Skip to main content
sharethis

พระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา ประธานกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ ชี้แจงว่าเพจที่โพสต์ต่อต้าน 'โคฟี อันนัน' ที่จะมาเป็นประธานแก้ปัญหารัฐยะไข่ แต่ดันใช้รูป 'มอร์แกน ฟรีแมน' ไม่ใช่เพจของกลุ่ม ส่วนจุดยืนไม่เชื่อว่า  'กรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่' ทั้งชาวต่างชาติและชาวพม่า จะรู้จักประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของรัฐยะไข่

(แฟ้มภาพ) เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2558 ประธานมะบ๊ะต๊ะ พระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา (ที่ 2 จากซ้าย) ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกกับกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ ที่จะสนับสนุนการสร้างสถานีวิทยุสำหรับใช้ในกิจการเผยแพร่ศาสนา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กันยายนนี้ พระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา ชี้แจงว่าเพจที่โพสต์ต่อต้าน 'โคฟี อันนัน' แต่ใช้รูป 'มอร์แกน ฟรีแมน' ไม่ใช่เพจของกลุ่ม ส่วนจุดยืนไม่เชื่อว่า  'กรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่' ทั้งชาวต่างชาติและชาวพม่า จะรู้จักประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของรัฐยะไข (ที่มาของภาพ: The Iraawaddy)

 

หลังมีรายงานข่าวของ วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า เพจของสมาคมปกป้องเชื้อชาติและศาสนา หรือ มะบ๊ะต๊ะ สาขามัณฑะเลย์ ได้โจมตีโคฟี อันนัน ซึ่งได้รับการทาบทามมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่ โดยมีการเรียกเขาในเฟสบุ๊คว่า "คนท่าทางตลกและไม่น่าเคารพ ไม่สามารถพูดถึงกิจการภายในของประเทศเราได้" นอกจากนั้นเขายังเรียกโคฟี อันนัน ว่า "กะหล่า" ซึ่งในภาษาพม่ากลายเป็นคำเหยียดหยามชาวมุสลิมและอินเดีย อย่างไรก็ตามมีการใช้รูปนักแสดงฮอลลีวูดรางวัลออสการ์อย่าง "มอร์แกน ฟรีแมน" แทน โดยหน้าของฟรีแมนถูกขีดกากบาท และยังเรียก "Kofi Annan" ว่า "Coffee Annan" อีกด้วย โดยระบุข้อความว่า "เราไม่ต้องการ Coffee Annan ไปไกลๆ" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

แถลงการณ์ของกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ โดย พระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา ประธานกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ แจงว่าเพจที่โพสต์ต่อต้าน 'โคฟี อันนัน' ที่จะมาเป็นประธานแก้ปัญหารัฐยะไข่ แต่ดันใช้รูป 'มอร์แกน ฟรีแมน' ไม่ใช่เพจของกลุ่ม ส่วนจุดยืนไม่เชื่อว่า  'กรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่' ทั้งชาวต่างชาติและชาวพม่า จะรู้จักประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของรัฐยะไข่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ในเพจ "ข่าวมะบ๊ะต๊ะ" ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ โดย พระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา ประธานกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ โดยอ้างว่าเพจดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับทางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ชี้แจงของพระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา ได้วิจารณ์ "คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่" โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ทางกลุ่มมะบ๊ะต๊ะยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไร อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการนี้ไม่มีนักประวัติศาสตร์ หรือนักวิจัย และนักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียง ที่สามารถให้ข้อมูลประวัติศาสตร์รัฐยะไข่  นอกจากนี้เป็นที่โจ่งแจ้งว่าคณะกรรมาธิการที่เป็นชาวต่างชาติ และชาวพม่า ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของความขัดแย้งอันยาวนานในรัฐยะไข่ในเชิงรายละเอียด และน่ากังวลว่าท่าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้น่าจะมีทิศทางไปในทางตรงข้าม

ในแถลงการณ์ของประธานกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "คณะกรรมการกลางองค์กรสันติภาพมะบ๊ะต๊ะ" ยังย้ำอีกว่า พวกเขาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงต่อเฟซบุ๊คบัญชี "มะบ๊ะต๊ะ มัณฑะเลย์" และการนำเสนอที่ผิดของวอชิงตันโพสต์

ในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ ระบุเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า 'พระวีระตุ๊' ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของมะบ๊ะต๊ะ กล่าวด้วยว่าเฟซบุ๊คเพจดังกล่าวเป็นบัญชีปลอม และที่ผ่านมาในโลกโซเชียลมีเดียมักมีผู้โพสต์ล้อเลียนพวกเขา นอกจากนี้มีการติดต่อเจ้าของเพจ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

สำหรับ "คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่" นั้น รัฐบาลพม่าที่นำโดยสำนักงานของที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งของออง ซาน ซูจี ประกาศว่า อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โคฟี อันนัน จะร่วมเป็นประธานในคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่ ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ หลังเกิดการจลาจลขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญา

โดยคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่ ประกอบด้วยสมาชิกอิสระ 9 คน เป็นชาวพม่า 6 คน และชาวต่างชาติ 3 คน โดยคณะกรรมการที่จะประกอบด้วยสมาชิกจากชุมชนชาวมุสลิม และชาวยะไข่ จะมุ่งมั่นป้องกันความขัดแย้ง สนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความปรองดองแห่งชาติ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาในรัฐยะไข่

ขณะที่กลุ่มมะบ๊ะต๊ะ หรือ สมาคมปกป้องเชื้อชาติและศาสนา เป็นกลุ่มพุทธขวาจัดในพม่า มีคณะกรรมการกลางเป็นพระ 52 รูป โดยวีระตุ๊เป็น 1 ในกรรมการคนสำคัญ ขณะที่ประธานมะบ๊ะต๊ะคือ พระภัททันตะ ติโลกาภิวังสา เป็นเจ้าอาวาสวัดยวามะปริยัติ ในเขตอินเส่ง ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ทั้งนี้เมื่อปี 2558 รัฐสภาพม่าได้ลงมติผ่านกฎหมาย “เพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา” และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับซึ่งผลักดันโดยกลุ่ม “มะบ๊ะต๊ะ” ซึ่งมีเนื้อหาควบคุมเรื่องการเปลี่ยนศาสนา การแต่งงานข้ามศาสนา และบังคับห้ามแต่งงานมีภรรยาหลายคน รวมทั้งเสนอการควบคุมประชากร

นอกจากนี้ในปี 2557 สมาชิกกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ ยังได้รณรงค์ต่อต้านการตั้งเสาโทรศัพท์มือถือของ Ooredoo ซึ่งเป็นบริษัทจากกาตาร์

สำหรับพระวีระตุ๊นั้นในเดือนกันยายน 2555 เคยนำพระสงฆ์เดินขบวนในมัณฑะเลย์เรียกร้องประธานาธิบดีเต็งเส่งให้ส่งชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาไปประเทศที่ 3 และภายหลังเหตุจลาจลในรัฐยะไข่ พระวีระตุ๊เองก็เป็นผู้โหมกล่าวถ้อยคำกระพือความเกลียดชังชุมชนมุสลิมในพม่าจนเกิดเหตุจลาจลหลายระลอก

ขณะเดียวกันในเดือนกุมภาพันธ์ช่วงวันมาฆบูชาที่ผ่านมา คณะของ "มะบ๊ะต๊ะ" นำโดยพระวีระตุ๊ พระธัมมะปิยะ และพระภัททันตะ ติโลกะ ภิวังสา ประธานกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ  เดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมงานมอบรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" โดยมะบ๊ะต๊ะได้รับโล่และส่งผู้แทนมะบ๊ะต๊ะอภิปรายหัวข้อ "การออกกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา" นอกจากนี้ยังมาร่วมงานมาฆบูชาที่วัดพระธรรมกาย และไปหหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยพบปะผู้สนับสนุนซึ่งชูป้าย "เรารักวีระตุ๊" ขณะที่ธรรมกายระบุไม่เกี่ยวข้องกับงานมอบรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ส่วน มจร. แจงวีระตุ๊มาเอง มจร. ไม่ได้เชิญ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net