Skip to main content
sharethis

ผู้รายงานพิเศษ UN ประณามไทยจับ-ตั้งข้อหาจากคำสั่ง คสช.-พ.ร.บ.ประชามติ เรียกร้องหยุดใช้ พ.ร.บ.ประชามติ และเปิดให้มีการถกเถียงร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง

26 ก.ค. 2559 เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและตั้งข้อหาต่อการแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียและสาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลทหารและ พ.ร.บ.ประชามติ

ในแถลงการณ์ระบุว่า มีรายงานว่า ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นมา มีคนอย่างน้อย 86 รายถูกสอบสวนหรือตั้งข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อต้นเดือน ก.ค. มีนักกิจกรรมเจ็ดรายถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ขณะที่นักข่าวที่ตามไปทำข่าวก็ถูกจับและตั้งข้อหาด้วย ทั้งนี้ การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี เสียค่าปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

เขาแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อคำสั่งของรัฐบาลทหาร และ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งจำกัดการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

"แนวคิดของการประชามติคือการเปิดให้มีการถกเถียงอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะมีการลงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ควรส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เสรี และเปิดให้มีการอภิปรายอย่างเข้มข้น" เดวิด ไคย์ กล่าว

"แทนที่จะทำให้การแสดงออกต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นอาชญากรรม รัฐบาลไทยควรจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการสนทนาของสาธารณะ เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะเกิดการมีส่วนร่วมโดยได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ในระหว่างการประชามติ" เดวิด ไคย์ กล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ระบุว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

"ทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง" เขากล่าวพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ยกเลิกข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.นี้ รวมถึงที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่ง คสช. ทั้งหมด และยึดถือพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

สำหรับข้อเรียกร้องของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้รับการรับรองจากผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคณะทำงานว่าด้วยการคุมตัวโดยพลการ
 

แปลจาก
http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=20302&LangID=E

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net