Skip to main content
sharethis

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ออกบทวิเคราะห์ ชี้หาก ร่างรธน.-คำถามพ่วงผ่าน ขณะที่เจรจาตกลงกันไม่ได้ อาจเห็น "หุ้นส่วนอำนาจใหม่" 3 แบบ คือ ส.ว.จับมือเพื่อไทย หรือเพื่อไทยจับมือประชาธิปัตย์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ รักษาการไปเรื่อยๆ 

1 ส.ค.2559 ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ถึงบทวิเคราะห์ขั้วอำนาจทางการเมืองหากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ โดย ปานเทพ วิเคราะห์ถึงหุ้นส่วนอำนาจในอนาคต จากมาตรา 91 ในร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วงกรณี ส.ว. พร้อมกับเหตุการณ์เจรจาตกลงกันไม่ได้ อาจเห็นสถานการณ์บีบคั้นทำให้เกิด "หุ้นส่วนอำนาจใหม่" ที่ช็อคประชาชนก็ได้ คือ 1. ส.ว. หันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยแทน โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง 2. พรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง หรือ 3. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งนานไปก็จะมีแรงกดดันจากทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน เพราะเป็นสถานการณ์หลังเลือกตั้งแล้ว

ปานเทพ ระบุว่า ไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้ไม่ถึงทางตันที่นำไปสู่การเปลี่ยนหุ้นส่วนอำนาจใหม่ หรือพูดง่ายๆคือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคผ่าทางตัน หรือไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องพร้อมรับความแปลกใหม่ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไป หรือไม่เช่นนั้นหากประชาชนไม่อยากเห็นเกมความเสี่ยงในขั้วอำนาจดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ลงมติไม่เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยรายละเอียดบทวิเคราะห์มีดังนี้

 

บทวิเคราะห์มิติขั้วอำนาจทางการเมือง หากประชาชนผ่านความเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วง!!

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 91 ตามทฤษฎีแล้ว บางคนวิเคราะห์ว่าอาจจะช่วยลดจำนวน ส.ส.เพื่อไทยให้น้อยลง

เพราะ ส.ส.เพื่อไทยอยู่ที่ ส.ส.เขตเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งรัฐธรรมนูญคฉบับนี้ออกแบบ "โควต้า" ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้นั้น ต้องไม่เกิน สัดส่วนของ ส.ส.เขต+ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกัน

ตัวอย่างสมมุติเช่น การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 เป็นแบบจำลองตัวตั้ง

เพื่อไทย ได้บัญชีรายชื่อ 15.7 ล้านเสียง 48.41% ต้องได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 คน จาก 125 คน รวมกับ ส.ส.เขตอีก 204 คน ทำให้ ส.ส.รวมได้ 265 คนจาก 500 คน กลับกลายเป็น 53% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

แต่ภายใต้ระบบใหม่ที่ให้นับโควต้า ส.ส.รวม เริ่มต้นจาก ส.ส.รวมไม่เกินคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อคือ 48.41% เป็นตัวตั้ง !!!

ดังนั้น เมื่อคิดจากจำนวน ส.ส.500 คน พรรคเพื่อไทยก็ควรจะได้ ส.ส.รวมไม่เกิน 48.41% หรือไม่เกิน 243 คน เมื่อลบออกจาก ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทย 204 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยจะได้โควต้าอีกแค่ 39 คน แปลว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อจะหายไป (61-39 = 22 คน) พรรคเพื่อไทยจึงจะมี ส.ส.ไม่เกิน 243 ที่นั่ง (ลดลงจาก 265 ที่นั่ง) และจะทำให้มี ส.ส.รวมจากเดิมเกินครึ่ง กลายเป็นไม่ถึงครึ่ง

ภายใต้ระบบใหม่ ถ้าสมมุติคิดจากฐานคะแนนเดิมปี 2554 ประชาธิปัตย์ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 11.43 ล้านเสียงคิดเป็น 35.15% จะได้ ส.ส.รวมทุกระบบเป็น 175 เสียง (จากเดิมได้ 159 ที่นั่ง) แปลว่า ปชป.จะได้ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีก 20 ที่นั่ง

ส่วนพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้เพิ่มจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจาก 125 คน เป็น 150 คนขึ้นไปอีก และลดจำนวน ส.ส.เขตจาก 375 คน เหลือ 350 คน เพราะระบบบัญชีรายชื่อ "ในโควต้า ส.ส.รวม" ที่มากขึ้นเท่าใดก็เท่ากับลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทยลง และเพิ่มความได้เปรียบของพรรคอื่นๆมากขึ้นเท่านั้น (ตามทฤษฎีจากแบบจำลองการเลือกตั้งปี 2554)

เดิมทีอาจมีใครบางคนคาดหวังว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง แล้วคิดว่า ส.ส.พรรคขนาดกลางที่มีการประสานเอาไว้จะทำให้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ได้

คนคิดวางหมากนี้ เป็นเซียนการเมืองที่ไม่ธรรมดา !!!

เพราะเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง

แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เพราะการฝากอนาคตเอาไว้กับพรรคขนาดกลาง ซึ่งนอกจากจะไม่มีความแน่นอนแล้ว เอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนมากขึ้น และเกินครึ่งหนึ่ง หรือไม่?

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เกิดความระแวงถึงความไม่แน่นอน ปรากฏออกมาให้มีการลงประชามติคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเป็นเวลา 5 ปี แต่เมื่อนายกรัฐมนตรี 1 สมัยมีวาระไม่เกิน 4 ปี แปลว่าเรามีโอกาสที่จะมีนายกรัฐมนตรีจากการร่วมลงมติโดย ส.ว. ได้มากกว่า 2 สมัย จึงมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ว.ร่วมลงมติได้ยาวนานสูงสุดถึง 8 ปี

และ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลก็มาจากคัดเลือกจาก คสช. เสียด้วย

ดังนั้น ส.ว.จึงคล้ายๆตัวแทนพรรคทหารขนาดใหญ่มีมากถึง 250 คน ที่ต้องจะไปเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.500 คน รวมเป็น 750 คน

แปลว่าครึ่งหนึ่งของ 2 สภาคือ 375 คนขึ้นไป ถ้าไม่ลงตัวก็เลือกนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าการเจรจาจะลงตัว

ลองคิดดูว่าพรรคการเมืองพรรคเดียวได้ ส.ส.ครึ่งหนึ่งคือต้องมี ส.ส. 250 คนขึ้นไปก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แต่ก็เสียงไม่พออยู่ดี เพราะต้องอาศัยเสียงในรัฐสภาอีก 125 เสียง จึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะไม่พึ่งพาเสียงจาก ส.ว. เลย

ยกเว้นว่าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวได้เสียงถึง 375 คน จาก 500 คน ซึ่งยากมากในการวางโครงสร้าง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (เพราะต้องมี ส.ส. คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 75% ของ ส.ส.ทั้งประเทศ)

หรือยกเว้นว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์รวมกันแล้วเกิน 375 ที่นั่งจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งก็ยากในทางการเมืองเช่นกัน

แต่...

การมี ส.ว.คุมเสียงสำคัญนั้น ไม่ได้แปลว่าจะปลอดโปร่งในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงก็จะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นตามมา โดยที่ ส.ว.จะไม่สามารถไปร่วมลงมติอุ้มนายกรัฐมนตรีได้ นั่นหมายถึงว่าจะต้องเกิดความเห็นพ้องต้องกัน 2 ด้านพร้อมกัน

1. ส.ว. เห็นชอบในการเลือกนายกรัฐมนตรี

2. ต้องมี ส.ส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพื่อค้ำยันสถานภาพนายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

แปลว่า ส.ว.ย่อมไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้รับการสนับสนุนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่ดี

และแปลว่าถ้าเพียงแค่พรรคเพื่อไทยมีเสียงครึ่งหนึ่งใน ส.ส. แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ต้องมีพรรคเพื่อไทยอยู่ในรัฐบาลเท่านั้น ถึงเวลานั้น ส.ว.จะต้องยอมจำนนให้กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่?

คำถามตามมาคือ ส.ว. จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ? และต้องมีความเห็นพ้องของเสียงข้างมากใน ส.ส.ด้วย?

เพราะถ้าเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็อย่าลืมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน

การเจรจาในอนาคตจะจบลงอย่างไรนั้นยากจะคาดเดา

แต่เชื่อได้ว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะต้องเข้าร่วมรัฐบาลเป็นแน่ แต่ก็ต้องมีพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ถ้าไม่พรรคเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์เข้าร่วมด้วยในทางใดทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผลการเจรจาใครจะตามใจ ส.ว.ได้มากกว่ากัน

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้เปรียบขึ้นในทางทฤษฎีจากระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ถึงเวลานั้นจะยืนยันเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือจะยอมเลือกคนอื่นตามความต้องการของ ส.ว. ที่มาจาก คสช.(ถ้าบังเอิญว่าคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นคนละคนกัน)

แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการ นานๆแบบไร้กำหนดเวลา ก็น่าจะถูกแรงกดดันมากขึ้น เพราะถ้าไม่เช่นนั้นคงไม่ประกาศโรดแมปให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า จริงไหม?

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดนายกรัฐมนตรีในอนาคต

ดังนั้นการที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ ทำให้สถานการณ์การต่อรองระหว่าง

"ส.ว.จะอุ้มนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์"

หรือ

"ประชาธิปัตย์อุ้มนายกรัฐมนตรีตามความต้องการ ส.ว." นั้น...

มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะเท่ากับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่เห็นด้วยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และแปลว่าไม่เห็นด้วยกับอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

จึงเท่ากับหุ้นส่วนอำนาจในอนาคตย่อมมีระดับความเสี่ยงที่จะตกลงกันไม่ได้สูงเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งถ้าปล่อยเหตุการณ์เจรจาตกลงกันไม่ได้เช่นนั้นต่อไป เราอาจเห็นสถานการณ์บีบคั้นทำให้เกิด "หุ้นส่วนอำนาจใหม่" ที่ช็อคประชาชนก็ได้ คือ

1. ส.ว. หันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยแทน โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง

2. พรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง

3. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งนานไปก็จะมีแรงกดดันจากทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน เพราะเป็นสถานการณ์หลังเลือกตั้งแล้ว

หรือไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้ไม่ถึงทางตันที่นำไปสู่การเปลี่ยนหุ้นส่วนอำนาจใหม่ หรือพูดง่ายๆคือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคผ่าทางตัน

หรือไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องพร้อมรับความแปลกใหม่ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไป

หรือไม่เช่นนั้นหากประชาชนไม่อยากเห็นเกมความเสี่ยงในขั้วอำนาจดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ลงมติไม่เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ไม่ว่าผลประชามติจะเป็นอย่างไร 7 สิงหาคม 2559 ก็จะเป็นวันที่ประชาชนกำหนดชะตาอนาคตของประเทศด้วยตนเอง

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
1 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net