จาตุรนต์ ฉายแสง: ทางสองแพร่งที่ประชาชนไทยต้องตัดสินใจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

โจทย์ใหญ่แท้จริงของสังคมไทย คือ ประเทศไทยจะพ้นจากวิกฤตที่ยืดเยื้อมานานได้หรือไม่

วิกฤตของประเทศในช่วงกว่า 10ปีที่ผ่านมาเกิดจากความขัดแย้งในเรื่องใหญ่ 2 เรื่องคือ (1) .ประเทศไทยเราจะมีรัฐบาล และ (2). กฎกติกาที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับกันได้อย่างไร ?

การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ กระบวนการที่ต่อเนื่องกัน

เมื่อเกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาล ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ โดยๆไม่คำนึงถึงกฎกติกา จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อสิบปีก่อน

การออกแบบกฎกติกาหลังจากนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งหมายที่จะขจัดฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ ให้มีการเลือกตั้งได้ แต่ต้องได้รัฐบาลที่คณะผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องการ พร้อมกันนั้นก็สร้างระบบกลไกเผื่อไว้สำหรับจัดการกับรัฐบาลที่ผู้มีอำนาจไม่พึงประสงค์

แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง ประชาชนก็ไม่เล่นด้วยและยืนยันเลือกพรรคการเมืองที่ประชาชนต้องการให้เป็นรัฐบาล

มีการใช้การเคลื่อนไหวที่สามารถทำผิดกฎหมายได้อย่างไม่จำกัดและไม่ต้องถูกลงโทษควบคู่กับการใช้กลไกในรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่เมื่อมีเลือกตั้งอีก ประชาชนก็ยืนยันอีก และก็ถูกจัดการอีก

นำไปสู่สภาพที่รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ปกครองไม่ได้ การรักษากฎหมายทำไม่ได้ ไม่มีความสงบเรียบร้อย ประเทศไม่มีเสถียรภาพและกลายเป็นคนป่วยของภูมิภาค สูญเสียศักยภาพในการพัฒนาในทุกด้าน ขณะที่โลกอยู่ในสภาพผันผวน แต่ประเทศไทยไม่อยู่ในสภาพที่จะรับมือกับความผันผวนนั้นได้

จบลงที่การรัฐประหารด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเข้ามาระงับความขัดแย้งและทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แล้วก็ขอเวลาอีกไม่นาน...

สองปีกว่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้เรียนรู้ว่าค่ารักษาความสงบนั้นแพงจริงๆ ต่างชาติไม่คบค้าสมาคมด้วย เศรษฐกิจตกต่ำโงหัวไม่ขึ้น เสียโอกาสเสียศักยภาพไปมาก ประชาชนไทยก็ได้แต่หวังว่าจะพ้นจากสภาพนี้ไปเร็วๆ โดยเฉพาะอยากกลับคืนสู่ประชาธิปไตย มีเลือกตั้ง แล้วอะไรๆจะได้ดีขึ้นเสียที

ที่สำคัญมาก ก็คือ หวังว่าบ้านเมืองจะไม่กลับไปสู่สภาพความวุ่นวาย ไม่สงบเหมือนที่ผ่านมาอีก

แต่การเขียนกฎกติกาที่ยืดเยื้อยาวนานนี้กลับไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาตามที่ประชาชนคาดหวัง

การเขียนกติกาครั้งนี้ ผู้มีอำนาจคงไม่ต้องการซ้ำรอยเดิมที่ให้ประชาชนเลือกรัฐบาลขึ้นมาตามต้องการแล้วต้องคอยหาทางล้ม จนต้องเหนื่อยกันในภายหลัง แต่ต้องการให้ได้รัฐบาลที่พวกตนต้องการเสียตั้งแต่ต้นเลย พร้อมทั้งก็ยังมีกลไกกำกับควบคุมให้รัฐบาลต้องทำตามในเรื่องสำคัญๆ คือ แผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ

เป็นการตอบโจทย์ข้อแรกที่ผิด คือ แทนที่จะหาทางให้มีระบบการเลือกตั้งที่ดี ให้ประชาชนเลือกรัฐบาลขึ้นมา แล้วหาทางให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี กลับให้ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมาร่วมกำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาลและยังคอยกำกับรัฐบาลต่อไปด้วย

รัฐบาลที่ถูกคุมแจแบบนี้ ย่อมไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและไม่สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงผันผวนของโลกได้

เป็นไปได้มากที่รัฐบาลจะเจอปัญหาความไม่ยอมรับ เกิดเป็นความขัดแย้งที่จะกลายเป็นวิกฤตในที่สุด

ถึงเวลานั้น จะเกิดการเรียนรู้ว่ากฎกติกามีปัญหาจริงๆและต้องแก้ แต่ก็จะพบว่าแก้ยาก จนพูดได้ว่าเป็นไปไม่ได้

ก็คือ ไม่ตอบโจทย์ข้อที่สอง คือ การมีกฎกติกาที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับ

หมายความว่าผ่านไประยะหนึ่ง ประเทศไทยก็จะวนเวียนกลับมาอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหน

อย่าลืมว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ที่ไม่มีความวุ่นวายเหมือนก่อนหน้านั้น ก็ด้วยการใช้กำลังอำนาจกดไว้ โดยไม่ได้มีความพยายามใดๆที่จะปรับปรุงแก้ไขระบบ กติกา ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสภาพที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยได้เลย

หลักการที่ว่ากองทัพและกลไกรัฐต้องขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนที่ตรวจสอบได้ ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ

หลักการที่ว่าระบบยุติธรรมต้องเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติและตรวจสอบได้ ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกัน

เหมือนกับว่าต้องการรักษาเงื่อนไขที่บ้านเมืองจะสงบได้ก็มีแต่ต้องอาศัยกำลังของกองทัพที่ต้องอยู่เหนือรัฐบาลหรือกำกับรัฐบาลได้เท่านั้น

วันนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เราจะมาหาทางให้พ้นไปจากสภาพที่เป็นอยู่ใน 2 ปีที่ผ่านมาแบบขอไปที คือ สักแต่ว่าให้ผ่านๆไป โดยหวังว่าทุกอย่างก็คงจะดีเอง แล้วกลายเป็นต้องไปเจอปัญหาที่หนักกว่าเดิม

แต่เป็นเวลาที่เราจะหาทางให้หลุดพ้นจากวิกฤตที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้วได้อย่างไร ?

หากตัดสินใจผิด เราอาจวนเวียนอยู่กับวิกฤตความขัดแย้งไปอีกนาน อาจหนักหนาสาหัสและนานกว่าที่ต้องเผชิญมาแล้วก็ได้

วันนี้อาจยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้เราได้ประชาธิปไตยคืนมาหรือก้าวพ้นจากวิกฤตได้ในทันที แต่ก็มาถึงจุดที่สังคมไทยสามารถหลีกเลื่ยงการอยู่กับระบบเผด็จการและการจมอยู่กับวิกฤตที่จะทำให้ประเทศเสียโอกาส  ล้าหลังไม่มีศักยภาพและต้องประสบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมไปอีกนาน

สังคมไทยกำลังจะต้องเลือกว่า จะให้คนกลุ่มหนึ่งมากำหนดอนาคตแทนประชาชนไปอีกนาน หรือจะยืนยันว่าประชาชนจะต้องกำหนดอนาคตด้วยตนเอง

สังคมไทยกำลังจะต้องเลือกว่า จะยอมให้ถูกฉุดรั้งถอยหลังไปหลายสิบปีหรือจะเดินไปข้างหน้า

สังคมไทยกำลังจะต้องเลือกว่าจะอยู่ในวังวนแห่งวิกฤตไปอีกนานหรือจะพยายามก้าวพ้นจากวิกฤตให้ได้อย่างยั่งยืน

สังคมไทยกำลังอยู่บนทางสองแพร่งอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้เป็นทางสองแพร่งที่ต้องเลือก ระหว่างการที่ประเทศจะอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการที่สืบทอดต่อเนื่องไปอีกยาวนานและวนเวียนซ้ำซากอยู่กับวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก หรือเราจะมาตั้งหลักตั้งต้นกันใหม่เพื่อร่วมกันหาทางก้าวให้พ้นจากวิกฤตนี้และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท