บทวิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัด ความพยายามเบี่ยงประเด็นของรัฐบาล

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงตั้งคำถามเหตุใดเวลามีเหตุความไม่สงบ กองทัพไทยถึงพยายามเบี่ยงประเด็นไปหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเสมอ แทนที่จะสงสัยว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ พร้อมเสนอให้กองทัพแจกแจงเบื้องหลังการก่อเหตุอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วยวิธีทางการเมืองและการหารือ

24 ส.ค. 2559 แมทธิว วีลเลอร์ จากองค์กรอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ปซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อผลักดันนโยบายเชิงสันติภาพเขียนบทความลงในนิวยอร์กไทม์เกี่ยวกับกรณีการวางระเบิดในย่านนักท่องเที่ยว 7 จังหวัดของประเทศไทยเมื่อวันที่ 11-12 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีฝ่ายใดออกมาอ้างว่าก่อเหตุและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารก็ประกาศว่าการก่อเหตุครั้งนี้ไม่ใช่การก่อการร้ายโดยแทบจะทันที พวกเขายังประกาศว่าการก่อเหตุในครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุทางภาคใต้มาตลอด 13 ปีเลย

วีลเลอร์ยังระบุถึงกรณีที่โฆษกตำรวจแถลงว่าประเทศไทยไม่ได้มีความขัดแย้งด้านศาสนา เชื้อชาติ เขตแดน หรือชนกลุ่มน้อย ซึ่งวีลเลอร์บอกว่ามันเป็นคำแถลงที่น่าพิศวงมากในขณะที่ยังมีการก่อความไม่สงบจากกลุ่มเชื้อชาตินิยมในเขตจังหวัดที่มีชาวมลายู-มุสลิม อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการก่อเหตุของพวกเขาทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วราว 6,500 ราย นับตั้งแต่ปี 2547

บทความระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังรีบออกมากล่าวหาว่าเป็นฝีมือของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองคือกลุ่มอดีตนายกฯ ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นมาเพื่อให้อำนาจกับกองทัพและกองทัพยังห้ามรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลังจากเหตุระเบิดก็มีคนที่อยู่ในกลุ่มเสื้อแดงหลายคนถูกคุมขังถึงแม้ว่าวิธีการวางระเบิดจะไม่เหมือนกับวิธีการใช้ความรุนแรงของกลุ่มสนับสนุนทักษิณก่อนหน้านี้เลย และไม่แม้กระทั่งจะเหมือนกับกรณีการวางระเบิดศาลพระพรหมในปี 2558 ด้วยซ้ำ

วีลเลอร์มองว่าการก่อเหตุมีลักษณะคล้ายกับการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีหรือบีอาร์เอ็นที่มักจะใช้วิธีการวางระเบิดแบบตั้งเวลา 1-2 ชิ้น เพื่อให้เกิดระเบิดแบบต่อเนื่องกัน ระเบิดมักจะมีขนาดเล็ก และแม้ว่าจะรุนแรงแต่ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก และอีกอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกับการก่อเหตุของบีอาร์เอ็นคือการที่ไม่ออกมาอ้างตนว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

นอกจากนี้การสืบสวนของตำรวจระบุว่าระเบิดเป็นแบบเดียวกับที่มักจะใช้ในการก่อเหตุแถบสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งนี่ขัดกับที่รัฐบาลระบุ และเมื่อวันที่ 15 ส.ค. รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ออกมายอมรับว่าผู้ก่อเหตุอาจจะถูกจ้างมาจากกลุ่มติดอาวุธภาคใต้

วีลเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่าทางการไทยมักจะชอบอ้างว่าเหตุรุนแรงเป็นเพราะคู่ขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว ในปี 2536 ที่เคยมีเหตุเผาโรงเรียน 33 แห่ง ในสามจังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลก็อ้างว่าเป็นฝีมือพวกกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอิทธิพลหลังการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล เมื่อเดือน เม.ย. 2558 ที่เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ในเกาะสมุย เจ้าหน้าที่ระดับสูงก็กล่าวหาว่าเป็นฝีมือของนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจ โดยเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลใดๆ เลยจนกระทั่งในที่สุดตำรวจก็พบว่าเหตุระเบิดนี้มีความเชื่อมโยงกับการก่อเหตุอื่นๆ ในแถบจังหวัดภาคใต้ ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่เหตุระเบิดศาลพระพรหมเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทางการก็เคยพยายามโยงไปหากลุ่มเสื้อแดงเช่นกัน

"ทำไมรัฐบาลทหารถึงวิตกกังวลจนพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องการก่อเหตุไปจากเรื่องการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มมลายูมุสลิม" วีลเลอร์ตั้งคำถามในบทความ

วีลเลอร์ประเมินว่าสาเหตุแรกน่าจะเป็นการพยายามปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศร้อยละ 20 อย่างที่สองคือการที่กองทัพมักจะพูดถึงการก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธว่าเป็น "การก่อกวน" ที่กระทำโดยปัจเจกบุคคลที่หลงผิดเพื่อเป็นการลดทอนการส่งสารทางการเมืองของการก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ทางการไทยจำนวนมากมีความกลัวอย่างลึกซึ้งว่าจะมีการแทรกแซงจากต่างชาติซึ่งอาจจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ นอกจากนี้ มันยังอาจแปลว่ากองทัพล้มเหลวในการแก้ปัญหาในภาคใต้ การที่สามจังหวัดภาคใต้โหวตปฏิเสธร่างรัฐธรรมนญฉบับใหม่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาปฏิเสธกองทัพและการพยายามควบรวมอำนาจจากส่วนกลาง

ผู้เขียนชี้ว่า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้กลุ่มติดอาวุธในภาคใต้จะพยายามไม่ตั้งเป้าหมายเป็นชาวไทยภายนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด แต่เหตุที่ในครั้งล่าสุดมีการขยายปฏิบัติการออกไปอีก ทางองค์กรอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ปเคยระบุไว้เมื่อปีที่แล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มติดอาวุธในภาคใต้จะเริ่มขยายการก่อเหตุออกจากพื้นที่เดิมเมื่ออยู่ในภาวะคุมเชิงกันและเมื่อรู้สึกว่าการโจมตีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ผลน้อยลง กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ยอมรับกระบวนการสันติภาพที่กระง่องกระแง่งของรัฐบาลทหาร ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วดูเหมือนเป็นการแสร้งพูดโดยไม่มีการเจรจาหารืออย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐบาลทหารคงอยู่ในอำนาจไปอีกอย่างน้อย 6 ปี

วีลเลอร์ระบุว่าการโจมตีนอกพื้นที่ปฏิบัติการเดิมทำให้ความขัดแย้งยกระดับเข้าสู่ช่วงใหม่เพิ่มความเสี่ยงต่อความขัดแย้งระหว่างศาสนามากขึ้นโดยเฉพาะกับศาสนาพุทธ จากที่เมื่อปีที่แล้วแม้ว่าจะมีการสั่งห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน แต่ก็มีการชุมนุมของชาวพุทธจำนวนมากที่แสดงการต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาลในเชียงใหม่และการประท้วงต่อต้านการก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในน่าน และเมื่อปลายเดือน ต.ค. ปีที่แล้วก็เคยมีพระในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้เผามัสยิดต่อพระหนึ่งรูปที่ถูกสังหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตามวีลเลอร์มองว่าการที่กองทัพไทยพยายามปฏิเสธว่าการก่อเหตุล่าสุดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้นั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่มองการณ์ไกลและทำลายตัวเอง วีลเลอร์เสนอว่ากองทัพไทยควรเล็งเห็นว่าการก่อความไม่สงบเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องการวิธีการแก้ไขปัญหาทางการเมือง นั่นคือการคืนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมให้กับประชาชนไทย มีการเจรจาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มติดอาวุธอย่างแท้จริง และพยายามหาทางถ่ายโอนอำนาจให้กับคนในภูมิภาคเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เรียบเรียงจาก

Can Thailand Really Hide a Rebellion?, Matthew Wheeler, International Crisis Group, 22-08-2016
https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/thailand/can-thailand-really-hide-rebellion

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท