รับน้องไงทำไมต้องว้าก #2: คุยกับ ‘ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์’ นักวิชาการอดีต ‘ว้ากเกอร์’

จากตอนที่ #1 เรื่องการเปลี่ยนแปลงของห้องเชียร์ที่ว่าด้วยทำไมพี่ว้ากถึงเปลี่ยนใจ ทำไมบางคนถึงอยากเปลี่ยนแปลง มาสู่ตอนที่ #2 ซึ่งจะเป็นบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอลึกลงไปถึงความคิด ความรู้สึกพี่ว้าก พร้อมคำอธิบายทางสังคมศาสตร์ว่าเหตุใดคนถึงว้าก ผ่านปากของคนเคยว้ากตัวจริงเสียงจริงที่ปัจจุบันกลายมาเป็นนักวิชาการชื่อดังอย่าง “ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์”

ทำไมปองขวัญถึงว้าก? ตอนนั้นเธอคิดอะไรอยู่? และเธอได้อะไรจากการว้ากมาบ้าง? บทสัมภาษณ์นี้จะตอบทุกคำถาม และทำให้ได้เข้าใจเหตุผลของการว้ากมากขึ้น


 

มันจะมีไม่กี่คนที่มีอำนาจมาก การถูกเลือกให้คุณมีอำนาจอยู่ในมือมันพิเศษ ถึงบอกไงว่าบทบาทมันหล่อหลอมตัวคุณ
 

เข้าเรียนปีอะไร ที่ไหน และตอนนั้นคณะมีการรับน้องอย่างไร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าเรียนปี พ.ศ.2550 ตอนนั้นคณะเป็นระบบห้องเชียร์ เราไม่เรียก “ว้าก” เราเรียกห้องเชียร์ แล้วก็ไม่บังคับ คือแล้วแต่สมัครใจ ดังนั้นจะเกิดเหตุการณ์ว่าตอนวันแรกหรือวันที่สองจะมีคนเข้าเยอะ แต่ว่าช่วงนั้นมันจะทับซ้อนกับกีฬาเฟรชชี่ หลังๆ มันก็ไม่ค่อยมีคนเข้าหรอก ห้องเชียร์มันก็โหรงเหรง ก็คือออกไปทำอะไรก็ได้

ตอนปีหนึ่งได้เข้าห้องเชียร์ไหม
เข้าวันสองวัน แล้วหลังจากนั้นก็ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น

แล้วมาเป็นพี่ว้ากได้อย่างไร
ก็เขาเรียกมา จะมีคนมาทาบทาม เลือกจากหน้าเหวี่ยง หน้าตาแบบ Bitchy น่าโดนตบอะไรแบบนี้ แต่เขาก็จะมีแบบถ้าเป็นผู้ชายต้องหน้าตาดี “พี่วินัย” ต้องหน้าตาดี แล้วคาแรคเตอร์ของรัฐศาสตร์จุฬา ก็คือว่าบทมันเป็นเหมือนบทตลกแต่ต้องพูดแล้วให้หน้านิ่ง แล้วน้องก็ห้ามขำ แล้วเราก็ห้ามขำ แต่ก็หลุดประจำ

ตอนนั้นรู้จักคำว่าโซตัส (Sotus) อยู่แล้วหรือเปล่า
ใช่ รู้ รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำเรียกว่าโซตัส แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็เออน่าสนุกดี มีบทบาทให้เราลองเล่น มีบทบาทให้เรามาสวม แล้วก็เหมือนเล่นละครเวที เหมือนตัวละครสมมติ มีบท ทุกคนมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะในความเป็นจริงเราไม่ได้เอาตรงนี้ไปสวม คือตอนนั้นเราก็คิดว่าความเป็นจริงหลังจากห้องเชียร์เสร็จแล้ว เราก็ไม่ได้เอาตรงนี้ไปสวมใส่น้องๆ นี่ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ถึงรู้ว่าเป็นระบบโซตัสก็เถอะ แต่เราก็พยายามปลอบใจตัวเองด้วยคำว่า ‘เราก็ไม่ได้บังคับให้เข้านี่’  ไม่ชอบก็ไม่ต้องมา ไม่เป็นไร ตรงนี้คุณเลือกแล้ว

