Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ระยะหลังมีเสียงวิจารณ์มากขึ้นว่า พุทธศาสนาไทยไร้อารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกดขี่โดยอำนาจเผด็จการ และพุทธศาสนาไทยไม่มีมิติทางสังคม

คำวิจารณ์ดังกล่าวเป็นจริงมากทีเดียว เนื่องจากเราแทบจะไม่เห็นบทบาทของพระสงฆ์และการแสดงในนามองค์กรชาวพุทธต่างๆ หรือการตีความพุทธธรรมที่ยืนเคียงข้างประชาชนผู้ถูกละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ได้เห็นจนชินชากับบทบาทของพระสงฆ์ องค์กรพุทธ และการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจเผด็จการ กระทั่งสนับสนุนความรุนแรงทางการเมืองและความรุนแรงระหว่างศาสนา บทบาทโดยรวมของพุทธศาสนาไทยในปัจจุบันก็คือบทบาทสร้างวัฒนธรรมบริโภคศาสนาของปัจเจกบุคคล ที่บริโภคศาสนาเพื่อบรรเทาทุกข์หรือคาดหวังความสุขส่วนตัวเป็นด้านหลัก

แค่คำถามคือ เป็นไปได้อย่างไรที่พุทธศาสนาที่อยู่มาได้ผ่านกาลเวลายาวนานจะเป็นศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึกต่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกดขี่และไม่มีมิติทางสังคมเลย ทำให้ผมต้องกลับไป “อ่าน” พระไตรปิฎก และค่อยๆ คิดหาคำตอบว่าพุทธะพยายามเสนออะไร กำหนดสถานะและบทบาทของตัวท่านเองและสังฆะอย่างไรในบริบทสังคมการเมืองสมัยพุทธกาล

คำถามแรกของผมคือ ทำไมพุทธะจึงออกจากป่ามาสู่เมือง ผมคิดว่าผมพบคำตอบได้ใน “อัคคัญญสูตร” ในสูตรนี้สะท้อนทัศนะพื้นฐานของพุทธะว่า “การมีชีวิตที่ดีเป็นไปได้ในสังคมการเมืองเท่านั้น” เพราะพุทธะมองว่าชีวิตมนุษย์ที่อยู่นอกสังคมการเมือง หรือชีวิตในสภาวะธรรมชาติ (natural state) เป็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางตกต่ำและเลวร้ายลงโดยลำดับ จนถึงขั้นที่ว่าทุกคนจะขโมย ปล้นฆ่ากันออย่างไรก็ได้ มันจึงเป็นสภาพชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยสัญชาตญาณดิบอย่างที่โทมัส ฮอบส์มองว่าเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยว ยากแค้น น่ารังเกียจ ป่าเถื่อน และแสนสั้น เมื่อมนุษย์ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพชีวิตเช่นนั้นได้ พวกเขาจึงตกลงสร้างสังคมการเมือง หรือสังคมที่มีระเบียบกฎเกณฑ์และมีผู้ปกครองที่มีอำนาจบังคับให้เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา

สมมติฐานนี้จะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า พุทธะกำลังเสนอว่า “การมีชีวิตที่ดีเป็นไปได้ในสังคมการเมืองเท่านั้น” ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของนักปรัชญาการเมืองอื่นๆ อย่างน้อยตั้งแต่อริสโตเติลเป็นต้นมา คำบรรยายในอัคคัญญสูตรบอกว่าหลังจากมนุษย์สร้างสังคมการเมืองขึ้นมาได้ มนุษย์จึงสามารถจะมีวิวัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องการปกครอง การแบ่งบทบาทหน้าที่ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม การเรียนรู้ในอาชีพการงาน การสร้างแบบแผนประเพณี การเกิดขึ้นและการแพร่หลายของความเชื่อทางศาสนาเป็นต้น

ฉะนั้น เราจึงเข้าใจได้ว่า การที่พุทธะออกจากป่ากลับเข้าสู่เมืองก็เพื่อต้องการนำเสนอความหมายและแนวทางการมีชีวิตที่ดีในสังคมการเมือง เพราะวิถีชีวิตนักบวชอินเดียในสมัยนั้นมีหลายประเภท บางประเภทเช่นพวกฤษีชีไพรอาจจะเรียกว่าเป็นการใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากสังคมการเมืองเลยก็ได้ พุทธะเคยทดลองใช้ชีวิตเช่นนั้นมาแล้วก็เลิก เมื่อก่อตั้งสังฆะขึ้นมา ชุมชนสังฆะถ้าไม่อยู่ในเมืองก็อยู่ชายป่าห่างจากเมืองหรือหมู่บ้านไปไม่ไกล เพื่อสะดวกในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม

อะไรคือความหมายของการมีชีวิตที่ดีที่พุทธะเสนอขึ้นมาในสังคมการเมืองยุคนั้น ดูเหมือนพุทธะจะไม่เห็นด้วยกับการมีชีวิตที่ดีภายใต้ระเบียบสังคมตามระบบวรรณะ 4 ที่กำหนดความหมายของการมีชีวิตที่ดี หรือการมีชีวิตที่สูงส่งประเสริฐจากมาตรฐานของ “ชาติกำเนิด” ที่ถือว่าชาติกำหนดเป็นมาตรฐานวัดความสูงต่ำของคน และเป็นตัวกำหนดว่าคนที่เกิดมาในชาติกำเนิดที่ต่างกันต้องฝึกฝนเรียนรู้ในอาชีพการงานที่ต่างกัน เพื่อที่จะมีสถานะและบทบาทหน้าที่ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันตลอดไป

เมื่อไม่เห็นด้วยกับความหมายของการมีชีวิตที่ดีตามระบบวรรณะ พุทธะจึงเสนอว่าสิ่งที่ควรเป็นมาตรฐานวัดการมีชีวิตที่ดีหรือชีวิตประเสริฐของมนุษย์คือ “ธรรม” แน่นอนคำว่า “ธรรม” ที่ใช้กันในบริบทสังคมชมพูทวีปและใช้กันผ่านยุคสมัยต่างๆเรื่อยมาจนปัจจุบัน มีความหมายที่ซับซ้อน แต่ดูเหมือนพุทธะจะใช้ในความหมายที่เรียบง่ายว่า เมื่อเราแต่ละคนไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไรกระทำในสิ่งที่ถูกหรือผิดในกรณีเดียวกันก็ย่อมมีความหมายเป็นถูกและผิดเสมอกันและต้องรับผิดชอบต่อผลที่มาเหมือนกัน ในปรัชญาศีลธรรมสมัยใหม่เรียกทัศนะเช่นนี้ว่า “ความเสมอภาคทางศีลธรรม” (moral equality)

การมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมพุทธะเรียกว่า “การประพฤติธรรม” หมายถึง การกระทำที่สุจริตทางกาย วาจา ใจ การมีสัมมาทิฐิ คือมีปัญญารู้ความจริงของทุกข์และแนวทางดับทุกข์ คุณค่าของการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมในเชิงลบคือการไม่ละเมิดร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน หรือกดเหยียดความเป็นคนของกันและกันในลักษณะต่างๆ ในเชิงบวกคือความสุขทางสังคมและอิสรภาพทางจิตใจของปัจเจกบุคคล

พุทธะเปรียบเทียบว่า “ในหมู่มนุษย์ที่ถือโคตร กษัตริย์ประเสริฐทีสุด” หมายถึงภายในระเบียบสังคมที่ยึดถือระบบวรรณะ กษัตริย์เป็นวรรณะสูงสุด แต่ข้อเสนอของพุทธะคือ “ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ” หมายถึงการมีปัญญารู้แจ้งและมีความประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจเป็นสิ่งบ่งบอกความประเสริฐของมนุษย์ไม่ใช่ชาติกำเนิด ฉะนั้น ความหมายของการมีชีวิตที่ดีจึงเกิดจากการเลือก การลงมือทำ และความเพียรพยายามของแต่ละคนเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าโดยพระพรหมให้เราอยู่ในกรอบของระบบวรรณะอย่างตายตัว

ประเด็นคือ พุทธะไม่ได้เสนอว่าธรรมเป็นมาตรฐานการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากยังถือว่าธรรมเป็นมาตรฐานการมีสังคมการเมืองที่ดีด้วย ในสังคมการเมืองระบบราชาธิปไตยพุทธะเสนอ “ราชธรรม” เช่นจักกวัตติวัตร ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุเป็นหลักในการปกครอง ในระบบสภาขัตติยะพุทธะเสนอวัชชีธรรมเป็นแนวปฏิบัติในการปกครอง

ถ้ามองแบบเอดเวิร์ด คอนซ์ ในสังคมโบราณที่ไม่มีมหาวิทยาลัยและการศึกษาสมัยใหม่ การใช้ความเชื่อเรื่อง “เทพ” และ “ธรรม” ในทางการเมืองน่าจะสร้างพลังโน้มน้าวจิตใจคนยุคนั้นไม่แพ้การใช้คำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคมการเมืองปัจจุบัน

พุทธะใช้ “ธรรม” สร้างพลังโน้มน้าวจิตใจของคนสมัยพุทธกาลอย่างไร คำตอบอยู่ที่จักกวัตติสูตร(เป็นต้น) ในสูตรนี้พุทธแยกการปกครอง 2 ประเภท คือการปกครองที่ผู้ปกครองถือธรรมเป็นใหญ่ (ธรรมาธิปไตย) คือการปกครองที่มุ่งดูแลปัญหาปากท้องประชาชนและให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม การปกครองเช่นนี้มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของผู้ใต้ปกครอง และการปกครองแบบเผด็จการตามอำเภอใจ ที่ผู้ปกครองใช้อำนาจตามมติของตน (อัตตาธิปไตย) ไม่ดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ผลที่ตามมาคือสังคมเกิดความอดอยาก เกิดปัญหาการปล้นชิง ผู้ปกครองเผด็จการก็จะใช้ความรุนแรงปราบปราม แต่ยิ่งใช้ความรุนแรงปราบปรามก็ยิ่งถูกโต้กลับด้วยความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่แก้ไขด้วยการกลับมาใช้ธรรมในการปกครอง สังคมก็จะเสื่อมทรามลงเรื่อยๆจนถึงกาลียุคซึ่งเป็นสภาพสังคมไร้ขื่อแปไม่ต่างจากสังคมตามสภาวะธรรมชาติที่ชีวิตมนุษย์โดดเดี่ยว น่ารังเกียจ ยากแค้น ป่าเถื่อนและแสนสั้น

เราอาจตั้งคำถามได้มากว่า การปกครองที่ถือธรรมาธิปไตยเป็นเพียงอุดมคติ ไม่เคยมีอยู่จริง ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง หรือนำมาใช้ก็ไม่เกิดประสิทธิภาพจริง ไม่เหมาะกับปัจจุบัน ฯลฯ นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะพูดในบทความนี้ สิ่งที่ต้องการเสนอคือ มันมีหลักฐานชัดเจนว่า พุทธะพยายามเสนอมิติทางสังคมของพุทธศาสนา และเป็นการเสนอบนการวิพากษ์การปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจว่า เป็นการปกครองที่ส่งผลเลวร้าย น่ารังเกียจอย่างไร ส่วนการปกครองที่ถือธรรมเป็นใหญ่นั้นคือการปกครองที่ “ไม่ใช้อาชญา ไม่ใช้ศัตราวุธ ไม่กดขี่ ข่มเหงเบียดเบียนผู้ใต้ปกครอง”

ถ้ามองจากบริบทสังคมการเมืองยุคนั้นที่มีคำบรรยายในพระไตรปิฎกว่า ผู้ปกครองเผด็จการใช้วิธีลงโทษรุนแรงในแบบต่างๆ ตั้งแต่เฆี่ยน ตัดมือ ฝังดินครึ่งตัวแล้วเผาทั้งเป็นและไถดินกลบ ตัดหัวเสียประจานสี่มุมเมือง ฯลฯ ในยุคที่ผู้ปกครองใช้อำนาจดิบได้เช่นนั้น การที่พุทธะเสนอธรรมเป็นหลักการปกครองที่เน้นให้ผู้ปกครองใส่ใจปากท้องประชาชน ให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม และไม่ใช้ความรุนแรงข่มเหงราษฎร พร้อมกับวิพากษ์การปกครองแบบใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจผ่านพระสูตรและชาดกต่างๆ จึงแสดงถึงพลังของอารมณ์ความรู้สึกหรือจิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนายุคต้นได้ชัดเจน

จะว่าไป เมื่อ “อ่าน” พระไตรปิฎกโดยรวมๆ จะเห็นว่าการพยายามเสนอความหมายของการมีชีวิตที่ดีในสังคมการเมืองและการปกครองที่ดีของพุทธะ เป็นการเสนอควบคู่ไปกับการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อและบทบาทชนชั้นสูงคือวรรณะกษัตริย์และพราหมณ์

ทำไมพุทธะแสดงบทบาทเช่นนั้นได้ ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการที่พุทธะกำหนดสถานะของท่านเองและสร้าง “สังฆะ” ที่เป็นอิสระจากระบบวรรณะและเป็นอิสระจากการเข้าไปมีสถานะ ตำแหน่ง อำนาจในโครงสร้างการปกครองของรัฐ (ต่างจากพวกพราหมณ์ที่เข้าไปเป็น “ปุโรหิต” ของกษัตริย์) จึงทำให้พุทธะและสังฆะมีบุคลิกภาพยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนทุกวรรณะและคนนอกวรรณะ และมีอิสระในการปกครองกันเองตามระบบการปรึกษาหารือและยึดมติเสียงข้างมาก กระจายอำนาจตัดสินใจลงไปถึงสังฆะกลุ่มย่อยต่างๆมากที่สุด

แต่พุทธศาสนาไทยปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจรัฐ เพราะรัฐได้สร้างระบบปกครองสงฆ์แบบรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมพระสงฆ์ทั่วประเทศ กำกับการศึกษาตีความธรรมวินัย และใช้กลไกระบบปกครองสงฆ์สนับสนุนอุดมการณ์รัฐและตอบสนองนโยบายรัฐ

พระไทยใหญ่ในปัจจุบันแม้จะออกบวชจากครอบครัวชนชั้นผู้ถูกกดขี่ แต่ก็ถูกระบบกล่อมเกลาให้จงรักภักดีต่อรัฐ การตีความพุทธศาสนาจึงเป็นไปเพื่อรับใช้รัฐ ทำให้พุทธศาสนามีลักษณะแข็งทื่อ ขาดชีวิตชีวา ไร้อารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ของประชาชนผู้ถูกกดขี่จากอำนาจเผด็จการ พุทธศาสนาเช่นนี้จึงขาดมิติทางสังคม ไม่เปิดกว้างต่อความก้าวหน้าด้านสิทธิ เสรีภาพ และคุณค่าที่แตกต่างหลากหลายในบริบทโลกสมัยใหม่

ต่างจากพุทธศาสนาแบบพุทธะที่ยืดหยุ่น เปิดกว้าง มีสำนึกทางสังคม และพยายามเปิดพื้นที่ของการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมในสังคมการเมืองแก่คนวรรณะต่ำและคนนอกวรรณะ คนชายขอบอื่นๆในบริบทยุคสมัยนั้น

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net