ผู้ลี้ภัยซีเรียสร้างแอพฯ 'Bureaucrazy' นำทางผู้คนฝ่าระบบราชการยุ่งเหยิงแบบเยอรมนี

6 ส.ค. 2559 มุนเซอร์ คัททับ เป็นชายวัย 23 ปีจากลาตาเคีย เมืองท่าของซีเรีย เขาเดินทางขึ้นฝั่งเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยในเยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็พบว่าระบบราชการแบบของเยอรมนีเป็นอุปสรรคในการลงทะเบียนของเขา คัททับบอกว่าในซีเรียจะมีการจ่ายส่วยเพื่อทำให้ระบบราชการเร็วขึ้นได้แต่ในเยอรมนีทำแบบนั้นไม่ได้

เพื่อนของคัททับ ชื่อเกธ ซัมริค อายุ 19 ปี มาจากกรุงดามาสกัส เมืองหลวงของซีเรียเผชิญปัญหาเรื่องเอกสารราชการของเยอรมนีเช่นกัน เขาต้องเซ็นเอกสาร 8 ฉบับในตอนที่เดินทางเข้ากรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีเพียง 4 ฉบับเท่านั้นที่มีการแปลภาษาเป็นภาษาอาหรับ ซัมริคกล่าวว่าแม้แต่เพื่อนชาวเยอรมันของเขาก็ประสบปัญหาจากระบบราชการของเยอรมนีเช่นกันและแน่นอนว่ามันทำให้ผู้มาใหม่อย่างเขารู้สึกว่าตัวเองต้องประสบปัญหานี้ด้วย

แต่ความคับข้องใจในระบบราชการก็ทำให้ทั้งสองคนพยายามทำให้ชีวิตการติดต่อราชการของผู้คนง่ายขึ้นด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นชื่อ "Bureaucrazy" ซึ่งตั้งเป้าหมายให้แอพฯ นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ลี้ภัยที่ต้องการเข้าสู่เยอรมนีนับล้านคนเท่านั้นแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวเยอรมันเองด้วย

แอพฯ นี้มีการพัฒนาที่วิทยาลัย ReDI ซึ่งเป็น "วิทยาลัยเพื่อการบูรณาการดิจิตอล" ที่ไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเบอร์ลิน เป็นสถานที่สอนการเขียนโปรแกรมให้กับผู้ลี้ภัย แอพฯ Bureaucrazy มีการผสมผสานลักษณะการทำงานไว้ 3 อย่างด้วยกัน หนึ่งคือการบริการแปลภาษาเยอรมันในเอกสารทางการเป็นภาษาอาหรับและอังกฤษ มีตัวเลือกการตัดสินใจให้สำหรับแก้ปัญหาที่พบเจอบ่อย รวมถึงบริการทำแผนที่ช่วยส่งเอกสารไปให้กับสำนักงานที่จะรับเอกสารนั้นๆ อย่างถูกประเภท

กลุ่มผู้พัฒนาแอพฯ ระบุว่าพวกเขายังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและต้องการความช่วยเหลือด้านการเขียนโปรแกรมและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้แอพฯ นี้สามารถออกสู่สาธารณะได้ภายในวันที่ 1 ม.ค. ปีหน้า นอกจากการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อราชการแล้วพวกเขายังต้องการสร้างโปรแกรมอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าสู่เยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคาร การเช่าที่พัก การลงทะเบียนเรียนมหาวิทยาลัยหรือการลงทะเบียนที่ศูนย์สมัครงาน

ช่วงที่ผ่านมาเยอรมนีมีท่าทีต้องการเปิดรับผู้ลี้ภัยและพยายามฝึกอาชีพหรือบูรณาการพวกเขาเข้าสู่สังคมมากขึ้นแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์จากผู้ก่อการร้ายในบาวาเรียอาจจะส่งอิทธิพลครอบคลุมนโยบายการเปิดรับผู้ลี้ภัยของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์อื่นในเยอรมนีที่ดูเป็นมิตรกับผู้ลี้ภัยเช่นในการประกวด "ราชินีไวน์" ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของเยอรมนีมีการมอบตำแหน่งให้กับ นินอร์ตา บาห์โน ผู้ลี้ภัยซีเรียที่หลบหนีออกจากประเทศมา 3 ปีครึ่งแล้ว หลังจากมีการประกวดชิงตำแหน่งกับผู้หญิงคนอื่นๆ อีก 12 คน

แอนน์ เคียร์ ริเชิร์ต ผู้ก่อตั้ง ReDI กล่าวว่าเขาหวังให้โครงการอย่าง Bureaucrazy จะช่วยให้เยอรมนีเล็งเห็นว่าวิกฤตผู้ลี้ภัยก็ทำให้มีคนที่มีความสามารถเข้ามาในประเทศของพวกเขาได้ แทนที่จะปล่อยให้ผู้ลี้ภัยติดอยู่แต่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือถูกค้ามนุษย์ พวกเขาต้องการเสริมพลังและร่วมมือผู้ลี้ภัยอย่างคัททับและซัมริค ผู้ที่เข้าใจว่าปัญหาคืออะไรทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาทางออกที่แท้จริงได้ด้วย

คัททับและซัมริคเปิดเผยว่าโปรแกรมที่พวกเขากำลังพัฒนายังคงมีอุปสรรคในด้านการแปลภาษาอัตโนมัติเนื่องจากธรรมชาติบางอย่างของภาษาเยอรมันเช่นคำประสมที่มักจะทำให้ระบบแปลอัตโนมัติผิดพลาด พวกเขาเคยนำเสนอโครงการที่งานประชุมสตาร์ทอัพยุโรปซัมมิทเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับในแง่บวก อีกปัญหาหนึ่งคือการที่ bureaucrazy ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลและการกรอกช่องแบบฟอร์มโดยอัตโนมัติของผู้ใช้สำหรับผู้ใช้ที่เข้าล็อกอินซึ่งเป็นปัญหากับประเทศที่มีความเข้มงวดด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเยอรมนี

อีกปัญหาหนึ่งคือการที่ผู้พัฒนาแอพฯ ต้องการใช้วิธีระดมทุนจากประชาชนทั่วไป (crowdfund) แต่ด้วยความที่พวกเขาอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทำให้ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งใช้เก็บเงินทุนจำนวนมากได้ แอพพลิเคชั่นในส่วนของการเข้าถึงธนาคารออนไลน์ก็ถูกปฏิเสธ ซัมริคบอกว่าถ้าหากเขามีเงินในธนาคารมากกว่า 700 ยูโร (ราว 27,000 บาท) ก็จะมีปัญหากับศูนย์จัดหางาน

 

 

เรียบเรียงจาก

Syrian refugees design app for navigating German bureaucracy, The Guardian, 05-08-2016

https://www.theguardian.com/world/2016/aug/05/syrian-refugees-app-navigating-german-bureacracy-bureaucrazy

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท