'สมคิด เลิศไพฑูรย์' เผย สนช. เสียงแตกเรื่อง ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ได้หรือไม่

สมคิด เลิศไพฑูรย์ ระบุ สนช. มีความเห็นสองทางจากกรณีคำถามพ่วง เมื่อ ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ จะสามารถเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ได้หรือไม่ ชี้ รอคุยร่วม กรธ. พรุ่งนี้ เผยสุดท้ายอยู่ที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ภาพจากเว็บข่าวรัฐสภา

18 ส.ค. 2559 สมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแ­ห่งชาติ (­สนช­.) กล่าวว่า ขณะนี้ภายใน สนช. มีความเห็นไม่ตรงกันในกรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประเด็นคำถามพ่วงประชามติ ที่เปิดทางให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ โดย สนช. ฝั่งหนึ่งเห็นว่า เมื่อประชาชนเห็นชอบ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น ควรให้ ส.ว. เสนอบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีได้เท่ากับ ส.ส. แต่ สนช. บางส่วนก็เห็นว่า หากตีความตามตัวบทของคำถามพ่วง อาจไปไม่ถึงขั้นที่จะให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้

สมคิดกล่าวอีกว่า ไม่ขอแสดงคว­ามคิดเห็นในเรื่องนี้ และ­อยากให้รอฟังคำชี้แ­จงจากตัวแทน สนช­.­ ที่จะเข้าหารือกับกรรม­การร่างรัฐธรรมนูญ (­กรธ­.)­ ในวันพรุ่งนี้­ (­19ส.ค.­) ก่อนว่าจะมีการตีความเรื่องดังกล่าวอย่างไร  ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังขึ้น อยู่กับวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ว่าการปรับแก้นั้นสอดคล้องกับ­คำถามพ่วงประชามติหรือไม่ อย่างไรก็ตามอยากให้ ทั้ง สนช. และ กรธ. พิจารณาประเด็นปรับแก้อย่างรอบคอบ

“เท่าที่ผมทราบก็แตกเป็น ความเห็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้น้อย กับฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้มาก จริง ๆ คำถามพ่วงเพียงคำถามเดียว ผมคิดว่าอาจจะต้องแก้หลายมาตรา แต่ว่าจะกินความไปถึงเรื่อง ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ด้วยหรือไม่ ผมว่าต้องไปสอบถามความเห็นของหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายมีความเห็นว่าอย่างไร ถ้าพิจารณาจากเฉพาะคำของคำถามพ่วง มันอาจจะไปไม่ถึง แต่ถ้าพิจารณาว่า คำถามพ่วงส่งผลกระทบต่อหลายอย่าง ก็อาจจะไปถึงได้นะครับ

ผมยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็เขียนบนพื้นฐานว่า ให้ ส.ส. เป็นคนเลือกนายกฯ ไม่ได้พูด ส.ว. เป็นคนเลือกนายกฯ เลย แต่ว่าคำถามพ่วงมาโยงว่า ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ด้วย ในการพิจารณา 5 ปีแรก เพราะฉะนั้น ก็จะไปกระทบหลายมาตรา ไม่กระทบมาตราใด มาตราหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น การแก้ก็ต้องไปดูว่า แก้ได้กี่มาตรา อย่างไรบ้าง” สมคิดกล่าว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวคำถามพ่วงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควร ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

เรียบเรียงจาก : springnews , เว็บข่าวรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท