เครือข่ายประชาชนประกาศ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

24 ก.ค. 2559 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงาน "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน" ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาคนจน-สลัมสี่ภาค-กลุ่มรัฐสวัสดิการ-เหมืองแร่-เกษตรทางเลือก-เครือข่ายพลเมืองเน็ต-เอฟทีเอวอทช์-เครือข่ายกระเหรี่ยง-ประชาชนเจ้าของแร่-การศึกษาทางเลือก ประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอมุมมองปัญหาอันหลากหลายของแต่ละกลุ่ม พุ่งตรงปมปัญหาในร่างมีชัย รายละเอียด มีดังนี้

ชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

ชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า “พวกเราพาสังคมเดินมาถึงจุดที่ได้รับสิทธิถ้วนหน้า หลุดพ้นจากการสงเคราะห์มาแล้วกว่า 15 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มีการเลือกว่าคนรวยหรือจน ฉะนั้น ณ วันนี้ การที่รัฐจะมาออกนโยบายขึ้นทะเบียนคนจนเป็นการตีตราแบ่งแยกชนชั้นประชาชน ทั้งที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เราต้องเท่าเทียมกัน รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน”

“ปัจจุบันรัฐมีสวัสดิการแล้วสามเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิถ้วนหน้าจากรัฐ แต่มาตรา 47และ 48 เห็นว่ามีการแบ่งแยก ทุกมาตรามีคำว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร”

“เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานและลดทอนผู้ยากไร้ เป็นการสงเคราะห์ เป็นการตีตราคนจน การลงทะเบียนคนจนจะทำให้สวัสดิการทั่วหน้าไม่มีอีกต่อไป เครือข่ายฯ จึงขอประกาศว่าเราไม่เห็นชอบร่างร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกปฏิบัติและลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

สมัชชาคนจนประกาศไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและชุดกฎหมายรอนสิทธิคนจนของ สนช.

ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวว่า “ตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ที่มีการยึดอำนาจ สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย แต่หลังจากวันนั้นเกือบสองปีเราแทบไม่มีเวทีพูดคุยกับประชาชน วันนี้เราของแถลง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวคนจน”

เขากล่าวว่า จากการที่ คสช. ยึดอำนาจ 26 เดือนมาแล้ว ผลการบริหารงานก่อให้เกิดความเดือดร้อนและละเมิดสิทธิคนจนำนวนนมาก เช่น โครงการทวงคืนผืนป่า โครงการสร้างเขื่อน การไล่รื้อคนจนเมือง การไม่อุดหนุนราคาผลผลิตการเกษตร การปล่อยให้แรงงานถูกเลิกจ้างโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือ มีการเรียกตัวผู้นำชาวบ้านไปปรับทรัศนคติ มีความพยายามจะยกเลิกสวัสดิการของประชาชน เช่น การให้ร่วมจ่ายในหลักประกันสุขภาพ การปลดคณะกรรมการประสังคม การพยายามลดค่าตอบแทนผู้สูงอายุ การพยายามขึ้นทะเบียนคนจน และยังแต่งตั้ง สนช. สปท. ออกกฎหมายที่ทำร้ายและลิดรอนสิทธิคนจน เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้ง กรธ. ที่ร่างรัฐธรรมนูญสามานย์ฉบับนี้ พยายามเปิดช่องให้มีนายกฯ จากคนนอก ตระเตรียมเป็นกระบวนการให้มีบทเฉพาะกาล ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจเลือกนายกฯ

“พวกเราไม่สามารถไว้ใจและรับรองร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ ดังนั้น 7 ส.ค.นี้เราจะไปโหวตโน”

เครือข่ายสลัม 4 ภาค แถลงไม่ยอมรับรัฐประหาร ไม่ยอมรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ติงรัฐไม่จริงใจให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลเนื้อหารอบด้าน

จำนงค์ หนูพันธ์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เมื่อเกิดรัฐประหารสลัมสี่ภาคไม่ยอมรับมาตลอด เมื่อมาเจอเรื่องร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาหลายเรื่อง สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานเราก็ไม่มี เราจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า ร่างรรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน คลุมเครือทุกอย่าง และเรื่องของพรรคการเมืองก็ปิดกั้นทุกอย่าง แล้วยังมาวางยุทธศาสตร์ยาวให้ประเทศชาติอีก เราจึงขอแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และขอแถลงว่า คนสลัมรู้ทันร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ลดอำนาจประชาชน ลดความสำคัญของการเลือกตั้ง ขอแถลงท่าทีว่า 1. เห็นว่ากระบวนการก่อนลงประชามติ รัฐไม่มีความจริงใจให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลเนื้อหาอย่างรอบด้าน เนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับไม่ถูกกล่าวถึง 2.เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งทำให้คนทุกคนมีส่วนกำหนดตัวนายกฯ และนโยบายที่ประชาชนต้องการ

