'นักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง' เรียกร้องมหาวิทยาลัยหยุดจำกัดสิทธิแสดงความเห็นร่าง รธน.

2 ส.ค. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยหยุดการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประชามติ รวมถึงขอให้ยุติการข่มขู่ว่าจะเอาผิดทางวินัย และหยุดการแจ้งความดำเนินกับนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ และหันมาปกป้องบุคคลเหล่านี้จากการดำเนินคดีโดยหน่วยงานรัฐแทน 

เครือข่ายนักวิชาการ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ในสถานการณ์ก่อนการลงประชามติ มีการปิดกั้นการแสดงความเห็นหลายกรณี เช่น การสั่งห้ามอาจารย์แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญกรณีมหาวิทยาลัยมหิดล การไม่อนุญาตให้อาจารย์ใช้สถานที่จัดงานแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การขู่จะเอาผิดทางวินัยนิสิตที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกรณีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การไม่อนุญาตและแจ้งความนักศึกษาที่จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และล่าสุดคือการไม่อนุญาตให้อาจารย์จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วยข้ออ้างว่าไม่เป็นกลางและจะสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับบ้านเมือง 

"การสั่งห้ามแสดงความเห็น การไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีนักศึกษาและอาจารย์กรณีร่างรัฐธรรมนูญและประชามติของผู้บริหารมหาวิทยาลัยข้างต้นเป็นเรื่องน่าละอาย เพราะนอกจากข้ออ้างเรื่องความเป็นกลางจะฟังไม่ขึ้นโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการแสดงบทบาททางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้ในช่วงก่อนหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ เช่น กกต. ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดเสวนาทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัยสามารถกระทำได้ หรือแม้กระทั่งฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้สั่งห้ามการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้แต่อย่างใด ไม่นับรวมหลักการที่ว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย จะมีก็แต่การใช้ดุลพินิจที่บิดเบี้ยวผสมอคติทางการเมืองและการไร้ความกล้าหาญทางจริยธรรมเท่านั้นที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้" แถลงการณ์ ระบุ

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่อง
ให้มหาวิทยาลัยหยุด การจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประชามติ

ปรัชญาและปณิธานที่สำคัญประการหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาก็คือการเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และข้อคิดเห็นต่อปัญหาที่สังคมกำลังประสบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้นำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนฐานของข้อเท็จจริงและด้วยการใช้เหตุผล และที่ผ่านมามหาวิทยาลัยก็ได้ทำหน้าที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง

ทว่าวิกฤติการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แทนที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นอย่างเสมอหน้า มหาวิทยาลัยถูกฉวยใช้เป็นฐานการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนมากได้สมาทานกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างออกนอกหน้า รวมทั้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมกับใช้อำนาจการบริหารในมือขัดขวางการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามหรือผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นิสิตนักศึกษา หรือว่าประชาชนทั่วไป อีกทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังอวดอ้างความสูงส่งกว่าทางศีลธรรมของตนด้วยวลีอย่าง “ความเป็นกลาง” และ “ความเห็นแก่ส่วนรวม” สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมากในช่วงก่อนถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีทั้งการสั่งห้ามอาจารย์แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญกรณีมหาวิทยาลัยมหิดล การไม่อนุญาตให้อาจารย์ใช้สถานที่จัดงานแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การขู่จะเอาผิดทางวินัยนิสิตที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกรณีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การไม่อนุญาตและแจ้งความนักศึกษาที่จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และล่าสุดคือการไม่อนุญาตให้อาจารย์จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วยข้ออ้างว่าไม่เป็นกลางและจะสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับบ้านเมือง

การสั่งห้ามแสดงความเห็น การไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีนักศึกษาและอาจารย์กรณีร่างรัฐธรรมนูญและประชามติของผู้บริหารมหาวิทยาลัยข้างต้นเป็นเรื่องน่าละอาย เพราะนอกจากข้ออ้างเรื่องความเป็นกลางจะฟังไม่ขึ้นโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการแสดงบทบาททางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้ในช่วงก่อนหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ เช่น กกต. ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดเสวนาทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัยสามารถกระทำได้ หรือแม้กระทั่งฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้สั่งห้ามการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้แต่อย่างใด ไม่นับรวมหลักการที่ว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย จะมีก็แต่การใช้ดุลพินิจที่บิดเบี้ยวผสมอคติทางการเมืองและการไร้ความกล้าหาญทางจริยธรรมเท่านั้นที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจึงขอตำหนิการตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยข้างต้นพร้อมกับมีข้อเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทยดังนี้

1. อนุญาตให้อาจารย์และนิสิตนักศึกษาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติได้อย่างเสรีบนฐานของข้อเท็จจริงและการใช้เหตุผล
2. อนุญาตให้อาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้ใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติอย่างเท่าเทียมกัน
3. ยุติการข่มขู่ว่าจะเอาผิดทางวินัยรวมทั้งหยุดการแจ้งความดำเนินกับนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ และหันมาปกป้องบุคคลเหล่านี้จากการดำเนินคดีโดยหน่วยงานรัฐแทน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะพิจารณาแก้ไขพฤติกรรมที่ผ่านมาเพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
2 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท