โนโหวต ย้ำอีกครั้ง ผลรับร่างรธน. ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ในประชามติที่ไม่ฟรี-ไม่แฟร์

7 ส.ค. 2559 ภายหลังปรากฏผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการ ได้ออกแถลงการณ์ “รับ” ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ในประชามติที่ไม่ฟรี-ไม่แฟร์ โดยระบุว่า การทำประชามติที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฝ่าย “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรัฐประหาร มีความฉ้อฉล และไม่เป็นอิสระ ประกอบกับคณะรัฐบาลทหาร คสช.ได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ย่อมมีผลต่อการรณรงค์และการออกเสียงประชามติ

รวมทั้งประชามติครั้งนี้มีผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญและ/หรือคำถามพ่วงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสังคม จึงไม่อาจถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ และประชามติครั้งนี้ไม่คำนึงถึงจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงขั้นต่ำที่จะทำให้ผลประชามติเป็นที่ยอมรับได้  ดังนั้นกลุ่มถือว่า ผลการประชามตินี้เป็นโมฆะ หรือเป็นโมฆียะ และรัฐบาลในอนาคตต้องทำประชามติใหม่ในบรรยากาศที่เป็นธรรมและมีเสรีภาพ จึงจะเป็นการทำประชามติที่แท้จริง

โดย กลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการ เรียกร้องต่อ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรทางการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมให้สัตยาบันว่า จะร่วมผลักดันเกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อขจัดบรรยากาศแห่งคาม หลังจากนั้นจึงดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และเปิดให้มีการประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

ในกรณีที่อาจไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ขอให้องค์กรต่างๆ ข้างต้น ให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้มีการทำประชามติใหม่ โดยนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2559 มาทำประชามติใหม่ ภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว และจะเรียกร้องให้ คสช. ยุติการดำเนินคดีผู้ทำกิจกรรมและ/หรือ รณรงค์เกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้ทั้งหมด

สำหรับกลุ่มนี้ก่อนประชามติ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินสายยื่นจดหมาย 'คำขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี' ต่อ อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำประเทศไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

รายละเอียดแถลงการณ์ 

แถลงการณ์ กลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการ

“รับ” ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ในประชามติที่ไม่ฟรี-ไม่แฟร์

สืบเนื่องจากผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า มีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 54.6% เป็นอัตราการออกเสียงลงประชามติที่ต่ำกว่าครั้งที่แล้ว และมีจำนวนผู้ไม่มาใช้สิทธิ สูงถึง 45% เราขอคารวะผู้ใช้สิทธิออกเสียง “ไม่รับ” จำนวน 38.6% ของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งเป็นการแสดงความหาญกล้าในวาระที่ผู้ใช้สิทธิและนักรณรงค์ “ไม่รับ” ได้รับการคุกคาม ข่มขู่ และถูกจับกุมคุมขัง แม้ในวันก่อนลงประชามติ 

แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ประชานยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ทว่า “เสียงส่วนใหญ่” ที่กล่าวอ้างนั้นมาจาก จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญคิดเป็นเพียงประมาณ 30% ของผู้มีสิทธิทั้งประเทศ จำนวน 50,585,118 คน เท่านั้น 

การลงประชามติในบรรยากาศแห่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เริ่มมาตั้งแต่มีรัฐประหาร และรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการทำประชามติ ไม่ต่างจากการลงประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน ทั้งจำนวนผู้ใช้สิทธิที่น้อยลงเป็นประวัติศาสตร์ ยังบ่งชี้ว่า ความกลัวและอุปสรรคต่าง ๆ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้มีผู้ออกเสียงประชามติน้อย มิใช่เพียงบุคคลเหล่านั้น “นอนหลับทับสิทธิ์” .

ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจำนวนมากไม่สามารถมาใช้สิทธิด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งทางด้านกายภาพ การจัดการลงประชามติ ที่มีการประชาสัมพันธ์เนื้อหาและวิธีการลงคะแนนนอกเขตไม่เพียงพอและทั่วถึง และการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เช่น การลดหย่อนค่าโดยสาร ฯลฯ เป็นอุปสรรคขัดขวางการลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

กลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการขอเรียกร้องให้ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ประชาชน องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศตระหนักว่า 

1. การทำประชามติที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฝ่าย “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรัฐประหาร 

2. กระบวนการประชามติมีความฉ้อฉล และไม่เป็นอิสระ ประกอบกับคณะรัฐบาลทหาร คสช.ได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ย่อมมีผลต่อการรณรงค์และการออกเสียงประชามติ

3. ประชามติครั้งนี้มีผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญและ/หรือคำถามพ่วงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสังคม จึงไม่อาจถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ และประชามติครั้งนี้ไม่คำนึงถึงจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงขั้นตำ่ที่จะทำให้ผลประชามติเป็นที่ยอมรับได้ 

4. ดังนั้นกลุ่มถือว่า ผลการประชามตินี้เป็นโมฆะ หรือเป็นโมฆียะ และรัฐบาลในอนาตต้องทำประชามติใหม่ในบรรยากาศที่เป็นธรรมและมีเสรีภาพ จึงจะเป็นการทำประชามติที่แท้จริง

กลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการเรียกร้องต่อ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรทางการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมให้สัตยาบันว่า 

1. จะร่วมผลักดันเกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อขจัดบรรยาการศแห่งคามกลับ หลังจากนั้นจึงดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และเปิดให้มีการประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว 

2. ในกรณีที่อาจไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ขอให้องค์กรต่างๆ ข้างต้น ให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้มีการทำประชามติใหม่ โดยนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2559 มาทำประชามติใหม่ ภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

3. จะเรียกร้องให้ คสช. ยุติการดำเนินคดีผู้ทำกิจกรรมและ/หรือ รณรงค์เกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้ทั้งหมด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท