Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ภายหลังที่ทราบผลของการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาว่ามีการให้ความเห็นชอบทั้งประเด็นหลักคือตัวร่างรัฐธรรมนูญฯเองและประเด็นเพิ่มเติมหรือที่เรียกกันติดปากว่า “คำถามพ่วง”ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคขนาดใหญ่ต่างออกอาการหนาวๆร้อนๆ เพราะแน่นอนว่าไม่มีทางที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรภายใต้ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ บางพรรคถึงกับให้สัมภาษณ์ว่าทำใจไว้แล้วกับการทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านในสภาโดยบอกว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุดทั้งๆที่ยัง  ไม่มีการเลือกตั้งในวันนี้พรุ่งนี้แต่อย่างใด อย่างเร็วที่สุดถ้าไม่มีอะไรขัดข้องก็น่าจะพฤศจิกายนปีหน้า

อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนทั่วไปแล้วผมกลับมองเห็นว่าในวิกฤติมีโอกาส เพราะน่าจะถึงเวลาที่เราจะได้หันมาพิจารณาปรับปรุงระบบพรรคการเมืองหรือการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองผ่านระบบพรรคที่แต่เดิมต้องเป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ว่าเป็นด้วยระบบเงินตรา เส้นสายหรือชาติตระกูลทางการเมืองที่ผูกขาดถ่ายทอดกันในวงศาคณาญาติเท่านั้น บางคนแทบจะไม่เคยปราศรัยหาเสียงเลย ไม่เคยมีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองเลย ที่ร้ายที่สุดคือการเป็นร่างทรงหรือนอมินีของนายทุนพรรคในกรณีที่ต้องเว้นวรรคทางการเมืองหรือด้วยเหตุผลอื่น

อันที่จริงแล้วพรรคการเมือง(political party)มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Par ซึ่งแปลว่า “ส่วน” พรรคการเมืองจึงหมายถึงส่วนของประชาชนในประเทศ หมายถึงการแยกประชาชนออกเป็นส่วนๆ ตามความคิดเห็นหรือประโยชน์ได้เสียทางการเมือง พรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่บทบาทสำคัญยิ่งในระบบการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาล โดยพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชักนำประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

พรรคการเมืองที่แท้จริงจะเป็นผู้รวบรวมผลประโยชน์ของประชาชนมาเขียนไว้ในนโยบายพรรคของตน ประชาชนคนใดเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคการเมืองใด ก็จะเลือกพรรคการเมืองนั้นเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของตนในรัฐสภา แต่บทบาทของพรรคการเมืองของไทยเราที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่รวบรวมผลประโยชน์จากประชาชนอย่างแท้จริง แต่พรรคการเมืองไทยเราหลายๆพรรคเป็นการรวมกลุ่มของผู้มีอำนาจ เช่น พรรคสามัคคีธรรมเคยเป็นพรรคของพวกนายทหารหลังการยึดอำนาจของ รสช., พรรคไทยรักไทยเคยเป็นที่รวมของตระกูลผู้มีอำนาจทางการเงิน, พรรคชาติไทยเคยเป็นพรรคของเหล่าทหารและข้าราชการสายราชครู ฯลฯ

การกำเนิดของพรรคการเมืองนั้นมีผู้อธิบายไว้หลายทฤษฎี สามารถสรุปได้เป็น 4 ทฤษฎีใหญ่ๆ ดังนี้

1.ทฤษฎีทางจิตวิทยา ทฤษฎีนี้เชื่อว่าคนเราแบ่งแยกตามความคิดความเชื่อได้เป็นสองพวกใหญ่ คือพวกอนุรักษ์นิยมกับพวกเสรีนิยม หรือพวกมองโลกในแง่ร้ายกับพวกที่มองโลกในแง่ดี เป็นต้น

2.ทฤษฎีทางเศรษฐกิจและสังคม ทฤษฎีนี้มองว่าการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองมีความสัมพันธ์กับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ในอดีตอังกฤษมี 2 พรรคการเมืองหลัก คือ พรรควิก(Whig) และพรรคทอรี่(Tory) พรรควิกได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า มหาเศรษฐี ในขณะที่พรรคทอรี่นั้นเป็นพวกผู้ดีเก่า ขุนนาง และศาสนาจักร เป็นต้น ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นผู้ที่เลือกพรรคเดโมแครตก็มักจะเป็นคนด้อยโอกาส คนยากจน และคนผิวสี ส่วนพรรครีพับลิกันเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลาง ผู้มั่งมีและพวกนายทุน

3.ทฤษฎีทางอุดมการณ์ ทฤษฎีนี้เชื่อว่าพรรคการเมืองเกิดมาจากอุดมการณ์ กล่าวคือคนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันรวมตัวกันเพื่อทำการตามอุดมการณ์ที่ได้วางไว้ ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางที่ดีหรือร้ายแก่ประชาชนก็ได้ เช่น พรรคนาซีของเยอรมันช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือพรรคอัมโนของมาเลเซียปัจจุบันที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นหลักหรือพรรคพลังธรรมของไทยที่ยึดอุดมการณ์ทางศาสนา ฯลฯ

4.ทฤษฎีการจัดองค์การ ทฤษฎีนี้เชื่อว่าผู้นำเป็นผู้มีอิทธิพลที่จะช่วยเสริมให้พรรคการเมืองก่อตั้งและยั่งยืนต่อไปได้ เช่น พรรคที่มีนายทหารหรืออดีตนายทหารใหญ่หรือนายทุนใหญ่เป็นผู้นำพรรค เป็นต้น

เมื่อพิจารณาทั้งจาก 4 ทฤษฎีข้างต้นแล้ว ผมเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐธรรมนูญตัดโอกาสการเจริญเติบโตของพรรคใหญ่แต่เอื้อต่อพรรคเล็ก กอปรกับในยุคสมัยของระบบดิจิตอลที่ผู้คนมีความรอบรู้ สามารถสื่อสารกันได้ทั่วโลกภายในพริบตา สิ่งที่นักการเมืองกำลังกล่าวอยู่บนเวทีถูกนำเผยแพร่ผ่านการสื่อสารสมัยใหม่ไปทั่วโลกแม้ว่าเขาหรือเธอจะยังไม่ลงจากเวทีแต่อย่างใด

ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องอาศัย(base on)คนรุ่นเก่าแล้ว ไม่ต้องอาศัยการมีบารมีเฉพาะตัวของหัวหน้าพรรคก็สามารถตั้งพรรคหรือดำเนินการทางการเมืองผ่านระบบพรรคได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของนักการเมืองในระบบดิจิตอลที่ประสบความสำเร็จโดยอาศัยการสื่อสารสมัยใหม่โดยไม่ต้องมีเชื้อสายเป็นนักการเมืองหรือเป็นผู้หลากมากดีหรือมีเงินเป็นถังก็คือประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐอเมริกา ส่วนของไทยเราที่พอจะมองเห็นๆแววกันก็มีอยู่หลายคนแต่ขอที่จะไม่นำมายกตัวอย่างเพราะเดี๋ยวจะเป็นการอวยหรือเชียร์กันเอง

ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามา “ทำการเมือง”ใหม่ๆให้แก่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นคุณูปการต่อระบบการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง พรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่หรือที่จะตั้งมารองรับอำนาจใครหากยังไม่ปรับตัวก็จะถูกพรรคการเมืองไทยในระบบดิจิตอลกวาดตกเวทีไปอย่างแน่นอน

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net