Skip to main content
sharethis


“รับน้อง”...“ห้องเชียร์”...“พี่ว้าก”...“SOTUS”

คำเหล่านี้แลดูจะถูกพูดถึงกันทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลาเปิดเทอมของเหล่านิสิตนักศึกษา ข้อถกเถียงเดิมๆ ที่เกี่ยวกับการรับน้องยังคงวนไปวนมากันเสียจนเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่ทว่าท่ามกลางข้อถกเถียงเดิมๆ เหล่านี้ ในที่สุดปีนี้ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ รั้วมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์

เริ่มจากมหาวิทยาลัยสีเขียวย่านบางเขนอย่างเกษตรศาสตร์ ที่ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยผ่านเฟซบุ๊ก สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เรื่อง การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ ปีการศึกษา 2559 โดยระบุให้กิจกรรมรับน้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีการตะโกน กดดัน หรือข่มขู่บังคับ โดยหากพบเห็นหรือทราบเบาะแสก็สามารถแจ้งไปยังสภาผู้แทนนิสิตฯ ได้ทันที

 


ภาพจากเฟซบุ๊ก สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
 

อรรตชัย ประดับวงษ์ ประธานสภาผู้แทนนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กล่าวว่า มาตรการรับน้องสร้างสรรค์ที่ประกาศออกมาเป็นระเบียบของมหาวิทยาลัยที่ออกโดยผู้บริหาร ซึ่งมีเป้าหมายให้กิจกรรมรับน้องไม่ใช้ความรุนแรงและไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น โดยทางสภาผู้แทนนิสิต อาจารย์ และผู้บริหารได้มีการประชุมหารือกันหลายครั้งจนออกมาเป็นมาตรการนี้ และนอกเหนือจากระเบียบที่ออกมา มหาวิทยาลัยยังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรับน้องอีกด้วย

หลังจากประกาศมาตรการรับน้องสร้างสรรค์ออกไป อรรตชัยบอกว่าก็มีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งอรรตชัยยังแสดงความเห็นถึงการรับน้องแบบที่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นการฝึกเด็กเพื่อออกไปรับคำสั่ง ไม่ได้ทำให้เด็กกล้าคิดและตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์ 

“การที่เด็กแค่ก้มหน้าและก็รับฟัง โต้แย้ง โต้เถียงไม่ได้ มันไม่ใช่ปัญญาชน เราจะฝึกเด็กเพื่อออกไปรับคำสั่งแบบนั้นเหรอ หรือเราจะฝึกเด็กที่กล้าคิดกล้าตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์เองได้ สมมติว่าถ้ายังเป็นในรูปแบบนี้ [การว้าก การใช้ความรุนแรง] เราก็ฝึกเด็กเป็นแค่เครื่องจักรเครื่องหนึ่งที่พร้อมไปรับคำสั่งข้างนอก” อรรตชัยกล่าว

นอกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังมีอีกสองสถาบันที่ออกประกาศในลักษณะใกล้เคียงกันนั่นคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ระบุห้ามบังคับข่มขู่นักศึกษาใหม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องหรือประชุมเชียร์

 


ภาพจากเฟซบุ๊ก พี่ มศว พาน้องสอบ


ภาพจาก 
เฟซบุ๊ก สภานักศึกษา ม.อ.หาดใหญ่

 

จากการเริ่มเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยหลายแห่งข้างต้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบห้องเชียร์ที่อยู่มายาวนานกำลังค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลง แล้วคนที่เคยอยู่กับระบบห้องเชียร์และประเพณีการรับน้องแบบเดิมๆ เขาเปลี่ยนไปอย่างไร ประชาไทจึงจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับความคิดของ 2 อดีตพี่ว้าก จาก 2 สถาบันอย่างจุฬาฯ และแม่โจ้ 

และอีกหนึ่งความคิดของอดีตนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พยายามจะเปลี่ยนห้องเชียร์ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัย     

 

“ผ้าดำ” กลับใจ

โอ้ต (นามสมมติ) อดีตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าให้ฟังว่าตอนเรียนปีหนึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง 7 วันอันเลื่องชื่อของแม่โจ้ ซึ่งมีการรับน้องอย่างค่อนข้างเคร่งครัด อย่างเช่น ต้องก้มหน้าแทบจะตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะถูกทำร้าย หรือ ถูกริบเครื่องมือสื่อสารไม่ให้ติดต่อกับภายนอก เป็นต้น

“มันจะมีเขตให้เงยหน้ากับเขตให้ก้มหน้า ในมหาลัยมีเขตเงยหน้าอยู่ที่เดียวคือบริเวณหอที่น้องพักกัน ออกเขตเงยหน้าไปก็ต้องก้มหน้าตลอด แล้วก็จะให้วิ่งตอนเช้า แบ่งเป็นวันเว้นวันมั้งถ้าจำไม่ผิด ตอนนี้คือทุกเขตต้องก้มหน้าให้หมด จะมีรุ่นพี่เป็นแถวคอยตีกรอบให้วิ่งในถนน พอออกหอมาปุ๊ป รุ่นผมจะโดนตั้งแต่หน้าหอ สั่งให้ก้มหน้าแล้วต่อยเลย รุ่นพี่จะต่อยเลยเพราะรุ่นน้องไม่เห็นอยู่แล้ว” 

และเมื่อหลังจากจบการรับน้อง 7 วัน เหล่านักศึกษาปี 1 ของแม่โจ้ก็ยังต้องรักษากฎระเบียบตลอดปีการศึกษา ซึ่งในตอนนั้นโอ้ตคลั่งไคล้กับวัฒนธรรมการรับน้องของมหาวิทยาลัยอย่างมากจนได้มีโอกาสมาเป็น “ผ้าดำ” หรือ พี่ว้ากของแม่โจ้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ส่งต่อวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติให้สืบต่อไป

“ที่คิดตอนนั้นเหมือนได้ส่งต่อ seniority อะไรพวกนี้ เหมือนส่งต่อประเพณีพวกนี้ให้มันสืบต่อไป ก็ชอบ ภูมิใจ แบบเวลาเห็นพวกกลุ่ม Anti-Sotus มาว่า ก็จะ ‘เฮ้ย อะไรวะ’ เคยเข้าไปไฟต์กับเขาด้วย”

โอ้ตภูมิใจกับหน้าที่ผ้าดำตลอดมา จนกระทั่งมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เขาบอกกับเราว่ามันคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตที่ทำให้เขาตระหนักว่า สิ่งที่เขาเคยกระทำ สิทธิของรุ่นน้องที่เขาเคยลิดรอน ไม่ต่างอะไรกับที่ คสช. กระทำกับเขาแต่อย่างใด

“จุดเปลี่ยนมันคือรัฐประหารปี 57 เรารู้สึกว่ารุ่นน้องน่าจะรู้สึกแบบเดียวกันนี้ แบบประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกไปไหนเลย รู้สึกโดนปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์ ทหารสามารถทำอะไรก็ได้ และเราเลยรู้สึกว่ามันก็เหมือนกับที่เราทำกับน้องเราตอน 7 วันนั้นนี่หว่า เป็นเหมือนกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงเลยนะครับที่ผมรู้สึก”

หลังจากที่ความคิดของเขาได้เปลี่ยนแปลงไป โอ้ตก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ‘แม่โจ้เสรี’ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านโซตัสของแม่โจ้ แต่การเข้าร่วมของเขาก็เป็นไปอย่างลับๆ เนื่องจากกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัยหากเปิดเผยว่าตนเองต่อต้านวิถีการรับน้องแบบแม่โจ้ และเมื่อเขามองย้อนกลับไปก็ยังรู้สึกเสมอว่าสิ่งที่เขาเคยกระทำ เป็นความผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิต

“รู้สึกผิด รู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาดในชีวิตเลย ตอนนั้นไม่น่าทำเลย น่าจะปล่อย น่าจะบอกน้องให้สนใจเรียนมากกว่านี้ ควรจะไปเรียนกับอาจารย์คนไหน ไม่ใช่ไปบอกน้องว่า เอาหน่อยดิวะ สาขาเราจะได้มีหน้ามีตากับเขาบ้าง(หัวเราะ)”


พี่ว้ากสามปีซ้อน กับการว้ากที่อาจไม่เวิร์ค(แล้ว)

