Skip to main content
sharethis
แรงงานข้ามชาติยื่นฟ้องบริษัทเบทาโกร ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไก่ส่งออกไทย อ้างมีการใช้แรงงานบังคับ เรียกค่าเสียหาย 46 ล้านบาท - นักกิจกรรมทั่วโลก 45, 285 ราย ร่วมลงชื่อในจดหมายร้องเรียนถึงสมาคมสัตว์ปีกไทย
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติชาวพม่า 14 คน ที่ได้เข้าสู่กระบวนยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่ามีการใช้แรงงานบังคับ และการละเมิดสิทธิแรงงงาน ในฟาร์มไก่ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเบทาโกร ได้ยื่นฟ้อง บริษัทเบทาโกร เจ้าของฟาร์มไก่จังหวัดลพบุรี และเจ้าหน้าที่รัฐ ให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหาย รวม 46 ล้านบาท ที่ศาลแรงงานภาค 1 จังหวัดสระบุรี
 
ในวันเวลาเดียวกัน 11.00 น. โครงการรณรงค์ Walk Free ได้รวบรวมรายชื่อ นักกิจกรรมนานาชาติ 45,285 คน ที่ร่วมลงชื่อในหนังสือที่ยื่นต่อสมาคมผู้พลิตไก่เพื่อส่งออกไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 22 ของ อาคารซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนของแรงงานข้ามชาติ 14 คน ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ STOP THE TRAFFIK เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ฟินน์วอทช์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุน เรียกร้องให้ สมาคมผู้พลิตไก่เพื่อส่งออกไทยใช้ความพยามในการช่วยเรียกร้องให้บริษัท เบทาโกร ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ประกันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คน จะได้รับค่าชดเชยที่คงค้างจ่าย ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ มีกลไกการรับเรื่องและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่
 
การฟ้องคดีของแรงงานต่อศาลแรงงานภาค 1 สืบเนื่องจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายชดเชยค่าจ้างรวม 1.7 ล้านบาท สำหรับค่าจ้างที่ค้างจ่ายในอดีต แต่แรงงานเห็นว่าค่าชดเชยนี้ไม่เพียงพอเนื่องจากไม่ได้เป็นการชดเชยการทำงานในสภาพที่มีการละเมิดสิทธิเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี
 
แรงงานอ้างว่าต้องทำงานอย่างหนักเป็นเวลานานถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน เเละถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน เเละแรงงานทั้ง 14 คน อ้างด้วยว่าถูกหักเงินค่าจ้างโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกขู่ว่าจะหักค่าจ้าง มีการยึดเอกสารประจำตัว และสามารถเดินทางได้จำกัดเพียงสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อไปตลาดโดยมีผู้ควบคุมไปด้วย
 
ที่ผ่านมา เบทาโกรไม่สามารถตอบสนองในเชิงบวกต่อการร้องขอ ให้ประกันว่ามีการจัด ที่พักฉุกเฉินและค่ายังชีพให้แรงงานหลังจากลาออกจากฟาร์มไก่ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2559 และมีการชดเชยความเสียหายอย่างเพียงพอให้แรงงานเมื่อเบทาโกรทราบว่ามีการซื้อสินค้าจากจากฟาร์มที่อ้างว่ามีการละเมิดสิทธิ แต่เบทาโกรอ้างว่าได้ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่เรียกร้องให้บริษัทใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อประกันว่าจะมีการชดเชยเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท อย่างเหมาะสม
 
นอกจากแรงงานทั้ง 14 คน ที่อ้างว่าไม่ได้สิทธิตามกฎหมายแล้ว ยังมีแรงงานถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งอาจจะทำให้ถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หากพบว่ามีความผิดจริง เนื่องจากนายจ้างได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า บัตรลงเวลาปฏิบัติงาน ได้ถูกเอาไปจากการครอบครองของนายจ้าง ซึ่งบัตรลงเวลาปฏิบัติงานนั้นได้ถูกส่งมอบให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลพบุรีเป็นหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิของคนงาน หลังจากที่นายจ้างแจ้งความลูกจ้างแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการจับกุม และควบคุมตัวแรงงานคนหนึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หลังจากที่แรงงานได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้การต่อพนักงานสอบสวนแล้ว บริษัทเบทาโกรได้จ่ายเงิน 75, 000 บาท เพื่อเป็นหลักทรัพย์ในใช้การประกันตัวแรงงานที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ต่อมาในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาแรงงานเพิ่มอีกหนึ่งรายว่า สมรู้ร่วมคิดในการลักทรัพย์ของนายจ้าง หลังจากที่แรงงานคนที่สองถูกตำรวจกล่าวหาแล้วก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ในเดือนสิงหาคม เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) พร้อมกับตัวแทนของแรงงาน 14 คน ยื่นหนังสือ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีนายจ้างกล่าวหาลูกจ้างว่าหาลักทรัพย์ของนายจ้าง
 
สมาคมผู้พลิตไก่เพื่อส่งออกไทยมีการตอบสนองในทางบวกต่อแรงกดดันที่เกิดจากการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนในกรณีนี้ และผู้ซื้อสัตว์ปีกในต่างประเทศมีความกังวลลึก ๆ เรื่องสภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยจึงได้มีการเปิดตัววิธีปฎิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labour Practice: GLP) ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ต่อปัญหาของแรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คนว่า มิได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง แต่เป็นกรณีของข้อพิพาททางแรงงานระหว่างคนงานกับนายจ้าง มิใช่เป็นกรณีของการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ การทำงานเกินช่วงเวลาทำงานหรือลูกจ้างถูกยึดเอกสารไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 
 
กรณีการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ 14 รายนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ธุรกิจระหว่างประเทศ วงการการทูตและประชาคมนานาชาติ เนื่องจากการละเมิดสิทธิของคนงานกลุ่มนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาประชาคมโลกตรวจสอบการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย นโยบายการคุ้มครองแรงงาน เช่นเดียวกับประวัติการค้ามนุษย์ของไทย
 
อุตสาหกรรมส่งออกสัตว์ปีกไทยได้อยู่ภายใต้การตรวจสอบด้านเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่ดีนัก ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 รายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์โดยกลุ่มตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคม คือ ฟินน์วอทช์และ สเวดวอทช์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและภายในประเทศยังคงมีความกังวลที่รัฐบาลไทยและอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยขาดความสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในอุตสาหกรรม
 
เบทาโกรเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกไก่เนื้อแปรรูปไทย เช่นเดียวกับสมาชิกชั้นนำ เช่น CP, GFPT, Cargill, BRF แหลมทองสัตว์ปีก พนัสสัตว์ปีก เซนทราโก และบางกอกแร้นช์ชั้นนำ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกใหญ่รายใหญ่ที่สุดลำดับ 4 ของโลก ที่ใช้ในอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูป ส่วนใหญ่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและตลาดญี่ปุ่น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net