ดาววันนี้: บันทึกบทสนทนา แอบฟังไผ่ ดาวดินคุยกับเพื่อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ราว 4 ทุ่มของค่ำคืนมืดมิด วงคุยเล็กๆ ของนักศึกษาชายหญิง 6-7 คนเพิ่งจะเริ่มต้น หนึ่งในผู้ร่วมวงคือ ไผ่ - จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เด็กหนุ่มที่ทั้งสุขุมและกล้าบ้าบิ่น ไผ่กอดกีตาร์ไว้หลวมๆ และถ้ามีแคนเขาก็จะเป่าให้ทุกคนฟังอย่างสมศักดิ์ศรีนักดนตรีพื้นบ้านที่ชนะเลิศการแข่งขันมาแล้ว

ท่ามกลางบรรยากาศสงัด ห่างออกไปไม่ไกล มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 4-5 นายคอยจับตามองพวกเขาอยู่

ไผ่หยิบกลักที่ใช้มวนบุหรี่ออกมา ดูคลาสสิกไม่น้อย เขาวางแผ่นกระดาษบางๆ ลงในกลัก หยิบไส้บุหรี่วางลงไป ก่อนงับฝากลักสีแดงลงแล้วมวนบุหรี่ทำเองก็ปรากฏขึ้นพร้อมให้สูบ ไผ่เริ่มเล่นกีตาร์และร้องเพลงที่เขาเห็นว่ามีความหมาย เสียงนุ่มทุ้มของเขาหล่นเพลงจากหนังเรื่อง Les Misérables ออกมา “Do you hear the people sing? Singing a song of angry men? It is the music of a people, who will not be slaves again…"

“เคยได้ยินไหม” เขาถามบางใครบางคนในวง ใครคนนั้นตอบด้วยความสัตย์จริงว่าไม่เคยได้ยิน ไผ่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาไทย

“เธอได้ยินผู้คนร้องไหม ร้องเพลงนั่นไง เพลงคนคลั่งโกรธ นี่คือดนตรีของผู้คนที่จะไม่เป็นทาสใครอีกแล้ว เมื่อหัวใจเต้นระรัว เสียงสะท้อนจังหวะกลองระรัวก้องนั่น ชีวิตหนึ่งจะเกิดขึ้นมายามพรุ่งรุ่งวัน...”

ในวงนี้ยังมี เนย นักศึกษาสาวปี 2 และนักศึกษาชายร่างท้วม บุคลิกเหมือนกุนซือผู้คอยเก็บข้อมูลมากกว่าอยู่สายบู๊ชื่อ ปุ๊ เขาสนใจดาวดินมาระยะหนึ่ง จึงติดตามมาค่ายนิติศาสตร์เรียนรู้สังคม อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ค่ายที่กลุ่มเยาวชนดาวดินเป็นผู้จัด และมีไผ่ ดาวดิน ผู้เป็นนักศึกษาปีสี่เป็นหนึ่งในพี่ค่าย

ไผ่: “เดี๋ยวพี่จะเล่าประวัติศาสตร์ผ่านเพลงให้ฟัง เพลงนี้ชื่อว่า ‘เธอวันนี้’ ฟังจบแล้วบอกพี่ว่าเข้าใจว่ายังไง ไม่มีผิดไม่มีถูกครับ” ไผ่พูดกับน้องๆ ในวง แล้วเริ่มเล่นกีตาร์พร้อมๆ กับร้องเพลง หากจับสังเกตดีๆ จะพบว่าเขาจะคอยคุมให้วงคุยดำเนินไปในทิศทางที่สอดแทรกสาระอยู่เสมอ

“เธอคือมวลพลังผู้กล้าและแกร่ง เธอร้อนแรงดังแสงตะวัน เธอคือแสงแห่งความสุขสันต์ เธอร่าเริงและเบิกบาน หมั่นเพียรเรียนเพื่อสร้างหนทางชีวี เธอสุขศรีไม่มีทุกข์ตรม อยากมีอนาคตสดใส่รื่นรมย์ เธอหวังเพียงเท่านั้นฤา...

“มองดูรอบกาย มองดูสังคม เธอสุขอยู่ได้อย่างไรเมื่อผู้คนทนทุกข์ยากลำเค็ญ จงเป็นดั่งดวงดาวที่พราวสว่าง นำหนทางเพื่อมวลชน เธอคือประกายไฟที่โหมกระหน่ำ ลามลุกไหม้ความทุกข์ทน” (เพลง: 'เธอวันนี้' โดย วงพลังเพลง)

ไผ่: “เข้าใจว่ายังไงบ้าง ฟังเพลง 'เธอวันนี้' แล้ว”

เนย: “หนูก็เข้าใจว่า ชีวิตนักศึกษา ตอนแรกเรามาเรียน เราก็นึกถึงอนาคตของเรา คิดว่าจะเอาแค่ตัวเองน่ะ แต่พอดูรอบๆ แล้วมันยังมีอะไรที่ยังไม่ใช่อยู่ มันยังมีอะไรที่แบบ..เฮ้ย เราเป็นคนมีความรู้นะ เป็นคนที่สามารถจะทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ ทำไมถึงไม่ทำ เราอาจจะเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ ทำให้สังคมมันดีขึ้นก็ได้ ไม่ใช่แค่ว่าอนาคตของเราอย่างเดียว”

ไผ่: “อ้าว...นี่ของน้องแล้วนะ ทีนี้ของพี่บ้าง ไอ้ปุ๊ ระเบิดขวด”

ปุ๊: “คล้ายๆ กันอยู่”

ไผ่: “เฮ้ย...อย่าก็อปกัน อธิบาย”

ปุ๊: “เราเรียนมาแล้วเราก็ควรมาแบ่ง เหมือนแบ่งปัน คุณมีความรู้แล้วคุณจะเอาไปใช้แค่คนเดียว มันใช่อยู่เหรอ คุณเป็นนักศึกษาคุณทำอะไรได้มากกว่านี้ คุณจะช่วยแค่ตัวเองเหมือนมันเห็นแก่ตัวเกินไป คุณควรจะช่วยคนอื่นบ้างด้วย ประมาณนี้ครับ” ไนซ์ เด็กหนุ่มหน้าอ่อนอีกคนที่เพิ่งมาค่ายกับดาวดินครั้งแรกไม่ต่างจากเนย ถูกไผ่ใช้สายตาทวงคำตอบ ไนซ์จึงตอบว่า

ไนซ์: “ถ้าคุณมีโอกาสเรียนมากกว่าเขา แล้วคุณยังใช้ความรู้เพื่อตัวคุณเอง คุณก็ไม่เติบโตไปไหน ถ้าคุณใช้ความรู้ไปช่วยคนที่ด้อยโอกาส ไปเติมความรู้ให้เขาในสิ่งที่เรารู้ คุณก็จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิด มีการกระทำอย่างที่ควรจะเป็น”

ไผ่: “มันก็ชัดเจนว่าคนหนุ่มสาวหรือพวกเราเป็นวัยรุ่น มีพลัง เธอคือมวลพลังผู้กล้าและแกร่ง เธอร้อนแรงดุจแสงตะวัน วัยรุ่นน่ะสดใสร่าเริง แต่มันก็พูดถึงท่อนหนึ่งที่บอกว่าเธอหวังเพียงเท่านั้นฤา ถ้าอย่างที่ทุกคนพูดก็คือ ความหมายที่เราจบมาทำนู่นทำนี่ จบมาทำงาน หวังเพียงแค่นั้นเหรอ แล้วถ้าเรามองไปดูรอบกายเราล่ะ มองดูสังคมล่ะ แล้วเราจะอยู่สุขได้เหรอ ถ้าเห็นคนทุกข์ยาก”

สมาชิกในวงคุยเดินทางตะลอนๆ และทำกิจกรรมมาตลอดทั้งวัน แม้จะอาบน้ำแล้วแต่ก็ยังหลงเหลือความเหน็ดเหนื่อย แต่คล้ายกับว่าไผ่มีแบตเตอรีสำรอง ที่เขาจะไม่ยอมให้ค่ำคืนนี้ผ่านไปหรือจบลงแค่ปล่อยเพื่อนไปซบร่างกับหมอนและเสื่อที่ปูอยู่ในศาลาวัด ที่พักของพวกเขาคืนนี้

