องค์กรสิทธิที่อยู่อาศัยสากล ส่งจม.ถึงผู้ว่าฯกทม.กรณีรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

สมาพันธ์ผู้อยู่อาศัยระหว่างประเทศ (ไอเอไอ) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าฯ กทม. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการไล่ที่และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน กรณีการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อสร้างสวนสาธารณะ

28 ก.ค.2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สมาพันธ์ผู้อยู่อาศัยระหว่างประเทศ (ไอเอไอ) หรือ International Alliance of Inhabitants(IAI) ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลไทยแสดงความห่วงกังวลถึงแผนการรื้อชุมชนซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการไล่ที่และหาแนวทางแก้ปัญหาที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนจากกรณีแผนการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะโดย กรุงเทพมหานคร ตามแผนแม่บทเมื่อ 50 ปีก่อน และเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน 25 ปี ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ไอเอไอ แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชุมชนป้อมมหากาฬ โดยชุมชนที่มีประชากร 300 คนนั้นถูกคุกคามด้วยการบังคับไล่ที่ตลอดช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลดังต่อไปนี้

1.ชมชนไม่ได้รับการให้คำปรึกษาอย่างจากรัฐบาลและหน่วยงานของกรุงเทพมหานครอย่างเพียงพอ

2.ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในชุมชนถูกกล่าวหาให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เช่นการระบุว่าชุมชนเป็นแหล่งรวมของผู้เสพ ผู้ค้ายาเสพติด อาชญากร และกลุ่มคนผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัว

3.ข้อเสนอในการย้ายที่อยู่ใหม่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสถานที่ที่เสนอให้ย้ายไปนั้นอยู่ห่างไกลและไม่มีข้อเสนอสำหรับการจ้างงาน เช่นการอนุญาติให้ชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตในแบบชุมชนต่อไปได้

4.ไม่มีข้อเสนอเงินชดเชยเพิ่มเติมที่เหมาะสมจากหน่วยงานกทม. แม้ว่าเงินชดเชยเดิมที่เสนอมาจะน้อยเกินกว่าที่จะสามารถใช้จ่ายสำหรับความต้องการพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ

ปัจจัยดังกล่าวขัดต่อ บทบัญญัติข้อ 11 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (อีเอสซีอาร์)ลงนามโดยรัฐบาลไทยเมื่อปี 2542 และแม้ว่าจะมีข้อแนะนำจากคณะกรรมาธิการอีเอสซีอาร์ ในการประชุมครั้งที่ 50 ในปี 2558 เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ เคารพสิทธิในการมีที่พักอาศัยและ ดำเนินการในส่วนที่จำเป็นที่รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายและกรอบนโยบายใหม่แล้วก็ยังคงมีการละเมิดเกิดขึ้น

ศาลระหว่างประเทศเอเชียตะวันออก เสนอ 6 ข้อ แนะรัฐบาลแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนป้อมฯ

กรณีการละเมิดชุมชนป้อมมหากาฬดังกล่าวได้รับรู้ในที่ประชุมของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยการฟ้องร้องขับไล่ แห่งเอเชียตะวันออก ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้มีการแนะนำมาตรการสำคัญบางอย่าง เพื่อสถานการณ์ที่ดีขึ้นในทางสร้างสรรค์ ดังนั้น จึงขอเสนอข้อแนะนำอย่างเร่งด่วน

ข้อ 1 คือ กรุงเทพมหานครควรจะยุติและเลิกความพยายามที่จะขับไล่ผู้คนออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ

ข้อ 2 นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวออกมาเมื่อปี พ.ศ.2535 มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าโครงการสร้างสวนสาธารณะบนพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬนั้น ไม่เหมาะสมกับความต้องการของสาธารณะ ทางกรุงเทพมหานครควรจะทบทวนพระราชกฤษฎีกาเสียใหม่ และนำเสนอเรื่องใหม่แก่คณะรัฐมนตรี ที่จะสามารถออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ที่จะแก้ปัญหาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

ข้อ 3 ทางกรุงเทพมหานครควรจะยุติการโจมตีต่อชื่อเสียงของชุมชนที่ไม่จำเป็น ไม่เพียงแค่เรื่องการทำงานเพื่อเปิดการเจรจากับทางกรุงเทพมหานครเพื่อหาวิธีแก้ไขที่พึงพอใจร่วมกัน แต่ยังต้องแสดงให้เห็นถึงทักษะของการบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการบรรลุถึงเป้าหมายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากยาเสพติด โดยไม่ใช้ความรุนแรง และความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรุงเทพมหานครควรจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์มากกว่าการใส่ร้ายโจมตีผู้คนที่ต้องการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร

ข้อ 4 ดังนั้น ควรจะให้สิทธิแก่ชุมชนในการอยู่อาศัยและเดินหน้ายกระดับสภาพความเป็นอยู่รวมถึงสิทธิในการทำงาน กรุงเทพมหานครควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับข้อเสนอในการแบ่งปันที่ดินของุชมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่ชุมชนยอมรับในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน

ข้อ 5.แสดงตัวอย่างและให้คำมั่นกับชุมชนในการคงไว้ซึ่งธำรงรักษาไว้ซึ่งมรดกและวัฒธรรมในความเป็นอยู่ของชุมชน กรุงเทพมหานครต้องยอมรับฟังเสียงเรียกร้องของชาวป้อมมหากาฬ (รวมถึงเสียงเรียกร้องของชุมชนอื่นๆ) อย่างจริงจังและต้องปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาติ
และ

ข้อ 6.องค์การยูเนสโกและองค์กรนานาชาติอื่นๆที่เชี่ยวชาญในด้านมรดกทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสังคมในโครงการฟื้นฟูในกรุงเทพมหานคร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท