Skip to main content
sharethis

“ราเมศ รองโฆษก ปชป. ” ชี้ จุดอ่อนร่างรัฐธรรมนูญ  เปิดโอกาสคนถูกถอดถอนจำนำข้าว เข้าการเมือง เสมือนนิรโทษกรรมให้ เช่นเดียวกับอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าร่างฯผ่านจำเลยจำนำข้าวได้ประโยชน์

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ฟนเพจ 'ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์'

1 ส.ค.2559 เฟซบุ๊ฟนเพจ 'ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์' และ คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวสนับสนุนจุดยืน ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า สิ่งที่ อภิสิทธิ์ ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติ ไม่ได้กลัวรัฐธรรมนูญปราบโกงอย่างที่มีการกล่าวหา ในทางตรงกันข้ามได้ชี้ถึงจุดอ่อนในเรื่องกลไกปราบทุจริตที่หลายมาตราในสาระสำคัญ 

ซึ่งตนขอต่อยอดในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ไม่ได้วางระบบการเมืองป้องกันคนโกงเข้าสู่การเมืองอย่างเด็ดขาด เหมือนที่กำหนดไว้เป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะได้มีการตัดสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 102 (14) กำหนดว่า บุคคลที่เคยถูกถอดถอนโดยวุฒิสภาจะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ไม่สามารถเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้ และในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 174 ยังกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนตามมาตรา 102 (14)

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ไม่มีการกำหนดลักษณะต้องห้ามเช่นในรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้การวางกลไกป้องกันคนไม่ดีเข้าสู่การเมืองถดถอยลง

“พรรคฯตรวจสอบจำนำข้าวด้วยความยากลำบาก ถ้ารัฐธรรมนูญปราบโกงจริง มีหรือที่พรรคฯจะไม่รับ เพราะผลผลิตจากการปราบโกงมีการถอดถอนบุคคลจำนวนหนึ่งที่ส่อว่าทุจริตถึง 4 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 50 คนเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตไม่สามารถเข้าสู่การเมืองได้ อันเป็นผลผลิตจากการตรวจสอบของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มิได้ใส่ไว้ในลักษณะต้องห้าม เท่ากับว่าบุคคลที่เคยถูกถอดถอนจะเข้าสู่การเมืองได้เมื่อถูกเพิกถอนสิทธิเป็นเวลา 5 ปี ไม่ใช่ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตเหมือนในรัฐธรรมนูญ 50 คนที่เคยถูกถอดถอนก็จะได้ประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เปรียบเสมือนการนิรโทษกรรมให้จำเลยในคดีจำนำข้าวที่เคยถูกถอดถอนมาแล้ว เราจึงท้วงติงว่ามันไม่สอดคล้องกับการวางกลไกป้องกันคนโกง เพราะปล่อยให้คนโกงจำนำข้าวกลับสู่การเมืองได้ นี่หรือที่บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ป้องกันคนโกงเข้าสู่การเมือง” ราเมศ กล่าว

“อยากเทียบเคียงให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ข้าราชการที่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุไว้ในมาตรา 98 (8) ว่าห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส.ห้ามมิให้เป็น รัฐมนตรี ตลอดชีวิต ทำไมระบุไว้ได้ นักการเมืองที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยมีพฤติการณ์ที่ส่อว่าทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดียุติแล้วตามผลการถอดถอนตามกฎหมาย คนกลุ่มนี้ได้สิทธิ์พิเศษจากไหนถึงได้รับการยกเว้น กรณีที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นความแตกต่างได้ชัด แต่กาลเวลาจะเป็นคำตอบว่าตั้งใจหรือหลงลืมในการยกร่าง สังคมย่อมตั้งคำถามในเรื่องนี้ได้ การที่พรรคเพื่อไทยออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่าใช้เป็นตรรกะว่าร่างรัฐธรรมนูญดีหรือไม่เอื้อประโยชน์ให้กับเขา ประชาชนต้องตัดสินใจด้วยเหตุและผลด้วยข้อมูลที่เป็นจริงจะดีที่สุด” รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ราเมศ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนต้องการคืออยากให้ประชาชนตัดสินใจบนเหตุผลที่ถูกต้อง จึงได้ชี้ข้อบกพร่องในการป้องกันคนโกงเข้าสู่การเมือง นี่คือประเด็นที่ประชาชนต้องตัดสินใจก่อนที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ โดยประชาชนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลไม่มีใครชี้นำได้ และตนก็อธิบายตามความจริงจากเนื้อหาสาระที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญส่วนการออกเสียงประชามติอยู่ที่ประชาชนจะตัดสิน
 

