รอบโลกแรงงานกรกฎาคม 2559

 

เผยมลพิษจากบริษัทข้ามชาติไต้หวันทำลายวิถีชีวิตคนเวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามประกาศว่ามลพิษที่เกิดจากสารพิษซึ่งปล่อยมาจากโรงงานเหล็กของบริษัทไต้หวัน ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า 200,000 คน รวมทั้งชาวประมง 41,000 คน (ที่มาภาพ: rfa.org)

29 ก.ค. 2559 มีรายงานข่าวว่าบริษัทในเครือกลุ่มฟอร์โมซา พลาสติก กรุ้ป (Formosa Plastics Group) ของไต้หวัน ได้ทำลายการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดทางภาคกลางของประเทศ แม้บริษัทฯ ยอมรับว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อมลพิษดังกล่าว และพร้อมจะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายเป็นจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

บริษัท ฟอร์โมซา ฮาดิน (Formosa Ha Tinh) อุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่จากไต้หวันในเวียดนาม ที่มีมูลค่าลงทุนราว 10,600 ล้านดอลลาร์ ประกอบธุรกิจ เช่น โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานเหล็ก และท่าเรือน้ำลึก โดยในระหว่างการทดสอบการทำงานของโรงงานนั้น พบว่าน้ำเสียของโรงงานมีสารพิษปะปน เช่น ไซยาไนด์ และกรดคาร์บอลิก ถูกปล่อยลงทะเลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมีปลาลอยตายจากสารพิษและถูกพัดเกยตามแนวชายฝั่งกว่าราว 115 ตัน บริเวณทางชายหาดทางภาคกลางเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่วนปลาในฟาร์มของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้ก็ตายไปกว่า 140 ตัน และหอยอีก 67 ตัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้าน จนก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศ การประเมินความเสียหายเบื้องต้น น้ำเสียจากโรงงานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง เป็นพื้นที่กว้าง 2,800 ไร่ และราวร้อยละ 40-60 ของปะการังในพื้นที่ถูกทำลายเสียหาย ยิ่งกว่านั้น สัตว์ทะเลบางประเภทก็หายไปเกินกว่าครึ่ง

ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินมาตรการในการกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มากขึ้น หลังมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะเริ่มชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในเดือนหน้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดของเวียดนาม

ที่มา: nwitimes.com

ตำรวจและพนักงานดับเพลิงรีโอเดจาเนโรของบราซิลประท้วงเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระ

5 ก.ค. 2559 ตำรวจและพนักงานดับเพลิงที่นครรีโอเดจาเนโรของบราซิล ชุมนุมประท้วงที่ท่าอากาศยานนานาชาติวานนี้ เพื่อเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระและการปรับปรุงสภาพการทำงาน ในช่วงที่เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนก็จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2016 ทั้งนี้ทางการท้องถิ่นรัฐรีโอเดจาเนโรกำลังเผชิญกับอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการรักษาความปลอดภัยในระหว่างการแข่งขัน เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลกลางได้จัดสรรงบประมาณฉุกเฉิน 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่รัฐรีโอเดจาเนโร

ที่มา: latimes.com

หมอ-พยาบาล-ครูซิมบับเว ประกาศหยุดงานประท้วงรัฐบาลค้างจ่ายเงินเดือน

6 ก.ค. 2559 กลุ่มแพทย์และครูในซิมบับเว ประกาศจะหยุดงานประท้วงยาวจนถึงวันที่ 14 ก.ค. นี้ หลังรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาบี ส่อเค้าประสบความล้มเหลวในการจ่ายเงินเดือนให้แก่พวกเขาตามสัญญา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศนี้ที่เลวร้ายอย่างสุดขั้ว ด้านผู้นำสมาคมแพทย์โรงพยาบาลแห่งซิมบับเว ออกโรงยืนยันว่าการหยุดงานประท้วงของพวกเขาจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 14 ก.ค. หากพวกเขายังไม่ได้รับสัญญาณเชิงบวกใด ๆ จากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือนค้างจ่าย

ที่มา: theguardian.com

โตโยต้า มอเตอร์ รับมือเงินเยนแข็งค่า ด้วยมาตรการประหยัดทุกรูปแบบ รวมถึง การปิดลิฟต์ 2 ใน 8 ตัวที่สำนักงานใหญ่

8 ก.ค. 2559 ความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จนทำให้ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่า และทำให้ค่าเงินดอลลาร์ รวมทั้งค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น เป็นเหตุให้ผลกำไรของโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota) ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลกลดลง บริษัทจึงตัดสินใจรับมือปัญหานี้ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบ รวมถึง เลิกใช้ลิฟต์ที่สำนักงานใหญ่ 2 ใน 8 ตัว พร้อมทั้งปรับอุณหภูมิภายในสำนักงานให้เหมาะสมเพื่อประหยัดไฟด้วย

โฆษกของโตโยต้า เปิดเผยว่าการที่บริษัทตัดสินใจใช้มาตรการเหล่านี้ เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคในเรื่องผลกำไรลดลงได้ และถือเป็นการต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจโลก เหมือนเมื่อครั้งที่บริษัทดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551

ที่มา: independent.co.uk

ซีเกตเตรียมปลดพนักงานกว่า 1,600 คนในแคลิฟอร์เนีย

11 ก.ค. 2559 ซีเกต (Seagate) บริษัทฮาร์ดดิสก์ชื่อดังเปิดเผยว่า เตรียมปลดพนักงานกว่า 1,600 คนในสำนักงานของซีเกต ณ เมืองคิวเปอร์ติโน (Cupertino) รัฐแคลิฟอร์เนีย ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และยื่นเรื่องให้กับคณะกรรมการ กลต. ของทางสหรัฐเรียบร้อยแล้ว โดยจำนวนพนักงานที่ถูกปลดคิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนพนักงานซีเกตทั่วโลก ด้านบริษัทให้ข้อมูลว่า การปลดพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดค่าใช้จ่ายของทางบริษัท โดยการปลดพนักงานในครั้งนี้จะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษีกว่า 62 ล้านเหรียญสหรัฐในงบประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: bloomberg.com

สหรัฐเผยการเปิดรับสมัครงานลดลงในเดือน พ.ค. 2559 สู่ระดับ 5.5 ล้านตำแหน่ง

12 ก.ค. 2559 กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของพนักงาน (JOLTS) รายเดือน พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลงร้อยละ 3.7 สู่ 5.5 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2559 จากระดับ 5.79 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. 2559

ตัวเลขการจ้างงานที่ลดลงส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน โดยเฉพาะในแถบมิดเวสต์ และตอนใต้ของสหรัฐรายงานระบุว่า อัตราการจ้างงานทั่วประเทศอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 สู่ระดับ 5 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2559 นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังรายงานว่า การปลดพนักงานของภาคธุรกิจมีจำนวน 1.7 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2559 รายงานดังกล่าวของกระทรวงแรงงานสหรัฐเป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ โดยวัดการเปิดรับสมัครงานในภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งการจ้างงาน และการปลดพนักงาน

ที่มา: cnbc.com

อ๊อกซ์แฟมระบุว่าประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก รับผู้ลี้ภัยเอาไว้น้อยกว่าร้อยละ 9 ของทั้งหมด

