Skip to main content
sharethis

2 ส.ค. 2559  องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่า เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกซึ่งตรงกับอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคมของทุกปี ยูนิเซฟระบุว่ามีเด็กแรกเกิดราว 77 ล้านคนทั่วโลก  หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กแรกเกิดทั้งหมด ที่ไม่ได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด  ส่งผลให้ทารกเหล่านี้เสียโอกาสที่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็น ขาดภูมิคุ้มกัน และขาดการสัมผัสกับอ้อมอกแม่ในชั่วโมงที่สำคัญของชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยและการเสียชีวิตของเด็กได้

ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ ระบุว่า แม่ควรให้นมแม่แก่ทารกภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด และควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก ส่วนหลังจากหกเดือนไปแล้ว แม่ยังคงสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องจนลูกอายุ 2 ขวบหรือนานกว่านั้น โดยให้นมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมที่มีประโยชน์และเหมาะสม

ข้อมูลจากยูนิเซฟชี้ให้เห็นว่า  การส่งเสริมให้ทารกทั่วโลกได้กินนมแม่ภายในชั่วโมงแรกของชีวิตยังไม่ค่อยมีความคืบหน้านักในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยเมื่อปี 2555 ระบุว่า มีทารกเพียงร้อยละ 46 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด อัตรานี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเด็กที่เกิดโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน โดยทารกที่เกิดในโรงพยาบาลรัฐร้อยละ 49 ได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ในขณะที่ในโรงพยาบาลเอกชน อัตรานี้อยู่แค่ร้อยละ 21

ฟรองซ์ เบแกง เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟด้านโภชนาการกล่าวว่า “การที่ทารกต้องรอนานกว่าจะได้อยู่ในอ้อมอกแม่หลังคลอด ถือเป็นการลดโอกาสในการรอดชีวิตของเด็ก และยังทำให้แม่ผลิตน้ำนมได้น้อยลง และลดโอกาสที่แม่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกอีกด้วย ทั้งนี้ นมแม่เป็นวัคซีนแรกของทารก เป็นยาที่ดีที่สุดในการป้องกันความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บ ในแต่ละปีหากทารกทุกคนได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก เราจะสามารถช่วยให้เด็กทั่วโลกกว่า 800,000 คนรอดชีวิตได้”

แม้เป็นที่รู้กันว่า นมแม่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามินและเกลือแร่ที่ทารกต้องการในการเจริญเติบโตในช่วงหกเดือนแรกของชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารใดๆ อีก แต่สถิติจากทั่วโลกกลับพบว่ามีทารกเพียงร้อยละ 43 เท่านั้นที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยอัตรานี้ยิ่งต่ำลงไปอีก โดยมีทารกเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ทารกจำนวนมากได้รับอาหารทดแทนนมแม่และน้ำเปล่าซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่านมแม่ ส่งผลให้ทารกได้ดื่มนมแม่น้อยลง

เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet พบว่า การกินนมแม่ที่นานขึ้นมีผลต่อไอคิวของเด็ก โดยสามารถช่วยเพิ่มระดับไอคิวได้ถึง 3-4 จุด และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคติดต่อต่างๆ และลดอัตราการตายของทารก อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย มีเด็กเพียงร้อยละ 18 ที่ได้กินนมแม่จนอายุสองขวบตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่า “นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กอย่างไม่มีอะไรเทียบเท่า นมแม่เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์มหาศาล นมแม่คือภูมิคุ้มกันสำหรับทารก และมีคุณค่าเหนือกว่านมผงใดๆ ที่เคยผลิตมา ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถึงที่สุด เพราะจะช่วยให้เด็กๆ ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างฉลาดและแข็งแรง”

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในกระบวนการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กที่กระทำอย่างดุเดือดและไม่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

“เรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก แต่เราสามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าทุกคนมาช่วยกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่เป็นเรื่องของแม่เพียงคนเดียว เราทุกคนตั้งแต่สามี สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ไปจนถึงหมอ พยาบาล และรัฐบาล ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ นอกจากนี้ เรายังต้องมีนโยบายที่จะเอื้อให้แม่ที่ต้องไปทำงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีมุมนมแม่ในที่ทำงาน การมีเวลาพักให้แม่สามารถปั๊มนม ตลอดจนการมีตู้เย็นเก็บน้ำนมในที่ทำงาน” โธมัส กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net