“หลายคนพูดนะ เรื่องโอกาส บางคนเกิดในครอบครัวที่รวย ที่เป็นมหาเศรษฐี ที่เป็นลูกชาวนา เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่โอกาสเราควรมีเท่ากัน โอกาสที่ทุกคนอยากเรียนก็ต้องมี แต่เมื่อเรามองรอบกาย...เขาไม่มี อันนี้เป็นประสบการณ์ที่พี่เจอนะ เพื่อนเป็นลูกชาวนา ไม่มีค่าเทอม 18,000 (ค่าเทอมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นหลังการออกนอกระบบ) นี่คือโอกาสที่มีไม่เท่ากัน เรามีโอกาสเรียน เพื่อนเราอยากเรียนเหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสเรียน ทั้งที่เขาเป็นเพื่อนเรา มึงก็เหมือนกู มีห้านิ้ว มี 10 นิ้ว แต่ทำไมเรียนไม่ได้”

วงของเราคุยกันด้วยเสียงเบาๆ นิ่มนวลเหมือนเกรงใจกลางคืน น้ำเสียงที่ไผ่ค่อยๆ หยอดความจริงลงไปแล้วชวนให้ทั้งเพื่อนเก่าเพื่อนใหม่ซับซึมตรึกตามนั้นมีแววรวดร้าว ทอดถอนใจ ไม่ใช่กระแสเสียงกร้าวที่พยายามบังคับให้เชื่อ

 ไผ่: “พี่จะแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง นักศึกษากระแสหลักก็คือเรียน เอาเกียรตินิยม เอาปริญญา แต่พี่คือนักศึกษากระแสรอง กูก็ไปของกูน่ะ ลงหาชาวบ้าน พี่ไปเมืองเลย มากาฬสินธุ์ ไปร้อยเอ็ด ไปอุบล ไปชัยภูมิ ไปช่วย เพราะรู้สึกว่าเชื่อเพลงนี้นะ เราจะสุขได้ยังไง เมื่อมีคนทุกข์ยาก โลกใบนี้อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโลก แต่ประเด็นคือทำไมเราไม่ใส่ใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรากินพิซซ่าอยู่ แต่มีเด็กที่ไม่มีข้าวกิน เราใช้ปากกา ยางลบ ใช้สมุด ไม่เคยหมดเลย ระหว่างที่อีกคนไม่มี เอ็งมีโอกาสคิดก็คิดไป ไม่ผิดนะที่คิดแบบกระแสหลัก อยากเรียนจบไปทำงาน มีการมีงาน มีชื่อเสียง มีเงินเดือน แต่ว่าคำถามก็คือว่า แล้วคนอื่นล่ะ

"แต่ถ้าเลือกทางนี้เอ็งก็จะเจ็บปวดนะ ถ้าไปเจอความจริง ไปเห็นคนทุกข์ยาก พี่ไปเมืองเลยตั้งแต่ปี 1 ปี 53 ไปแรกๆ ไม่รู้อะไรเลย มันเป็นการระเบิดภูเขา เอาแร่ทองคำออกมา ดินกับหินที่ระเบิดออกมาตันหนึ่งได้ทองคำกำปั้นหนึ่ง แล้วกระบวนการคือต้องใช้สารไซยาไนด์ หลักวิทยาศาสตร์ก็คือว่า ในแต่ละชั้นดินจะมีสารเรียงกันมาใช่ไหม มีสารหนู...”

เนย: “ในเหมืองทองมีสารหนูด้วยเหรอ”

ไผ่: “มันมีตามธรรมชาติอยู่แล้ว สารหนู สารโลหะหนัก แต่บางอย่างถ้าอยู่ในดินมันคือปุ๋ย ทีนี้พอระเบิดออกมา สารพวกนี้ก็ระเบิดออกมาด้วย พี่ถามว่าระหว่างที่เราขุดสระน้ำ กับถมสระน้ำ อันไหนแพงกว่ากัน”

เพื่อนๆ ในวง: “ถมใช่ไหม”

ไผ่: “คิดดีๆ ขุดก็ได้ขายดิน พี่จะทำบ่อปลา พี่จ้างแบ็คโฮมาขุด ขายดิน เอาน้ำลง เลี้ยงปลา กับไปซื้อดินมาถม มาอัด เอ็งว่าอันไหนแพงกว่ากัน”

ไนซ์: “ผมว่าขุดนะ เพราะมันต้องจ้างแรงงาน”

ไผ่: “ถมแพงกว่าครับ สมมุติว่าจ้างแบ็คโฮขุด เอาดินไป ได้ขายดิน ได้ขายอะไรไป ถมก็คือไปซื้อดินมา ต้องถมแล้วต้องอัดอีก กว่าจะเอารถบดอีก เหมือนกัน...พวกนายทุนขุดเหมืองแร่ออกมาแล้วไม่เคยถมเข้าไปเลย สารหนูพวกนี้ก็ออกมาด้วย แล้วมันเป็นภูเขา พอฝนตกลงมามันก็ไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ ก็ไปตามทุ่งนาชาวบ้าน แล้วพอระเบิดมา เขาก็ใช้ไซยาไนด์แยกทองออก เหลือแต่หินกับขี้ตม แล้วก็ซึมลงไป ชาวบ้านก็มีสารไซยาไนด์ เด็กน้อยเกิดใหม่ก็มีสารไซยาไนด์ มีสารหนู สารปรอท มีโลหะหนักในร่างกาย ชาวบ้านหาปลาไม่ได้ ขายข้าวไม่ได้ เพราะข้าวก็มีสาร ไปเจอเรื่องราวแบบนี้ แล้วคิดแบบคนอื่นไม่ได้ คิดแบบกระแสหลักไม่ได้ โห...มันเป็นอย่างนี้เหรอ แล้วก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

“พี่เริ่มอย่างนี้ มาค่ายนี่ล่ะ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร มาเห็น มาเรียนรู้ มันมีอย่างนี้อีกเหรอวะ มันมีทำอย่างนี้ด้วยเหรอ มันทำกันอย่างนี้ได้เหรอ แล้วอย่างที่บอกว่าไปเมืองเลย ตอนปี 53 มันระเบิดภูเขาอยู่นะ เหมือนในหนังน่ะ มันจะมีออดดังตื๊ด แล้วหลังคาบ้านก็จะสั่น แล้วก็กระเด็น มีแสงไฟแว้บๆ ออกมา พี่ไปเมืองเลยครั้งแรกไม่กล้าอาบน้ำเพราะว่าน้ำเปื้อนสารพิษ แปรงฟันก็ต้องซื้อน้ำกินมาแปรง”

เข้าสู่ช่วงดึก การสนทนาเริ่มมาถึงเรื่องเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ และราคายางพารา

ไผ่: “ถามว่าประเทศไหนส่งออกยางพารามากที่สุด”

เพื่อนๆ ในวง: “ไทย”

ไผ่ : “แล้วประเทศไหนต้องการยางพารามากที่สุด”

เพื่อนๆ ในวง: “จีน”

ไผ่: “ประเด็นคือจีนก็คล้ายๆ กับอเมริกาตอนผลิตน้ำมันเองได้ ปลูกยางแล้วไม่ต้องการยางจากที่อื่นแล้ว ทีนี้มันก็เฟ้อ แล้วยางก็ถูก คำพูดของผู้นำที่ว่า ‘อ้าว ก็ไปปลูกอย่างอื่นสิ’ มันพูดได้นะ แต่ในฐานะประชาชน ในฐานะรัฐบาล พูดไม่ได้ ต้องสนับสนุน รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สนับสนุนการเกษตรเขา

“แล้วถ้าใครบอกว่า ชีวิตเราไม่เกี่ยวกับการเมือง ผิดเลย พวกเอ็งใช้น้ำมันกันไหม แล้วไม่เกี่ยวกับการเมืองได้ยังไง กินข้าวกันไหม ทำไมไม่เกี่ยวกับการเมือง จริงๆ เรื่องการเมืองมันไม่ยากหรอก แต่เพียงแค่เขาไม่อยากให้เรารู้ เรารู้ปุ๊บ เราก็ต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วเขาก็ไม่อยากให้ทำ แต่ก่อนเคยกินไก่กันไหม”

เพื่อนๆ ในวง: “ตอนนี้ก็กิน”

 ไผ่: “สมัยพี่อยู่ปี 1 ไก่บ้านกิโลละ 60 ประเด็นคือ แต่ก่อนชาวบ้านเขาเลี้ยงไก่ แล้วเอาไก่มาขายตลาด เขาก็จะมีเศรษฐกิจของเขา ทีนี้พอบรรษัทการเกษตรคิดระบบ contract farming ขึ้นมา ระบบ contract farming คือ สมมุติว่าพี่จะสร้างฟาร์มไก่ 500 ไร่ แล้วเลี้ยงไก่เอง ลงทุนทุกอย่าง มันมีความเสี่ยง ไก่เป็นโรค ก็ต้องเสียเอง แต่ว่าระบบนี้พี่ไม่ทำเว้ย เอ็งเอาไปทำ มีมาตรฐานให้ เอ็งผลิตไก่ได้มาตรฐานพี่ก็รับซื้อมา ถ้าไก่เอ็งตาย พี่ไม่เป็นไรนี่ เอ็งก็มาซื้อไก่ใหม่ของพี่ มีแต่ได้กับได้ ทีนี้ที่พูดถึงไก่บ้านเพราะว่าสมัยนั้นไก่บ้าน 60 พอเกษตรกรหันมาเลี้ยงไก่ฟาร์มกันหมด คนเลี้ยงไก่บ้านน้อย ไก่บ้านขึ้นไป 80 เขาลดไก่ฟาร์มลงเหลือ 60 คนจะซื้อไก่อะไร จนเขายึดตลาดได้

เนย: “พูดจนหนูไม่อยากกินไก่ ไม่อยากเข้าร้านสะดวกซื้อเลย”

ไผ่: “พี่ไม่เข้าตั้งแต่ปี 2 แล้ว ตั้งแต่พี่รู้เรื่องราวพวกนี้ เขาจ้างบริษัทจิตวิทยาสร้างความจดจำให้เราวันหนึ่ง 17 ครั้ง โฆษณาวาทกรรมเด็ดๆ ที่คิดมา วันนี้คุณหิวอะไรหาซื้อในร้านเขา นี่คือมันเปลี่ยนวิถี

“ขนาดเขาแผงม้าที่โคราช เป็นที่ปลูกมะเขือเทศส่งออกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คนที่นั่นบอกลูกว่า อย่าไปกินส้มตำเด้อ ส้มอัดสาร กะหล่ำอยู่ที่เพชรบูรณ์ เขาเอาสารที่ใช้ในยาฉีดยุงฉีดลงมา”

ไนซ์: “ผมเห็นกับตาเลย ผมเพิ่งไปมาที่ภูทับเบิก”

ไผ่: “รู้ไหม เวลาเขาขู่เด็กที่นั่นเขาขู่ว่าอะไร”

ไนซ์: “เดี๋ยวเอากระหล่ำยัดปาก”

ไผ่: “ใช่”

เนย: “ว้าว! ไม่ต่างอะไรกับฉีดยาพิษ”

ไผ่: “เราเลือกอะไรได้บ้าง เราอยากเลือกไก่บ้านได้ไหม เพราะมันไม่มีแล้ว พวกนี้เขายึดหมดแล้ว ทำไมผักออแกนิกถึงแพงมาก เอ็งนึกภาพตอนนี้ว่าเราจะบอกชาวนาว่า ‘อย่าใส่ปุ๋ยเคมีนะครับ' บอกชาวสวนว่า ‘อย่าฉีดยาฆ่าแมลงนะครับ’ ไม่มีใครเอา เขาต้องการผลผลิตเยอะ แต่เมื่อปี 2500 มันต่างกัน เขาจะบอกว่า ‘กูไม่ใส่ปุ๋ย อย่ามาบังคับกู’ ปุ๋ยเคมีเพิ่งเข้ามาเมื่อสมัยจอมพลสฤษดิ์ทั้งนั้น"

เนย: “ข้าวล่ะ ข้าวยังมีแท้ใช่ไหม”

เนยยังมีความหวัง ไผ่จึงตอบสนองด้วยเรื่องราวของข้าว ชาวนา ที่ดิน เลยไปถึงเรื่องการพัฒนา สงครามเย็น เขื่อน โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล และสุดท้ายทุกเรื่องก็ย้อนเข้ามาเชื่อมต่อกับเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเขาทุกคน ในฐานะนักศึกษานิติศาสตร์ นั่นคือ เรื่องกฎหมาย

ไผ่: “เรียนมาตรา 15 กันหรือยัง”

ปุ๊: “เรียนแล้วครับ สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อคลอด แล้วอยู่รอดจนตาย”

ไผ่: “ใช่ มาตรา 15 ซึ่งรัฐธรรมนูญก็บอก ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์น่ะ คือมนุษย์ควรเกิดมาแล้วก็มีศักดิ์ศรี ได้รับอากาศที่ดี ได้รับชีวิตที่ดี แต่ที่คำไผ่ (อ.คำไผ่ จ.กาฬสินธุ์) แค่ทดสอบว่ามีก๊าซพอไหม เขาจะมีเหล็กมาเจาะให้ก๊าซมันชอนไชไหลขึ้นมาตามท่อ แล้วจุดไฟ 45 วัน แค่ช่วงทดสอบชาวบ้านที่ไปเก็บมะละกอก็ปากเบี้ยว นี่ยังไม่ทำแท่นเจาะนะ ไม่รู้ว่าพวกนั้น (สมาชิกดาวดินที่รับผิดชอบทำข้อมูลพื้นที่คำไผ่) ได้ไปดูหรือเปล่า เพราะตำรวจทหารเยอะ คือถ้า 45 วันนี้ทดสอบแล้วพบว่ามีก๊าซเหมาะ ควรที่จะตั้งให้เจาะก็จะเจาะ ถ้า 45 วันไม่เจาะ ก็จะเอาออก แต่แค่ทดสอบเฉยๆ มันเหมือนมีพระอาทิตย์ลูกที่สอง แถวนั้นแมลงตายเป็นหมื่น แมลงตาย วัฏจักรตายใช่ไหม ห่วงโซ่อาหารมันก็หายไป”

ฉันฟังไผ่เล่าแล้วก็นึกถึงกระบวนการขุดเจาะน้ำมันที่เฟิร์น หนึ่งในสมาชิกดาวดินเคยเล่าว่า ‘เอาแท่นเจาะไปที่พื้น วิธีการทดสอบว่ามีปริมาณมากพอที่จะทำไหม เขาก็จะส่องกล้องไป แล้วก็ใช้ไฟเบิร์นตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเต็ม ไม่แน่ใจว่ากี่วัน น่าจะ 40 กว่าวัน แร่ที่เขาขุดเจาะลงไปก็เป็นแร่ที่อันตราย’

เนย: “ที่ทหารมาเฝ้าเรา เขากลัวเรามาปลุกระดมชาวบ้านใช่ไหม”

ไผ่: “ใช่”

เนย: “ตอนแรกหนูคิดว่าค่ายนี้ของพวกพี่จะโดนยุบไปแล้ว หนูคิดอยู่ในใจว่ามันจะรอดไหม”

น้องคนหนึ่งในวง: “พี่ไผ่ยังโดนทหารตามอยู่ใช่ไหม”         

ไผ่: “โดน แต่พี่พูดความจริง พูดในสิ่งที่ถูกต้องซึ่งมันคือความจริงที่ไม่กล้าพูดกัน นี่คือเรื่องจริง เขากลัว ถึงแม้ว่าเขาจะมีปืนเขาก็กลัว กลัวมาก พี่โดนข้อหาปลุกระดมชาวบ้านเต็มเลย พี่ก็เป็นเหมือนอย่างนี้ล่ะ ตอนเย็นๆ ไปนั่งคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านไม่รู้นะ คนอยู่ในพื้นที่ไม่รู้เลยว่าในเหมืองเป็นยังไง การผลิตทองเป็นยังไง ได้ทองมาแล้วชาวบ้านได้อะไร เสียอะไร พอพี่บอกให้เขารู้ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ พี่ก็ถามว่าจะเอายังไง ในเมื่อคนมันโดนกระทำ โดนกดขี่ มีอยู่สองอย่างใช่ไหม หนึ่ง-เรายอม สอง-เราสู้ มันไม่มีความเป็นกลาง เป็นกลางยังไงล่ะ มันมีแค่สองอย่าง ยอมกับสู้ ชาวบ้านเขาเลือกสู้เพื่อบ้านเขา”

วงคุยดำเนินไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ มีการพูดกันถึงเรื่องประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไผ่บอกกับน้องๆ ในวงว่า

“ที่ธรรมศาสตร์จะมีป้ายเขียนอยู่ว่า ‘เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาอนาคต’ ถ้าเราไม่ศึกษาประวัติศาสตร์เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตเราจะไปยังไง”

เนย: “หนูขอรู้แค่นี้”

ไผ่: “แต่เอ็งรู้ไปแล้ว ความกล้ามันไม่ได้มาโดยปราศจากความกลัวหรอก น้องเอ๊ย...เอ็งจะกล้าที่จะขี่จักรยาน เอ็งก็กลัวแหละ มันไม่ได้ปราศจากความกลัวซะทีเดียว แต่อย่าให้ถึงกับขลาดและชิน พอระบบพวกนี้มา พอพวกเอ็งชินไป เดี๋ยวเอ็งก็มองข้ามไป เอ้า! พวกพี่ไปเหรอ ผมนอนดีกว่าช่วงนี้ เมื่อคืนแฮงค์ เฮ้ยวันนี้ผมมีเรียนว่ะ เฮ้ยวันนี้ผมนัดกับเพื่อน นัดกับแฟนว่าดูหนัง มันก็กลายเป็นมองข้ามไป อย่าว่าแค่นักศึกษา ไม่ต้องพูดเรื่องนักศึกษาใหญ่โตมโหฬาร เอาแค่นักศึกษานิติศาสตร์ เป็นนักกฎหมายใช่ไหม เครื่องมือเราคืออะไร”

น้องๆ ในวง: “กฎหมาย”

ไผ่: “ใช่ กฎหมาย การทำรัฐประหารคือการฉีกหน้ารัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าทำลายเครื่องมือของเรา ซึ่งหมายความว่ากฎหมายที่เราท่องๆ กันไม่มีประโยชน์ แต่ว่านักนิติศาสตร์กี่ราย เป็นพันคนนิ่งเฉย เหมือนพี่เป็นนักดนตรีเครื่องมือพี่คือกีตาร์ แล้วอยู่ดีๆ ทุบกีตาร์พี่ อ้าว! กูจะเล่นอะไร อย่างนี้ เหมือนกัน ฉีกกฎหมายแล้วเราจะใช้อะไร

“ในสังคมมันมีข้อมูลอยู่สองด้าน ข้อมูลที่เขาอยากให้เราเชื่อ อยากให้เราคิดอย่างนั้น กับข้อมูลที่เล่าให้ฟัง พี่ไม่ได้บังคับให้เชื่อนะ พี่อยากให้พวกเอ็งลองหาคำตอบเอง ไม่ใช่ว่า เฮ้ย แม่งเชื่อพี่ว่ะ อย่าไปเชื่อ...ให้ไปหาดู แล้วสุดท้ายจะรู้ความจริงว่าอันไหนคือความจริงกันแน่ สิ่งที่อาจารย์พูด รัฐพูด พี่พูด อันไหนคือความจริง”

 

หมายเหตุ: บทสนทนานี้ บันทึกไว้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558

ระหว่างเยาวชนดาวดินจัดค่ายนิติศาสตร์เรียนรู้สังคมครั้งที่ 9 ที่ บ้านหนองแซง ต.นาตาล อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องนิติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่บ้านหนองแซง

6 สิงหาคม 2559 ไผ่ถูกจับกุมขณะแจกเอกสารความเห็นประชามติที่จังหวัดชัยภูมิ และถูกตั้งข้อหาตาม พรบ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ขณะนี้ยังถูกขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ ไผ่อดอาหารเพื่ออารยขัดขืนต่อกระบวนการประชามติและการจับกุมที่ "อยุติธรรม" เป็นวันที่ 10 แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท