ก็เป็นสิทธิของเขา ผมว่าช่างมันเถอะ”

“คุณหลอกคนที่เสพงานของศิลปะของคุณไม่ได้”

งานศิลปะคืออะไร? มันจำเป็นต้องไปด้วยกันกับประชาธิปไตยหรือเปล่า? ดูจะเป็นคำถามใหญ่ที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบ ปัญหาอยู่ตรงที่ศิลปินต่างเชื่อว่างานที่ตนทำออกมาก็เพื่อประชาธิปไตย ไม่ก็เพื่อความดีงามบางชนิดที่อยู่เหนือประชาธิปไตย

สำหรับจิรภัทร ความจริงใจเป็นองค์ประกอบแรกๆ ของการทำงานศิลปะ...

“คุณต้องจริงใจกับงานเขียนของคุณ งานศิลปะของคุณ ไม่รู้สิ ถ้าคุณชอบเผด็จการ คุณทำงานศิลปะชูเผด็จการ ก็เป็นสิ่งที่คุณจริงใจกับงานคุณ ก็ไม่เห็นว่าคุณผิดอะไร แต่ถ้าคุณบอกว่าคุณรักประชาธิปไตย คุณทำงานออกมาชูประชาธิปไตย แต่การกระทำของคุณเป็นอีกแบบหนึ่ง อันนี้ผมว่าตลก คุณหลอกตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องยึด ต้องเข้าใจเสมอสำหรับคนที่ทำงานศิลปะ คือคุณหลอกคนที่เสพงานของศิลปะของคุณไม่ได้ คุณไม่สามารถหลอกเขาได้ งานศิลปะมันฟ้องปัญหาของคุณอยู่ในงานคุณ คุณไม่สามารถเลี่ยงได้ คุณพูดเก่ง คุณฉลาดยังไง แต่พอคุณทำงานออกมา ผมมองงานคุณ ผมก็รู้แล้วว่าจริงหรือไม่จริง งานศิลปะมันหลอกคนไม่ได้

“ถ้าคุณบอกว่าคุณรักประชาธิปไตย คุณทำงานออกมาชูประชาธิปไตย แต่การกระทำของคุณเป็นอีกแบบหนึ่ง อันนี้ผมว่าตลก คุณหลอกตัวเอง”

“คุณก็ทำในสิ่งที่เป็นจริงสิ มันก็ไม่ต้องไปชูธรงเหมือนสมัยวรรณกรรมเพื่อชีวิตอะไรแบบนั้น ก็ไม่ได้เห็นด้วย ก็ทำในสิ่งที่มันเป็นจริง คือคนจะทำงานศิลปะ ต้องสะท้อนถึงสิ่งที่เป็นจริง มันไม่ได้ยากอะไร มันไม่ได้ผิดกฎหมาย ผมชอบแจ๊ส ผมก็เขียนเรื่องแจ๊ส ผมชอบดนตรีผมก็สอดใส่เรื่องดนตรี กับเรื่องความเป็นธรรม ผมก็มีสิทธิทำ ผมไม่ได้ดัดจริต ผมก็ยกเนื้อเพลงที่พูดความถึงความเป็นธรรม พูดถึงเสรีภาพ พูดถึงการต่อต้านเผด็จการมีเยอะแยะไปในโลกนี้ มันเป็นงานที่เราจะต้องทำ เราไม่ได้ไปด่าเขา แค่ยกอย่างว่า โอเค จอห์น เลนนอน พูดถึงเพลง Power To The People คืนอำนาจให้กับประชาชน แล้วทำไม ผมผิดตรงไหน”

 

God Bless the Child เพราะมันปวดร้าว

ประเทศไทยตอนนี้เหมาะกับเพลงแจ๊สเพลงไหนที่สุด?

“ยากเหมือนกันนะ” เขาตอบด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ

“ตอนเปิดตัวหนังสือ Jazz Murakami ของผม พี่สุชาติ (สวัสดิ์ศรี) ก็ถามคำถามนี้ ผมก็ตอบว่าเพลงที่เหมาะที่สุดสำหรับตอนนี้ก็คืองานของ Eric Dolphy เดี่ยวเบส คลาริเน็ต เพลง God Bless the Child ความยาว 8 นาที ไปฟังในชุดอิลลินนอยส์ คอนเสิร์ต์ แสดงสดที่อิลลินอยส์”

ทำไมต้องเป็นเพลงนี้?

“เพราะมันปวดร้าว มันไม่ค่อยมีทางออก เพลงนี้เป็นเพลงเก่า เพลงที่ร้องกันในโบสถ์ แล้วพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ คล้ายๆ กับว่าผู้ใหญ่ทุกคนควรจะปกป้องเด็กๆ นั่นคือหัวใจ เพราะเด็กๆ และเยาวชนคืออนาคตของชาติ คุณควรต้องให้โอกาสกับเด็กๆ ควรจะเปิดทางให้เด็กๆ ที่เป็นเยาวชนได้เดินไปในทางที่เขาเป็นอยู่

“ในขณะที่ผู้เฒ่าทั้งหลาย คุณมีหน้าที่แค่ประคองพวกเขา เพราะคุณไม่มีน้ำยาแล้ว คุณจะมาหวงกางทำอะไร คุณจะต้องยืนในที่ที่คุณเป็นใหญ่เสมอเหรอ ผมไม่เข้าใจ นี่คือระบบราชการไทย ไม่เคยเปลี่ยน สำนึกของมันจะต้องเป็นนายเสมอ เป็นอำมาตย์เสมอ มองประชาชนเป็นขี้ข้าเสมอ ตั้งแต่ยุคไหนแล้ว”

“เพราะมันปวดร้าว มันไม่ค่อยมีทางออก เพลงนี้เป็นเพลงเก่า เพลงที่ร้องกันในโบสถ์ แล้วพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ คล้ายๆ กับว่าผู้ใหญ่ทุกคนควรจะปกป้องเด็กๆ นั่นคือหัวใจ เพราะเด็กๆ และเยาวชนคืออนาคตของชาติ”

………

‘Say you want a revolution
We better get on right away
Well you get on your feet
And out on the street
Singing power to the people
Power to the people
Power to the people
Power to the people, right on…’

จอห์น เลนนอน พูดไว้เมื่อปี 1971

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net