แล้วก็ต้องบอกก่อนว่าคนที่เข้าไปอยู่ในระบบโซตัส มันรู้แหละว่าคือระบบโซตัส แต่มันไม่คิดว่าจะมีผล คือคิดว่าก็ไม่เห็นเป็นไรเลย มีโซตัสก็มีไป คือคนที่อยู่ตรงนั้นไม่คิดหรอกว่ามันร้ายแรงหรือว่ามีผลอะไร จำได้ว่าสมัยที่เราทำกันอะ ทุกคนมี Dilemma (ภาวะที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก) อยู่แล้วเนอะ คือพอเป็นเด็กรัฐศาสตร์มันจะเข้าใจอยู่แล้วเรื่องชนชั้น เรื่องการใช้อำนาจ เรื่อง Hierarchy (การปกครองเป็นลำดับชั้น) มันเข้าใจอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจำได้ว่าช่วงที่เป็นพี่วินัย มันมี Dilemma ตลอดเวลา คือระหว่างคนที่ทำเองมันก็จะมี Dilemma เสมอว่า ‘เฮ้ย ตรงนี้มากเกินไปหรือเปล่า’ เรารู้สึกว่าความคิดตรงนี้มันไม่โอเค แต่ว่าสุดท้ายคนที่เป็นประธานเชียร์ในขณะนั้นก็ชัดเจน มาปรับความเข้าใจกัน แล้วต้องยอมรับให้ได้ว่ามันคือขวา ยอมรับให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ขวา คือต่อให้มี Dilemma อะไรก็แล้วแต่ บทบาทที่ทำอยู่ตอนนี้ มึงเป็นขวา มึงไม่ต้องพยายามหาความชอบธรรมในสิ่งที่มึงทำ เพราะมันหาความชอบธรรมด้วยการอธิบายแบบอื่นไม่ได้

บทบาทที่ได้รับหมายถึงอะไร ต้องทำอะไรบ้าง
เออ มันจะมีบท แต่จำไม่ได้แล้วว่าบทคืออะไร ทุกคนก็มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง จริงๆ ก็ไม่มีอะไรมากนะ ประมาณว่าพูดเสียงดัง หน้านิ่ง มีการเตือนเรื่องกฎ เช่น เอาสมุดเชียร์มาด้วย ต้องร้องเพลง ยืนให้เรียบร้อย แต่งตัวให้เรียบร้อย หลักๆ ก็คงเหมือนที่อื่น แล้วก็มีขู่เรื่องรุ่น ไม่ให้รุ่นนะ คือเราก็ทำตามบทบาท แต่เราก็รู้อยูู่แล้วว่าน้องต้องได้รุ่น ไม่มีอะไรหรอก แต่มันแค่เอามาขู่ รุ่นมันก็นับกันอยู่แล้วอะ มันจะมีการไม่ให้ได้ยังไง

ตอนที่เขามาทาบทามให้ไปเป็นพี่วินัยหรือพี่ว้าก คุณไม่รู้สึกตีกับตัวเองเหรอ เพราะตอนปีหนึ่งเด็กรัฐศาสตร์ก็น่าจะเรียนเรื่องพวกนี้มาบ้าง
เรียน ก็เรียนเรื่องโซตัส แต่ไม่รู้สึกว่ากระทบมาก หนึ่งคือว่าเราเข้าห้องเชียร์แค่สองครั้ง เราเลยไม่รู้สึกว่าระบบนี้มันแย่ แล้วเราก็รู้สึกว่าเข้าไปแล้วก็มาเล่นตลกให้เราดู คือเราอาจจะไม่รู้ว่าคณะรัฐศาสตร์ระบบโซตัสมันถูกดัดแปลงไปแค่ไหนแล้ว แต่เราไม่รู้สึกว่ามันแย่ คือตอนนั้นเราเป็นเด็กปีหนึ่งปีสอง เราก็เป็นเด็กสลิ่มคนหนึ่ง คือแนวคิดทางการเมืองก็ก้าวหน้า แต่ว่าการใช้ชีวิตเราก็ถูกเลี้ยงดูมาแบบชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งคำถามในเรื่องพวกนี้เท่าไร แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากโซตัสมาก หนึ่งก็คือเข้าน้อย เข้าไปสองวันก็เห็นว่าตลกดี เราก็เอาพี่วินัยมาเม้าท์ พอเขาติดต่อมาทาบทามเราก็เลยรู้สึกว่าโอเค ขำๆ Dilemma ไม่เกิดตอนตอบรับ แต่มาเกิดตอนเริ่มทำไปแล้ว

พอทำไปแล้วไม่ว่าคุณจะมีแนวคิดแบบไหน ถ้าไม่มีอะไรยั้งเอาไว้อะ เป็นใครใครก็หลงอำนาจ เราเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์มันแสวงหาอำนาจไง คือโดยธรรมชาติทุกคนชอบที่จะมีอำนาจ และเมื่อมีอำนาจทุกคนก็พยายามหาวิธีการ abuse of power (การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ) อยู่แล้ว ดังนั้นตอนที่เป็นพี่วินัย ต่อให้ก่อนหน้านั้นมันจะมี Dilemma นิดนึงว่าเราไม่ได้อยากเป็นขวา แต่พอเมื่อคุณโอเคกับสิ่งที่คุณทำ มันเป็นขวา มึงไม่ต้องหาคำอธิบาย มึงมีอำนาจอยู่ในมือ เท่านั้นแหละ ใครๆ ก็ชอบที่จะมี แล้วสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติของสังคมเลยนะ เราเชื่อว่าอย่างนั้น แต่ประเด็นคือมนุษย์มันมีการเรียนรู้ไง พอถึงวันหนึ่งคุณเรียนรู้ว่าการใช้อำนาจต่อให้จะมองไม่เห็นว่าเป็นการทำร้ายร่างกายแต่มันคือสิ่งที่ปลูกฝังในระดับโครงสร้าง  อันนั้นแหละที่จะทำให้คุณควบคุมตัวเองได้และไม่ใช้อำนาจแม้ว่าอยากจะใช้ คือมันไม่ใช่แค่ในเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย แต่ในทุกระดับเลย คือในระดับสังคม ในระดับชาติมันก็เป็น คือมันไม่มีทางหรอกที่คนมีอำนาจ แล้วจะไม่รู้สึกอยากใช้ ยกเว้นมันมีเครื่องมือมาหยุดยั้ง นี่ไม่ได้พูดถึงการมีศีลธรรมอันดีนะ แต่หมายถึงถ้ามันมีระบบที่ปลูกฝังว่าการใช้อำนาจเกินพอดีมันเป็นผลเสีย นั่นแหละ ถึงจะทำให้คนใช้อำนาจน้อยลง

แล้วในตอนที่เราเป็นพี่ว้าก มีอะไรมายั้งเราไหม
ไม่มี อำนาจเต็มที่ แล้วคือบทบาทที่เราเป็นมันจะหล่อหลอมเราเอง สุดท้ายเราจะสนุกกับการใช้อำนาจ เราจะสนุกกับการบอกน้องว่าคุณไม่ได้รุ่น เพราะมันคือคำขู่ เราอยู่ในฐานะที่ให้คุณให้โทษกับคนได้

เข้าใจว่าก่อนเปิดห้องเชียร์ มันต้องมีการมาซักซ้อม มาคุยกัน เราเคยตั้งคำถามไหมว่า การว้ากมีไว้เพื่ออะไร จุดประสงค์อะไร
ตอนนั้น ไม่ได้ตั้งคำถามเลย คือรู้สึกว่าเป็น Functionalism (หน้าที่นิยม) สุดๆ คือตอนนั้นจะถูกฝังมาว่า ยังไงมันก็ต้องมี มันจะได้รักกัน แล้วก็เป็น Functionalism ในความหมายว่า ทุกคนมีบทบาทของตัวเอง เราไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องว้าก ทำไมต้องเสียงดัง สิ่งที่ตอนนั้นเข้าใจก็คือว่า ก็คุณมีหน้าที่แบบนี้ เพื่อที่คนเหล่านี้สุดท้ายมันจะรู้จักกัน มันจะรักกัน แล้วมันจะรู้สึกดีเวลาอยู่กับ “พี่ร้องเพลง” ซึ่งเป็นคนปลอบใจ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นปีศาจก็ได้ ทำให้มันรู้สึกกดดัน คือทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ไปตั้งคำถามกับหน้าที่เหล่านี้ว่ามีเพื่ออะไร

ตอนที่เป็นพี่ว้าก รู้สึกภูมิใจไหม
ภูมิใจ คือหนึ่ง มันมีไม่กี่คนที่ถูกเลือกมาให้ได้ใช้อำนาจ ถูกปะ อันนี้ถ้าอยู่บนฐานคิดว่า ใครก็อยากได้อำนาจ คือการที่มีอำนาจอยู่ในมือคือสิ่งที่มนุษย์ต้องการ แล้วถ้าไม่มีอะไรคุมก็ใช้อำนาจไปเรื่อยๆ ทีนี้พอมันมีคนที่มีอำนาจมาก ก็ต้องมีคนหนึ่งที่มีอำนาจน้อย ก็แปลว่ามันจะมีไม่กี่คนที่มีอำนาจมาก การถูกเลือกให้คุณมีอำนาจอยู่ในมือมันพิเศษ ถึงบอกไงว่าบทบาทมันหล่อหลอมตัวคุณ

ได้อะไรบ้าง จากการเข้ามาเป็นพี่ว้าก
ไม่ได้อะไรเลย… อ๋อ ได้นะ ได้รู้นี่ไงว่าการใช้อำนาจเป็นยังไง เราถึงไม่เชื่อในระบบศีลธรรมไง เพราะไม่ว่าคุณจะมีความยับยั้งชั่งใจขนาดไหนเนี่ย ถ้ามันไม่มีอะไรมาตีกรอบการใช้อำนาจ หรือบอกว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ตามระบบ ไม่ใช่ให้ยับยั่งชั่งใจตัวเอง มันก็ใช้อะ ต่อให้คนที่ Critical (มีความคิดเชิงวิพากษ์) มาก ทุกคนที่เป็นพี่ว้ากตอนนี้จบไปก็ Critical กันทุกคนนะ ไปเป็นอาจารย์ ทุกคน Critical หมด แต่ว่าเมื่อตอนที่มันใช้อำนาจ มันก็คือมนุษย์ที่ไม่มีเครื่องยับยั้ง

พอหลังจากจบห้องเชียร์เรายังติดกับการใช้อำนาจอยู่ไหม
ไม่ติด แต่เรายังเชื่อว่าจากการสอนหนังสือมันมีบางเวลาที่ต้องดุ คือแต่ดุกับด่ามันไม่เหมือนกันไง คือต้องดุแบบมีเหตุผลอะ แต่เราไม่ค่อยชอบดุ หลังจากเป็นพี่วินัยมาเราไม่ชอบดุเด็ก เราไม่ว้ากโดยไม่มีเหตุผล

คือเราไม่อยากเป็นอาจารย์ที่มีอำนาจ เราอยากเป็นอาจารย์ที่แบบเรามีหน้าในการสอน คุณมีหน้าที่ในการเรียน เราเคารพซึ่งกันและกัน เราอาจจะมีอำนาจมากกว่าคุณตอนให้คะแนน แต่นอกจากนั้นเราคุยกัน เราเคารพกัน เราอยากจะเป็นอาจารย์ที่ถามหาความเคารพ มากกว่าถามหาการบูชาจากเด็ก แต่เราเชื่อว่าถ้าเราต้องการความเคารพ เราต้องเคารพเขาไง และการเคารพเขาก็คือการไม่ใช้อำนาจละเมิดตัวเขา

ณ ปัจจุบัน มองการว้ากว่าเป็นอย่างไร
ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม

แล้วจุดเปลี่ยนจากการเป็นพี่ว้าก มาไม่เห็นด้วยกับการว้ากแล้วคืออะไร
ไม่มี สำหรับเราไม่มี เพราะเราคิดว่าการเป็นพี่วินัยเป็นแค่บทบาทหนึ่งบทบาทที่เราได้รับเลือกให้ได้อำนาจตรงนั้น และเราก็เรียนรู้ว่าการใช้อำนาจมันสนุก มันเป็นเรื่องที่ไม่เห็นมีใครสามารถมาต่อรองกับเราได้ แต่ว่าหลังจากนั้นมันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนแบบพลิกหรอก ช่วงนึงเรายังไปเป็นคนช่วยดูพี่วินัยให้รุ่นต่อไปด้วยซ้ำ คือพอปีสองเราเป็นพี่วินัย ปีสามเราก็ไปช่วยดูว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง ไปกระตุ้นน้องอะไรแบบนี้ ต่อมาเราก็แค่ไม่ทำ แค่นั้นเอง คือจริงๆ เราเป็นคนที่ไม่ได้แสวงหากิจกรรมอะไรแบบนี้อยู่แล้ว เวลาเข้าไปก็คือมีคนชวนไป ดังนั้นพอไม่มีอะไรแล้ว เราก็ไม่ได้กลับไปทำอีก เราก็ไปทำอย่างอื่นแค่นั้นเอง มันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนแบบเปลี่ยน แต่มันมีการเรียนรู้มาเรื่อยๆ มากกว่า ว่ามันคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มันอาจจะไม่เห็นหรอกว่าสิ่งที่เราทำมันมีผลต่อคนแค่ไหน แต่ว่าพักหลังมันเริ่มเห็น แล้วมันก็มีเด็กรุ่นน้องเราที่พอถูกว้าก แล้วเขาชัก มันมีอะไรอย่างนี้ นี่คือความรุนแรงจริงๆ แล้วพอโตขึ้นได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ก็พยายามเอาประสบการณ์ของตัวเองมานั่งวิเคราะห์มากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามันไร้สาระแค่นั้นเอง

ถ้าให้เลือกว่าปีนี้จะมีการว้ากต่อไปหรือไม่ จะเลือกอะไร
คือที่รัฐศาสตร์จุฬามันมีปีนึงที่ลงแข่งกัน คนที่เป็นประธานเชียร์ลงแข่งกันสองคน คนหนึ่งเสนอให้ไม่มีห้องเชียร์ ยุบไปเลย ฉะนั้นเราเลยเชื่อในระบบว่าก็โหวตกันไป แล้วไม่บังคับเข้า ไม่ต้องมาขู่กันเรื่องจะได้รุ่นหรือไม่ได้รุ่น ถ้าคนสนุกกับการถูกว้ากหรืออยู่ในห้องว้ากก็คือเรื่องของเขา เรารู้สึกว่าเราอยากโน้มน้าวให้คนออกมาจากตรงนั้นเองมากกว่าที่จะให้เราเป็นคนตัดสินใจว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ

แต่คือมาถึงตอนนี้เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะว่าความเป็นเพื่อนกันมันไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเชียร์ขนาดนั้น หรือว่าร้องเพลงคณะได้มันก็ไม่ได้ทำให้รักคณะขึ้น นึกออกปะ ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราก็ร้องแล้วเราก็ลืม แต่เราก็ยังผูกพันกับคณะเรา ไม่ใช่ผูกพันเพราะห้องเชียร์ แต่ผูกพันเพราะกิจกรรมต่างๆ ที่มันมีผ่านๆ มา ก็คือถ้ายังอยากจะรับน้องอยู่เนี่ย ก็ควรมีกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์กว่าไหม อย่างเช่น มันมีปีนึงที่รุ่นน้องเราทำ น้องๆ พยายามจะตั้งคำถามกับศาสนาอย่างเนี้ย ห้องเชียร์นะแต่ตั้งคำถามกับศาสนา คือห้องเชียร์มันเปลี่ยนรูปแบบของมันได้ แต่โอเค อาจมีคนคิดว่าว้ากคือสิ่งที่ดีที่สุด เราถึงบอกว่า เราอยากให้มันเป็นข้อตกลงร่วมกัน หรือว่าก็เปิดโหวตไปเลย ว่าน้องอยากให้มีอยู่หรือเปล่า

พอหลังจากความคิดเราเปลี่ยนไปแล้ว ได้ไปต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ หรือรณรงค์อะไรไหม
ไม่ ไม่เคย เราไม่ได้สนใจเลย ไม่ได้มารับน้อง ไม่ได้มาเป็นพี่สันทนาการ คือไม่มาเลย ไม่ได้สนใจเลย  คือแบบเรารู้สึกว่าชีวิตเรามีอะไรมากกว่าการรับน้อง

เมื่อย้อนกลับไปมองตัวเองตอนที่เป็นพี่ว้าก รู้สึกอย่างไรกับตัวเองตอนนั้น
คือถ้าตอนนี้มองย้อนกลับไปเราก็คงไม่ทำ คือเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น หนึ่งคือเรื่องรุ่นมันก็ไม่จำเป็นอยู่แล้ว คือเวลาไปเรียนเมืองนอก เราก็รู้สึกว่าเป็นรุ่นกันได้โดยไม่ต้องผ่านการรับน้อง แล้วกิจกรรมก็มีได้แต่เรารู้สึกว่าพี่วินัยอาจไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญ แล้วสุดท้ายยังไง รัฐศาสตร์ก็ไม่ได้แต่งตัวชุดนิสิตอยู่แล้ว แม้แต่ตัวพี่วินัยเองก็ยังวิพากษ์การใส่ชุดนิสิตอะ คือมันก็เป็น Hypocrite (พูดอย่างทำอย่าง) อะ คือมันมีศัพท์ที่สวยกว่านี้ แต่จริงๆ ก็คือ ตอแหลอะ คือสุดท้ายคุณวิจารณ์เรื่องนู้น เรื่องนี้ เรื่องนั้น คุณไม่เคยเห็นด้วยกับการแต่งชุดนักศึกษา ไม่เห็นด้วยกับการแต่งชุดนิสิต ไม่เห็นด้วยกับการต้องมาถูกใช้อำนาจกดทับ แต่ไปเป็นพี่วินัย นึกออกปะ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นตราบาปของเราพอสมควรนะ ในแง่ที่ต้องถูกตั้งคำถามในเรื่องแบบนี้ว่า ‘เฮ้ย ถ้าคุณมีแนวคิดก้าวหน้าทำไมคุณไปทำอะไรแบบนั้น’ แต่ว่าพอในแง่หนึ่ง มันกลับไปย้อนประวัติศาสตร์ไม่ได้ เราก็ขอบคุณว่าตอนที่เราอยู่ในตรงนั้น มันทำให้เราคิดหลายเรื่องได้ แล้วมันทำให้เราเข้าใกล้การใช้อำนาจแบบรัฐมากกว่าแค่การวิจารณ์อยู่ภายนอก คือมันจะมีสักกี่คนที่ผ่านตรงนั้นมาจริงๆ

จะพูดอะไรกับตัวเองในตอนนั้น
ถ้าพูดกับตัวเองในตอนนั้น เราจะไม่บอกว่าเราเสียเวลาเพราะเราได้เรียนรู้จากมัน แต่ถ้าจะพูดกลับไปได้ ก็อยากจะให้คิดมากหน่อยกับสิ่งที่ตัวเองทำ อย่าทำอะไรไปเพราะรู้สึกว่ามันสนุกหรือท้าทาย มันมีอะไรมากกว่าความสนุกไง ความน่ากลัวที่มันซ่อนอยู่จากความสนุกที่เรามี คือเราว่าคนเราทำอะไรด้วยความสนุกหรือคึกคะนองมากเกินไป แต่เราไม่เคยคิดถึงผลลัพธ์ที่มันตามมา

 

ตั้งคำถามในสิ่งที่ทำเถอะ อย่าทำเพราะว่าคนอื่นเขาทำกันต่อๆ มา
 

เวลาพูดถึงผลลัพธ์ที่ตามมา คนก็มักจะถามกันว่า “คิดมากเกินไปหรือเปล่า” ประเด็นนี้ว่ายังไง
เราเข้าใจคำว่า ‘คิดมากป่ะ?’ จริงๆ เพราะตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้มีผลลัพธ์ในระยะสั้นหรอก เราไม่ได้รู้สึกว่าเด็กๆ มีระเบียบมากขึ้นหรืออะไรมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ของมันก็คือการสานต่อให้ระบบมันยังอยู่ต่อ

เวลามีคนต่อต้านการว้าก มักจะมีคำถามว่าแล้วจะเอาอะไรมาแทนการว้าก คุณคิดว่าควรเอาอะไรมาแทน
ไม่มีปัญญาคิดอย่างอื่นเหรอ คือมันมีหลายกิจกรรมมาก คือกิจกรรมมันล้านแปดมาก ที่ให้คนสามารถอยู่ด้วยกันและให้คนร่วมกันใช้ความคิดได้ อย่างเช่น ที่เราบอกไปว่ารุ่นน้องของเราให้เด็กเข้าห้องเชียร์ แล้วนั่งวิจารณ์ศาสนากัน กิจกรรมแบบนี้ที่มันทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด มาคอยช่วยกัน เราว่าสุดท้ายมันก็ทำให้มีเพื่อนได้อยู่แล้ว หรือแม้แต่ไม่มีรับน้องเลยก็ได้ เพื่อนที่ได้ทุกวันนี้ได้จากการรับน้องหรือเพื่อนที่นั่งด้วยกันในห้องล่ะ? คือหลายคนเจอเพื่อนที่รับน้องแล้วก็ไม่เคยคุยกันอีกเลยก็มี ก็ไม่เห็นจำเป็นขนาดนั้น

จะฝากอะไรไหมถึงคนที่ยังเป็นพี่ว้าก หรืออยู่ในระบบโซตัส
ถ้าเป็นแค่ตรรกะธรรมดา คือคุณไปว้าก ไปบอกให้เด็กมีความอดทนในอนาคต ถามว่าคุณจะได้เจอความอดทนแบบที่มีคนมาว้ากอย่างนี้ในชีวิตจริงหรือเปล่า คือโอเคการว้ากมันอาจจะไม่มีผลอะไรมาก มันอาจไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บแค้นน้ำใจ แต่แค่ถามคำถามง่ายๆ เลยว่า ว้ากไปทำไมอะ? เสียแรง เหนื่อยก็เหนื่อย แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรที่มันดีขึ้น และก็ยังเป็นการทำให้สังคมมันมีระดับชั้น คือเราเชื่อว่าสังคมมันไม่ได้พัฒนาเพราะว่ามันมีลำดับชั้น คนที่เหนือกว่าสามารถสั่งคนที่ต่ำกว่าได้ พูดง่ายๆ เลยในทางเศรษฐกิจ มันจะพัฒนาถ้าทุกคนสามารถให้ความเห็นกันได้ และการที่จะให้ความเห็น การรับฟังทุกคนมันไม่เกิดขึ้นหรอกถ้ามันมีคนนึงพยายามจะบอกว่า ‘มึงหยุดหัวเราะ’ อะ

และถ้าจะขอให้พูดอะไรได้คือ ‘มึงต้องตั้งคำถามนะ ว่ามึงจะทำสิ่งพวกนี้ทำไม’ คือผลลัพธ์ที่มันตามมาพอเราทำแบบนี้รุ่นใหม่มันก็ทำตาม มันไม่เคยถามหาเหตุผลว่าเราจะทำอย่างนี้ไปทำไม ตั้งคำถามในสิ่งที่ทำเถอะ อย่าทำเพราะว่าคนอื่นเขาทำกันต่อๆ มา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท