Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา The Isaan Record รายงานว่า วันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง  “คนอีสานกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานมีแนวโน้มจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 60.3 และจะไม่รับคำถามพ่วง ร้อยละ 65.8 ทั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ร้อยละ 67.8 รับได้กับการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ร้อยละ 70.3 รับไม่ได้หากจะให้คณะทำงานที่แต่งตั้งโดย คสช. จะทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และร้อยละ 64.3 รับไม่ได้ หาก คสช. จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไข

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และคาดการณ์ผลประชามติ  ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 4  สิงหาคม  2559 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,096 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

อีสานโพลได้สอบถามว่า ท่านเข้าใจเนื้อหาภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำประชามติมากน้อยแค่ไหน โดยให้ตอบเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) โดย 0% คือไม่เข้าใจเลย และ 100 % คือเข้าใจอย่างสมบูรณ์

พบว่า  กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.9 มีความเข้าใจเนื้อหาภาพรวมน้อยกว่า 20% ขณะที่เข้าใจเนื้อหาระหว่าง 20% – 39.9% ร้อยละ 25.9  เข้าใจเนื้อหาระหว่าง 40% – 59.9% ร้อยละ 21.5   เข้าใจเนื้อหาระหว่าง 60% – 79.9% ร้อยละ 10.2   และเข้าใจเนื้อหาระหว่าง 80% – 100% ร้อยละ 8.4 ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจเนื้อหาภาพรวมโดยเฉลี่ย 32.2  %

เมื่อสอบถามถึงข้อดีและข้อเสียโดยรวมของร่างรัฐธรรมนูญต่อการพัฒนาประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 36.3 ไม่แน่ใจ/ไม่รู้  ร้อยละ 30.5 เห็นว่า มีข้อดีและข้อเสียพอๆ กัน  ร้อยละ 21.8 เห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และมีเพียงร้อยละ 11.4 ที่เห็นว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

อีสานโพลสอบถามต่อว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ท่านตั้งใจจะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่/อย่างไร  พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งอาศัยในพื้นที่จะออกมาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 73.8  และไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 26.2  อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภูมิลำเนาในภาคอีสานอาจออกมาใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 55-65 เท่านั้น เนื่องจากมีคนอีสานจำนวนมากที่ทำงานหรืออาศัยนอกพื้นที่และไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัด

ในกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่าจะออกไปใช้สิทธิ ร้อยละ 73.8  แยกออกเป็น ร้อยละ 30.5 ที่ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ ร้อยละ 26.1 จะไม่รับร่าง  และร้อยละ 17.2 จะรับร่าง และเมื่อทำการประมาณการผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญในภาคอีสาน จากผู้ที่ตัดสินใจแล้ว จะมีผู้รับอยู่ที่ร้อยละ 39.7 และผู้ที่ไม่รับ ร้อยละ 60.3

เมื่อสอบถามประเด็นคำถามพ่วงว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่  ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ให้ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา ร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า กลุ่มที่จะไปใช้สิทธิ ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.8 ไม่เห็นด้วย มีที่เห็นด้วยร้อยละ 34.2 ในส่วนกลุ่มที่จะไม่ไปใช้สิทธิส่วนใหญ่ร้อยละ 78.5 ไม่เห็นด้วย และ มีเพียงร้อยละ 21.5 ที่เห็นด้วย

และสุดท้ายเมื่อสอบถามต่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ควรดำเนินการต่ออย่างไร พบว่า ทางเลือกที่ 1 ที่ ให้ คสช. เลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งมีผู้รับได้ร้อยละ 35.7 และรับไม่ได้ 64.3 ทางเลือกที่ 2 ให้คณะทำงานที่แต่งตั้งโดย คสช.  ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีผู้รับได้ร้อยละ 29.7 และรับไม่ได้ 70.3 ทางเลือกที่ 3 ให้เลือกตั้งตัวแทนประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้รับได้ร้อยละ 67.8 และรับไม่ได้ 32.2 และทางเลือกที่ 4 ให้มีตัวแทนจากการเลือกตั้งและคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย คสช.  มาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้รับได้ร้อยละ 43.7 และรับไม่ได้ 56.3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net