Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ก่อนจะเริ่มต้นเลือกหัวข้อและอภิปรายกันในเรื่องพวกนี้ คิดว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะมีคำถามในใจแน่ๆ

ผู้เขียนขอถือวิสาสะเดาคำถามของผู้อ่านคำถามหนึ่งว่า...มายาคติคืออะไร? ถ้าจะให้อธิบาย ตามหลักวิชาการ
มายาคติคือการสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ[1]

คิดว่าก่อนหน้านี้คงมีผู้อ่านหลายคนไม่เคยรู้จักกับคำว่า “มายาคติ” มาก่อน และอาจจะสงสัยก็ได้ว่าเราจะต้องมาครุ่นคิดเรื่องมายาคติในมหาวิทยาลัยกันไปเพื่ออะไร ? และการถกเถียงเรื่องนี้มีความสำคัญกับนักศึกษามากขนาดไหน? มันทำให้เรามีผลการเรียนดีหรือเปล่า? ช่วยทำให้เราเรียนแบบไม่ติดเอฟในวิชาไหนหรือไม่? ช่วยให้น้องปีหนึ่งไม่ต้องถูกพี่ว้ากในห้องเชียร์? ช่วยให้มหาวิทยาลัยจัดงานสปอร์ตเดย์ให้ยิ่งใหญ่หรือเปล่า? ช่วยให้เลือกเรียนตัวนอกคณะที่ได้เกรดง่ายหรือไม่?

ผู้อ่านคงรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่าการถกเถียงเรื่องมายาคติในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ช่วยทำให้เราสอบได้เกรดสี่หรือช่วยให้รอดพ้นจากการติดเอฟวิชาที่เกลียดเข้าไส้ น้องปีหนึ่งก็ถูกพี่ว้ากอยู่ดี ต่อให้เรารู้ความหมายของมายาคติก็ไม่ช่วยให้มหาวิทยาลัยเลิกจัดงานสปอร์ตเดย์ ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยกับผู้อ่านตรงที่ว่าถ้าเราคิดแบบนี้ เราหยุดอ่านคอลัมน์นี้แล้วไปอ่านหนังสือสอบ ไปว้ากน้องปีหนึ่งในห้องเชียร์ กิจกรรมโชว์เชียร์ในงานสปอร์ตเดย์ตามใจต้องการเสียดีกว่า

แต่ผู้เขียนเองก็มีบางอย่างที่ไม่เห็นด้วยกับผู้อ่านเช่นเดียวกัน  เพราะผู้เขียนกลับคิดว่าการทำความเข้าใจ
มายาคติในรั้วมหาวิทยาลัยจะทำให้เราเห็นว่าการเรียนให้ไม่ได้เกรดเอฟ การว้ากในห้องเชียร์ การเข้าร่วมกิจกรรม

สปอร์ตเดย์ (หรือชื่อกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ละมหาวิทยาลัยของตัวเอง แต่มีกิจกรรมโชว์เชียร์ประกอบการแข่งขันกีฬาในมหาวิทยาลัย) การเลือกเรียนตัวนออกคณะที่เกรดง่ายแทนเลือกเรียนเพราะความสนใจ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน เพราะนักศึกษาส่วนมาก (ย้ำว่าแค่ส่วนมากไม่ใช่ทุกคน) ล้วนอยู่ภายใต้มายาคติเรื่องหนึ่งทั้งสิ้น

นั่นก็คือ “มายาคติความเป็นคณะ” ซึ่งมีที่มาที่ไปอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

โดยเราต้องมองจุดเริ่มต้นของการรับรู้มายาคติจากการขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่แรกเกิด นั้นก็คือการปลูกฝังจากครอบครัวให้ลูกๆ ของตนให้เลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิต และการตั้งคำถามจากสังคมรอบข้างตลอดเวลาว่า “หนูอยากเป็น (ในบริบทนี้คืออยากประกอบอาชีพ) อะไร?” ซึ่งสะท้อนนัยยะของสังคมที่ต้องการให้คนในสังคมเลือกอาชีพที่มีความเฉพาะทางสูงเพื่อทำงานในภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น

เมื่อย้อนมองย้อนกลับมาในรั้วมหาวิทยาลัยสำหรับการศึกษาภาคสามัญ เพื่อการรองรับการสร้างกำลังคนที่มีความเฉพาะทางสูง ทำให้สถาบันระดับอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตเฉพาะทางเพื่อป้อนเข้าสู่สังคม แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเรียนการสอนโดยแบ่งออกเป็นคณะต่างๆ ตามสาขาวิชาที่ตลาดแรงงานต้องการ เช่น คณะแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ผลิตวิศวกร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผลิตสถาปนิก เป็นต้น การแบ่งแยกในลักษณะนี้ทำให้มายาคติความเป็นคณะ (ตามความคิดเห็นส่วนตัว) เกิดขึ้นมา

นับจากการรับรู้ค่านิยมทางสังคมเรื่องการเลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งตามความสนใจ การตัดสินใจเลือกที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา การสมัครสอบและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นคณะทั้งนั้น แทบทุกคนในสังคมล้วนมีภาพจำว่าถ้าอยากทำงานอันนี้จะต้องเรียนคณะนี้ อยากทำงานอันนั้นจะต้องเรียนคณะนั้น เมื่อสอบติดคณะที่ต้องการก็ทำให้ผู้สอบติดมีความยึดมั่นในคณะที่ตนเองติดมาสูงยิ่งขึ้นไปอีก

การยึดติดในตัวคณะที่ตัวเองสังกัด ส่งผลให้แต่ละคณะปลูกฝังความคิด ให้เชื่อมั่นในคณะของตนว่าเป็นคณะที่ดีที่สุด ทุกคนที่อยู่คณะเดียวกันต้องมีความสามัคคีและมีความเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกันผ่านกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และกิจกรรมสปอร์ตเดย์

กิจกรรมเหล่านี้มีมายาคติของความเป็นคณะที่ไม่ยอมให้คณะของตนน้อยหน้าไปกว่าคณะอื่น ในแง่ของความพร้อมเพรียงในการร้องเพลงเชียร์และความสวยงามอลังการของการโชว์เชียร์คณะ ยกตัวอย่างเช่นบางคณะในมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งหนึ่งของประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดเตรียมแสงสีเสียงสำหรับการโชว์เชียร์สูงมาก ทำให้คณะนั้นได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่าเป็นจุดเด่นของกิจกรรมโชว์เชียร์ตอนกลางคืนของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

นอกเหนือไปจากกิจกรรมพวกนี้แล้ว มายาคตินี้ยังทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เรียนให้ได้เกรดที่ดี (ไม่ให้ติดเอฟ) เพื่อให้ผลการเรียนในทรานสคริปต์สวยและเป็นที่ดึงดูดใจของนายจ้างตอนสมัครงานตามที่ต้องการ ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกเรียนตัวนอกคณะ(ตามที่หลักสูตรกำหนดให้เลือกเรียน)ที่ให้เกรดง่ายๆ แทนที่จะเลือกเรียนตัวที่สนใจ

ในทางกลับกันคนที่เลือกเรียนตัวนอกคณะเพราะความสนใจส่วนตัวก็อาจถูกตำหนิ ประชดประชัน หรือเสียดสีจากเพื่อนร่วมคณะได้เช่นเดียวกันทั้งที่ในความจริงนักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์จะเลือกวิชาเรียนได้ตามความสมัครใจ และไม่มีสิทธิ์ที่จะถูกสังคมรอบข้างมองในแง่ไม่ดีเช่นนี้ เช่น นาย ก. อยู่คณะวิทยาศาสตร์แต่เลือกเรียนตัวฟรีวิชาประวัติศาสตร์ จนถูกเพื่อนล้อว่า นาย ก. เป็นนักศึกษาภาคประวัติศาสตร์ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปแล้วมายาคติของความเป็นคณะคือความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อในทุกสิ่งทุกอย่างของคณะไม่ว่าจะเป็นการเรียน กิจกรรม โดยผู้เขียนเสนอว่าเกิดมาจากแนวคิดการผลิตกำลังคนแบบแยกส่วน แม้ว่าบางคณะจะมีอาชีพที่ไม่ตายตัวสำหรับคนเรียนจบก็ตาม มายาคติความเป็นคณะเป็นแค่สิ่งที่คนอุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงเสมอไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการประกอบอาชีพกับคณะที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกันเสมอไป เรามีอิสระในการเลือกประกอบอาชีพตามที่ใจต้องการ หากไม่ติดขัดกับเงื่อนไขของสัญญาทุนการศึกษาสำหรับบางคณะ ยกตัวอย่างเช่น เราเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เราก็อาจไปทำงานเป็นครีเอทีฟหรือศิลปินก็ได้ ประภาส ชลศรานนท์ หนึ่งในเจ้าของบริษัทเวิร์คพ้อยท์ เอ็นเตอร์เทอร์เมนท์ ผู้ประพันธ์เพลง “วันพรุ่งนี้” และเพลง “ปั่นจักรยาน” ที่ติดหูคนทั้งประเทศ ก็เรียนจบสถาปัตย์จาก จุฬาฯ สถาบันเดียวกันกับวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ผลิตงานเขียนออกสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ในเมื่อการประกอบอาชีพกับคณะที่เรียนไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกัน แล้วเราจะยังปลูกฝังมายาคติความเป็นคณะไปเพื่ออะไรกัน? แล้วเราจะแบ่งแยกคณะใครคณะมันแล้วแข่งขันกันไปจนวันตายกันไปเพื่ออะไร? เพื่อปลูกฝังแนวคิดระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมให้กับคนในสังคมแค่ไหนหรอกหรือ? สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นกับการทำงานในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ต้องมีการบูรณาการศาสตร์หลายๆ สาขาระหว่างวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ธุรกิจ การตลาด กฎหมาย เข้าด้วยกัน ทักษะวิชาชีพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิตอีกต่อไป ข่าวเรื่องการเสนอร่างกฎหมายพืชตัดต่อพันธุกรรมและกระแสการต่อต้านหรือสนับสนุนจีเอ็มโอเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเราไม่สามารถวิเคราะห์จากข้อมูลสาขาใดสาขาหนึ่งได้

เราควรลงมือทำอะไรสักอย่างดีไหม?

การริเริ่มปรับเปลี่ยนกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และกีฬาสีให้มองความสำคัญของความเป็นปัจเจกและลดทอนความสำคัญของคณะตนเอง การสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากคนในหลายๆ สาขาวิชา การให้ความสำคัญกับงานที่อยากทำในอนาคตแทนคณะที่จะเรียนในอนาคต สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลดทอนมายาคตินี้ ไม่ได้เป็นการลบล้างมายาคติความเป็นคณะให้หมดไป

เพียงแค่มันเริ่มตรงที่เราต้องมองการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยใหม่ ไม่ได้มองแค่ว่าเราจะต้องสอบเข้าคณะนั้น ให้ได้เพราะเป็นคณะที่ดังหรือจบมามีงานทำ ไม่ได้มองว่าเราจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องที่ดูศักดิ์สิทธิ์ดังเช่นกิจกรรมของบางมหาวิทยาลัย ไม่ได้มองว่าเราจะต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของการโชว์เชียร์สปอร์ตเดย์ แต่ต้องมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างละเอียดมากกว่ามองประเด็นแค่บางประเด็นแบบผิวเผินเท่านั้น

เพราะในชีวิตจริงยังมีมายาคติที่มองไม่เห็นและที่ยังไม่รู้อีกจำนวนมากคอยควบคุมเราอยู่

0000

เชิงอรรถ
[1] นิยามของมายาคติอ้างจาก http://johnnopadon.blogspot.com/2015/10/roland-barthes-myth-post-structural.html

หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร small but matter มายาคติในรั้วมหาวิทยาลัย ฉบับเดือนเมษายน 2559
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net