Skip to main content
sharethis

‘ด้นถอยหลัง’ เป็นวิธีการเย็บผ้ารูปแบบหนึ่งที่นิยมมาก เนื่องจากทำได้ง่าย สร้างความแน่นหนาได้เป็นอย่างดี โดยลักษณะสำคัญของการเย็บรูปแบบนี้ คือการแทงเข็มขึ้นและย้อนกลับถอยไปข้างหลัง แล้วค่อยสนฝีเข็มขึ้นถัดจากรอยจรดเดิมเล็กน้อย  ที่แม้จะได้ระยะทาง ไปข้างหน้าทีละนิด ( เพราะต้องด้นกลับไปซ้ำด้านหลังให้แน่น) แต่ก็มั่นใจได้ว่าหากทำด้วยความปราณีตอุตสาหะ ย่อมได้รอยตะเข็บที่สวยคงทน ไม่แพ้รอยเย็บจากฝีจักรอย่างแน่นอน

ด้นถอยหลังการศึกษา : ร่างรธน.’ฉบับมีชัย’กับสิทธิที่หายไป

จากประเด็นข้อถกเถียงเนื้อหามาตรา 54 ในหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐใน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 ในส่วนของสิทธิทางการศึกษาที่ลด น้อยลงกว่าเดิม ทั้งจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50  กล่าวคือ ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 40  สนับสนุนให้ประชาชนได้เรียนฟรีเป็นเวลา ‘ไม่น้อยกว่า 12 ปี’ ครอบคลุม’การศึกษาขั้นพื้นฐาน’  ซึ่งหมายถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า  และรัฐธรรมนูญปี 50  ที่แม้ จะตัดคำว่า’การศึกษาขั้นพื้นฐาน’ออกไป แต่ยังคงไม่น้อยกว่า 12 ปี’ ไว้ดังเดิม  แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี 59  กลับกำหนดการอุดหนุนเรียนฟรีดังกล่าวให้ยิ่งน้อยลง โดยกำหนดไว้เพียง ‘เป็นเวลา 12 ปี’ ของ’การศึกษาภาคบังคับ’ หรือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเท่านั้น สร้างข้อวิจารณ์ เรียกร้อง ถึงสิทธิที่หายไปในรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นวงกว้าง จนท้ายที่สุดในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44  ให้มีการอุดหนุนการเรียนฟรี 15 ปีดังเดิม เพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว

หากปรียบการแก้ปัญหาการศึกษาไทยกับการเย็บซ่อมผ้า  นโยบายการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เปรียบได้เหมือนฝีเข็มที่หากด้นกลับด้านผิด แม้จะสร้างความแข็งแรงให้กับรอยตะเข็บผ้าได้เช่นกัน  แต่ก็เป็นการด้นที่ร่นถอยยาว ที่หาได้ก้าวไปข้างหน้าแต่อย่างใด

อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจม.44  ถ้าหวังดีต้องฟรีในรัฐธรรมนูญ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรียนฟรีม.ปลายที่หายไป เริ่มเบาบางลง ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งที่ 28/2559 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ในขณะเดียวกัน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลับเห็นต่าง และยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมว่า เรียนฟรีต้องเป็นสิทธิโดยเท่าเทียมในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ มีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร (เว้นเสียแต่จะถูกฉีก) แตกต่างกับคำสั่งของ คสช. ตามมาตรา 44 ที่เป็นเพียงกฎหมายลูก ได้มาด้วยอำนาจชั่วคราวและไม่ปกติอาจถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้ อนาคตนักเรียนไทยไม่ควรต้องถูกแขวนไว้บนความไม่แน่นนอนดังกล่าว

พริษฐ์มองว่า ปกติการศึกษาระดับมัธยมปลายก็ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับอยู่แล้ว การลิดรอนสิทธิการศึกษาและผลักไสคนยากไร้เข้าสู่ระบบกองทุนนั้น จะเกิดปัญหานักเรียนตกหล่นอย่างแน่นอน  พร้อมย้ำว่าการศึกษาฟรีเป็นสิทธิที่รัฐต้องให้การสนับสนุนโดยเท่าเทียม โดยที่ผ่านมาประเทศไทยก็จัดการ ‘ม.ปลายฟรี’ แม้กระทั่งควบคู่ไปกับ’อนุบาลฟรี’ ก็ ไม่ได้เป็นภาระมากนัก นโยบายการตั้งกองทุนช่วยเหลือ ตามคำกล่าวในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แท้จริงคือการนำสิ่งที่ ‘ฟรี’สำหรับทุกคนอยู่แล้วแต่เดิม มาเลือกจัดสรรให้ใหม่ ที่ท้ายที่สุด จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่ต้องพึ่งพาและไม่ต้องพึ่งพากองทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้

 พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาโดยการลิดรอนสิทธิของประชาชน เช่นเดียวกับที่ไม่มีประเทศใดเช่นกัน ที่ปฏิรูปการศึกษาได้โดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน หาก ‘ผู้ใหญ่’  ผู้หวังดีทั้งหลาย หวังดีต่อการศึกษาและอนาคตเด็กไทยจริง ควรยอมลงจากอำนาจ เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการศึกษา ที่ปัจจุบัน เหมือนเรือรั่ว ที่ซ้ำร้ายโดนโจรสลัดไม่กี่คนปล้นไป

ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อ ม.ปลายไม่ฟรี

นอกจากกลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเงื่อนไขการเรียนฟรีที่เปลี่ยนไปแล้ว  ‘ครู’ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงภาระหลักสูตรที่อาจต้องเปลี่ยนไปในฐานะผู้สอน หากรวมไปถึง’ภูมิทัศน์’ ที่อาจเปลี่ยนไปในฐานะ ‘คนปลูกต้นไม้’ ที่คอยบ่มเพาะดูแลเมล็ดพันธุ์ของชาติให้ผลิดอกออกใบ ที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจร่อยหรอร่วงหล่นมากกว่าที่เคย หากรัฐลดระดับการอุดหนุนการศึกษาลง

แม้ยังไม่มีตัวเลขการอุดหนุนที่แน่ชัดสำหรับนโยบายเรียนฟรีโฉมใหม่ของคสช. แต่จากตัวเลขอุดหนุนเดิมของ ชัยยุทธปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ (2558) ที่อ้างโดย ศุภชัย ศรีสชาติ(2559)  ชี้ให้เห็นว่าแม้ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปีเดิม จำนวนงบประมาณอุดหนุนที่รัฐให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ก็อยู่ในระดับน้อยอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับระดับอื่นๆ  อีกทั้งคำว่า’ฟรี’ ก็ฟรีเพียงบางรายการ ยังคงเหลือส่วนต่างที่ต้องตกเป็นภาระของผู้เรียนส่วนหนึ่งด้วย ที่แม้จะเป็นส่วนต่างไม่มาก แต่สำหรับคนไม่มี  ส่วนต่างไม่มากเหล่านี้ก็เพียงพอจะทำให้พวกเขาจำนวนไม่น้อย ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาฟรีที่รัฐจัดสรรให้อยู่แล้ว

ครูผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิ Teach for Thailand (ไม่ประสงค์ออกนาม) ท่านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็น ‘ราคา’ ของความฟรีที่ไม่ฟรี อย่างน่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้ที่เราพูดว่าเรียนฟรีๆ ความจริงแล้วมันไม่ได้ฟรีทั้งหมด การจะส่งลูกเรียนสักคนหนึ่ง มันไม่ได้มีแค่ค่าเทอมหรือค่าหนังสือที่รัฐออกให้เท่านั้น  ยังมีค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ค่าชุดนักเรียนและค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆอีกมากมาย หากเราจะมองว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ผู้ปกครองก็ควรจะรับผิดชอบบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่มี ก็คือไม่มีจริงๆ คนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ แค่หาเลี้ยงปากท้องยังแทบจะไม่พอ จึงไม่ต้องพูดถึงการส่งเสียลูกเรียนเลย หากรัฐไม่ช่วยเหลือใดๆเลยในการเรียนต่อม.ปลาย นักเรียนกลุ่มยากจน ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ และถ้าเขายังมีความรู้น้อย โอกาสในการประกอบอาชีพก็จะน้อยตามไปด้วย สุดท้ายก็หลุดไม่พ้นความจน เป็นปัญหาของประเทศชาติ”

เมื่อถามต่อถึงประเด็นการร่นระยะเรียนฟรีลงมาเริ่มตั้งแต่อนุบาล ว่าเห็นด้วยหรือไม่  คุณครูอธิบายว่า ช่วงวัย 1 – 6 ปี เป็นช่วงแห่งการหล่อหลอมบุคลิกภาพ นิสัยใจคอของมนุษย์  หากวัยนี้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กมีแนวโน้มจะมีพัฒนาการที่ดีต่อไป การให้ทุนเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจึงย่อมส่งผลดีอย่างแน่นอน

แต่ในแง่ของความเท่าเทียม การเริ่มระยะเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาล แม้จะเกิดความเท่าเทียมขึ้นตั้งแต่ช่วงต้น  แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสได้เรียนต่อหลังจากจบม.3 หากรัฐมีการอุดหนุนถึงเพียงระดับม.3 ก็น่าเป็นห่วงว่าจะมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ตกหล่นไป อาจทำให้ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของคนในประเทศลดลงไปด้วย

คุณครูเล่าว่า หากต้องการพัฒนาประเทศ ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน การศึกษาคือการพัฒนาคน ยิ่งมีสูงเท่าไหร่ยิ่งดี ประเทศก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น จึงน่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตการศึกษาไทย ที่ลำพังในปัจจุบันก็มีปัญหาพะรุงพะรังมากมายไม่รู้จะเริ่มแก้จากจุดไหน ไม่ต่างอะไรกับ “สายไฟที่พันๆกันบนท้องถนนกรุงเทพฯ"  ทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือการรื้อออกหมด ที่แม้อาจทำได้โดยลำบากและต้องใช้เวลา แต่ก็เชื่อว่าคุ้มค่าหากทำได้สำเร็จ

การศึกษา’ฉบับมีชัย’ในสายตานักเศรษฐศาสตร์

จากแนวคิดร่นระยะการเรียนฟรีลงมาที่ระดับก่อนประถมศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์    นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา  ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ดี เข้าใจได้ แต่มีเรื่องที่ต้องระวังหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ที่หากไม่มีข้อมูลและนโยบายการจัดการที่ดี อาจทำให้เด็กจำนวนมากตกหล่น เข้าไม่ถึงการการอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้

เหตุผลที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกร่นระยะเรียนฟรีมาเริ่มตั้งแต่อนุบาล ดร.ดิลกะ อธิบายว่าเป็นแนวคิดที่สมเหตุสมผล ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย  และมีงานศึกษาจำนวนมากรองรับ ที่พบว่า การลงทุนในเด็กเล็กให้ผลตอบแทนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนให้ความช่วยเหลือเด็กวัยแรกเริ่ม (Early Child Intervention ) ในระดับอนุบาลจนถึงประถมต้น ที่พบว่า เป็นวัยที่สามารถพัฒนาทักษะหลายด้านได้อย่างรวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนทักษะขั้นสูงต่อในอนาคต โดยเขาชี้ว่าทักษะที่เด็กในวัยนี้ควรได้รับการพัฒนามากที่สุดคือทักษะด้าน ‘การอ่าน’

จากงานศึกษาของธนาคารโลกโดย Patrinos and Psacharopoulos (2004)  พบว่าทักษะการอ่านที่สูงขึ้นจะช่วยทำให้อัตราค่าจ้างในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นด้วย  โดยจากการประมาณค่าทางเศรษฐมิติพบว่า หากเด็กมีทักษะการอ่านเพิ่มขึ้นมา 1 SD (การเพิ่มค่าความแปรปรวนจากค่าเฉลี่ยขึ้นอีก 1 ระดับ แสดงถึงทักษะการอ่านที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1 ระดับ ที่เพิ่มเข้าไปในแบบจำลอง) โดยเริ่มวัดตั้งแต่ ปฐมวัย จนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เปรียบเทียบเป็นค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นถึง 20%  ในขณะที่การเพิ่มระยะการเรียนเรียนขึ้นอีก 1 SD (เพิ่มระยะเวลาเรียนขึ้นจากค่าเฉลี่ย 1 ปี) จะทำให้อัตราค่าจ้างในอนาคต เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 10 % เท่านั้น

หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการอ่านในระดับปฐมวัยมาก โดยตัวชี้วัดหนึ่งที่ธนาคารโลกใช้วัดทักษะในช่วงวัยนี้ ได้แก่ผลคะแนน EGRA (Early Grade Reading Assessment )สำหรับการอ่าน  และ EGMA ( Early Grade Mathematic  Assessment) สำหรับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ประเมินหานัยทางนโยบายที่เหมาะสม

สำหรับประเทศไทย เบื้องต้นยังไม่มีการนำการทดสอบดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ แต่จากผลคะแนน PISA ในปี 2012 ก็ชี้ให้เห็นว่า’การอ่าน’ เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย โดยพบว่า 1ใน 3 ของเด็กไทย มีทักษะการอ่านอยู่ในระดับ Functionally Illiterate ที่รู้หนังสือไม่เพียงพอจะใช้งานได้ และกว่า 3 ใน 4 ของเด็กที่มีทักษะการอ่านในระดับดังกล่าว ล้วนแล้วศึกษาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กของหมู่บ้านหรือตำบลหรือเมืองเล็กๆในพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่เด็กที่มีทักษะการอ่านในระดับที่สูงกว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ในเขตเมือง สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กในเขตชนบทและโรงเรียนขนาดใหญ่กว่าในเขตเมือง ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าปัญหาสำคัญมาจากปัญหาขาดแคลนครูทั้งในแง่คุณภาพและจำนวนครูที่ไม่ครบชั้นเรียนอย่างหนักในเขตชนบท (ธนาคารโลก, 2015)

จากรายงานของธนาคารโลกฉบับข้างต้น  ดร.ดิลกะอธิบายเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยนโยบายใช้จ่ายการคลัง จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาขึ้นอีกราว 14% โดยต้องเพิ่มครูอีกโดยประมาณ 108,000 คน หรือราว 27% เพื่อทำให้ครูครบชั้น ซึ่งเป็นการลงทุนมูลค่ามหาศาลและอาจไม่ใช่วิธีที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ในทางเศรษฐศาสตร์มีวิธีอื่นอีกมากมายในการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดการจัดการปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ที่งานศึกษาของธนาคารโลกโดย Lathapipat and Sondergaard (2015)  พบว่าปัญหาสำคัญที่สุดมาจากการขาดแคลนครูทั้งในแง่คุณภาพและจำนวนครูที่ไม่ครบชั้นเรียน และครบวิชา ซึ่งเป็นปัญหาหนักสำหรับโรงเรียนเล็กในเขตชนบท

จากรายงานของธนาคารโลกฉบับข้างต้น  ดร.ดิลกะอธิบายเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูดังกล่าวในสภาวะปัจจุบันที่มีโรงเรียนมากกว่า 31,000 แห่งทั่วประเทศ จะต้องเพิ่มครูอีกประมาณ 108,000 คน หรือราว 27% ของจำนวนครูทั้งหมด เพื่อทำให้ทุกห้องเรียนมีครูครบชั้น ครบวิชา ซึ่งจะเป็นการลงทุนมูลค่ามหาศาล และเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพมาก  ในรายงานฉบับนี้ได้เสนอวิธีต่างๆหลายวิธีที่จะจัดการกับปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยที่นักเรียนจะยังสามารถเดินทางไปเรียนได้อย่างสะดวก  เขาย้ำว่าความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนครูนั้นวิกฤติมาก โดยเฉพาะสำหรับโรงเรียนประถมของไทย ซึ่ง 63% ของโรงเรียนประถมทั้งหมดมีครูเฉลี่ยไม่ถึง 1 คนต่อชั้นเรียน ปัญหานี้มีมาช้านานและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีกหากไม่เร่งแก้ไข

แม้การลงทุนในระดับปฐมวัย และการแก้ปัญหาขาดแคลนครูในระดับ ประถมจะเป็นโจทย์สำคัญที่ควรรีบอุดหนุนแก้ไข อย่างไรก็ดี   ดร.ดิลกะ ชี้ ว่าการลงทุนในระดับมัธยมศึกษาก็มีความสำคัญไม่แตกต่างและไม่ควรเลิกอุดหนุนเช่นกัน โดยเขาอธิบายว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน     (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า) มีผลกระทบภายนอกทั้งบวก(Positive Externality/Spillover) จากการลงทุนสูงมาก ทั้งต่อสังคม (Social Return) และส่วนบุคคล ( Private Return ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนบุคคล ที่พบว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะให้ผลตอบแทนในส่วนนี้มากในประเทศระดับรายได้น้อย (Low Income Country) และรายได้ปานกลาง (Middle Income Country)  ประเทศไทยมีผลกระทบภายนอกในส่วนนี้ถึง 4%  ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศระดับรายได้ปานกลางอื่นๆที่ใกล้เคียง ดังนั้นหากเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาปฐมวัยว่าควรเร่งอุดหนุนพัฒนาแล้ว การอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมก็เป็นอีกช่วงการศึกษาที่รัฐไม่ควรละเลย ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

ดร.ดิลกะให้ความเห็นประเด็น ‘ความฟรี’ และ ‘สิทธิ’ ทางการศึกษา ที่ถกเถียงกันในปัจจุบันอย่างน่าสนใจว่า  “ ที่สำคัญ ต้องไม่ใช่แค่จ่ายเงิน  ตอนนี้เราเถียงกันเพียงเรื่องงบประมาณว่าจะลงตรงไหน แต่ยังไม่มีโครงการหรือกลุ่มเป้าหมายของโครงการที่ชัดเจนเลย... ด้วยระบบข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยังต้องพัฒนาและมีความน่าเป็นห่วงอยู่มาก...”  สะท้อนให้เห็นถึงหนทางอีกยาวไกลของการพัฒนาการศึกษาไทย ที่แม้ระยะเวลาเรียนฟรีทีรัฐมอบให้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากเช่นกันที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีมาตรฐาน คุณภาพและความเพียงพอของครูผู้สอน การกระจายงบประมาณและการเลือกกลุ่มเป้ามาย ตลอดจนการประเมินผลกระทบของนโยบายและการบริหารจัดการฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการกำหนดนโยบายในระยะต่อไป ที่จะด้นถอยหลังเพื่อก้าวไปข้างหน้า หรือจะด้นถอยล่าเพื่อร่นถอยยาวไปข้างหลัง เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังต้องจับตาดูกันต่อไปอีกยาวเช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net