ไม่รับกฎหมายแร่ฉบับใหม่ เพิกถอน พ.ร.บ.ชุมนุม และ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

แววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย เธอกล่าวว่า ทรัพยากรเป็นของประชาชนทุกคน ในยุคเผด็จการคสช. เราเฝ้าติดตามดูสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งปัญหาสัมปทาน สำรวจการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ และการละเมิดสิทธิของประชาชน รัฐบาลคสช. ขอเสนอประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ออกกฎหมายปิดกั้นการชุมนุม เหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับนักลงทุนปกป้องผลประโยชน์ของกันและกัน มาร่วมขุ่มขู่ บังคับ และฟ้องคดีประชาชน 2. สนช.ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยให้กันเขตเหมืองแร่ออกจากพื้นที่หวงห้าม เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่อนุญาตให้บริษัทมีสิทธิในที่ดินของตนเอง ทำให้ต้องขออนุญาตสัมปทาน ยุ่งยากเดินเรื่องหลายขั้นตอน เกิดความล่าช้า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในไทยเข้าสู่ทางตีบตันพอสมควรในการสัมปทานพื้นที่ใหม่ ที่ผ่านมาตลอดร้อยปีก็ต่อสู้กันเรื่องนี้ จนสบโอกาสในรัฐบาลคสช. ที่เห็นโอกาสว่า mining zone ก็ไม่ต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีการปรับปรุงพ.ร.บ.แร่ทั้งฉบับ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นคือ หลักการของไมนิ่งโซนกดทับกฎหมายหลักหลายฉบับ ทำให้พื้นที่ทุกประเทศที่ไม่เหมาะกับกิจกรรมเหมืองแร่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม 3.ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตยจะดีพอหรือไม่ก็ตาม แต่เราต้องการให้การออกกฎหมายต่างๆ มีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผ่านการได้ตัวแทนที่ยึดโยงกับเสียงประชาชนเท่านั้น ซึ่งส.ว.แต่งตั้งไม่ได้สะท้อนหรือยึด

“เราจะผลักดันให้ยกเลิกเพิกถอน พรบ.ชุมนุม ไม่ขอรับร่างกฎหมายแร่ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้”

“เราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ โดยการไปใช้สิทธิออกเสียงโหวตโน, ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่างร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามพ่วง”

พฤ โอ่โดเชา ชาวปกาเกอะญอพูดถึงสิทธิชุมชนที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ

พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือและกลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาของประชาชนชาวกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่ามายาวนานจนเกิดกฎหมายและการตั้งกรมป่าไม้ เพื่อต้องการจะขายไม้และให้เอกชนสัมปทาน แต่ต่อมาก็เข้าสู่ยุคอนุรักษ์ ก็ประกาศกฎหมายกลายเป็นว่าทุกป่า ทุกดอย ที่กลุ่มชาติพันธุ์รักษาไว้ให้เป็นป่า ถูกประกาศทับเป็นป่าสงวน ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เดือดร้อน เพราะกลายเป็นคนผิดกฎหมายทันทีเพราะอยู่ในป่าสงวน จนกระทั่งสมัย คสช. มีนโยบายทวงคืนผืนป่า หลายหมู่บ้านติดคุกติดตะรางกันทั้งหมู่บ้าน เพราะถูกชี้ว่าไปรุกป่า

ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เอื้อสิทธิชุมชนมากกว่า และรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังพอใช้ได้ สามารถใช้เรื่องสิทธิชุมชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติ ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น และกลไกคุ้มครองสิทธิชุมชนกลับหายไป มีคนโทรมาบอกว่า 7 สิงหาจะลงประชามติ ก็ตอบว่า "ฮะ!! วันที่ 7 สิงหา เข้าพรรษาหรือ เตะฟุตบอลหรือ" จนเขาลงมาถึงกรุงเทพฯ มาเอาร่างรัฐธรรมนูญ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ก็คุยกับนักวิชาการ ก็พบว่าเรื่องของชุมชนอยู่ในมาตรา 70 หมวดแนวนโยบาย แต่คำว่าแนวคือทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ใจอยากให้ไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ และขอให้แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 70  เป็นรัฐต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทย กลุ่มชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ต่างๆ และขอตัดทิ้งข้อความที่ว่า "ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย" เพราะเรื่องนี้ใครเป็นคนตัดสินว่าจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาวะอนามัย

ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เขาทำเป็นยื่นสิทธิให้นิดหน่อย แต่เอาชีวิตผมไปหมดเลย และเรื่องที่สาม เรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ระบุว่าทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้เราควรมีสิทธิ เป็นสิทธิของผมอยู่แล้ว ไม่ใช่รัฐจัดให้หรือไม่ให้ นอกจากนี้ก่อนลงประชามติ จะรับหรือไม่รับ ต้องรู้ว่าบ้านดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่ซื้อแบบหน้ามืดตามัว ต้องมีข้อมูล การมีส่วนร่วม เราต้องร่วมคิด ออกแบบ ล่วงรู้ข้อมูล และมีตัดสินใจเท่ากัน และมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ ตอนนี้คนดอยบางคนยังไม่รู้ คนดอยชอบคิดว่า เอาไปเสีย ให้เขาไปเสีย แต่หารู้ไม่เขาจะได้อยู่ต่อยาว

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชี้สิทธิในที่ดินไม่ถูกรับรองให้เป็นสิทธิในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกย้ายหมวดกลายเป็นเรื่องรัฐหยิบยื่น

อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า จะโหวตไม่เห็นชอบ เพราะสิทธิเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติในทันที ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะหยิบยื่นให้ เอาสิทธิจำนวนมากไปเขียนในแนวนโยบายแห่งรัฐ “สิทธิมีได้ตามวิธีการและกฎหมายบัญญัติ” เครือข่ายขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ทำกินกับการเพาะปลูกต้องได้รับสิทธิที่จะมีที่ดินทำกิน ประเด็นนี้เราทำไม่สำเร็จ เช่น กรณี สปก. ที่ห้ามซื้อขายแต่ก็ยังทำกันทั้งแผ่นดิน ทำให้เห็นว่าต้องมีหลักประกันในระดับรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สอง สิทธิการถือครองปัจจัยการผลิต เราล่อแหลมว่าจะมีกฎหมายละเมิดต่อวัฒนธรรมชุมชน สิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนต้องไปด้วยกัน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เอฟทีเอวอทช์ ห่วงร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 กระทบสาระสำคัญเรื่องการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า ในมาตรา 178 กรธ.ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากมาตรา 190 เดิม เรื่องการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่ากระทบหลักสำคัญ กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล ตัดส่วนที่กำหนดให้ ครม.ชี้แจงให้ข้อมูลตั้งแต่จัดทำกรอบเจรจา, ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตัดที่ ครม.ต้องเสนอกรอบให้ความเห็นชอบ, กรธ. ยังกำหนดว่าถ้ารัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จใน 60 วันให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ, สาม ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหารเอง ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจา ทำให้ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจต่อรอง, สี่ จำกัดประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา ตัดเนื้อหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่จะช่วยทำให้การทำข้อตกลงมีความรอบคอบ ดังนั้น ตนเองจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และพร้อมเข้าร่วมเวทีถกแถลงถกเถียงเรื่องนี้อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ตห่วงร่างรัฐธรรมนูญ และบรรดาคำสั่ง ประกาศ คสช. ที่จะมีผลใช้บังคับต่อไปหลังรัฐธรรมนูญผ่านจะกระทบเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ขณะที่คลื่นความถี่โทรคมนาคมถูกย้ายหมวดจากสิทธิเสรีภาพประชาชน มาอยู่หน้าที่ของรัฐ 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นที่ทำงานร่วมกับตัวรัฐธรรมนูญนี้ สิ่งที่เรากลัว คลางแคลงใจในตัวร่างรัฐธรรมนูญ จริงๆ ทำงานมาก่อนแล้ว มีสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว มีอะไรมาข้องเกี่ยวอยู่บ้าง ถ้าดูร่างมาตราสุดท้าย 279 บอกว่า ประกาศ คำสั่งใดๆ ที่ประกาศใช้มาของ คสช.เองหรือ หัวหน้า คสช. ให้ใช้ต่อไปและมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขต้องออก พ.ร.บ. เข้าใจว่า ขณะนี้คำสั่งและประกาศต่างๆ น่าจะมีเกือบสามร้อยฉบับแล้ว

ยกตัวอย่างตั้งแต่รัฐประหารมีคำสั่งหลายอันที่ควบคุมอินเทอร์เน็ต สุดท้ายเกิด คณะกรรมการติดตามสื่อสังคมออนไลน์ ทำงานร่วมกับไอซีที ตั้งคณะทำงานอีกชุด เข้าไปถอดรหัส สิ่งที่เราส่งส่วนตัว เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เขาสามารถดูได้ คณะกรรมการต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีอายุต่อไปอีก ตราบใดที่ประกาศนี้ยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีการออก พ.ร.บ.ออกมาแก้ไข
มาตรา 60  เรื่องคลื่นความถี่ เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550  อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ มาตรา 47 มีความเชื่อมโยงว่าประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ของตัวเอง ดังนั้น จึงมีการบริหารคลื่นความถี่ไว้ในหมวดนี้ แต่ร่างนี้ ปรับเปลี่ยนหมวด จากสิทธิเสรีภาพ ไปหมวดหน้าที่ของรัฐ และเปลี่ยนสาระสำคัญคือ สิ่งที่หายไป มีการตัดคำว่า ตัวองค์กรบริหารคลื่นความถี่ ต้องจัดให้มีการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เดิมในมาตรา 47 กำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ก็หายไปเหมือนกัน สุดท้ายที่หายคือ ในการจัดกิจการสื่อสารมวลชนต่างๆ ตัวองค์กรจะต้องปกป้องไม่ให้มีการขัดขวางเสรีภาพหรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน แต่มาตรา 60 ใช้คำว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชน ต่อไป กสทช.ก็มีอำนาจที่จะตัดสินว่า ข้อมูลแบบไหนถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

กนกพร สบายใจ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก ชี้เนื้อหาเรื่องการศึกษาทางเลือกที่เคยถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ถูกตัดจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ

กนกพร สบายใจ ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า เรื่องการศึกษาทางเลือกได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ร่างนี้ตัดทิ้งไป โดยที่เราไม่เข้าใจทั้งที่มันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในกฎหมายใหญ่ควรเขียนเรื่องหลักการที่จะให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกการศึกษาและหลักการที่จะได้รับการสนับสนุนสวัสดิการที่ถ้วนหน้าที่รัฐจัดให้ ยังมีปัญหารวมศูนย์จัดการศึกษาไว้ทุกด้านทุกระบบไว้ที่รัฐ สิ่งที่ควรทำคือ ควรร่างให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, สิทธิมนุษยชน, เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เป็นกลไกหลักของสากล ที่ระบุเรื่องการศึกษาไว้ชัดเจน ทั้งนี้ มีข้อเสนอ คือ หนึ่ง การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยได้ สอง รัฐส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับจัดการศึกษาได้ สาม เด็กและผู้เยาว์ควรได้รับสิทธิในการไม่เลือกปฏิบัติ สี่ รัฐธรรมนูญควรบัญญัติสาระหลักตามกติกาสากลที่ไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะการส่งเสริมสิทธิต่างๆ เขียนหลักการไว้อย่างชัดแจ้ง และไม่เปิดช่องให้กฎหมายลูกบัญญัติบิดพริ้วไปจากหลักสากล

สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ลดทอนหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย ทำให้ชนชั้นนำครอบงำการเมือง ระบอบราชการเป็นใหญ่ การเข้าถึงทรัพยากรถูกปิดกั้น เทคโนโลยีถูกผูกขาด ไม่รับรองสิทธิเกษตรกร

สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า หลังรัฐประหารมีการปิดกั้นคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนในวงกว้าง คำสั่งเรื่อง สปก. จริงๆ แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกร รวมแล้วไม่น้อยกว่าพันครอบครัว ออกโดยมาตรา 44 สื่ออาจเห็นว่าเป็นเรื่องไล่นายทุน แต่ในพื้นที่สุราษฎร์นั้นไม่ใช่ การขับไล่คนจนออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่และทำกิน จะทำให้คนเหล่านี้เป็นแรงงานเร่ร่อนรับจ้าง จึงขอประกาศจุดยืน 1. ร่างนี้ลดทอนทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย 2.ร่างนี้ทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ลดทอนจนประชาชนไม่เหลือพื้นที่มีส่วนร่วมในทางการเมือง 3.ระบอบราชการจะเป็นใหญ่ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพราะถูกควบคุมจากองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง 4.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะจะถูกปิดกั้น 5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ จะถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ  6. ไม่มีการรับรองสิทธิเกษตรกรและไม่คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมขอเรียกร้องเร่งด่วนให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 ต้องการให้กองทัพหรือทหารหยุดแทรกแซงการทำงานของระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย สกต.ขอประกาศต่อสาธารณะว่าไม่สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

สุภาพร มาลัยลอย ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 ชี้บทเฉพาะกาลมีผลต่ออายุคำสั่ง คสช. 

สุภาพร มาลัยลอย ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 และประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. กล่าวว่า มีหลายคำสั่งกระทบต่อประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยฯ ข้อ12 ห้ามมั่วสุม 5 คนขึ้นไปและใช้ศาลทหารพิจารณาคดี (ประกาศ คสช. ที่ 37/2557) เป็นคำสั่งที่ไม่จำเป็น และยังบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ละเมิดสิทธิประชาชนโดยง่าย 

อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ หัวหน้าและ คสช. และการออกประกาศคำสั่ง บทเฉพาะกาล มาตรา 265 มีผลให้ คสช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ครม.หลังการเลือกตั้ง และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว หมายความว่า คสช.ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และมาตรา 279 ให้ประกาศ คำสั่ง ที่ใช้บังคับอยู่ หรือจะประกาศ ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การจะยกเลิกต้องออกพ.ร.บ. ดังนั้น บทเฉพาะกาลสองมาตรานี้ รับรองความชอบธรรมของประกาศคำสั่งของ คสช. และยินยอมให้มีอำนาจออกคำสั่งต่อไปทั้งที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องในการยกเว้นการรับผิดของผู้ใช้อำนาจ เครือข่ายจึงเห็นว่า แค่สองมาตรานี้ก็ไม่สามารถรับร่างนี้ได้แล้ว

Permatamas ไม่เห็นด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ที่ลิดรอนสันติภาพชายแดนใต้

ตูแวนียา ตูแวแมแง เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) กล่าวว่า จุดยืนของเครือข่ายคือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ สันติภาพ ของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ การยึดอำนาจนำมาสู่การละเมิดสิทธิจำนวนมากโดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง พบว่าร่างนี้ขัดหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน ไม่เคารพสิทธิชุมชน และรองรับคำสั่ง คสช. เช่น การยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง การลดขั้นตอนทำอีไอเอ

นอกจากนี้ ร่างนี้ยังส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนาเถรวาท ไม่รองรับศาสนาอื่นและพุทธนิกายอื่นๆ อาจนำสู่การละเมิดสิทธิของคนนับถือศาสนาอื่น รวมถึงมีการลดทอนอำนาจทางการเมืองท้องถิ่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ปิดกั้นเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ตรงนี้อาจทำให้การก่อเหตุในพื้นที่รุนแรงขึ้น ทั้งยังสร้างเงื่อนไขบังคับใช้กฎหมายในนามความมั่นคง แทบไม่หลงเหลือกระบวนการเสรีภาพ อาจรุนแรงหนักกว่าเดิม และขอเรียกร้องให้ คสช.ยุติบทบาทและเปิดให้ประชาชนเลือกตั้ง สสร. และนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เพื่อเปิดให้เกิดการเลือกตั้ง

 

มังโสด มะเต๊ะ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวั่นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอื้อสังคมพหุวัฒนธรรม

มังโสด มะเต๊ะ ในฐานะประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ร่างนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่กำลังทำให้คนทั้งประเทศได้รับการศึกษาน้อยลง และทำให้คนสามจังหวัดแตกแยกครั้งใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมาตรา 54 ที่ระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล นอกจากนี้ ยังมีท่อนหนึ่งบอกว่าทุกคนต้องมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ “ต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเขียนเช่นนี้ ฉบับอื่นบอกว่า รัฐต้องส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนต่างศาสนา แปลว่าอะไร ถ้าพี่น้องผมจะรวมตัวกันละหมาดที่มัสยิด ถ้ามีคนพูดว่าเป็นภัยต่อรัฐ จะทำอย่างไร มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่ในเรื่องการศึกษาศาสนา ไม่ระบุถึงศาสนาอื่น นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว เขามองว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม การฉีกรัฐธรรมนูญที่ดีแล้วเอารัฐธรรมนูญร้ายมาให้ เป็นเรื่องรับไม่ได้ พร้อมชี้ว่ารัฐธรรมนูญต้องไม่เขียนเพื่อประโยชน์ทับซ้อนของตัวเอง เช่น กรณีเขียนให้ ส.ว.มาจาก คสช. และอยู่ในตำแหน่งหลายปี สุดท้าย ย้ำว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปอย่างมีเสรีภาพและเป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท