รายงาน: Harm Reduction แก้ปัญหายาเสพติด ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร

เสนอแนวคิดลดอันตรายจากการใช้ยา หรือ Harm Reduction แก้ปัญหายาเสพติด เครือข่ายผู้ใช้ยาชี้กฎหมายเหมารวม ลงโทษไม่ได้สัดส่วน เรียกร้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร รองอธิบดีกรมการแพทย์ เสนอแก้ปัญหายาเสพติดต้องควบคุมให้การค้าขายยาเสพติดอย่างเสรีในขอบเขตกฎหมายและการควบคุมดูแล

ที่มา Nikki David/Neon Tommy/flickr/CC BY-SA 2.0

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย โดยการปลดเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ให้ใช้ในแนวทางในการเป็นยารักษาโรค พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันการปราบยาเสพติดโดยใช้วิธีการอย่างรุนแรงอาจจะไม่ได้ผล อีกทั้งมีผลวิจัยระบุว่า องค์ประกอบของยาเสพติดจากพืชกัญชาและฝิ่น สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ ที่ผ่านมาภาครัฐประกาศสงครามกับยาเสพติด ใช้วิธีทำลายแหล่งผลิต และจับผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าคุก แต่วิธีดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จเท่าที่ต้องการ อีกทั้งยังนำมาซึ่งปัญหานักโทษล้นคุกอีกด้วย

นอกจากการปลดสารบางชนิดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า การลดอันตรายจากการใช้ยา หรือ Harm Reduction ซึ่งประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ยกตัวอย่างประเทศโปรตุเกสที่สามารถลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดและลดจำนวนการแพร่เชื้อ HIV จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้ ภาครัฐจะเป็นผู้มอบสารเสพติดและอุปกรณ์การเสพให้แก่ผู้ใช้ยา โดยมอบในปริมาณที่กำหนดเพื่อควบคุมดูแลมิให้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ ซึ่งพบว่าวิธีการดังกล่าวช่วยลดการแพร่เชื้อ HIV ได้มาก

การลงโทษไม่ได้สัดส่วน เหมารวมผู้ใช้ยาเป็นอาชญากร

แม้ว่าแนวคิดการลดอันตรายจากการใช้ยาจะดูเหมือนเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ แต่ศักดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาในประเทศไทย บอกว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้ใช้ยา การใช้ยามีหลายบริบท บันเทิง การแพทย์ การตัดสินว่าคนที่ใช้ยาเป็นคนเลว เป็นผู้ร้ายในสังคม จะทำให้ปัญหาต่างๆ แย่ลง

ศักดา กล่าวว่า ผู้ที่ติดยาเสพติดถึงขนาดควบคุมตัวเองไม่ได้ จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่างๆ มีอยู่ในอัตราส่วนที่ต่ำมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือกฎหมายกลับลงโทษโดยใช้มาตรฐานที่เท่ากัน ความผิดที่กระทำกับโทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกัน เป็นการจัดการแบบเหมารวม การลงโทษไม่ได้พิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มีกรณีที่มีผู้ใช้ยาเผลอนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย แต่โดนโทษจำคุกตลอดชีวิตเทียบเท่าผู้ค้ารายใหญ่ ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำตามมา โดยสถิติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นักโทษคดียาเสพติดมีจำนวนมากถึง กว่าร้อยละ 70 ของนักโทษทั้งหมดการนำเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าไปอยู่ร่วมกันจำนวนมากเช่นนี้ กลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะเท่ากับเป็นการขยายเครือข่ายยาเสพติดจากการนำนักโทษเข้าไปอยู่ด้วยกันในเรือนจำ

ศักดา ยังกล่าวต่ออีกว่า ผู้ที่เสพติดเกินไปควรถูกบำบัด แต่ไม่ใช่ผู้ใช้ยาทั้งหมด บางคนเสพเพื่อความบันเทิง ไม่ได้เสพติดการใช้ยา ที่ผ่านมาไทยมีการบำบัดผู้ใช้ยา แต่เป็นไปในแนวทางของการบังคับบำบัด มิใช่ด้วยความสมัครใจ มาตรการดังกล่าวตอบย้ำความไม่เท่ากันและกดฐานะทางสังคมผู้ใช้ยาลงไป การนำผู้ใช้ยาเข้าไปบำบัดที่ผ่านมา จะต้องลงชื่อบันทึกไว้ว่าคนผู้นี้เป็นผู้ใช้ยาหรือเคยเป็น ประกอบกับทัศนคติของคนในสังคมที่มีในแง่ลบ ทำให้การเข้าไปบำบัดหรือขอความช่วยเหลือต่างๆ จากผู้ใช้ยาแทบจะไม่เกิดขึ้น

ผู้ที่ติดยาเสพติดถึงขนาดควบคุมตัวเองไม่ได้ จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่างๆ มีอยู่ในอัตราส่วนที่ต่ำมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือกฎหมายกลับลงโทษโดยใช้มาตรฐานที่เท่ากัน ความผิดที่กระทำกับโทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกัน เป็นการจัดการแบบเหมารวม

ผู้ใช้ยาไม่ใช่คนชั่ว

ศักดา เสนอว่า สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดคือการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมต่อผู้ใช้ยา ทัศนคติของคนในสังคมจะเป็นตัวที่ส่งผลกระทบแก่ผู้ใช้ยาอย่างมาก อดีตผู้ใช้ยาหลายรายไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ การมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทำให้หางานทำยากขึ้น เราต้องมองผู้ใช้ยาอย่างเข้าใจ ผู้ใช้ยาไม่ได้เป็นคนชั่ว ความเข้าใจและการให้โอกาสจะเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างดี

เช่นเดียวกันกับวุฒิพงษ์ พาณิชย์สวย นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องปรับปรุงระบบการศึกษาในการแก้ทัศนคติของประชาชนต่อผู้ใช้ยา ลดการกีดกันการทำงาน ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการหรือโรงงานต่างๆ ที่ใช้นโยบายโรงงานสีขาวหรือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนที่มีประวัติการใช้ยาเสพติด เป็นการกีดกันผู้ใช้ ผลักให้เขาเหล่านั้นหวนกลับไปสู่วงจรเดิมๆ  ไม่สามรถลืมตาอ้าปากได้

วุฒิพงษ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหายาเสพติดเปลี่ยนไป จะลดความเป็นคดีอาญาของยาเสพติดลง  เปิดช่องทางให้มีการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากยาเสพติดในทางการแพทย์ และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาแก่ประชาชน เนื่องจากจะเป็นแนวทางในการลดอันตรายจากการใช้ยาและลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมา การร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลังจากนี้จะเป็นไปในแนวทางการสร้างความเข้าใจใหม่แก่ประชาชน ไม่ให้มองว่าคนใช้ยาเสพติดเป็นคนร้าย

จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาคมโลกใช้มาตรการไม่อดกลั้นต่อยาเสพติด คือปราบปรามกำจัดให้สูญหายไป ต่อมาเมื่อรับรู้แล้วว่าการปราบปรามดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จึงทำให้เกิดการแพร่ของโรคขึ้น กลุ่มดังกล่าวไม่สามารถมาปรากฏตัวเพื่อรับความช่วยเหลือจากรัฐได้ เนื่องจากต้องการหลบซ่อนเพราะโทษจากการใช้ยาเสพติดค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความหนาแน่นในเรือนจำ คนที่ถูกจับจากคดียาเสพติดส่วนมากเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่นายทุน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรม ประชาคมโลกจึงเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการไม่ทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรมแทนเช่นในโปรตุเกส ที่การใช้นโยบายดังกล่าวประสพผลสำเร็จ ปัจจุบันยาเสพติดไม่มีโทษในเชิงอาญาอีกต่อไป มีก็เพียงโทษปรับเท่านั้น

ทางแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่การทำให้มันถูกกฎหมาย แต่เป็นการถูกควบคุมให้การค้าขายอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย การค้ายาเสพติดอย่างเสรีทำได้ ภายใต้การควบคุมดูแลและการลงทะเบียนผู้ซื้อ-ผู้ขาย

ต้องควบคุมให้การค้าขายยาอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย

จอน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ยา ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ต้องรณรงค์ลดความเข้าใจผิด ลดอคติต่อผู้ใช้ยา ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร ถ้าผู้ใช้ยายังถูกเลือกปฏิบัติ ปัญหายาเสพติดจะไม่สามารถแก้ไขได้ พร้อมทั้งเสนอว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ควรมีตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้ยาร่วมเป็นกรรมการในการวางแผนนโยบาย ต้องฟังความเห็นจากผู้ใช้ยา

ด้าน ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เสนอว่า ทางแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่การทำให้มันถูกกฎหมาย แต่เป็นการถูกควบคุมให้การค้าขายอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย การค้ายาเสพติดอย่างเสรีทำได้ ภายใต้การควบคุมดูแลและการลงทะเบียนผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซึ่งการควบคุมปริมาณการใช้ยาสามารถทำได้ผ่านกระบวนการดังกล่าว โดยในประเทศโปรตุเกส นโยบายดังกล่าวที่ถูกนำมาใช้ ทำให้การควบคุมดูแลยาเสพติดเป็นไปได้

ภาสกร เสนออีกว่า การลดจำนวนผู้ใช้ยาสามารถทำได้ โดยยกตัวอย่างการทดลองที่เสนอเงินจำนวนหนึ่งกับยาเสพติดให้กับผู้ใช้ยา โดยถ้าเป็นจำนวนเงินที่มากพอ ผู้ใช้ยาเสพติดก็จะเลือกเงินมากกว่ายาเสพติด โดยการทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้ยา จะทำให้จำนวนผู้ใช้ยาลดลง ภาสกรบอกว่า ผู้ที่ใช้ยาเสพติดส่วนมากไม่ได้มาจากการติดยาอย่างรุนแรง

จะเห็นได้ว่า การจะแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมานั้น นอกจากการใช้แนวคิดการลดอันตรายจากการใช้ยา แนวคิดการลดความเป็นอาญากรรม สิ่งที่สำคัญคือการสร้างทัศนคติให้เคารพผู้ใช้ยาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มองผู้ใช้ยาเป็นผู้ร้ายในสังคม ให้โอกาสในการเข้าทำงานเพื่อทำให้ชีวิตของคนเหล่านั้นมีทางเลือกมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท