Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยแทบทุกแห่งกำลังอยู่ในระยะใกล้เปิดภาคเรียน อย่าแปลกใจเลยว่า เทศกาลที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยขณะนี้ จนถึงราวอีก 3 เดือนข้างหน้า คือ กิจกรรมหลักที่เรียกกันว่า “รับน้อง” นั่นเอง

ความจริงแล้ว กิจกรรม "รับน้อง”คือการสร้างพิธีการอย่างสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่า นิสิตนักศึกษาใหม่ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้น จะได้รับการต้อนรับจากรุ่นพี่ที่อยู่ปี 2 ขึ้นไป พิธีการต้อนรับจะทำเป็นเทศกาลยาวอาจจะถึง 3 เดือน ประกอบด้วยกิจกรรมจำนวนมาก อ้างกันว่า กิจกรรมเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อให้นักศึกษาที่เข้าใหม่ได้ทำความรู้จักกับรุ่นพี่ เพื่อสร้างความสามัคคี และเรียนรู้วิธีการประพฤติปฏิบัติตัวในสังคมของสถานศึกษา แต่ความจริงแล้ว ประเพณีรับน้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและรักษาระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย และเป็นส่วนหนึ่งที่สวนทางกับกระบวนการสร้างปัญญา ที่ควรจะเป็นประเพณีอันแท้จริงของมหาวิทยาลัย

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ประเพณีรับน้องในสถาบันการศึกษาเริ่มที่ประเทศไหนเมื่อไร แต่เท่ที่พอสำรวจได้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประเพณีแบบนี้แทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว อาจจะมีอยู่บ้างเพียงสัปดาห์แรกที่มีรายการลักษณะแนะนำมหาวิทยาลัย แนะนำสาขาวิชาหรือเป็นสัปดาห์กิจกรรม แต่ในประเทศไทย กิจกรรมรับน้องเป็นเรื่องใหญ่ อธิบายกันว่า รับแบบประเพณีมาจากอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้รุ่นพี่แกล้งรุ่นน้องเพื่อละลายพฤติกรรมและสร้างความสามัคคี โดยเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนทหารบก และโรงเรียนวชิราวุธ แล้วแพร่หลายไปยังสถานศึกษาอื่น

ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2490 เมื่อการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยขยายตัวในประเทศไทย ระบบรับน้องเริ่มเข้มข้นรุนแรง เรียกกันว่า “ระบบโซตัส” ซึ่งจะเปิดทางให้รุ่นพี่ได้ใช้อำนาจเหนือรุ่นน้องอย่างโหดมากขึ้นและใช้เวลารับน้องยาวขึ้น และการที่สังคมไทยพัฒนาภายใต้ระบบเผด็จการทหาร จึงได้มีการนำเอาแบบวินัยทหารมาบังคับรุ่นน้อง ทำให้การรับน้องรุนแรงมากขึ้น กิจกรรมการรับน้องจะครอบคลุมถึงการต้อนรับแบบสร้างความประทับใจ แต่ในขณะนี้เดียวกัน ก็ใช้วิธีการ "ว้าก" คือ รุ่นพี่จะทำเสียงดังขู่ให้หวาดกลัว และสุดท้ายคือการให้อำนาจแก่รุ่นพี่ในการสั่งลงโทษรุ่นน้องได้ตามความพอใจ ระบบโซตัสเหล่านี้ อ้างการสร้างความรักสามัคคี โดยการบังคับรุ่นน้องให้เข้าร้องเพลงเชียร์ และทำกิจกรรมอื่นตามที่รุ่นพี่จะคิดวิธีการ

การรับน้องจะมีลักษณะเข้มข้นรุนแรงมากขึ้นในคณะวิชาที่มีนักศึกษาชายมาก เช่น วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในที่คณะอื่น ก็มีลักษณะการควบคุมไม่แพ้กัน เช่น ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการกำหนดบันไดตึก ที่ห้ามรุ่นน้องขึ้น หลายคณะมีการกำหนดโต๊ะที่ห้ามรุ่นน้องนั่ง มีการบังคับการแต่งตัวสำหรับรุ่นน้อง เช่น ต้องใส่รองเท้าขาว ผูกเนคไท เป็นต้น