อาย-อคัมย์สิริ ภคปรีชาพัฒน์ อดีตสตาฟเชียร์ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นสตาฟเชียร์ หรือ พี่ว้ากของคณะนิเทศฯ ติดกันถึง 3 ปี ว่ามันเริ่มจากตอนที่เธอกำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 อายได้ถูกเพื่อนชักชวนให้ลองไปเป็นสตาฟเชียร์ และเธอก็ตอบตกลงไปเพราะอยากจะช่วยเพื่อน ซึ่งหน้าที่ของสตาฟเชียร์คือคอยสอนน้องถึงกฎระเบียบและคุณค่าต่างๆ โดยสตาฟเชียร์จะมีบุคลิกที่นิ่ง ไม่ยิ้ม กดดัน และใช้เสียงดัง ซึ่งอายได้ให้เหตุผลที่ต้องกดดันและใช้เสียงดังว่า เป็นเพราะไม่รู้จะมีวิธีไหนที่ดีกว่านี้ในการสอนน้องให้ได้เรียนรู้หรือได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

"เหมือนมันยังไม่ได้มีวิธีไหนที่จะทำให้น้องเป็นรุ่น ที่จะดีไปกว่าวิธีนี้ ซึ่งจริงๆ มันก็เหี้ยนิดนึง เพราะมันก็แบบ 'ก็ทำกันมาแบบนี้' แต่ทุกปีมันก็คิดใหม่นะแต่ก็ยังมีกรอบอะไรแบบนี้อยู่ คือทุกปีมันก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าทำไมถึงต้องทำ คือตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่ทำให้น้องได้เรียนรู้ความเต็มที่แบบนิเทศศาสตร์ หรือให้น้องทำกิจกรรมร่วมกัน"

หลังจากผ่านการเป็นสตาฟเชียร์ในปี 2 ไป อายมีความรู้สึกไม่ได้อยากเป็นสตาฟเชียร์อีกแล้ว แต่เนื่องจากธรรมเนียมของคณะนิเทศฯ ที่จะต้องมีพี่สตาฟเชียร์ให้ครบทุกชั้นปี อายจึงต้องมารับบทเป็นสตาฟเชียร์อีกทั้งในปี 3 และ ปี 4 

"คือเหมือนยิ่งโตก็ยิ่งรู้สึกว่าจริงๆ แล้ววิธีการนี้มันไม่ได้เวิร์คอีกแล้วหรือเปล่า นี่มัน generation ใหม่แล้วอะ การตะโกนหรือการใช้เสียงดังมันอาจไม่ได้เวิร์คอีกแล้ว"

อายยังบอกกับเราว่าถึงแม้จะเป็นพี่สตาฟเชียร์ติดกันถึง 3 ปี แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกภูมิใจ  และเมื่อถามว่าเคยโกรธรุ่นน้องที่ไม่เข้าห้องเชียร์หรือไม่เอาห้องเชียร์หรือไม่ อายบอกกับเราว่าไม่โกรธ เพราะคิดว่ามันเป็นสิทธิของน้องที่จะวิพากษ์หรือตั้งคำถามกับห้องเชียร์ 

"มันมีทุกปีอยู่แล้วน้องที่ไม่เอาห้องเชียร์แล้ว เรารู้สึกว่ามันคือความคิดของน้อง เรารู้สึกว่าเขามีสิทธิจะวิพากษ์อะไรบางอย่าง หรือตั้งคำถามกับอะไรแบบนี้ได้ แล้วเราเชื่อว่าทุกคนแม่งฉลาด ทุกคนมีเหตุผลมากพอที่จะตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีห้องเชียร์"

เมื่อถามถึงคำถามโลกแตกอย่าง ‘หากไม่มีห้องเชียร์จะเอาอะไรมาแทนดี’ อายบอกว่าตัวเธอเองไม่เคยลองวิธีอื่นแต่หากให้คิดวิธีที่เป็นไปได้ก็อาจจะเป็นกิจกรรมที่ให้น้องได้มาทำร่วมกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน อาจจะเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่ไม่จำเป็นต้องมีคนมาคอยกดดันก็ได้

และสุดท้ายอายยังฝากไปถึงรุ่นน้องที่ยังคงเป็นสตาฟเชียร์ว่าอยากให้คิดดีๆ และอยากให้คำนึงถึงน้องทุกคนอีกด้วย

"ให้ลองคิดดูว่ามันยังเหมาะหรือเปล่า ด้วยวิธีการกดดันหรืออะไร จริงๆ เหมือนมันไม่ได้มีใครที่จะมาชอบการถูกตะโกนใส่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำผิด ก็เหมือนอยากให้คิดดีๆ คือถ้าสุดท้ายระบบนี้ยังอยู่ หรือห้องเชียร์ยังอยู่ ก็อยากให้คิดแทนน้องทุกแบบ"


ผู้แทนนิสิต ม.เกษตร ผู้สนับสนุนให้ใช้เหตุผลในการรับน้อง

หลุยส์-ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ อดีตประธานสภาผู้แทนนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เล่าว่าตลอด 4 ปีที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เขาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมห้องเชียร์มาตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1 ที่เป็นนิสิตใหม่ก็ต้องเข้าห้องเชียร์ ได้เห็นและสัมผัสกับตัวกิจกรรมโดยตรงที่มีทั้งการว้าก การกดดัน และถึงแม้ว่าเขาจะไม่ชอบในวิธีการที่ห้องเชียร์ใช้ แต่เขาก็เข้าร่วมกิจกรรมตลอดจนจบ

"คือมันไม่บังคับหรอกครับ ทางนิตินัยมันก็ไม่บังคับอยู่แล้ว แต่มันก็บังคับด้วยสังคมว่าต้องเข้า ซึ่งพอเข้าไปก็ไม่ได้อินอะไรกับมัน ก็รู้สึกไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากมัน เพราะเพื่อนที่รู้จักก็รู้จักจากตอนเรียนอยู่แล้ว ตอนเข้าห้องเชียร์ที่นั่งติดกันก็ไม่เห็นให้คุยกันเลย จะรู้จักกันได้ยังไง(หัวเราะ)"

ต่อมาในชั้นปีที่ 2 หลุยส์เป็นทั้งประธานรุ่น อีกทั้งยังเป็นสตาฟในกิจกรรมห้องเชียร์ มีหน้าที่คอยดูแลและปลอบใจน้องที่ถูกว้ากมาอย่างหนักหน่วง หลุยส์บอกกับเราว่าในปีดังกล่าวเขาได้มีความพยายามที่จะพูดคุยกับรุ่นพี่ผู้จัดกิจกรรม ถึงแนวทางกิจกรรมห้องเชียร์ที่ไม่จำเป็นต้องมีการว้ากก็ได้ แต่ก็ไม่เป็นผล จนเมื่อเขาได้มาจัดกิจกรรมชุมนุมของสาขาเองในชั้นปีที่ 3 เขาและกลุ่มเพื่อนที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่ากิจกรรมที่คอยสร้างความสัมพันธ์ในหมู่นิสิตไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือการกดดันแต่อย่างใด แต่จะให้หักดิบไปเลยหลุยส์ก็เห็นว่าคงจะทำไม่ได้ จึงมีการต่อรองกันเจอคนละครึ่งทาง กลายเป็นว่าในปีนั้นก็ไม่มีการว้าก อาจจะมีเพียงพี่ระเบียบที่คอยยืนหน้าขรึมและบอกถึงกฎระเบียบเท่านั้น   

"รูปแบบกิจกรรมก็พยายามเปลี่ยน จากเดิมที่การรับน้องต้องมาว้าก กอดคอกันร้องเพลง เราก็พยายามเอาเกมมาให้เล่น ทดสอบกำลังใจด้วยเกม ระดมสมอง ทำอะไรที่มันเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันค่อนข้างได้ผลนะ กับการที่เปลี่ยนแปลงไปตอนนั้นมันก็ทำให้เราเห็นว่า มันก็มีวิธีอื่นที่ให้มันไม่ว้ากได้นี่หว่า"
   
จนพอขึ้นปี 4 หลุยส์ขยับขยายจากกิจกรรมสาขาหรือคณะ มาทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง โดยมีหน้าที่เป็นประธานผู้แทนนิสิต ซึ่งในตอนนั้นนโยบายของมหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการห้ามว้ากในแบบปัจจุบัน มีเพียงการรณรงค์ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิทธิที่น้องจะเลือกได้ ห้ามบังคับ ซึ่งทางสภานิสิตก็จะมีคณะกรรมการที่คอยสอดส่องแต่ละคณะ และคอยรับเรื่องร้องเรียน แต่นอกจากนั้นก็ยังมีความพยายามผลักดันในเชิงนโยบาย อย่างเช่นผลักดันให้กิจกรรมต่างๆ มีเหตุผลมากขึ้น ซึ่งจากการผลักดันเหล่านั้น ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการออกกฎห้ามว้ากออกมา

และเมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการออกกฎห้ามว้าก หลุยส์มองว่าแม้จะเป็นการหักดิบ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ห้องเชียร์ยังคงมีต่อ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่รุ่นพี่ไม่รู้จะเอากิจกรรมอะไรมาทดแทน ซึ่งการหักดิบนี้ก็จะทำให้รุ่นพี่ผู้จัดกิจกรรมได้คิดสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนระบบเก่า ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้นิสิตเกิดความคิดสร้างสรรค์

