Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ประเทศไทยใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการศึกษา แปลว่าประเทศไทยเห็นความสำคัญของการศึกษาหรืออย่างน้อยก็ไม่ปฏิเสธความสำคัญของมัน จุดหมายปลายทางของการศึกษาคือการผลิตและถ่ายทอดความรู้ “ความรู้” สำคัญเพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปที่น่าจะนำมนุษย์สู่สภาวะที่ดีกว่าทั้งในทางวัตถุและจิตใจ

“อะไร” คือความรู้บ้างนั้นเป็นข้อถกเถียงกันได้มาก แต่ส่วนของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและน่าจะกล่าวถึงได้โดยสังเขปคือ “ชนิด” ของความรู้

ในสมัยโบราณผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้และเป็นผู้ผลิตความรู้คือหัวหน้าของสถาบันต่าง ๆ ดังกล่าวอันได้แก่ศาสนา กษัตริย์และหัวหน้าบ้าน พระเป็นผู้ให้ความรู้ว่าอะไรคือที่มาและที่ไปของโลกและสิ่งมีชีวิต ชนชั้นปกครองเป็นผู้ให้ความรู้ว่าใครควรจะปกครอง ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านและชุมชนเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือหลักในการครองเรือน

นักคิด นักปรัชญา ผู้มีวิชาความรู้จำนวนมากในอดีตหากไม่ได้ถูกรับรองโดยสถาบันทั้ง 3 หรือผลิตความรู้ที่ไม่สอดคล้องกับแบบแผนความรู้หลักแล้วสิ่งที่เขารู้ก็ไม่จัดว่าเป็น “ความรู้” ตัวอย่างเช่น โสเครตีส ผู้ให้กำเนิดสาขาปรัชญาการเมืองในช่วงเวลาของเขาคือ 469-399 ก่อนคริสต์ศักราช ผู้ปกครองไม่นับสิ่งที่เขาสอนเป็นความรู้และตัดสินประหารชีวิตเขาในข้อหา “ทำความคิดเยาวชนเอเธนส์ให้เสื่อมทราม”

สังคมโบราณคือจึงมีวัด วังและเวียงเป็นแหล่งกำเนิดความรู้ ซึ่งมีลักษณะเป็นความรู้แบบท่องจำทำตาม สืบทอดจากบุคคลสู่บุคคลที่สำคัญคือมีไว้เพื่อเชื่อและปฏิบัติตาม ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ (คือทำได้ถูกต้องตามที่ท่านสอนสั่ง) ก็จะได้รับ “ความสุขความเจริญ” ในชีวิต

ความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้ที่ผูกติดกับบุคคล “ผู้รู้” คือตัวความรู้ การสืบต่อความรู้เกิดขึ้นจากการ “ครอบครู” ผู้ถูกครอบจึงจะสามารถกลายเป็นผู้รู้และนำสิ่งที่ถูกครอบถ่ายทอดต่อไป ทั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือ ความรู้นั้นจะต้องไม่เดินนอกทางครู นี่คือความรู้แบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ตามความรู้ศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกลดบทบาทในฐานะความรู้หลักของสังคมลงไปภายหลังโลกตะวันตกเกิดบุคคลและปรากฎการณ์ที่รื้อถอนสถานะที่ตั้งของความรู้โบราณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 19 มีการกำเนิดแนวคิดที่วางรากฐานตามแนวทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลโดยบุคคลต่าง ๆ เช่น คอปเปอร์นิคัส เคปเลอร์ กาลิเลโอ นิวตัน ล็อค ค้านท์ เป็นต้น โดยเฉพาะแนวคิดของจอห์น ล็อคนั้นมีหลักใหญ่ใจกลางอยู่ที่ “การไม่ปิดหูปิดตาปฏิบัติตามธรรมเนียมหรืออำนาจ แต่จงพิจารณาข้อเท็จจริงและคิดด้วยตนเอง” เช่นเดียวกับอิมมานูเอล ค้านท์ที่เรียกร้องให้ประชาชน “กล้าที่จะใช้ความเข้าใจของตนเอง” เท่ากับว่าล็อคและค้านท์ได้ช่วยกันประกาศเลิกทาสทางความรู้โดยยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเข้าถึงความรู้ของตนเองด้วยตนเองเพื่อตนเอง

ผลที่ตามมาคือการกำเนิดยุควิทยปรัชญา ยุครู้แจ้ง และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ให้คำตอบอีกแนวทางหนึ่งแก่คำถามเดิม ๆ คำตอบใหม่ของคำถามพื้นฐานมนุษย์เช่นการกำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิตได้นำพามนุษย์ไปสู่ท้องฟ้า อวกาศและดวงดาว คำตอบใหม่ของการปกครองได้วางหลักนิติรัฐนิติธรรม,ตลอดจนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล คำตอบใหม่ของสังคมเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ถูกกดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ

ความรู้ชนิดใหม่นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอย่างรวดเร็วด้วย เป็นความรู้ที่มีไว้เพื่อทำความเข้าใจ ความรู้ชนิดนี้มักกำเนิดจากห้องสมุด ห้องทดลอง และสถานศึกษา กระทั่งกำเนิดจากโรงนาหรือทัณฑสถาน

หัวใจสำคัญของความรู้ชนิดนี้คือการคิด-ค้าน-ค้น สืบทอดผ่าน “ความ” มิใช่ “คน” นี่คือความรู้อีกชนิดหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นความรู้ในฐานะ “สิ่งสาธารณะ”

การที่เนื้อความหรือตัวความรู้คือ “ความรู้” ทำให้การคิด การค้น การค้นคว้าล้มล้างความรู้เป็นการล้มล้าง “เนื้อความ” มิใช่ล้มล้างตัวบุคคล เงื่อนไขนี้ทำให้สามารถก้าวข้ามความรู้เดิม ๆ หรือสามารถที่จะ “ยืนบนบ่ายักษ์” เพื่อสร้างความรู้ใหม่

อาจจะกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของความรู้คือการเปลี่ยนจากสถานะของ “ความรู้” จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสิ่งสาธารณ์นี่แหละ (ที่มีความหมายว่าต่ำช้าหรือสามัญซึ่งเข้าใจได้ไม่ยากว่าสิ่งที่ไม่ได้ถือกำเนิดจากชนชั้นนำย่อมถูกชนชั้นนำมองว่าต่ำก่อนที่ความจำเป็นและความเป็นจริงจะปรากฎให้เห็นในภายหลังว่าสิ่งนั้นเป็นคุณต่อสาธารณะหรือไม่ประการใดในเวลาต่อมา) และความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ส่งผลสะเทือนต่อสังคมขนานใหญ่ตามมาด้วย

ความรู้ทั้ง 2 ชนิดส่งผลต่อสังคมแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นผลของความรู้ดังกล่าวต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นสิ่งที่สังคมสมัยใหม่ต่างพยายามผลิตและธำรงรักษาไว้

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายของชนชั้นนำ ด้วยเหตุว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้พวกเขาสามารถอาศัยรายได้ส่วนเพิ่มของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเจียดส่วนหนึ่งไปให้แก่สมาชิกของสังคมกลุ่มต่าง ๆ โดยมิต้องชักเนื้อจากกำไรเดิมของตนเอง ยิ่งพื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างให้กลุ่มต่าง ๆ ต่อรองมากขึ้นเท่าไหร่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยิ่งมีความจำเป็นเพราะหากไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ การจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ใหม่ที่ดึงส่วนแบ่งจากมือชนชั้นนำหรือความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบของการใช้กำลังปราบปรามประชาชนโดยรัฐหรือการปฏิวัติโค่นล้มรัฐโดยประชาชน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบไหน ท้ายที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การจัดสรรปันส่วนโครงสร้างของการเข้าถึงผลประโยชน์ของประเทศใหม่

ความเจริญของโลกตะวันตก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ นา ๆ ที่ประเทศไทยใฝ่ฝันถึงนั้นต่างงอกมาจากความรู้ชนิดหลังนี้ทั้งนั้น นั่นคือความเจริญทั้งทางวัตถุและทางจิตใจในเชิงหลักมนุษยธรรมสากลเกิดขึ้นและพัฒนาด้วยการตั้งคำถามและเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการถาม-ตอบ

ในสังคมไทยแม้จะมีการสนับสนุนและใช้ความรู้สาธารณ์มากขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐสมัยใหม่ แต่ก็จำกัดวงอยู่ในกรอบการใช้ทางเทคนิค ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของไทยถูกใช้มากในการสร้างสิ่งของแต่ใช้น้อยในการคิดตรวจสอบวิเคราะห์ ความรู้ทางนิติศาสตร์ของไทยถูกใช้มากในการเขียนกฎหมายแต่ใช้น้อยในการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ถูกใช้มากในการสร้างรายได้แต่ใช้น้อยในการสร้างสวัสดิภาพทางสังคม เช่นเดียวกันกับความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่ถูกใช้มากในการบังคับและใช้น้อยในการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง

ลักษณะดังกล่าวทำให้ความรู้ศักดิ์สิทธิ์ถูกใช้เป็นใหญ่ภายใต้ฉากหน้าของความรู้สาธารณ์ สังคมไทยจึงมีการรวมรูปแบบกับหน้าที่อันแตกต่างกันสุดขั้วให้อยู่ในร่างเดียวกันได้ระหว่างหมอผีกับนักวิทยาศาสตร์ เนติบริการกับเนติบัณฑิต นัก “เศรษฐศาสน์” กับนักเศรษฐศาสตร์ และระหว่างนักรัฐประหารกับนักรัฐศาสตร์

การที่ความรู้ศักดิ์สิทธิ์ยังมีบทบาทจริงในทางปฏิบัติอยู่มากทำให้สังคมไทยยึดตัวบุคคล ความรู้ผูกติดกับบุคคล ที่ยึดโยงกับการศึกษา ตำแหน่ง และสถานะทางสังคม เป็นความรู้ที่เน้นศีลธรรม ความพิเศษไม่เหมือนใคร เน้นปากผู้พูดมากกว่าเนื้อหาสาระที่ว่าไม่เคร่งครัดหลักการ

ปัญหาสำคัญของความรู้ชนิดนี้คือ มันเป็นความรู้ที่มีขีดจำกัดเท่ากับผู้ที่เป็นต้นทางของความรู้ หากมีใครเสนอความรู้ใหม่ที่มากไปกว่านั้นจะมีมาตรการลงโทษทางสังคมอย่างเบาก็ผลักไปเป็นคนนอกไปจนอาจถึงขั้นสังหารหมู่

ความรู้ศักดิ์สิทธิ์นั้นตัวผู้พูดทำให้สิ่งที่พูดกลายเป็นความรู้ ในขณะที่ความรู้สาธารณ์มีรากฐานจากตัวความรู้เอง เน้นหลักการสากล พูดจากปากใครก็ได้ความหมายใกล้เคียงกัน มีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อข้อมูล ข้อเท็จจริงใหม่ได้มาก

การยึดถือผู้พูดเป็นความรู้แทนที่ตัวความรู้ ทำให้ความรู้ซึ่งเป็นของที่มีพลวัตมาโดยตลอด และยิ่งเปลี่ยนแปลงมากและเร็วยิ่งขึ้นในยุคนี้ไม่ถูกนำไปขบคิดต่อยอดเท่าที่ควร ความรู้ของชนชั้นนำรับได้ง่ายกว่าจึงเป็นความรู้ที่หยุดนิ่ง ที่มักถูกใช้ในฐานะคาถาเพื่อท่องจำปิดกั้นตนเองจากโลกมากกว่าเป็นคู่มือรับมือกับโลก

ทั้งที่ความรู้ที่มีพลวัตเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันกับโลกเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แม้แต่การพัฒนาตามแบบความคิดของพวกเขาเอง แต่ความรู้ศักดิ์สิทธิ์ในแบบที่ชนชั้นนำยึดถือกลับมุ่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับโลกคือปิดหูปิดตาต่อข้อเท็จจริง เชื่อโดยการ “มอง” มากกว่า “ฟัง” และ “คิด”

ดังนั้น ความย้อนแย้งทางความคิดและการปฏิบัติอย่างเป็นโครงสร้างจึงเกิดขึ้นในสังคมไทย พวกเขาต้องการให้เด็กไทย “คิด” เป็น ในขณะเดียวกันสังคมไทยให้รางวัลคนท่องจำและลงโทษคนที่คิดได้เสมอมา พวกเขาต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยนวัตกรรม แต่พวกเขาก็ปิดกั้นเสรีภาพส่วนบุคคลอันเป็นแรงผลักสำคัญของนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วยเหตุที่นวัตกรรมมักหมายถึงการมาของสิ่งใหม่และการล่มสลายของสิ่งเก่า

นวัตกรรมภายใต้การขับเคลื่อนโดยรัฐและกลุ่มทุนเก่าในสภาพที่เสรีภาพส่วนบุคคลถูกจำกัดเปิดเฉพาะเสรีภาพในการบริโภคจึงไม่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใด ๆ ในเมืองไทยได้ เว้นแต่นวัตกรรมการบริโภคและการเอารัดเอาเปรียบสังคมของผู้ที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงเป็นที่กำเนิดของวิธีการบริโภคแปลกประหลาดนานาชนิดที่ไม่สัมพันธ์กับการประดิษฐ์สิ่งของใหม่ รวมถึงยังเป็นแหล่งกำเนิดวาทกรรมวิปริตจำนวนมากเพื่อค้ำจุนโครงสร้างเดิมด้วย

ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่การมีที่ยืนในสังคมไทยจึงมักเป็นความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับโลกและบ่อยครั้งที่สิ่งที่ออกจากปาก “ผู้รู้” ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับหลักวิชาใด ๆ

0000
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net