พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ความจำเป็นของความขัดแย้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ก่อนอื่นต้องขออนุโมทนาต่อผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมาได้ด้วยดี  ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็สะท้อนว่าชาวบ้านที่เป็นเจ้าของประเทศคิดอย่างไร โดยที่ยังไม่รวมถึงกระบวนการจัดการประชามติที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างในแง่การเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญน้อยไปหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่เต็มที่

ทั้งหมด ไม่ว่าจะยอมรับกันหรือไม่ก็ตามสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาประชาคมที่เป็นของสากลว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องถือเอาข้อสรุปจาก “เสียงส่วนใหญ่” หรือ สังฆาธิปไตย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น

นี่ถือเป็นมิติใน “การปรองดอง” อย่างหนึ่งด้วยหรือไม่?

เพียงแต่ว่าก่อนที่จะมีการสรุปในเรื่องราวหรือประเด็นสาธารณะใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องผ่านการวิพากษ์เนื้อหาอย่างอิสระเสรีตามสมควรสำหรับทุกๆ ฝ่าย ซึ่งน่าเสียดายว่า ประเด็นการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมายังเปิดโอกาสให้กระทำเรื่องทำนองนี้น้อยไป (สื่ออเมริกันเองจำนวนหนึ่งก็กล่าววิจารณ์ถึงประเด็นนี้ ก่อนที่ความวิตกกังวลดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังสถานทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯในเวลาต่อมา)

ข้อนี้ก็เลยทำให้ รัฐธรรมนูญที่ลงประชามติผ่านไปมีข้อที่ควรตำหนิในประการนี้

เมื่อหลายปีมาแล้ว Dana Rohrabacher ส.ส.เขตออเร้นจ์ เคาน์ตี้ พรรครีพับลิกัน ในฐานะผู้เคี่ยวกรำกับงานกิจการต่างประเทศของคองเกรสมายาวนานหลายปี เคยพูดให้ผมฟังที่ ฮันติ้งตัน บีช แคลิฟอร์เนีย ว่า ในความเห็นของเขาแล้ว การปรองดองไม่มีอยู่จริง ปัญหาของหลายๆ ประเทศที่เป็นเผด็จการส่วนใหญ่ คือ การไม่ยอมรับอีกฝ่ายที่มีความเห็นต่างจากฝ่ายตน

เขาถามว่า ทำไมจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้งที่เป็นแค่วลีสวยงามเท่านั้น??? ในเมื่อความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ซึ่งก็ตรงกันกับที่ วิษณุ เครืองาม เคยกล่าวไว้ในที่ประชุมสัมนาวิจารณ์งานวิทยานิพนธ์ของนิสิตไทยท่านหนึ่งเมื่อหลายเดือนก่อน

เพียงแต่มนุษย์หรือคนจำเป็นที่จะต้องอยู่กับความขัดแย้งเหล่านั้นให้ได้ตะหากเล่า

Rohrabacher ยังบอกว่า ความขัดแย้งเสียอีกที่มีคุณูปการต่อสังคมอเมริกันมากมาย สังคมอเมริกันที่อยู่กันอย่างหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา แต่ก็อยู่กันมาด้วยความสงบสันติตลอดมา จนท้ายที่สุดมันได้ถูกบ่มเพาะจนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะชาติอเมริกันไป ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่บนขั้วการเมืองหรือขั้วความคิดแบบไหนก็ตาม

บนความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ นั้น คุณวิพากษ์วิจารณ์ คุณเถียงกันได้ แต่คุณก็เคารพเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามกับคุณ ไม่ใช่คุณห้ามเขาพูดแล้ว คุณพูดได้อยู่เพียงฝ่ายเดียว

ในอเมริกา ครูฝึกเด็กๆ เยาวชน ให้เรียนรู้ถึงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ชั้นอนุบาล เด็กๆ มีสิทธิที่จะบอกว่า ทำไมดอกกุหลาบที่เขาวาดจึงมีสีดำ สีที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ และครูผู้สอนจำเป็นต้องรับฟังเหตุผลของเด็กๆ เหล่านั้น

จึงไม่แปลกที่ผู้คนที่โตมาในสังคมอเมริกันเหล่านี้ จะกลายเป็นคนกล้าพูด กล้านำเสนอความคิดของตนอย่างไม่อายว่าคนอื่นจะคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งมันก็เป็นเหตุให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นจากความขัดแย้งซึ่งอาจคือคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือที่จริงก็คือความหลากหลายทางความคิด (ความคิดต่าง)นั่นเอง ทำให้เห็นในสิ่งที่เป็นคุณทั้งในเรื่องของคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิต รวมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมดาและธรรมชาติของมนุษย์ เพราะคุณและผม เราไม่จำเป็นต้องคิดหรือปฏิบัติเหมือนกันแต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้

ในเรื่องการศึกษาของเมืองไทยนั้น พอดีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ในเฟซบุ๊กของอาจารย์ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ปรารภเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย โดยเฉพาะในระดับดุษฎีบัณฑิต (ป.เอก) ที่ทำการผลิตกันออกมาจำนวนมากมายเพื่อสนองตอบต่อแฟชั่นเห่อปริญญาบัตร เห่อดอกเตอร์  ดังข้อความต่อไปนี้ครับ

“จบดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่เขียนบทความทางวิชาการยังไม่เป็น แค่เขียนบทนำก็ยังไม่เข้าใจเลย นี่ก็เหนื่อย”

คำถามคือ มาตรฐานทางการศึกษาของไทยอยู่ตรงไหน? เป็นระบบชงเอง กินเองอยู่ใช่หรือไม่?

เพราะบัณฑิตที่ผลิตมาแล้ว ไม่ได้สนองตอบต่อการพัฒนาวิชาการไทยให้มีความก้าวหน้า (เช่น ไม่ได้สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ไม่ได้สร้างนวัตกรรม ไม่ให้คุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างจริงจัง ทั้งเวทีในประเทศและเวทีสากลใดๆ เลย) 

ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ รัฐเป็นผู้ให้การอุดหนุนในเรื่องงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของชาวบ้าน

หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีหน้าที่คอยกำกับดูแลสถาบันเหล่านี้มัวทำอะไรอยู่ และหากทำ ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและยุติธรรมหรือไม่?

ครับ ในเมื่อระบบหรือกรอบใหญ่สร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ให้ถูกทำไม่ได้ระบบเล็กหรือกรอบเล็ก อย่างเรื่องการศึกษาก็พลอยทำไม่ได้ไปด้วย ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในเชิงความรู้หรือวิชาการควรปล่อยให้เป็นไปอย่างอิสระในสถาบันการศึกษา ยิ่งในระดับอุดมศึกษาด้วยแล้ว

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาหรือการวิจัยในระดับอุดมศึกษาก็น่าควรที่จะตั้งสมมติฐานอยู่บนสถานการณ์อันเป็นข้อเท็จจริงทั้งในแง่สังคมและวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับสังคมในโลกปัจจุบันมากกว่าการหวังผลที่ล่องลอยในโลกจินตนาการ ทั้งจินตนาการในอดีตและในอนาคตที่เกิดจากพื้นฐานการศึกษา “วิชาหน้าที่พลเมือง”ที่คนจำนวนมากถูกฝังหัวมาตั้งแต่อดีต

หากเพราะสังคมปัจจุบัน เป็นสังคมที่มีความหลากหลายและจะยิ่งหลากหลายมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องอยู่กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้ ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน เคารพนับถือซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

มิใช่จงหุบปากเสีย แล้วทุกอย่างจะสงบ !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท