Skip to main content
sharethis

กทม.กำหนดเส้นตายรื้อชุมชนป้อมมหากาฬหลัง 12 ส.ค.นี้ ภาคปชช.และนักวิชาการ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯเรียกร้องให้จัดตั้งกรรมการหลายฝ่ายเพื่อหาแนวทางร่วม โดยให้รัฐมองสิทธิประชาชนและสิทธิการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมด้วย

5 ส.ค.2559 เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้มีขบวนการแก้ปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬโดยสันติวิธีและประชารัฐ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ให้นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการพหุภาคี มีตัวแทนทุกส่วน เพื่อศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหา 2.ขอให้มีการศึกษาผังเมืองและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบ้านไม้โบราณ ร.3 เพื่อให้ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีวิถีชุมชนร่วมกัน 3.ระหว่างการศึกษาขอให้ กทม.หยุดดำเนินการไล่รื้อและอื่นๆ กับชุมชน 4.ขอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมการพหุภาคีมาปรับ พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ปี พ.ศ.2535 และ 5.ขอให้นำตัวอย่างกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างมีธรรมาภิบาลในการจัดทำแผนพัฒนาและการบริหารจัดพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาวชุมชน โดยมี บุญเกิด ปะระทัง เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมด้านสังคมที่เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ปัจจุบันทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดเส้นตายไล่รื้อชุมชนชัดเจนแล้ว ซึ่งภาคประชาสังคมชุมชนในย่านเมืองเก่ารวมทั้งนักวิชาการหลายสาขาได้เฝ้าติดตามและแสดงความเป็นห่วงปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด เครือข่ายของผู้คนเหล่านี้ได้รวมตัวกัน เป็น “เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่เมือง” เพื่อจะรักษาชุมชนที่เป็นสมบัติของพื้นที่เขตชานพระนคร   

“การที่เครือข่ายฯ นี้ลุกขึ้นมา เพราะพวกเขามองว่าพื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ย่านเมืองเก่าในเขตพระนคร ซึ่งมีความสำคัญ มีความเก่าแก่ มีความเป็นชุมชนดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีความเป็นพหุลักษณ์มีวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งแน่นอนว่าชุมชนป้อมมหากาฬเป็นหนึ่งในชุมชนย่านเมืองเก่า การดำรงอยู่ของชุมชนป้อมมหากาฬมันไม่ใช่แค่การอยู่ของป้อมมหากาฬเท่านั้น แต่มันคือการรักษาองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นเมืองในพื้นที่เก่า” อินทิรา กล่าว

ภาพจาก นักกิจกรรมด้านสังคมที่เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ

ภารณี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงชัดเจนว่าต้นเดือนสิงหาคมจะรื้อชุมชนแน่นอน ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะเป็นหลังประชามติและอาจจะเกิดขึ้นหลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค.นี้ กทม.ก็จะอ้างกฎหมายเข้ามาไล่รื้อชุมชน เนื่องจากชุมชนไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ในพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ทีนี้ก็เข้าใจว่าพื้นที่ที่เวนคืนนั้นมีชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬที่รับเงินไปบ้างแล้ว แต่หลักคิดคือพื้นที่ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน โบราณสถานกับชุมชนสามารถอยู่ด้วยกันได้รวมถึงพื้นที่สีเขียวด้วย

"การแก้ปัญหาที่เราเสนอคือขอให้ยุติการไล่รื้อไว้ก่อนเพราะชุมชนก็ไม่ได้ทำอะไรให้พื้นที่สีเขียวกับโบราณสถานตรงนั้นเสียหาย เพราะฉะนั้นจึงขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการพหุภาคีที่ไม่ใช่แค่ กรุงเทพมหานคร กฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ลองเอามุมมองของนักอนุรักษ์ที่ไม่ใช่แค่กรรมการกรุงฯ ที่ไม่ใช่ข้าราชการมามองว่าโลกของการอนุรักษ์มันอยู่ในทิศทางไหนแล้วที่ชุมชนสามารถอยู่ได้โดยมีการจัดการ ให้คณะกรรมการพหุภาคีหาข้อสรุปให้ได้แต่ละเรื่อง เช่น เรื่องของคนในชุมชนที่รับเงินเวนคืนไปแล้ว จะแยกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกเป็นหลายๆกลุ่ม จัดโซนพื้นที่ใหม่ และจัดแผนบริหารจัดการ สิ่งเหล่านี้ควรมีการสรุปร่วมโดยคณะกรรมการพหุภาคี" ภารณี กล่าว

ภารณี กล่าวต่อว่า เนื่องจากแผนกรุงรัตนโกสินทร์ก็กำลังจะทำใหม่ และชุมชนก็อยู่กันมาโดยไม่ได้สร้างความเสียหาย เพียงแต่เขาไม่มีกรรมสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม หลักฐานของกรรมการกรุงฯเองก็บอกว่าชุมชนอยู่กันมาตั้งแต่สมัย ร.3 เพียงแต่ว่าในขณะนั้นมันไม่มีโฉนดที่ดิน ดังนั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการพหุภาคีคือขอให้ทำแผนการปรับปรุงของกรรมการกรุงฯ ใหม่ แล้วเอาแผนนี้ไปขอให้มีการแก้ พ.ร.ฎ. การเวนคืนที่ดิน อันนี้คิดว่าเป็นข้อเสนอที่ต้องใช้เวลาสักหน่อย ซึ่งก็เป็นตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งนายกฯ เคยบอกว่า เป็นการที่ประชาชนและรัฐคิดแก้ปัญหาร่วมกัน ดังนั้น การที่ กทม.มาแบ่งสีพื้นที่ว่ากลุ่มบ้านนี้ต้องออกก่อนเป็นสิ่งที่ กทม.คิดขึ้นมา โดยมองจากฐานของอำนาจกฎหมายที่ตัวเองมี แต่ไม่ได้มองจากฐานเรื่องสิทธิประชาชนและสิทธิในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม

“กทม. กฤษฎีกา และ ป.ป.ช. อย่ามองแต่กฎหมายและใช้อำนารัฐอย่างเดียว คุณต้องมองกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิประชาชนด้วย และคุณก็ต้องมองในเรื่องของกฎบัตรในเรื่องการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกด้วย ให้ปฏิบัติอย่างเป็นแนวทางสากลมันก็จะมีทางออก แน่นอนมันอาจจะไม่ winwin ทั้งหมด มีกลุ่มที่ กทม.จ่ายเงินเวนคืนให้แล้ว ก็ต้องหาทางจัดการแก้ปัญหาซึ่งอยู่ในแนวทางที่กรรมการพหุภาคีร่วมคิด อีกประเด็นที่ กทม.บอกว่า ถ้าไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬไม่ได้อีกหน่อยชุมชนที่บุกรุก กทม.ก็ต้องยอมไปหมด ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ได้เห็นว่าเป็นการยอมชุมชนนี้ แต่เราทำการจัดการร่วมว่าจะยอมได้แค่ไหน ทำได้แค่ไหนภายใต้กฎหมายที่มีอยู่” ภารณี กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net