Skip to main content
sharethis

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจครั้งสุดท้าย 6 ส.ค.59 ระบุโหวตรับ 76.87%  ไม่รับ 18.68% ขณะที่คำถามพ่วง รับ 58.35% ไม่รับ 38.26% ด้านกรุงเทพโพลล์เผยรับร่างรธน. 57.3% ไม่รับ 42.7%

 

 

7 ส.ค. 2559 หลังปิดหีบประชามติ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลสำรวจครั้งที่ 11: การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ2559” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,849 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และความคิดเห็นต่อข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 5.0
 
จากผลการสำรวจครั้งที่ 11 เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนที่ระบุว่าจะไปใช้สิทธิและสามารถตัดสินใจได้แล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.87 ระบุว่า ไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 4.45 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนที่ระบุว่าจะไปใช้สิทธิและสามารถตัดสินใจได้แล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.35 ระบุว่า ไปลงมติเห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 38.26 ระบุว่า ไปลงมติไม่เห็นด้วย และร้อยละ 3.39 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
 
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.07 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 27.10 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 16.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 36.67 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 12.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 57.04 เป็นเพศชาย ร้อยละ 42.93 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.03 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 8.19 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 17.18 มีอายุ  26 – 35 ปี ร้อยละ 23.51 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.51 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.02 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.59 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.96 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.92 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.38 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.73 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.66 สถานภาพโสด ร้อยละ 70.20 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.26 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.88 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 26.74 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.67 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.29 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.40 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.85 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.05 ไม่ระบุการศึกษา  
 

กรุงเทพโพลล์ให้รับ 57.3% ไม่รับ 42.7%

ขณะที่กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยแพร่ผลสำรวจการคาดการณ์ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 9,564 คน ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล  5 ก.ค. – 3 ส.ค. 2559 พบว่า  ข้อคำถาม “ท่านจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ เห็นชอบ ร้อยละ 57.3 ไม่เห็นชอบ ร้อยละ 42.7

ภาค

เห็นชอบ

(ร้อยละ)

ไม่เห็นชอบ

(ร้อยละ)

ใต้

68.4

31.6

ตะวันออก

58.9

41.1

กลาง

57.1

42.9

เหนือ

56.7

43.3

ตะวันออกเฉียงเหนือ

54.8

45.2

ปริมณฑล

53.9

46.1

กรุงเทพมหานคร

51.0

49.0

รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ เพื่อสะท้อนความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
 
ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
      
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)  การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
 
วิธีการรวบรวมข้อมูล  ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net