“มันถึงเวลาที่พวกแกต้องมาคิดกันใหม่แล้ว ว่าจะเอาอะไรมาทดแทน ผมว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทายการเรียน และการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนะครับ เพราะการเรียนและการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เป้าประสงค์ของมันคือต้องการให้คุณคิดสร้างสรรค์ เพราะงั้นตรงนี้คือโจทย์ คือแบบฝึกหัดที่คุณจะได้พิสูจน์ว่าการทำกิจกรรมมันสร้างให้เกิดพวกนี้จริงๆ ไอ้พวกที่ออกมาโวยวายเนี่ย ผมจะรู้สึกว่า หรือคุณกำลังแสดงออกกลายๆ หรือเปล่าว่าแท้จริงแล้วพวกคุณคิดไม่ออกว่าจะเอาอะไรมาแทน"

เมื่อพูดถึงวิธีการที่จะนำมาทดแทนห้องเชียร์ระบบเก่า หลุยส์เล่าในฐานะรุ่นพี่ที่เคยจัดกิจกรรมมาก่อนว่า จุดประสงค์หลักของห้องเชียร์มีอยู่ไม่กี่ข้อ คือ ให้น้องรู้จักกันเองและรู้จักพี่ ให้เกิดความรักคณะและพวกพ้อง และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งในแต่ละข้อก็สามารถจะทำให้เกิดตามจุดประสงค์ได้จากการทำงานร่วมกัน

"ถามว่าทุกวันนี้ที่เรารู้จักเพื่อนที่ทำงาน รู้จักคนทั่วไป เคยมีใครจะต้องมาตะคอก มาด่า มาเสียงดังให้เรารู้จักกันไหม คือความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อเราได้พูด ได้คุย ได้พบเจอกัน ยังไงมันก็รู้จักกันอยู่แล้ว และก็ด้วยรูปแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์สเดท แรกพบ รับน้อง อะไรต่างๆ นานา ในช่วงก่อนเปิดเทอม ที่มาเต้นสันทนาการกัน มาละลายพฤติกรรมกัน มาเล่นเกมกันตรงนี้ มันเพียงพอสำหรับการทำให้น้องรู้จักกันว่าแกชื่ออะไร แกเรียนสาขาอะไร แล้วเดี๋ยวนี้น้องมีกลุ่มไลน์กันตั้งแต่แอดมิชชันติดแล้ว ก่อนรายงานตัวอีก เพราะฉะนั้นเนี่ย ในเรื่องของการรู้จักกัน มันไม่จำเป็นเลยที่ต้องใช้การว้ากเข้ามาช่วย"

หลุยส์ยังยกตัวอย่างกิจกรรม อย่างเช่นรุ่นพี่อาจให้น้องทำกิจกรรมจิตอาสาที่มีเหตุผลและเห็นผลได้จริง และให้น้องไปหางบร่วมกัน ช่วยกันทาสี ช่วยกันทำโครงการที่ตั้งไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้รุ่นน้องได้ช่วยกันทำงาน ในขณะที่รุ่นพี่ก็คอยช่วยเหลือเคียงบ่าเคียงไหล่ให้คำแนะนำ หรืออาจให้น้องร่วมกันทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมมหาวิทยาลัย เช่น เมื่อถึงช่วงรับปริญญาก็ให้รุ่นน้องร่วมกันทำซุ้มเพื่อถ่ายรูป หรือ เมื่อถึงช่วงแข่งกีฬาก็ให้ไปทำขบวนพาเหรด ซึ่งหลุยส์มองว่ากิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะตอบโจทย์ตามจุดประสงค์แล้ว ยังทำให้น้องได้รู้จักการทำงานจริงอีกด้วย  
 
"ผมมั่นใจว่าคนที่เคยทำกิจกรรมมา พอผ่านกิจกรรมเหล่านี้ให้มันครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการสันทนาการ การอาสาอะไรเหล่านี้ ถ้าเกิดน้องไม่รู้จักกัน น้องไม่รักกันก็แปลกแล้ว ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้สามารถสำเร็จได้โดยไม่ต้องว้ากเลย" หลุยส์กล่าว


 

โปรดติดตาม รับน้องไงทำไมต้องว้าก #2 : คุยกับ ‘ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์’ นักวิชาการอดีต ‘ว้ากเกอร์’ ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net