Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แก่นเรื่องหลักของงานประพันธ์ทุกยุคสมัยคือการสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์  งานประพันธ์ยุคก่อนสมัยใหม่ส่วนใหญ่มักสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ภายในสังคม  การอยู่ผิดตำแหน่งแห่งที่หรือการถูกบังคับให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่โดยไม่เต็มใจคือที่มาของความน่าขันหรือน่าขื่นของตัวละคร   ครั้นเมื่อสังคมสมัยใหม่โดยเฉพาะในตะวันตก สถานภาพดั้งเดิมตามประเพณีถูกทำลายลงไปพอสมควร วิถีการผลิตที่แปรเปลี่ยนไปทำให้สังคมแตกตัวออกเป็นหน่วยปัจเจกบุคคลย่อยๆ ในขณะที่กลไกรัฐใหญ่โตขึ้นและสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น  การสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์เริ่มปรับจุดโฟกัสมาที่ “ตัวตน” และ “โลกภายใน” ของตัวละคร

นวนิยายประเภทหนึ่งที่เน้นการสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็คือสำนักอัตถิภาวนิยม (Existentialism)  ถึงแม้ผู้สันทัดกรณีบางคนจัดนวนิยายของคุนเดอราอยู่ในสำนักนี้  แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร  นวนิยายสำนักอัตถิภาวนิยมเชื่อว่ามนุษย์จะบรรลุความจริงแท้ของตัวตนได้ก็ด้วยเสรีภาพและการเลือก  เสรีภาพและการเลือกของมนุษย์นั้นถูกขัดขวางด้วยสิ่งตรงข้ามคือโลกที่ไร้สาระ (The Absurd) และคนอื่น (The Other) ที่เป็นนรก  เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับโลกและคนอื่นที่เข้าใจไม่ได้  เขาอาจจะพ่ายแพ้และกลายเป็น “คนนอก” หรือได้รับชัยชนะและกลายเป็น “อภิมนุษย์” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเขาบรรลุเสรีภาพและการเลือกของตนเองหรือไม่

ในนวนิยายของคุนเดอรานั้น ตัวละครไม่ได้บรรลุความจริงแท้แห่งตัวตนด้วยเสรีภาพและการเลือก เพราะมนุษย์ต้องดำรงอยู่ในโลกที่กลายเป็นกับดัก  เสรีภาพจึงไม่ค่อยมี ทางเลือกก็ไม่ค่อยมาก  การ “ต้อง” เลือกภายในกรอบของกับดักย่อมไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง  แต่ตัวละครของคุนเดอราก็มิใช่ผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียวหรือใสซื่อบริสุทธิ์  ในขณะที่ตัวละครของคาฟกาถูกเหวี่ยงเข้าสู่สถานการณ์ที่เขาไม่ได้เลือก  การต่อสู้กับโลกที่เข้าใจไม่ได้จึงหนักอึ้ง  แต่ในโลกของคุนเดอรา มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของโลกที่เป็นปฏิปักษ์และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมมีส่วนอยู่บ้างในการสร้างโลกนั้นขึ้นมา แม้มันจะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเขาเองก็ตาม  อีกทั้งในขณะที่คนอื่นเป็นนรก ตัวเขาก็เป็นนรกของคนอื่นเช่นกัน  ในภาวะที่จะโทษโลกหมดก็ไม่ได้ โทษตัวเองหมดก็ไม่ดี เมื่อย้อนคิดดูแล้ว สถานการณ์ที่กลายเป็นกับดักจึงมีทั้งความหนักอึ้งและความน่าหัวเราะเท่าๆ กัน
โลกและคนอื่นไม่ใช่สิ่งลึกลับดำมืดหรือไร้สาระจนอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้  คุนเดอรานั้นช่างอธิบายและอธิบายมากพอสมควร  โลกเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ด้วยเหตุผลในระดับหนึ่ง  เรามีเครื่องมือมากมายที่จะเข้าใจมัน  แต่เนื่องจากมันใหญ่โตเกินไปต่างหาก  ต่อให้เราเข้าใจมันได้ เราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้  ยิ่งเราพยายามไปแก้ไขมัน มันก็ยิ่งยุ่งเหยิงและเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเรา  เราก็ยิ่งพาตัวเราเข้าไปอยู่ในกับดักมากขึ้นๆ

สิ่งที่นิยามความเป็นกับดักก็คือการมีกรอบและกรอบก็คือพรมแดน  นวนิยายของคุนเดอราจึงมักพูดถึงการข้ามพรมแดน ทั้งในแง่ของพรมแดนทางภูมิศาสตร์ พรมแดนของความรัก พรมแดนของเพศสัมพันธ์ พรมแดนของความเชื่อและอุดมการณ์ ฯลฯ  ความหมกมุ่นอยู่กับการข้ามพรมแดนนี้มาจากประสบการณ์ของการเป็นผู้ลี้ภัยในชีวิตจริงของเขาเอง  ในโลกยุคสงครามเย็นนั้น โลกแบ่งออกเป็นพรมแดนระหว่างโลกทุนนิยมกับโลกคอมมิวนิสต์  ด้านหนึ่งของพรมแดนคือโลกคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีอารมณ์ขัน  มันคือสวรรค์ของคนดีที่ฆ่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วย  โลกที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของเทวทูตที่ปลื้มปีติในการทำลายล้างตัวตนของมนุษย์  โลกของรสนิยมสามานย์ที่ทุกคนต้องเหมือนกันหมดและปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งต้องห้าม  โลกที่ว่างเปล่าและหนักอึ้ง

อีกด้านของพรมแดนคือโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความรื่นเริงหลากหลาย  โลกที่ดูคล้ายมีเสรีภาพให้ทุกคนเลือก  แต่ทางเลือกนั้นถูกจำกัดแล้วด้วยทุน สื่อและแฟชั่น  ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นแค่การตลาด  รสนิยมสามานย์แบบ mass production  โลกที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของซาตานที่เย้ยหยันและไม่เคยเห็นอะไรมีสาระสำคัญ  โลกที่รุงรังและเบาหวิว

การต้องข้ามพรมแดนไปมาระหว่างสองโลกทำให้ปัจเจกบุคคลประสบปัญหาในการสื่อสารกับคนอื่นในโลกอีกฟากของพรมแดน  ปัญหาของการปรับตัว การแสวงหาความหมายใหม่ในชีวิต  พรมแดนที่เต็มไปหมดทั้งในโลกสังคม การเมืองและชีวิตส่วนตัว  โลกและคนอื่นที่พยายามแทรกแซงตัวตนของมนุษย์ตลอดเวลา  ทำให้ตัวตนของมนุษย์แตกกระจายเป็นเศษเสี้ยว  เหมือนรอยสาดของน้ำหมึกบนกระดาษซับ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีรูปทรงชัดเจน ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว  เราจะสำรวจตรวจสอบสภาวะการดำรงอยู่ของเศษเสี้ยวที่กระจัดกระจายนี้ได้อย่างไร?

คุนเดอราใช้นวนิยายเป็นเครื่องมือสำรวจตัวตนที่แตกกระจายและสภาวะการดำรงอยู่ของมันในโลก  ในนวนิยายสมัยก่อน ผู้ประพันธ์คือพระเจ้าหรือมือที่มองไม่เห็น  มีหน้าที่ชี้นำผู้อ่านไปสู่การมองโลกและการเข้าใจโลกในแบบที่ผู้ประพันธ์ต้องการ  ส่วนในนวนิยายของคุนเดอรานั้น ผู้ประพันธ์ก็ไม่รู้เท่าๆ กับผู้อ่าน  เขาปรากฏตัวออกมาให้เราเห็นตลอดเวลา  เขาพูดทั้งสิ่งที่เขารู้และไม่รู้ เขาพิศวงสงสัยในปริศนาของตัวตนเท่า ๆ กับผู้อ่าน  เขาเล่าให้ผู้อ่านฟังว่าเขาสร้างตัวละครขึ้นมาอย่างไรและย้ำเสมอว่าตัวหนังสือทั้งหมดคือเรื่องแต่ง  

นิทซ์เช่ประกาศว่าพระเจ้าตายแล้วและคุนเดอราฌาปนกิจพระเจ้าในโลกวรรณกรรม  พระเจ้าตายแล้ว  ผู้ประพันธ์ไม่ใช่พระเจ้า  เขาคือมือที่มองเห็น  ผู้ประพันธ์จึงมีสถานะความเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัดเท่า ๆ กับผู้อ่าน

ในเมื่อตัวตนของมนุษย์เปรียบเสมือนแค่หมึกเลอะๆ  การสร้างตัวละครที่มีเนื้อมีหนังสมจริง มีรายละเอียดด้านจิตวิทยา/จิตวิเคราะห์ครบถ้วนจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป  เราสามารถวิเคราะห์สภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์โดยหยิบยกแค่ส่วนเสี้ยวบางอย่าง  สร้างตัวละครจากสถานการณ์บางอย่าง ความสัมพันธ์บางอย่าง ชะตากรรมบางอย่าง แล้วพิเคราะห์สภาวะการดำรงอยู่จากส่วนเสี้ยวเหล่านั้น  คุนเดอรามักไม่บรรยายหน้าตารูปโฉมโนมพรรณของตัวละครมากนัก  เขาเคยบอกว่าผู้อ่านจะใช้จินตนาการเติมให้เต็มเอง  ในแง่นี้นวนิยายของคุนเดอราจึงมิใช่แค่การสื่อสารทางเดียว  แต่เป็นการสื่อสารสองทาง  ผู้อ่านร่วมเป็นผู้ประพันธ์ปลายทางไปกับผู้ประพันธ์ต้นทาง  ผู้อ่านจึงช่วยเติมช่องว่างที่คุนเดอราเว้นไว้ให้

กลวิธีการประพันธ์ของคุนเดอรามีความเกี่ยวร้อยกับเนื้อหาอย่างแนบแน่น  ด้วยความที่มีพื้นฐานแน่นหนาด้านดนตรีคลาสสิก  นวนิยายของคุนเดอราก็มีลักษณะเช่นเดียวกับดนตรีซิมโฟนี  มันมีทั้งจังหวะเร็ว จังหวะช้า เสียงกระหึ่ม เสียงเบา มีท่อนแยก มีจังหวะหยุด แต่บทเพลงทั้งหมดเกี่ยวร้อยด้วย motif และ leitmotif ที่ย้อนกลับมาเสมอ  เช่นเดียวกัน ถึงแม้นวนิยายของคุนเดราอาจเต็มไปด้วยบทสั้นๆ ที่ตัดสลับไปมาหรือมีตัวละครและเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย  แต่ฉากตอนทั้งหมดก็เกี่ยวร้อยด้วยแกนเรื่องหลักบางอย่าง

หรือหากจะเปรียบกับงานศิลปะ นวนิยายของเขาก็เหมือนศิลปะสกุล Montage ซึ่งประกอบด้วยเศษเสี้ยวเล็กๆ จำนวนมาก  เนื่องจากตัวตนของมนุษย์แตกสลายเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ  การหยิบยกแต่ละเศษเสี้ยวมาพิเคราะห์จะช่วยให้เราเห็นสภาวะการดำรงอยู่และโลกจากหลายด้าน  มันช่วยให้เราเข้าใจตัวตนอย่างรอบด้านมากขึ้น  แต่ไม่มีทางสมบูรณ์เป็นองค์รวม  เพราะองค์รวมนั้นไม่มีอยู่  และในเมื่อการสำรวจตัวตนและสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่มีทางเสร็จสิ้นสมบูรณ์  นวนิยายจึงมีภารกิจที่ไม่จบสิ้นในการตั้งคำถาม แต่มิใช่ให้คำตอบ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net