Skip to main content
sharethis

ภาคปชช. 29 องค์กร ยื่นหนังสือสนช. จี้ถอนร่างพ.ร.บ.เหมืองแร่ ชี้แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนใหญ่

2 ส.ค.2559 เวลา10.30 น.ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ประชาชนที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่กว่า 200 คน ได้ร่วมกันเดินเท้าจาก ก.พ.ร.ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ.... ต่อ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. )เพื่อขอให้ สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาในชั้นคณะกรรมการวิสามัญ

ภาพ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

สุรชัย กล่าวว่า จะส่งหนังสือของภาคประชาชนไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งกรรมาธิการฯได้ขอขยายเวลาการพิจารณาไปถึงเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตามหลักการของการเสนอกฎหมายใครเสนอก็ต้องเป็นคนถอน ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ดังนั้น ครม.จะต้องเป็นผู้ขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสนช.เอง โดยที่สนช.ไม่มีสิทธิ์ถอนออก ทำได้เพียงปรับปรุงเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายเท่านั้น แต่ตนจะนำเรื่องนี้จะเข้าที่ประชุมวิปสนช. และวิปรัฐบาล เพื่อแจ้งให้ทราบว่าภาคประชาชนมีความห่วงใยในสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.แร่

ในเนื้อหาหนังสือมีการลงนาม 29 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและ 1 บุคคล ซึ่งมีเนื้อหาว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ ดังกล่าว ไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อศึกษาเทียบเคียงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554, รวมทังกฎหมายแร่ในต่างประเทศพบว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... มีความจำเป็นต้องทบทวนและจัดทำใหม่ด้วย 7 เหตุผลสำคัญ ได้แก่

1.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในปัจจุบัน และอาจทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น เพราะขาดมาตรการควบคุมดูแล และป้องกันคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม จากสถานการณ์ในปัจจุบัน

2.การให้อำนาจหน่วยงานในการกำหนดเขตทรัพยากรแร่เพื่อให้พื้นที่ทำเหมืองแร่มีสถานะเหนือกฎหมายอื่น รวมทั้ง สามารถกำหนดให้พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศวิทยา เป็นเขตทรัพยากรแร่ได้

3.การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สามารถอนุมัติได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ การลดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็น

4.การกำหนดให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ไว้เป็นการล่วงหน้าแล้วเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่โดยไม่ต้องศึกษาอีกอันเป็นการขัดกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่การสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

5.การไม่มีบทบัญญัติที่ให้ประชาชนและชุมชนรอบเหมือง สามารถยับยั้งหรือยุติการทำเหมืองได้ ในกรณีที่เหมืองก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ รวมทั้งไม่มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

6.ในร่างพ.ร.บ.แร่ ยังไม่มีบทบัญญัติว่าการเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ และสัญญาการชำระค่าภาคหลวงแร่เพื่อให้รัฐสามารถเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้ตามมูลค่าจริงที่ผู้ประกอบได้จากการทำเหมือง และ

7.ขาดการเชื่อมโยงกับข้อกำหนดหรือกฎหมายในระดับสากลสำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการนำเข้าแร่ และส่งออกแร่ออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดกฎหมายแร่จึงไม่ใช้กฎหมายเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ จึงสมควรที่รัฐบาลและสนช.ต้องรับฟังความเห็นรอบด้านเพื่อให้ได้กฎหมายแร่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
 

รายนามองค์กรร่วมแถลงการณ์

1.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

2.เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย

3.กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน(เหมืองทองเลย)

4.กลุ่มรักษ์บ้านแหง (ถ่านหิน ต.นาแห้ว อ.งาว จ.ลำปาง)

5.กลุ่มบ้านฮักบ้านฮั่นแน้ว(ถ่านหินปากชม)

6.กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์(โปแตชและโครงการไฟฟ้าบำเหน็จณรงค์)

7.กลุ่มคัดค้านสัมปทานเหมืองเกลือหินขามทะเลสอ นครราชสีมา

8.กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง

9.ชมรมพิทักษ์ธรรมชาติคนกับป่า ตำบลชมพู

10.กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเขาเขียว

11.เครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก

12.สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน

13.สมัชชาประชาชนสุโขทัย

14.สหพันธ์รักษ์เมืองตาก

15.สถาบันรักษ์ถิ่น กำแพงเพชร

16.เครือข่ายทรัพพยากรดิน น้ำป่าภาคเหนือตอนล่าง

17.เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

18.เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก

19.เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก

20.เครือข่าย 304 กินได้

21.กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกง

22.ชมรมรักษ์เขาไม้แก้ว ปราจีนบุรี

23.กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง

24.กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ

25.เครือข่ายรักษ์อ่าวอุดม

26.กุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม

27.กลุ่มประมงต้นแบบบ้านนาเกลือ

28.กลุ่มประมงต้นแบบบ้านบางละมุง

29.เครือข่ายสภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี

30.ผศ.พนอ อัศวรุจานนท์ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net