Skip to main content
sharethis

23 ก.ค.2559 เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่นำตัวนายวิศรุต คุณนิติสาร อายุ 38 ปี อาชีพพนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาทำบันทึกการจับกุม กรณีตกเป็นผู้ต้องหาส่งจดหมายประชามติจำนวนมากไปยังประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่

นายกัณต์พัศฐ์ สิงห์ทอง ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ว่า นายวิศรุตนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ที่เชียงใหม่แต่ลงมาเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯ และถูกจับกุมจากคอนโดของน้องที่ย่านลาดพร้าว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมาทำบันทึกการจับกุมที่กองปราบฯ ก่อนจะส่งตัวขึ้นเครื่องบินไปยังจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ 16.30 น.ที่ผ่านมาเพื่อไปดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่

การจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ ออกหมายจับที่ 473/2559 ลงวันที่ 22 ก.ค.2559 ในข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน “เผยแพร่จัดทำข้อความในสื่อสิ่งพิมพ์หรือช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง” ตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำหมาย้นของศาลอาญาที่ 210/2559 ลงวันที่ 23   ก.ค.เข้าตรวจค้นห้องพักของน้องเมื่อพบนายวิศรุตจึงทำการจับกุม เบื้องต้นผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

กัณต์พัศฐ์ กล่าวด้วยว่า ครอบครัวของนายวิศรุตแจ้งว่า ขณะที่มีการจับกุมในวิศรุตที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวควบคุมตัวพ่อและแม่ของนายวิศรุตเข้าไปพูดคุยในค่ายกาวิละ และยังไม่มีรายงานการปล่อยตัวแต่อย่างใด

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจาก สกสส. กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นกรณีที่มีการส่งจดหมายเรื่องประชามติที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับจดหมายซองตราครุฑที่จังหวัดลำปาง พร้อมทั้งวิจารณ์การควบคุมตัวพ่อและแม่ของนายวิศรุตเข้าค่ายทหารโดยอ้างมาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนและไม่ใช่หน้าที่ของทหาร

วิญญัติแสดงความเห็นว่า การดำเนินคดีครั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นผู้กล่าวหานายวิศรุต เป็นกกต.หรือเป็นผู้ใด เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะการกล่าวโทษหรือการกล่าวหาว่านายวิศรุตกระทำผิดตามมาตรา 61 วรรคสองนั้น จำเป็นต้องระบุข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าข้อความในจดหมายที่อ้างว่านายวิศรุตเป็นผู้ส่งไปรษณีย์นั้นผิดอย่างไร ข้อความไหนที่ผิด เพราะเท่าที่ตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายพบว่าเป็นการตั้งประเด็นต่อร่างรัฐธรรมนูญแบบที่นักการเมือง นักวิชาการ กลุ่มภาคประชาสังคมอื่นๆ ก็มีการตั้งประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน โดยแบ่งเป็นเรื่อง สวัสดิการเรียนฟรี, เบี้ยคนผู้สูงอายุ, การรักษาพยาบาล  

“ผมอ่านเอกสารแล้วเป็นการตั้งประเด็นปกติ นักการเมืองก็พูดเรื่องพวกนี้กันหลายคน เอาจริงๆ จุลสารของ กกต.เองที่เผยแพร่ ยกตัวอย่างมาตรา 47 บอกว่า การได้รับสิทธิเรียนฟรี 12 อาจจัดมีการเรียนฟรีถึง 15 ปี เอกสารระบุคำว่า “อาจจัด” แบบนี้ถือว่าบิดเบือนตัวร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ที่สำคัญ จดหมายมีเนื้อหาเพียงตั้งประเด็นให้คนคิดก่อนไปลงคะแนน ไม่ได้บอกให้ไปเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เท่าที่อ่านยังไม่เห็นการใช้ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงของร่างรัฐธรรมนูญเลย” วิญญัติกล่าว

เขากล่าวต่อว่า การวิเคราะห์และการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมายหรือแชร์ข้อความออนไลน์ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและอยู่ในกรอบกฎหมาย ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเป็นมาตราหลัก หากจะนำวรรคสองของมาตรา 61 มายกเว้นย่อมต้องระบุให้ชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net