สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 ก.ค.-2 ก.ค. 2559

กรมโรงงานฯจับมือ 6 กระทรวงขับเคลื่อน Safety Thailand
 
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ 6 กระทรวง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงคมนาคม บูรณาการทำงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง 2.ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับอัคคีภัย และ3.ด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 มิติ คือ มิติการส่งเสริมสนับสนุนในการดำเนินงาน มิติการกำกับดูแล และมิติการมีส่วนร่วมของประชาชน ในระยะเวลา 6 เดือน ตามยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยและโรคจากการทำงาน
 
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานในช่วงครึ่งปีแรก 2559 (ม.ค.59 – มิ.ย.59) พบว่า เกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัย จำนวน 89 ครั้ง โดยเกิดอัคคีภัยมากที่สุด จำนวน 66 ครั้ง การระเบิด จำนวน 3 ครั้ง สารเคมีรั่วไหล จำนวน 6 ครั้ง และอุบัติเหตุอื่นๆ เกี่ยวกับเครื่องจักร ไฟฟ้าดูด ภัยธรรมชาติ จำนวน 14 ครั้ง ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกิดอุบัติเหตุในโรงงาน จำนวน 109 ครั้ง แบ่งเป็น อัคคีภัย จำนวน 84 ครั้ง การระเบิด จำนวน 7 ครั้ง สารเคมีรั่วไหล จำนวน 6 ครั้ง และอุบัติเหตุอื่นๆ เกี่ยวกับเครื่องจักร ไฟฟ้าดูด ภัยธรรมชาติ จำนวน 12 ครั้ง เห็นได้ชัดว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยในโรงงานปี 2559 มีจำนวนลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ การอบรม ให้ความรู้ความเข้าใจด้านวิชาการ การเผยแพร่คู่มือเอกสารต่างๆ ด้านความปลอดภัยตลอดจนการเข้มงวดในการกำกับดูแลและทำงานร่วมกับเครือข่ายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในโรงงาน
 
จากปัญหาดังกล่าวที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัยในโรงงาน กรมโรงงานฯ จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กระทรวงคมนาคม ในการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัยจากการทำงานในโรงงานให้เป็นศูนย์ โดยได้บูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 มิติ คือ มิติการส่งเสริมสนับสนุนในการดำเนินงาน มิติการกำกับดูแล และมิติการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ จะเข้าไปดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับอัคคีภัย และด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี เพื่อส่งเสริมด้านความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการและพนักงานได้รู้ถึงมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในโรงงาน ผ่านโครงการกิจกรรมต่างๆ อาทิ การส่งเสริมและการพัฒนาความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมกับโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย การทำระบบบริหารจัดการความปลอดภัยสู่โรงงาน ร่วมมือกับ 6 โรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายสูง การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของถังเก็บสารเคมีและมาตรการความปลอดภัย พร้อมแจกคู่มือการออกแบบติดตั้งและตรวจสอบความปลอดภัยของถังเก็บสารเคมี การจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัย รวมถึงการทำแบบประเมินตนเอง (Self Checklist) เพื่อให้โรงงานได้ทำการประเมินตรวจสอบ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในเบื้องต้น โดยในระยะแรกมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มโรงงานที่เสี่ยงติดไฟได้ง่าย เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก สารไวไฟ กระดาษ เป็นต้น
 
 
ผลวิจัยชี้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศร้อยละ 50 ขาดการเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ไม่รู้เรื่องการค้ามนุษย์ แนะภาครัฐอบรมให้ความรู้
 
นายสมาน เหล่าดำรงชัย นักวิจัยสถานการณ์แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศกรณีแรงงานไทยคืนถิ่น บอกว่า จากการสัมภาษณ์และใช้แบบสอบถามแรงงานไทยในจ.เพชรบูรณ์และอุดรธานีที่ไปทำงานในประเทศต่างๆ 86 คนพบว่าร้อยละ 50 ไม่ได้เตรียมความพร้อมและไม่มีความรู้เรื่องการค้ามนุษย์ เมื่อไปทำงานแล้วพบปัญหาความเป็นอยู่ เงื่อนไขการจ้างและเงินค่าจ้างมากที่สุด การเข้าถึงกลไกร้องเรียน ระบบยุติธรรมของประเทศปลายทาง แหล่งทุนสนับสนุนและการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมและอบรมให้ความรู้แก่แรงงานไทย ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ไม่ถูกหลอกและส่งเสริมให้ไปโดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ
 
 
ก.แรงงาน เผยยอดขึ้นทะเบียนต่างด้าว 9.9 แสนคนแล้ว
 
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่กระทรวงแรงงานนายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยถึงความคืบการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 29 ก.ค. ว่าข้อมูลสรุปล่าสุดวานนี้ 28 ก.ค. มีนายจ้างจำนวน 297,431 คน นำแรงงานต่างด้าวมาขอจดทะเบียนแล้ว 998,737 คน แบ่งเป็นแรงงานจำนวน 977,330 คน ผู้ติดตาม จำนวน 21,407 คน ซึ่งจำนวนแยกเป็นสัญชาติเมียนมา 594,217 คน สัญชาติลาว 57,920 คน และสัญชาติกัมพูชา 346,600 คน
 
นายอารักษ์ ย้ำว่า หลังพ้นกำหนดจดทะเบียนในวันนี้แล้ว กรมการจัดหางานจะลงพื้นที่ตรวจสอบ การทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัดทุกพื้นที่ ถ้าหากพบการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาต นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีก
 
 
ก.แรงงาน ยก "บัณฑิตแรงงาน" คือ 'ข้อต่อ' สำคัญ เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ
 
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตแรงงาน ณ โรงแรมพีซลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่ว่า บัณฑิตแรงงานมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงแรงงานโดยการเข้าไปสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในการทำงานให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งการที่บัณฑิตแรงงานได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน รวมถึงการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้านแรงงานในพื้นที่ จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้ง ข้อมูลที่มีคุณภาพและทันต่อเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญซึ่งบัณฑิตแรงงานจะเป็นผู้ที่เข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์และสภาพข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่ของตนใน 2 เรื่อง คือ 1) ข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงาน ของประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลในการให้บริการ พัฒนา และแก้ไขปัญหาแก่ประชาชน เช่น ผู้ว่างานที่พร้อมจะทำงาน ผู้ต้องการฝึกอาชีพ ข้อมูลผู้สูงอายุ คนพิการแรงงานนอกระบบ และผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น และ 2) ข้อมูลด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากภารกิจหลักของกระทรวงแรงงานที่สามารถสนับสนุนหน่วยงานอื่น ๆ ได้ เช่น ข้อมูลเยาวชน ที่สำเร็จการศึกษาไม่ได้ศึกษาต่อยังไม่มีงานทำ และต้องการหางานทำ ข้อมูลสถานการณ์อยู่อาศัยประชากรในพื้นที่ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ บัณฑิตแรงงานกระทรวงแรงงาน นับเป็นสื่อกลางที่จะนำบริการและสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรจะได้รับ ไปสู่ประชาชนในพื้นที่ เปรียบเสมือนเป็นข้อต่อที่เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดหรือบรรเทาสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประชาชน โดยการทำงานในพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงบริการ กระบวนการ และสร้างคุณค่าให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วย เช่น การพัฒนาอาชีพนอกจากประสานจัดฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านของตนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงหลักสูตรที่จัดอบรม การจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
"เชื่อมั่นว่าบัณฑิตแรงงานที่ได้เข้ามาสัมมนาในครั้งนี้จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ การสร้างพลังในการทำงานร่วมกัน สร้างความสามัคคี รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานสำรวจและจัดเก็บข้อมูล ไปปรับใช้ในการทำงาน และการดำรงชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน องค์กร และท้องถิ่น รวมทั้งผลักดันเป้าหมายในระดับต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายอนุรักษ์ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมีบัณฑิตแรงงานจำนวน 380 คน ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ปัตตานี จ.นราธวาส จ.ยะลา และ จ.สงขลา (อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย)ทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลาง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจของกระทรวงฯ โดยนำบริการและข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานในทุกมิติ ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันบัณฑิตแรงงานก็เป็นตัวกลางที่จะนำความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ส่งต่อภารกิจงานของกระทรวงฯ และหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น บัณฑิตแรงงานยังทำหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานให้อาสาสมัครแรงงาน รวมทั้ง มีส่วนช่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในพื้นที่ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานระหว่างผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาประชาชน กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเป็นกลไกในการทำงานในรูปแบบ "ประชารัฐ" ซึ่งอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน
 
 
ครม.ไฟเขียวเพิ่มเงินสวัสดิการสำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่พิเศษที่มีความยากลำบากเป็น 2 พันบาทต่อเดือน
 
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไปโดยร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษจากคนละ 1 พันบาทต่อเดือน เป็น 2 พันบาทต่อเดือน
 
สำหรับเงินสวัสดิการดังกล่าวเป็นเงินที่ภาครัฐจ่ายให้กับข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ที่มีความยากลำบากด้านการคมนาคม มีความขาดแคลนด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ หรือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ หรือมีความเสี่ยงภัย เช่น พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์สู้รบ พื้นที่ลำเลียงยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฯ ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการดังกล่าวในอัตราคนละ 1 พันบาทต่อเดือน มาเป็นระยะเวลานานถึง 14 ปีแล้ว (ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งนี้ ในร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณากำหนดสำ นักงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ และคณะกรรมการพิจารณากำหนดสำนักงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษระดับจังหวัด องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิมต้องเสนอ ครม.พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เป็นรายกรณี
 
"กรมบัญชีกลางได้ปรับ ปรุงสวัสดิการประเภทอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการปรับ เพิ่มเงินสวัสดิการดังกล่าวมีสำนักงานที่ได้รับการประกาศกำหนดเป็นสำนักงานในพื้นที่พิเศษประมาณ 1.67 พันแห่ง และจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 147 ล้านบาท" นายมนัสกล่าว
 
 
สหภาพแรงงานชวนงดเหล้าครบพรรษาได้เวลาพักตับ
 
เมื่อวันที่28ก.ค.59 เวลา10.00น.ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย กว่า150คน จากสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดกิจกรรมรณรงค์ "แรงงานงดเหล้าครบพรรษา ได้เวลา พักตับ" หวังกระตุ้นแรงงานไทยหันมารักสุขภาพ งดเหล้า สู่คุณภาพชีวิตที่ดี จากนั้นเดินรณรงค์ขบวนแฟนซี แจกสื่อประชาสัมพันธ์ เชิญชวนร่วมลงนามพักตับ งดเหล้าครบพรรษาทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
นายสิทธิศักดิ์ พนไธสงค์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายกาวไกล เปิดเผยผลสำรวจการดื่มสุราและผลกระทบจากการดื่มของแรงงานปี 2559 ในกลุ่มแรงงานทั้งหญิงและชายจำนวน1,914ตัวอย่าง พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและแรงงานนอกระบบ ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร โดยพบว่าผู้ใช้แรงงาน54.7%ทราบดีว่าสุรามีพิษภัย แต่ยังพบเกินครึ่งหรือ61.4%ที่ยังนิยมดื่มสุรา และมีเพียง1ใน4เท่านั้นที่ไม่เคยดื่มเลย ที่น่าห่วงคือ12.7%ดื่มทุกวัน อีก22.5%ดื่มสัปดาห์ละ2-3ครั้ง และ43%ดื่มตามโอกาสสำคัญ สำหรับพฤติกรรมการดื่ม พบว่า11.6%ดื่มจนเมาครองสติไม่ได้ และต้องหมดเงินไปกับค่าเหล้า1-2พันบาทและมากสุด4พันบาทต่อเดือน เมื่อถามถึงผกระทบตามมาคือ ปวดหัวปวดท้อง อาเจียน ไปทำงานไม่ไหว เสียดังโวยวาย เกิดอุบัติเหตุ มีหนี้สิน ขณะเดียวกันยังพบ17.3% มีพฤติกรรมลวนลามขณะเมา
 
เข้าพรรษาปีนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่า73.9% อยากให้โรงงานและชุมชนมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องจากเห็นว่า สุขภาพร่างกายจะดีขึ้น หนี้สินลดลง มีเงินเก็บครอบครัวมีความสุขมากขึ้น รวมถึงอุบัติเหตุความเสี่ยงในการทำงานจะลดลง ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อีกด้วยที่สำคัญ เมื่อถามถึงความตั้งใจจะงดเหล้าเข้าพรรษา3เดือนนี้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างกว่า58.4%สนใจเข้าร่วม และในจำนวนนี้อยากชวนให้เพื่อนในโรงงานหรือในชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษาด้วยนายสิทธิศักดิ์ กล่าว
 
นายภาคภูมิ สุกใส ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวว่า เข้าพรรษานี้ตนตั้งใจงดดื่มเหล้า และตั้งเป้าทิ้งระยะห่างจากขวดเหล้าต่อเนื่องไปอีก2-3เดือน เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นถึงผลกระทบทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง ช่วงนั้นดื่มแบบหัวราน้ำ วงจรชีวิตหลังเลิกงานต้องจับขวดเหล้าทุกวัน หมดเงินไปกับค่าเหล้าเดือนละ5-6พัน เคยเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งเพราะเมา ขาดลามาสายเป็นประจำ สุขภาพแย่ลง ทั้งนี้คิดว่าครอบครัวเป็นแรงใจสำคัญจะทำให้งดดื่มเอาชนะใจตัวเองได้สำเร็จ ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้วิธีหยอดกระปุกออมสินให้ลูกจากเงินที่งดดื่มเหล้า3เดือน จนมีเงินหมื่นกว่าบาทไปซื้อของใช้ให้ลูกและใช้จ่ายในบ้าน คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากจากแต่ก่อนสำหรับปีนี้ทางสหภาพแรงงานฯยินดีร่วมเป็นส่วนหนึ่งรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และเน้นกิจกรรมตามนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นชวนกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ลดละเลิก มีกิจกรรมผ่อนคลายตลอด3เดือน สร้างกำลังใจในการทำงาน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น คาดว่าจะผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
 
ด้านนายบุญส่ง คำสันเทียะ อายุ 50 ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา พนักงานโรงงานไทยอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา กล่าวว่า เริ่มดื่มสุราตั้งแต่อายุ 17 ปี พอวัยทำงานก็นิยมดื่มเหล้าขาว ตกวันละ2ขวด เช้าเย็น ดื่มหนักจนถูกสั่งพักงาน และเกิดอาการชัก ญาติพาส่งโรงพยาบาลถึง2ครั้ง หมอระบุว่าเป็นโรคตับอักเสบให้เลิกดื่มเหล้า หากไม่เลิกอาจเสียชีวิตได้ แต่หลังออกจากโรงพยาบาลก็กลับมาดื่มซ้ำ เมื่อสุขภาพแย่ลงและกระทบกับการทำงาน อีกทั้งครอบครัวคนรอบข้างก็เครียดกับพฤติกรรมการดื่มของเรา จึงพยายามลดการดื่มลง สุดท้ายเอาชนะความอยากได้จนสำเร็จ แม้ตอนนี้จะเลิกเหล้าได้ไม่ขาด แต่เข้าพรรษานี้ถือเป็นครั้งแรกที่ตั้งใจงดดื่มเหล้า3เดือน และจะพยายามเอาชนะเหล้าให้ได้ เพราะรู้ว่าสุขภาพสำคัญที่สุด ต้องทิ้งขวดเหล้าหันหน้ามาทำงาน สู้เพื่อครอบครัวให้ได้ เพราะตัวเองถือว่าโชคดีที่ผู้บริหารบริษัทยังให้โอกาส ตนจึงอยากใช้โอกาสนี้ปรับพิสูจน์ตัวเอง
 
ขณะที่นางสาวประนอม เชียงอั๋ง รองประธานสหพันธ์แรงงานการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เริ่มทำงานรณรงค์ลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานมานานกว่า10 ปี เริ่มจากสร้างความเข้าใจ และสะท้อนผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งต่อสุขภาพ ครอบครัว หน้าที่การงาน เห็นทุกข์ร่วมกัน รวมทั้งได้รณรงค์ให้คนงานปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนที่ยังดื่มต้องไม่ขับ และขณะนี้กำลังขยายไปยังสหพันธ์สิ่งทออื่นๆคาดว่าจะมีหลายโรงงานสนใจและเริ่มมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้หันมาร่วมสร้างโรงงานและผู้ใช้แรงงานให้ปลอดเหล้าปลอดภัยซึ่งหลายโรงงานมีเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันพนักงานดื่มก่อนปฏิบัติงานหรือช่วงพักเบรค อย่างไรก็ตามกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ถือว่าหลายโรงงานเริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจเชิญชวนพนักงานงดดื่ม3เดือน เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และท้ายที่สุดเชื่อว่าฝ่ายบริหารโรงงานทุกแห่งจะหันมาสนับสนุนกิจกรรมนี้ เพราะประโยชน์ตกอยู่กับทุกคนจริงๆ
 
 
เตือน!คนหางานระวังถูกหลอกลวงจากการรับสมัครงานทางอินเทอร์เน็ต
 
กรมการจัดหางาน เตือนคนหางานระวังถูกหลอกไปทำงานสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ทางอินเทอร์เน็ตโดยหลอกลวงว่าได้รับการพิจารณาเข้าทำงานแล้วและให้จ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีข้อมูลหรือผู้รับผิดชอบและไม่สามารถติดต่อได้แต่อย่างใด
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจาก ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบีว่า มีบริษัทที่อ้างว่ามีที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยเฉพาะบริษัทที่อ้างว่าประกอบกิจการด้านน้ำมันหรือพลังงาน ซึ่งฝ่ายแรงงานฯ ได้ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าไม่พบข้อมูลหรือผู้ที่รับผิดชอบและไม่สามารถติดต่อได้แต่อย่างใด โดยพฤติกรรมการหลอกลวงได้แก่ บริษัทจะแจ้งว่าผู้สมัครเป็นผู้ได้รับการพิจารณาให้เข้าทำงาน โดยจะได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนในอัตราที่สูง โดยให้ติดต่อชำระเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าทำวีซ่า หรือค่าหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัทก่อนที่จะทำใบอนุญาตทำงานให้ ทั้งนี้การจ้างงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์จะเป็นระบบสปอนเซอร์ คือนายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของคนงานทั้งหมด รวมทั้งค่าวีซ่าและค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ดังนั้นจึงอย่าหลงเชื่อโอนเงินให้กับบริษัทดังกล่าวเป็นอันขาด จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการไทย ที่เกี่ยวข้องในประเทศที่สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่
 
ในการรับสมัครคนงานเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง นายจ้างจะต้องนำเอกสารการจ้างงานมายื่นต่อสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (กรณีที่มีสำนักงานแรงงานฯ ตั้งอยู่) หรือสถานเอกอัครราชทูตเพื่อให้ตรวจสอบก่อนว่าบริษัทได้รับอนุญาตให้จ้างงานคนงานต่างชาติจริง รวมทั้งบริษัทมีที่ตั้ง มีใบประกอบธุรกิจและสัญญาจ้างสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำหนดและเนื้อหาในสัญญาจ้างสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานท้องถิ่น เพื่อป้องกันมิให้คนไทยตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวง จึงขอแจ้งเตือนคนหางานให้ระมัดระวังการสมัครงานทางอินเตอร์เน็ต โดยขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนทุกครั้งโดยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานบริหาร แรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
ก.แรงงานจัดระเบียบเร่ขายแรงงานเข้าระบบ 8 เดือน สร้างรายได้กว่า 2.5 ล้านบาท
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยจัดระบบการหางานทำของคนไทยให้เป็นระเบียบ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกคนมีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาหางานทำเป็นรายวัน ตามฤดูกาล
ซึ่งว่างเว้นจากการประกอบอาชีพหลัก โดยเฉพาะด้านการเกษตร ภายหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อให้มีงานทำ 
 
มีรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีการทำงานในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งได้รับสัญชาติไทยแล้ว มักจะเคลื่อนย้ายมาหางานทำหลังฤดูเก็บเกี่ยว โดยมารับจ้างเป็นรายวัน ซึ่งที่ผ่านมาจะเร่ขายแรงงานบริเวณทางเท้า 2 ข้างถนนในแหล่งชุมชน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เกิดปัญหาการจราจรและอาจนำสู่กระบวนการหลอกลวงได้ จึงได้ให้มีการจัดระเบียบแรงงานดังกล่าว โดยบูรณาการหน่วยงานทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อาทิ มณฑลทหารบกที่ 33 กอ.รมน. จ.เชียงใหม่ และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยหลัก จัดตั้งเป็น “ศูนย์จัดระเบียบแรงงานเพื่อบริการจ้างงานตามฤดูกาล” ณ บริเวณด้านหลังอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งแรงงาน นายจ้าง รวมทั้งสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนพร้อมกันไปด้วย
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้มีการดูแลกระบวนการหางานทำอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้เกิดการหลอกลวง โดยให้ครอบคลุมการหางานทำในจังหวัดอื่นๆด้วย ทั้งการทำงานในประเทศและการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สำหรับ “ศูนย์จัดระเบียบฯ” จ.เชียงใหม่ พบว่าตั้งแต่ ธ.ค. 58 ถึง 28 ก.ค. 59 มีนายจ้างมารับสมัครงานรวม 1,901 ราย ในแต่ละวันนายจ้างจะมาประมาณ 2-6 ราย และมีแรงงานมาสมัครงานได้งานทำ 6,009 คน โดยในแต่ละวันจะมาสมัครงาน 10-30 คน มีค่าจ้างตั้งแต่ 400-500 บาท/วัน/คน สร้างรายได้รวมแล้วกว่า 2.5 ล้านบาท และหากผู้ประสงค์จะหางานทำขอให้ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 30/7/2559
 
ศาลปกครองไต่สวน "เครือข่ายข้าราชการ" ยื่นฟ้องนายกฯ ปรับโครงสร้างเงินเดือน
 
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย นำโดย น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย, สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย นำโดย นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย และตัวแทนภาคีเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย เดินทางมาตามหมายเรียกของศาลปกครองกลาง เพื่อให้ถ้อยคำ ข้อเท็จจริง ต่อตุลาการศาลปกครองกลาง ในคดีที่ น.ส.มัลลิกา และพวก 113 ราย ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับชอบดำเนินการแทนนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) กงช. ก.พ. เลขาธิการสำนักงาน ก.พ. คณะกรรมการมาตรฐาน การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-9 เมื่อวันที่ 29 เมษายน เรื่องกระทำการมิชอบ กรณีความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่แตกต่างจากข้าราชการกลุ่มอื่นๆ
 
โดยผู้ฟ้องขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 สั่งการเร่งด่วนเป็นหนังสือราชการ หรือคำสั่งในฐานะหัวหน้า คสช. ที่อาศัยรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 แก้ปัญหาระบบค่าตอบแทนของข้าราชการทุกประเภท ตลอดจนจัดระบบเงินเดือน เพดานเงินเดือนและสวัสดิการลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทให้เหมาะสมใหม่ทั้งระบบ โดยให้ดำเนินการตาม มติ ครม.วันที่ 20 เมษายน 2558 ภายใน 60 วันโดยให้แล้วเสร็จไม่เกิน 180 วัน
 
และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือนิติกรรมทางปกครองใดๆ ที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำไป เช่น รายงานการประชุม มติความเห็นชอบ ที่เป็นการใช้ดุลพินิจเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มอื่นๆ รวมทั้งขอให้เพิกถอน กฎ ระเบียบ คำสั่งเกี่ยวกับการปรับบัญชีเงินเดือน การเปลี่ยนระบบบริหารงานบุคคลจากระบบจำแนกตำแหน่งตามระดับ (ซี) ไปสู่ระบบการจำแนกประเภทตำแหน่ง (แท่ง) ของข้าราชการประเภทต่างๆ ไว้จนกว่าจะมีการออกกฎหมายปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคล และได้ข้อยุติเพดานเงินเดือนของข้าราชการทุกประเภททั้งระบบ
 
รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง9 แต่งตั้งคณะกรรมการกลางอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนรัฐ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างองค์กร อัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐทั้งระบบโดยมีคณะทำงานเครือข่ายข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนเสียหายร่วมพิจารณาและดำเนินการ นอกจากนั้นขอศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง9 ชดใช้เยียวยาความเสียหาย และชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจทางปกครองเลือกปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผู้ฟ้องต้องเสียโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ เป็นรายบุคคลตามตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งในอดีตย้อนไปก่อนปี 2551 และจากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และที่จะมีต่อไปในอนาคตเป็นจำนวนเงินที่คำนวณจากเงินเดือน, ค่าตอบแทนและผลประโยชน์จากการสูญเสียโอกาส พร้อมดอกเบี้ย
 
นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางภาคีเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของเงินเดือน และเงินตอบแทนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพราะเชื่อว่าศาลปกครองจะให้ความยุติธรรมได้ โดยไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร กลุ่มก็พร้อมยอมรับ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไต่สวนวันนี้ เป็นการไต่สวนเพื่อให้ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงจากคู่ความ ประกอบการพิจารณารายละเอียดคำฟ้องและข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมีคำพิพากษาทางคดีอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป
 
ขณะที่วันเดียวกันนี้ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสภาการพยาบาล ผู้ถูกฟ้อง เรื่องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กรณีเพิกเฉยไม่พิจารณาคำร้องของสมาชิกพยาบาลวิชาชีพ ที่ขอให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาความเดือดร้อนและปัญหาสมาชิกพยาบาลวิชาชีพ เพื่อนำสู่การแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ตามที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ฎ.การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558ให้ดำเนินการพิจารณา แต่สภาการพยาบาล พิจารณาโดยไม่รับฟังเสียงสมาชิก และละเลยคำร้องขอ ของสมาชิกที่เรียกร้องตาม มาตรา 12 (2)
 
 
สั่งทำยุทธศาสตร์แรงงานชายแดนใต้ จ้าง ป.ตรี ทำงานในพื้นที่
 
โฆษก แรงงาน เผย "บิ๊กบี้" ย้ำมุ่งเสริมยุทธศาสตร์แรงงานพื้นที่ชายแดนใต้ หวังผลักดันเป็นเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" สานพลังประชารัฐ สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
 
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.59 ที่กระทรวงแรงงาน นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน มีนโยบายให้กระทรวงดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้ง สงขลา (อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ขึ้นเป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ในภาพรวมของกระทรวงแรงงานที่ได้จัดทำขึ้นแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรีในการผลักดันเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ภายใต้แนวคิดสานพลังประชารัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
 
นายธีรพล กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะพัฒนา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขึ้นเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน พัฒนา อ.เบตง จ.ยะลา ขึ้นเป็นเมืองของการพัฒนาที่พึ่งตนเองด้านพลังงานแบบยั่งยืน รวมถึงพัฒนา อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ โดยทั้ง 3 เมืองจะยึดโยงกันเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอาณาเขตโดยรอบ เพื่อสร้างความเจริญ และยกระดับคุณภาพชีวิต เกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยมีการจ้างผู้จบการศึกษาปริญญาตรี ซึ่งเป็นคนในพื้นที่เป็นบัณฑิตแรงงาน จำนวน 380 คน ให้ประจำในพื้นที่ทุกหมู่บ้าน เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงแรงงานโดยการเข้าไปสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในการทำงาน
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท