Skip to main content
sharethis

นักวิชาการห่วงร่าง รธน. เปลี่ยนสิทธิของเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการศึกษาให้การสงเคราะห์ ตัดการมีส่วนร่วมขอประชาชนออกไป และไม่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เชื่อเป็น รธน. ที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย  อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความกังวล 3 ประการ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ ได้แก่ 1.เรื่องสิทธิการศึกษากลายเป็นการสงเคราะห์ 2.การมีส่วนร่วมและหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญ และ 3.เป้าหมายในการสร้างพลเมืองที่ตกหล่นในเรื่องการสร้างพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีเพียงการสร้างพลเมืองที่เชื่อฟังรัฐ แต่ไม่เห็นการสร้างพลเมืองที่จะให้เกิดสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อรรถพล กล่าวว่า เรื่องแรกก็คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีมุมมองเรื่องการศึกษาในเชิงละเลยเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน คือมองการศึกษาเป็นการสงเคราะห์มากกว่าการที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิในด้าน สิทธิของเด็กและเยาวชน เหมือนที่เคยได้รับจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 สิ่งนี้เป็นจุดที่น่าตั้งข้อสังเกต

ภาพ จากเฟซบุค Athapol Anunthavorasakul

“แม้ว่าจะมีความพยายามออก มาตรา 44 ว่าจะมีการร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาเพื่อที่จะขยายความ แต่ข้อความที่จำกัดอยู่ในรัฐธรรมนูญมันกำหนดตายตัวว่าเป็น 12 ปี ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงการศึกษาภาคบังคับ มันเป็นการละเลย แล้วไปเจอรัฐธรรมนูญที่ไปฝากความหวังไว้กับนโยบายรัฐบาล ฝากความหวังไว้กับกระบวนการร่างกฎหมายลูก ซึ่งมันทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงในมุมมองของทางกฎหมาย จากที่เคยคุ้มครองสิทธิกลายเป็นการระบุกฎหมายที่ละเลยสิทธิของเด็กของเยาวชน ไปทำเป็นการสงเคราะห์มากกว่า” อรรถพล กล่าว

“ทั้งหมดที่กังวลคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติไม่ได้มองการศึกษาเป็นสิทธิ แต่มองเป็นการสงเคราะห์ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขบวนการร่างฯ ถ้าร่างฯ นี้ผ่านจะต้องมีกฎหมายลูกภายใน 60 วัน ก็แทบจะไม่มีช่องไหนเลยที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าไปมีส่วนในการร่างฯ พ.ร.บ.การศึกษา ...ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในขณะนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต”

 

อรรถพล กล่าวต่อว่า ความน่ากังวลต่อมาคือการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนหลายภาคส่วนมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้คำที่กว้างมากในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน โดยที่ข้อความนี้ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ ทั้งที่พยายามอธิบายว่าคำว่าเอกชนนั้นครอบคลุมความหมายทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งข้อความนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้สิทธิพ่อแม่ ชุมชน ท้องถิ่น จัดการศึกษาได้

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังลงประชามตินี้มองว่าเรื่องสิทธิในรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก บางทีไปดึงหน้าที่ที่เคยอยู่ในมือประชาชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามาให้รัฐเป็นเจ้าภาพหลักในการจัด และข้อความที่ระบุในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์เหมือนที่ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) พยายามอธิบายกัน”

อรรถพล กล่าวถึงข้อกังวลในร่างรัฐธรรมนูญประการสุดท้ายว่า เป้าหมายในการสร้างพลเมืองที่ตกหล่นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการสร้างพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มองว่าในร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาเพราะคำที่เคยมีอยู่หายไปหรือคำที่เขียนเข้ามาก็กำกวมและต้องตีความ สิ่งที่น่าห่วงคือการกำหนดเป้าหมายพลเมืองเพราะในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายการศึกษาที่ทำมาพยายามย้ำว่าเราควรสร้างคนให้เป็นคนที่เติบโตมาโดยระบอบประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างแผนการศึกษาชาติแทบจะไม่ใส่คำว่าพลเมืองประชาธิปไตยลงไปในเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งสังคมต้องช่วยกันส่งเสียงว่า เราไม่เห็นชอบกับสิ่งที่ตัวร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนมุมมองความคิดแบบนี้ออกมา

“ทั้งหมดที่กังวลคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติไม่ได้มองการศึกษาเป็นสิทธิ แต่มองเป็นการสงเคราะห์ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขบวนการร่างฯ ถ้าร่างฯ นี้ผ่านจะต้องมีกฎหมายลูกภายใน 60 วัน ก็แทบจะไม่มีช่องไหนเลยที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าไปมีส่วนในการร่างฯ พ.ร.บ.การศึกษา ร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่กระดาษไม่กี่แผ่น ร่างรัฐธรรมนูญคือโครงสร้างอาคาร กฎหมายลูกคือส่วนประกอบโครงร่าง ถ้าโครงสร้างไม่ดี ถึงออกแบบกฎหมายลูกให้ดีแทบตายแค่ไหน มันก็มีปัญหา เพราะโครงสร้างไม่แข็งแรง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในขณะนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net