17 ก.ค. 2559 องค์กรการกุศลอ๊อกซ์แฟม (Oxfam) เผยแพร่รายงานระบุว่า ประเทศที่มีความร่ำรวยที่สุดในโลก 6 ประเทศ รับผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 9 ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก ในขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่า รับผู้ลี้ภัยส่วนมากเอาไว้ จากในรายงานของอ๊อกซ์แฟม ระบุว่า สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศสและ อังกฤษ มีรายได้รวมแล้วถึงร้อยละ 56.6 ของตัวเลขจีดีพีทั่วโลก แต่ประเทศทั้ง 6 รับผู้ลี้ภัยประมาณ 2,100,000 คน หรือเป็นจำนวนร้อยละ 8.9 ของผู้ลี้ภัยทั่วโลก ทั้งนี้ในจำนวนดังกล่าวเยอรมนีรับผู้ลี้ภัยเอาไว้มาที่สุดเป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือประมาณ 700,000 คน โดยผู้บริหารสูงสุดอ๊อกซ์แฟมระบุว่านับเป็นสิ่งที่น่าละอายใจ เนื่องจากผู้ลี้ภัยจำนวนเกือบ 12 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ไม่ถึงร้อยละ 2 ของเศรษฐกิจโลก ทางองค์กรอ๊อกซ์แฟมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ รับผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้น และดำเนินการช่วยเหลือประเทศยากจนที่รับผู้ลี้ภัยจำนวนมากเอาไว้มากขึ้น

ที่มา: theguardian.com

ศาลบังกลาเทศเริ่มพิจารณาคดีผู้ต้องหา 38 คนเหตุโรงงานทอผ้าพังถล่มที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คน

18 ก.ค. 2559 ศาลบังกลาเทศเริ่มพิจารณาคดีผู้ต้องหา 38 คนในข้อหาเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จากเหตุโรงงานทอผ้าในกรุงธากาพังถล่มที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คนเมื่อปี 2556 ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติด้านอุตสาหกรรมร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก อัยการกล่าววานนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 38 คนเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องหาทั้งหมด 41 คน ส่วนอีก 3 คนถูกตั้งข้อหาช่วยเหลืออาชญากรคนสำคัญหลบหนี หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ผู้ต้องหาเหล่านั้นซึ่งรวมถึงเจ้าของอาคารและเจ้าของโรงงานอาจต้องรับโทษสูงสุดขั้นประหารชีวิต

ที่มา: ibtimes.co.uk

อินโดนีเซียห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเล่นเกมส์โปเกมอนโก

อินโดนีเซียออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจเล่นเกมส์โปเกมอนโก (Pokemon Go) ขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และจะห้ามเจ้าหน้าที่ทหารเล่นด้วยเช่นกันในไม่ช้านี้ เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกล่าวเตือนว่าเกมส์สมาร์ทโฟนดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัย ขณะที่โฆษกกองทัพอินโดนีเซียแจ้งต่อเปิดเผยต่อสื่อว่าทหารจะออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดเล่นเกมส์นี้ระหว่างชั่วโมงการทำงานในไม่ช้านี้ ขณะที่กำลังหาทางป้องกันที่ตั้งด้านความมั่นคงระดับสูงอีกด้วย

ที่มา:  abc.net.au

พนักงานแอร์ ฟรานซ์เตรียมผละงาน 27 ก.ค.-2 ส.ค. ประท้วงแผนลดการจ้างงาน

สหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้พนักงานบนเครื่องของสายการบินแอร์ ฟรานซ์ (Air France) พากันหยุดงานในระหว่างวันที่ 27 ก.ค.-2 ส.ค. เพื่อประท้วงการลดจำนวนพนักงาน และเพื่อให้พนักงานมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ทางด้านสายการบินแอร์ ฟรานซ์ได้ระบุเตือนว่า จะมีเที่ยวบินบางส่วนได้รับผลกระทบจากการประท้วงในสัปดาห์นี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวบินไป-กลับจากยุโรป และเที่ยวบินภายในประเทศ อย่างไรก็ดี แอร์ ฟรานซ์ยืนยันว่าจะยังคงรักษาเที่ยวบินระยะไกลส่วนใหญ่ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการประท้วง โดยคาดว่าเที่ยวบินราวร้อยละ 90 จะมีการบินตามปกติในวันพุธนี้ ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการผละงานประท้วง

ที่มา: en.rfi.fr

เตอร์กิช แอร์ไลน์สประกาศปลดพนักงานกว่า 200 คน ข้อหาพัวพันรัฐประหาร

26 ก.ค. 2559 สายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์สประกาศยกเลิกสัญญาว่าจ้างพนักงาน 211 คน ตามแผนของรัฐบาลในการกวาดล้างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำศาสนาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว เตอร์กิช แอร์ไลน์สระบุว่าการยกเลิกสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากพนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐาน และสอดคล้องกับมาตรการจำเป็นที่ทางบริษัทต้องดำเนินการเพื่อรับมือกับขบวนการของนายกูเลน โดยผู้ที่ถูกปลดออกดังกล่าวได้รวมถึง ผู้จัดการฝ่ายบริหารจำนวน 7 คน และนักบินจำนวน 15 คน

ที่มา: businessinsider.com

กลุ่มธนาคารลอยด์ของสหราชอาณาจักร วางแผนเลิกจ้างพนักงาน 3,000 ตำแหน่ง

28 ก.ค. 2559 กลุ่มธนาคารลอยด์ ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อธุรกิจรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร วางแผนที่จะลดจำนวนพนักงานเพิ่มอีก 3,000 ตำแหน่ง และจะลดจำนวนสาขาลงอีก 200 กว่าสาขา ซึ่งจะทำให้สามารถลดรายจ่ายได้ราว 400 ล้านปอนด์ ทั้งนี้ธนาคารลอยด์เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นจำนวน 20.5 พันล้านปอนด์ในปี 2551 และมีการวางแผนบริหารจัดการค่าใช้จ่ายดำเนินงานมาโดยตลอด โดยเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วได้วางแผนจะลดรายจ่ายลงปีละ 1 พันล้านปอนด์ และลดการจ้างงานภาคธนาคารลงอีก 9,000 ตำแหน่งภายในปี 60 แต่เนื่องจากผลกำไรในครึ่งแรกของปี 2559 ลดลง กลุ่มธนาคารลอยด์สจึงมีแผนลดรายจ่ายเพิ่มเติม ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มธนาคารลอยด์ได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 7,300 ตำแหน่ง

ที่มา: metro.co.uk

ญี่ปุ่นเผยอัตราว่างงานเดือน มิ.ย. 2559 ลดลงแตะระดับ 3.1% ต่ำสุดในรอบ 21 ปี

29 ก.ค. 2559 กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราว่างงานเดือน มิ.ย. 2559 ปรับตัวลงแตะระดับร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 21 ปี ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆมีการจ้างแรงงานมากขึ้น ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว สัดส่วนตำแหน่งงานว่างในช่วง 3 เดือน ปรับตัวขึ้นแตะ 1.37 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งถือเป็นระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2534 บ่งชี้ว่า มีตำแหน่งงานว่าง 137 ตำแหน่ง ต่อจำนวนคนหางาน 100 คน ขณะที่จำนวนของผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 แตะที่ระดับ 2.08 ล้านคน ภายหลังการปรับค่าตามฤดูกาล ในขณะที่จำนวนของผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 470,000 คน สู่ระดับ 64.56 ล้านคน

ที่มา: japantimes.co.jp

ไมโครซอฟท์ ปลดพนักงานอีก 2,850 คน ระบุเหตุธุรกิจสมาร์ทโฟนซบเซา

29 ก.ค. 2559 บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประกาศปลดพนักงานอีก 2,850 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 2.5 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในองค์กร หลังจากธุรกิจสมาร์ทโฟนประสบภาวะย่ำแย่ โฆษกไมโครซอฟท์เปิดเผยว่าการปลดพนักงานครั้งนี้จะมีผลกับพนักงานในธุรกิจปฏิบัติการด้านฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนและธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับงานขาย พร้อมกับกล่าวว่าพนักงานที่จะถูกปลดนั้นส่วนใหญ่ได้รับจดหมายแจ้งเตือนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ไมโครซอฟท์ได้เปิดเผยแผนการปลดพนักงานครั้งนี้ในรายงานที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เพิ่มเติมจากการปลดพนักงานครั้งก่อนจำนวน 9,250 คน ในภาคธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัทในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา: engadget.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท