Skip to main content
sharethis

เสวนา “สื่อในความสงบ” โตมรชี้ สื่ออยู่ในภาวะยากลำบาก เหตุกระแสโลกขวาหัน สื่อเก่าแพ้ทางสื่อใหม่ ซ้ำขยับยาก เหตุกลัวมีปัญหา ด้านสฤณีชี้ สื่อหลักยิ่ง “สงบ” ความชอบธรรมยิ่งลด นิธินันท์เตือน สื่ออยู่ในความสงบมานานมากเกินไป ถึงเวลากลับมาทำหน้าที่ตัวเอง

24 ก.ค. 2559 เวลา 16:30 น. บริเวณข้างหอประชุม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาในประเด็น “สื่อในความสงบ” จัดโดยเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน” ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษาด้านสื่อออนไลน์เครือมติชน, สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ThaiPublica.org และ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร GM ดำเนินรายการโดย จีรนุช เปรมชัยพร

โตมร แสดงความเห็นว่าสื่อในปัจจุบันอยู่ในสภาวะยากลำบาก เพราะกระแสของโลกตอนนี้ก็หันไปทางอนุรักษ์นิยม (Conservative) รวมไปถึงในไทยด้วย ประกอบกับการมีสื่อใหม่อย่างสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมา ทำให้สื่อเก่าไม่สามารถยืนอยู่ได้ จากที่สื่อเก่าเคยมีอำนาจชี้นำกระแสสังคมได้ แต่ปัจจุบันสื่อก็มีอำนาจดังกล่าวน้อยลง และผลประกอบการของสื่อก็มีรายได้ที่ลดลง ทำให้สื่อไม่อยากทำอะไรที่แหลมเกินไปเพราะเกรงว่าพอนำเสนอเนื้อหาบางอย่างไป อาจจะถูกจับกุมหรือขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งมันทำให้เห็นว่าตัวสื่อนั้นถูกผู้มีอำนาจเหยียบจากด้านบนลงมาเป็นทอดๆ เป็นลักษณะการควบคุมโดยใช้อำนาจนิยม ทำให้สื่อในระดับตัวเล็กตัวน้อยก็ไม่อยากเคลื่อนไหว และยังตั้งข้อสังเกตว่ามีคนยินดีอยู่แบบในลักษณะการควบคุมแบบนี้อีกด้วย

“เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การลงประชามติตอนนี้กับ Brexit เราพบปัญหาอยู่ 2 ชั้นด้วยกัน ชั้นแรกคือมันมีคำถามเกิดขึ้นว่า ประชามติที่แท้จริงหรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการทำประชามติเรื่องต่างๆ นับร้อยครั้ง จึงมีคำถามว่าการทำประชามติทำขึ้น ผู้มีอำนาจมีความเข้าใจมากแค่ไหน หรือมีความซับซ้อนอะไรมากกว่านั้น และชั้นที่สองคือรัฐธรรมนูญมันมีอะไรบ้าง อย่างผมก็อ่านไม่รู้เรื่องในประเด็นหลักประกันสุขภาพที่มีการใช้คำว่า ‘ผู้ยากไร้’ อ่านครั้งแรกก็คิดว่าดี จนต้องมีนักกฎหมายมาบอกผมว่าแล้วผู้ยากไร้คือใครบ้าง ซึ่งเราก็ต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้” โตมรกล่าว

ส่วน สฤณี ระบุว่าปัจจุบันนอกจากรัฐควบคุมสื่อเก่าได้แล้ว ยังมีความพยายามในการควบคุมสื่อใหม่ ผ่านการตั้งข้อหาเพื่อจับกุมในกรณีการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการพยายามตั้งข้อหาเพื่อจับกุมจากการสนทนาแบบส่วนตัวอีกด้วย นับเป็นการสร้างบรรยากาศความเงียบและความกลัวที่เห็นได้ในขณะนี้

“โดยธรรมชาติของคนจะรู้หรือไม่รู้ว่าถูกปิดกั้น ยังไงมันก็ต้องสื่อสาร ถ้ายิ่งไม่อยากให้พูด เขาจะยิ่งอยากพูด แต่ว่าจะกล้าพูดแค่ไหนก็เป็นอีกประเด็น มันเลยสะท้อนให้เห็นการจัดการกับสื่อโซเชียลมีเดีย ผู้มีอำนาจรู้ว่าทางเทคนิคเขาไม่สามารถจัดการการแสดงความคิดเห็นได้ ยิ่งเป็นสื่อเล็กสื่อน้อยก็ไม่มีทางหนีทีไล่แล้ว ส่วนตัวก็มองว่าแย่มากๆ แล้วสำหรับเสรีภาพของสื่อออนไลน์ ยิ่งสื่อกระแสหลักยังอยู่ในความสงบแบบนี้ ความชอบธรรมของสื่อกระแสหลักก็จะลดลงไป เสียงของคนที่ตั้งคำถามก็จะดังขึ้นเรื่อยๆ ด้วยในภาวะแบบนี้” สฤณีกล่าว

ด้าน นิธินันท์ ระบุว่าสื่ออยู่ในความสงบมานานมากเกินไป จนทำให้ลืมหน้าที่ของสื่อไป นั่นคือให้ข้อมูลและเปิดพื้นที่ความเห็นให้เกิดการถกเถียงในสังคม ถึงแม้ปัจจุบันเราจะอยู่ในภาวะไม่ปกติ สื่อก็ไม่ควรหยุดหรือล้มเลิกการทำหน้าที่ตรงนี้แทนประชาชน ต้องคิดด้วยว่าทำเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่แค่ของสื่อแต่เพียงอย่างเดียว

“หน้าที่สื่อมันมีอยู่หลายอย่างและมีหลายระดับ แต่พอสื่ออยู่ในความสงบนานเกินไป มันทำให้สื่อลืมงานหนึ่งไป นั่นคือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ โครงสร้างทางสังคมมันว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมต่อคนมากน้อยเพียงใด เราอยู่กันไปอย่างนั้นเพราะเราลืมหน้าที่ เพราะฉะนั้นตัวเองมักจะบอกเสมอว่าเราอย่าไปยักไหล่ดูถูกสื่ออื่นที่เราไม่ชอบ เพราะเขาก็เป็นสื่อ เขามีผู้บริโภคที่พอใจและมีชีวิตอยู่อย่างนั้น มันเป็นทางเลือกอันหลากหลาย แต่สังคมไทยนั้นมันไม่มีความหลากหลาย ถ้ามียังการปิดกั้นเกิดขึ้นอยู่แบบนี้” นิธินันท์กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net