Skip to main content
sharethis

อาจารย์นิติมช.จับมือสมัชชาเสรีมช.จัดสมมติเสวนาปรีดี พนมยงค์, หยุด แสงอุทัย และ ไพโรจน์ ชัยนาม ระบุ 7 สิงหาคมจะเป็นวันที่ชี้ชะตาชีวิตความเป็นไปของสังคมไทย

21 ก.ค. 2559 คณาจารย์กลุ่มศูนย์วิจัยและและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเสวนาภายใต้หัวข้อรัฐธรรมนูญพันลึกที่ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ในงานเสวนาหัวข้อ ‘สมมติเสวนากับปรีดี หยุด ไพโรจน์’ ร่วมเสวนาโดยกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ กฤษณ์พชร โสมณวัตร และสมชาย ปรีชาศิลปกุล  โดยสมชายได้ให้เหตุผลในการเลือกทั้ง 3 คนมาบรรยายในสมมติเสวนานี้เนื่องจากเป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีความคิดที่น่าหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์นำเสนอมุมมองของ หยุด แสงอุทัย โดยการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 7 สิงหาคมที่กำลังจะไปลงประชามติ โดยอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องมาคุยกันเนื่องจากวันที่ 7 สิงหาคมจะเป็นวันที่ชี้ชะตาชีวิตความเป็นไปของสังคมไทย โดยใช้กฎเกณฑ์ของหยุด แสงอุทัยในการอ่านและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าดีหรือไม่ดีและมีหลักการ เริ่มจากการเล่าประวัติโดยสังเขปของหยุด แสงอุทัย และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภูมิหลังด้านการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญในการตีความตัวรัฐธรรมนูญ

“อาจารย์หยุดผ่านการเล่าเรียนจนจบกฎหมายในระบอบเก่าคือในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ชีวิตการทำงานราชการในระบอบใหม่คือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 อันนี้เป็นข้อสังเกตหนึ่งนะครับ แล้วเราจะเห็นต่อไปว่าทัศนคติและมุมมองต่อการตีความต่อรัฐธรรมนูญของท่าน ท่านใช้มุมมองตามระบอบใหม่มองทั้งสิ้น ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้า โรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมระบบการเรียนการสอนแบบสมัยก่อนจะใช้แบบ Common Law แต่ในขณะที่พอเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลัง 2475 เรารับระบบ Civil Law มาใช้ อาจารย์หยุดได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาปรับและได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการไปเรียนที่เยอรมัน” สงกรานต์กล่าว

เขายังนำสิ่งที่ได้จากการอ่านผลงานของหยุด แสงอุทัยมาวิเคราะห์ร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติโดยตั้งข้อสังเกตจากมาตรา 265 และ 279 ที่เป็นผลให้ คสช.สามารถใช้อำนาจบริหารตุลาการต่อไปได้อีกจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แม้ประชาชนจะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้วก็ตาม

“บทเรียนที่ได้จากการอ่านงานของอาจารย์หยุดประการแรก ประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจในการให้รัฐธรรมนูญต้องสามารถจำกัดอำนาจสถาบันทุกสถาบันภายในรัฐได้ อันนี้เป็นสาระสำคัญของคนที่มีอำนาจให้รัฐธรรมนูญ พอประชาชนให้รัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีองค์กรหรือสถาบันใดมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญได้อีก” สงกรานต์กล่าว

สงกรานต์ยังชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งและอธิบายว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะเข้ามาลดอำนาจสภา ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

“เขาจะมีหน้าที่ในการออกกฎหมายมาบังคับกับเรา อันนี้เป็นบทบาทที่สำคัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมเห็นว่าจากการอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเราดูมาตรา 267 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเดิมเป็นผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่สำคัญอย่างน้อย 10 ฉบับ ทั้งที่เรากำลังจะมีการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรในอนาคตซึ่งผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สัมพันธ์กับประชาชน มาออกกฎหมายที่สำคัญกับประชาชนในช่วงก่อนที่จะมีสภาของประชาชนไม่นาน อันนี้เป็นหนึ่งเหตุผลที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักที่เราบอกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเราดูเรื่องคำถามพ่วง คำถามพ่วงที่พูดถึงอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. จะมาโหวตเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรก อันนี้สำคัญนะผมคิดว่า อันนี้เป็นการที่จริงๆ เราจะบอกว่า ส.ว.ที่เป็นส่วนหนึ่งรัฐสภา แต่เราอย่าลืมนะครับว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญเป็น ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้สภา ส.ส.ที่จะมาจากการเลือกตั้งถูกลดอำนาจลงอย่างมาก ซึ่งสัมพันธ์กับพวกเราโดยตรง”

สงกรานต์มองว่ารัฐธรรมนูญอาจล้าสมัยได้ แนะควรเปิดให้แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยง่ายโดยให้เหตุผลหากแก้ยากอาจเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารอีกครั้ง

“ของดีในวันนี้อาจเป็นของเน่าในวันหน้าถูกไหมครับ? ถ้าเราไม่เปิดกลไกให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้  จะกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของประเทศได้ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเราอ่านดูร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องกลไกแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นว่ามันลึกลับซับซ้อนยุ่งยาก น่าจะเป็นกลไกที่ยาก น่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากที่สุดเท่าที่เราเคยมีมาแล้วในเมืองไทย แล้วผมคิดว่ากลไกแบบนี้มันจะทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก และการแก้ไขได้ยากนี้อาจารย์หยุดมองว่าอาจจะเป็นข้ออ้างให้มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าเราบอกว่ารัฐธรรมนูญล้าสมัยแก้ไขไม่ได้ กลไกทำยากก็ต้องรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งคนที่จะอ้างในการทำรัฐประหารไม่ใช่พวกเราแน่ แต่อันนี้พวกเราก็รู้อยู่นะครับว่าเป็นใคร” สงกรานต์กล่าวทิ้งท้าย 

ต่อมากฤษณ์พชร โสมณวัตรเสนอแนวคิดของไพโรจน์ ชัยนาม โดยใช้ในการบรรยายว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา’ กับ ไพโรจน์ ชัยนาม: ความคิด, วิพากษ์ และแยกแยะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย  เขาได้อธิบายถึงสาเหตุที่เลือกหลักคิดของไพโรจน์มานำเสนอเนื่องจากได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงการกฎหมายมหาชน และมีภูมิหลังทางด้านการเมืองระหว่างประเทศจากการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นมุมมองต่อการศึกษารัฐธรรมนูญจะมีลักษณะในเชิงรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบสูง

“ในสายตาของไพโรจน์ ชัยนาม การศึกษารัฐธรรมนูญมันไม่มีพรมแดนของรัฐชาติ ไม่มีพรมแดนของประเทศไทย ลาว กัมพูชา ทั้งหมดสามารถศึกษาร่วมกันได้ ในงานทุกชิ้นของไพโรจน์ ชัยนาม เป็นรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ” กฤษณ์พชรกล่าว
เขาได้เรียนรู้จากงานของไพโรจน์และนำมาวิเคราะห์กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยบางมาตรา

“ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยไม่ได้มีวิธีการความคิดแบบเปรียบเทียบหรือเอาคุณค่าอุดมการณ์สากลเข้ามาประกอบ แต่มันเป็นรัฐธรรมนูญแห่งความเป็นไทย ยกตัวอย่างเช่น เราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ ตามมาตรา 34 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญจะพูดไว้เลยว่าเสรีภาพทางวิชาการจะได้รับการคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ศีลธรรมอันดีของประชาชนปวงชนชาวไทยไง ไม่ใช่พลโลกไม่ใช่ปวงชนของสหรัฐฯ หรือของที่อื่น เราต้องทำหน้าที่ของคนไทยก่อนที่จะทำหน้าที่ทางวิชาการ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมอยากยกให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของมีชัยเป็นรัฐธรรมนูญแห่งความเป็นไทยตรงไหน” กฤษณ์พชรกล่าว

กฤษณ์พชรวิเคราะห์ว่า “ในมาตรา 107 ยังพูดถึงที่มาของวุฒิสภาว่าวุฒิสภาเกิดจากการเลือกกันเองของคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน พูดง่ายๆ พวกเขาเลือกกันเอง มันเกิดจากวิธีคิดของสังคมไทยที่เราเชื่อว่านิ้วทั้ง 5 นิ้วไม่เท่ากัน คนก็ไม่เท่ากัน แล้วเราต้องจัดสรรคนไปตามตำแหน่งแห่งที่ของมันให้ถูกต้อง พอเราคิดว่าคนไม่เท่ากันเราจึงคิดถึง ส.ว.แบบนี้ ผมถึงบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยคือร่างรัฐธรรมนูญตามอุดมการณ์ความเป็นไทย”

ด้านสมชาย ปรีชาศิลปกุลนำเสนอในหัวข้อ ‘สมมติเสวนากับปรีดี พนมยงค์ เรื่องรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่าง และประชาธิปไตย’ เขาได้อธิบายถึงภูมิหลังของปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับแต่ในช่วงแรกขาดประสบการณ์ในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นช่วงที่มีอำนาจ แต่ปรีดีเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่ปรีดีลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทยแล้ว โดยสมชายได้ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาที่ปรีดีเริ่มวิพากษ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากขึ้นเป็นช่วงเวลาที่มีประสบการณ์แต่ไม่มีอำนาจ

"ผมคิดว่าอันนี้สำคัญนะครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนวิพากษ์วิจารณ์อะไรโดยไม่มีอำนาจ สังคมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นไปได้อย่างเสรีมากขึ้น คือเราจะสังเกตได้ว่าเวลาคนที่อยู่ในอำนาจกับคนที่ไม่มีอำนาจวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆมันจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งเวลามีการวิพากษ์วิจารณ์สาธารณะ ผมคิดว่าเสียงที่เราต้องรับฟังอย่างมากคือเสียงของคนที่ไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องระแวงว่าตนเองจะถูกกดดันให้พ้นจากอำนาจ" สมชายกล่าว
สมชายได้กล่าวถึงบทเรียนจากปรีดี เพื่อเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยโดยหยิบยก 2 หัวข้อสำคัญจากงานเขียนของปรีดี คือจะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่และเราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร โดยชี้ให้เห็นว่าปรีดีให้ความสำคัญกับประเด็นทั้งสองนี้อย่างมาก

"สิ่งที่ต้องคิดเวลาจะต่อต้านหรือต่อสู้กับเผด็จการ ปรีดีบอกว่าเวลาจะต่อสู้กับเผด็จการเราจะต้องพิจารณาด้านที่เผด็จการตอบโต้ด้วย ฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีการทางเศรษฐกิจ การเมือง วิธีการใช้กำลังทหารตำรวจ วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในเผด็จการ ฝ่ายที่ต่อสู้กับเผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้"สมชายกล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองในสมัยปัจจุบันว่ามีความแตกต่างจากสมัยของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่แต่เดิมมีการใช้เพียงอำนาจทางเดียว

"ผมคิดว่ารูปแบบการปกครองในปัจจุบันที่มันอยู่ได้แบบนี้ รูปแบบรัฐบาลที่ดำรงอยู่ได้แบบนี้ ผมอยากจะเสนอรูปแบบนี้คือ ที่อยู่ได้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการใช้อำนาจของทหารเพียงอย่างเดียว การดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในปัจจุบันไม่ใช่เพราะว่า คสช.ใช้รถถังแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผมคิดว่ามันมีสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าเผด็จการเชิงเครือข่าย หรือถ้าเกิดฟังแล้วดูรุนแรงก็เปลี่ยนเป็นอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย"

“อำนาจนิยมเชิงเครือข่ายในปัจจุบัน การก่อตัวขึ้นของรัฐบาลที่เรียกว่าสถานการณ์พิเศษแบบนี้ ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นได้เป็นเพราะว่ามันมีเครือข่ายจำนวนหนึ่งที่กว้างพอสมควร ในการที่จะค้ำยันตัวระบอบนี้อยู่ มีเครือข่ายกลุ่มนี้ เครือข่ายกลุ่มนี้ผมคิดว่าขยายตัวมาตั้งแต่ประมาณ 2549 ขยายตัวมาให้เห็นอย่างชัดเจน เครือข่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน? ส่วนใหญ่จะอยู่ในองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ อันนี้คือคนกลุ่มนี้เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งรึเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นนักการเมืองอีกชุดหนึ่ง แล้วคนกลุ่มนี้สนับสนุนและเป็นคนที่ทำให้ระบบที่เรียกว่าอำนาจนิยมเชิงเครือข่ายดำรงอยู่ได้" สมชายกล่าว

ในช่วงท้ายของการสมมติเสวนา สมชายได้อธิบายถึงเหตุผลในการนำวิธีคิดของปัญญาชนทั้ง 3 คนมาใช้ในการเสวนาครั้งนี้
“เช่นเดียวกันกับหยุด ไพโรจน์ ปรีดี พนมยงค์ก็ถูกยกย่องอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าก็เช่นเดียวกันการนำเอาความคิดหรือการต่อยอดทางความคิดหรือถกเถียงทางความคิดกับปรีดี พนมยงค์ ผมคิดว่ามันไม่สู้จะเกิดขึ้นเท่าไหร่ เราเห็นการยกย่องแต่บุคคล แต่ผมคิดว่าในขณะเดียวกันเราไม่ค่อยรู้จักนำเอาความคิดของบุคคลที่เราเคารพยกย่องมาพิจารณา มาถกเถียง มาแลกเปลี่ยนนะครับ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกที่เรา 3 คนพยายามจะทำคือแทนที่จะยกย่องแต่ชื่อเสียง เราอยากจะลองหยิบเอาความคิดของบุคคลทั้ง 3 คนไม่ว่าจะเป็นหยุด แสงอุทัย,ไพโรจน์ ชัยนามหรือปรีดี พนมยงค์หยิบเอาความคิดของเขามาเถียงว่าสถานการณ์ปัจจุบันว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี่ว่าทั้ง 3 คนถ้ายังมีชีวิตอยู่เขาจะมองอย่างไร” สมชายกล่าวในตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net