อภิสิทธิ์ชี้ร่างรธน.ผ่านจำเลยจำนำข้าวได้ประโยชน์

สำหรับประเด็นการโยงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับคดีจำนำข้าว นั้น เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ในการแถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ อภิสิทธิ์ พร้มเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำร่างรัฐธรรมนูญเอง หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามตินั้น อภิสิทธิ์ อธิบายว่า กรณีของ ป.ป.ช. คนที่มาทำหน้าที่นี้ต้องมีความเป็นอิสระและเที่ยงตรง ในอดีตเราเคยมี ป.ป.ช.ที่ไม่เที่ยงตรงหรือทำผิดกฏหมายเสียเอง แต่ปี 40 หรือ 50 นั้น ช่องทางในการตรวจสอบ ป.ป.ช. ทำได้ไม่ยาก พรรคประชาธิปัตย์เคยเริ่มกระบวนการฟ้องร้อง ป.ป.ช. มาแล้ว แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใครจะตรวจสอบ ป.ป.ช. ต้องยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งโดยโดยปกติก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล แล้วประธานสภาผู้แทนฯ จะมีดุลยพินิจสิทธิขาดที่จะส่งเรื่องนั้นต่อไปที่ศาลเพื่อดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ ซึ่งกระทบต่อความเป็นอิสระและความเข้มแข็งของกระบวนการตรวจสอบอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้กับผู้ที่มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาลกับ ป.ป.ช. อยู่ในสภาวะที่ต่อรองกัน และฝ่ายที่จะตรวจสอบก็ไม่มีช่องทางอื่นที่จะทำอะไรได้ ส่วนกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการตรงนี้ เดิมถ้าศาลนี้พิพากษาว่าใครผิดใครโกง ผู้ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานใหม่เท่านั้น และถ้าจะอุทธรณ์คนที่จะมีวินิจฉัยอุทธรณ์คือที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา เพราะฉะนั้นนักการเมืองจะกลัวศาลนี้เป็นพิเศษ และก็มีแต่นักการเมืองที่ขึ้นศาลนี้เท่านั้นที่ไม่พอใจกับบทบัญญัติในศาลนี้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับทำให้การอุทธรณ์ง่ายขึ้นคือยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เอาไว้ และเมื่ออุทธรณ์ไปแล้วการวินิจฉัยจะดำเนินการโดยองค์คณะใหม่ไม่ใช่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา 

"คาดว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คนกลุ่มแรกที่อาจจะได้ประโยชน์จากบทบัญญัติใหม่นี้ คือจำเลยในคดีจำนำข้าว เพราะว่ารัฐธรรมนูญก็คงจะผ่าน ถ้าผ่านก็คือประชามติในเดือนสิงหาคม ถ้าคำถามพ่วงเกิดผ่านด้วย มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไรเสียก็ประกาศใช้ได้น่าจะตุลา-พฤศจิกา แต่คำตัดสินของคดีนี้ก็อาจจะออกมาหลังจากนั้น ผิดเพียงสักเดือนสองเดือน ถ้าตัดสินว่าผิดก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย" อภิสิทธิ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่ากระบวนการถอดถอนที่จากเดิมนักการเมืองที่เคยถูกถอดถอนนั้นถูกตัดสิทธิห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยกเลิกข้อห้ามนั้นไปแล้วก็จะถูกตัดสิทธิเป็นระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิก็น่าจะประมาณ 5 ปี 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net