ปัญหาของระบบโซตัส คือ การใช้อำนาจเถื่อนบังคับรุ่นน้องตามอำเภอใจ นอกจากนี้ ก็คือ รูปแบบประเพณีไร้สาระปัญญาอ่อน ไม่มีลักษณะที่จะสร้างความเป็นปัญญาชน และจะเริ่มมีเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ดังนั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2512 ก็เกิดของกระแสต่อต้านโซตัสอย่างจริงจัง เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เกิดการจัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ เพื่อวิพากษ์การรับน้องแบบเดิมที่ใช้วิธีการบังคับแบบอำนาจนิยม ไร้เหตุผล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าประสบชัยชนะ โดยยกเลิกงานรับน้องใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นการ “รับเพื่อนใหม่”ที่เน้นความเสมอภาค ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเปิดใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2514 ไม่รับระบบรับน้องตั้งแต่ต้น กระแสการต่อต้านการรับน้อง กลายเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การตื่นตัวและการสร้างขบวนการนักศึกษาในกรณี 14 ตุลา

หลังจากนั้น ในยุคของขบวนการนักศึกษา ระบบโซตัสได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เมื่อขบวนการนักศึกษารับลัทธิมาร์กซ และกลายเป็นขบวนการฝ่ายซ้าย ระบบโซตัสมหาวิทยาลัยหลักทั้งหมดถูกยกเลิก หรือบางแห่งก็แปรเปลี่ยนรูปแบบงานผูกข้อมือ งานการให้การศึกษา การสัมมนาวิชาการ การบำเพ็ญประโยชน์ และออกค่ายใช้แรงงาน กระแสล้มเลิกโซตัสนี้ ดำรงอยู่นับสิบปี จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2525 เมื่อเกิดการล่มสลายของขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย การรับน้องในหลายรูปแบบจึงถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ และเริ่มรุนแรงมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านมา

มาถึงวันนี้ งานรับน้องกลับมามั่นคงอย่างมาก ที่จุฬาลงกรณ์ฯ มหาวิทยาลัยถึงกับอนุญาตให้นิสิตรุ่นพี่ปิดมหาวิทยาลัย 2 วัน เพื่อจัดงานรับน้อง พิธีกรรมใหม่ถูกสร้างขึ้น เช่น ให้น้องใหม่หมอบกราบอนุสาวรีย์ 2 รัชกาล ที่น่าสนใจคือ เพลงที่รุ่นพี่นำมาให้น้องใหม่ร้องและเผยแพร่ไปแล้วทุกมหาวิทยาลัย เช่น เพลงไก่ย่างถูกเผา ไม่ได้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสาระอะไรเลย และมีเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นมาแล้วเป็นเพลงลามก บังคับร้องกันมากขึ้น ประเพณีอันงดงามในงานรับน้องแทบไม่มีเหลือ ไม่มีงานส่งเสริมทางความคิด ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับระบบเหตุผลและความรู้ งานรับน้องจึงไม่มีลักษณะที่จะเป็นงานประเทืองปัญญาแบบปัญญาชน

ที่สำคัญคือกระแสวิพากษ์ทางสังคมและวัฒนธรรมแบบ 14 ตุลา ก็ไม่เกิดในมหาวิทยาลัยยุคนี้เลย ยังไม่เห็นแนวโน้มเลยที่จะมีการเคลื่อนไหวยกเลิกงานรับน้อง หรือแม้กระทั่งการสร้างงานที่มีลักษณะปัญญาชน งานรับน้องจึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งแห่งการสร้างระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยต่อไป

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข ฉบับ 575 วันที่ 30 กรกฎาคม 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net