Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราจะสื่อสารเรื่องป้อมมหากาฬให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างไร?

ผมสรุปเป็น 12 ข้อ ยาวสักนิดแต่อ่านกันเถอะนะครับ

1. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการจัดระเบียบ "ร้านค้าแผงลอย" ที่มาบุกรุกพื้นที่สาธารณะเหมือนกรณี สะพานเหล็ก ประตูน้ำ ฯลฯ แต่คือการไล่รื้อ "บ้าน" คนที่มีโฉนด มีทะเบียนบ้าน ด้วยเหตุผลว่ารัฐต้องการเอาพื้นที่นี้พัฒนาเป็นอะไรสักอย่าง

2. เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องชุมชนประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น แต่คือสัญลักษณ์ว่า "รัฐ" ต้องการไล่คนออกไปโดยที่ยังไม่มีใครเห็นว่าเขาจะทำอะไรและมีประโยชน์ต่อทุกคนจริงๆหรือไม่ เรายังไม่เบื่อกับการเห็นที่ที่รื้อเสร็จ แล้วมันร้าง แล้วมันพัง ไม่มีคนดูแลอีกหรอ เพราะสุดท้ายผมเชื่อเหลือเกินว่ามันไม่ได้ใช้เพื่อสาธารณะจริงๆ... ใครลองไปดูพื้นที่สะพานเหล็กตอนนี้ เป็นต้น มันคือการทำอะไรเพื่อส่วนรวมจริงๆหรอ คลองที่เน่า และพื้นที่เน่า แบบนั้น...

3. เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครถูก ใครผิด ใครเลว ใครดี แต่มันคือเรื่องที่คนใช้เมืองอย่างเรา อยากรู้ว่ารัฐจะเอามันไปทำอะไร? มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าก่อนจะพัฒนาอะไร เราหยิบศักยภาพของพื้นที่อย่าง (1) บ้านโบราณและ (2) คนที่พร้อมจะพัฒนา มาเป็นโจทย์ในการสร้างพื้นที่ร่วมกันเพื่อ "สาธารณะ" จริงๆ

4. เราพอจะเห็นแบบที่สำเร็จแล้วก่อนได้มั้ย? ก่อนที่รัฐจะทำลายศักยภาพทั้งหมดในนั้นทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย...

5. แล้วคนใช้เมืองอย่างเรา หรือ ชาวบ้านในพื้นที่ พอจะออกความเห็นด้วยได้มั้ย ถ้ามันจะเป็น "ป้อมมหากาฬเพื่อทุกคน" จริงๆ เราอยากให้มีการทำ Co-Creation เหมือนที่ใครๆในโลกนี้เขาก็ทำกัน

6. หากมองว่า "ชาวบ้าน หรือ สลัม หรือ คนจน" คือ "ปัญหา" การไล่เขาออกไปต่างจังหวัด เป็นคนชายขอบ นี่คือทางออกของการพัฒนาเมืองจริงๆหรอ จะดีกว่ามั้ยถ้าบทบาทรัฐจะเปลี่ยนไป เป็นให้การศึกษา จ้างงาน กำหนดกรอบการอยู่ร่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเขาขึ้นมาแทน จะดีกว่ามั้ยนะ

7. กรุงเทพฯโตขึ้นทุกวัน และเมืองที่หนาแน่นมากๆอย่างกรุงเทพฯ พิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ไหนใดๆในเมือง มันต้องกระทบที่อยู่อาศัยแน่ๆ จะดีกว่ามั้ยถ้ารัฐตีกรอบของชาวบ้านให้ชัดว่าถ้าในวันที่รัฐมีความจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ใดๆเพื่อสาธารณะแล้วมันต้องกระทบการอยู่อาศัยจริงๆ หลักการที่คนจะอยู่ร่วมกับการพัฒนาเมืองต้องทำอะไรบ้าง ต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวอะไรบ้างเป็นข้อๆ 1,2,3,4... โดยหยิบเคสป้อมมหากาฬที่วันนี้ชาวบ้านถอยหลังจนสุดและพร้อมอาสาอยู่ร่วมและพัฒนาอยู่แล้วนี้ มาเป็นกรณีตัวอย่างก็ยังได้

8. มากกว่านั้น ชาวบ้านที่ป้อมมหากาฬบอกว่า ถ้าให้โอกาสเขาแล้ว แล้วเขาพัฒนาตัวเองให้อยู่ร่วมกับสวนสาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตไม่ได้ เขาจะยอมออกจากพื้นที่ จะรื้อบ้านตัวเอง ด้วยกรอบเวลา 2 ปี!

9. หลายคนบอกว่าเขารับเงินไปแล้ว เขาเห็นแก่ตัวดันทุรังจะอยู่ต่อ ความจริงก็คือว่า เงินกว่า 90% ของจำนวนเงินทั้งหมด รับโดยเจ้าของที่ดินตระกูลใหญ่โตที่ไม่เคยอยู่ที่นี่และตรงนั้นเป็นที่ดินส่วนใหญ่เกือบทั้งพื้นที่ คนที่อยู่ปัจจุบันบางส่วนเป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆที่เหลือ และคนส่วนใหญ่คือ "ผู้เช่า" ชาวบ้านเหล่านี้บ้างสืบทอดหลายชั่วอายุ (บางบ้าน 6 ชั่วอายุ) บ้างย้ายมาหลัก 20 กว่าปีเป็นอย่างน้อย ผู้เช่าได้ค่าเยียวยาเพียงหยิบมือพร้อมๆกับสถานที่ใหม่ที่ไม่มีอยู่จริง มีแต่พื้นดินเปล่า ในยุคที่ไม่คิดว่าประชาชนจะต่อต้านอะไรรัฐได้ เขารับเงินโดยดุษณี แต่พอแสงไฟแห่งรัฐธรรมนูญปี 40 พูดถึงเรื่อง "สิทธิชุมชน" เขาอยากกู้สิ่งนี้กลับมา วันนี้เขาอยากพัฒนาตนเอง ยอมทุกอย่างเพื่ออยู่ร่วมกับเมือง ถ้าต้องคืนเงินก็พร้อม หรือแม้กระทั่งต้องเสนอข้อเสนอที่จะทิ้งความเป็นส่วนตัว เพื่อการอยู่ร่วมกับส่วนรวมให้ได้ บทบาทของรัฐควรจะให้โอกาสพัฒนาเขา หรือ ไล่เขาไปเพื่อไปเป็นปัญหาที่อื่นแทนแบบนี้?

10. ความจริงก็คือ นักกฎหมายทุกท่านชี้ว่า มันมีทางออกของกฎหมายที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ภายใต้การ "เคารพกฎหมาย" เวนคืนเดิมนั้น คือให้ชาวบ้านอยู่ในรูปแบบหน่วยงานดูแล หรือมากกว่านั้น ตัวกฎหมายก็เป็นสิ่งที่แก้ไขได้เช่นกัน กฎหมายเป็นเพียงเรื่องของ "เทคนิก" แต่ "วิสัยทัศน์" ในการพัฒนาต่างหากที่วิกฤตมากๆและเราควรพูดให้รัฐเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ที่วิกฤตินี้ ตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ติดกับเทคนิกต่างๆที่เป็นเครื่องมือเหล่านั้นมากกว่า

11. เคสนี้แสดงให้เห็นว่า "คน" ไม่ใช่ปัจจัยแรกของการพัฒนาเมืองเราจริงๆ แต่คือการเคลียร์พื้นที่ให้กับอะไรสักอย่าง สวนสาธารณะเพื่อทุกคน? หรือเพื่อคนชั้นกลางขึ้นไป หรือเพื่อฝรั่ง หรือเพื่อใครกัน? มองในแง่ร้าย มันอาจเป็นการเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ มาเปิดอะไรที่เต็มบ้านเราไปหมดแล้วอีกครั้ง...

12. หาก "บ้านที่ป้อมมหากาฬ" โดนไล่รื้อได้ "บ้านของพวกเราทุกคน" ก็สามารถโดนรื้อได้เหมือนกัน เพราะบ้านเขาก็มีโฉนด มีทะเบียน ไม่ต่างจากเรา หากรัฐจะออกกฎหมายมาซื้อเราในแบบเดียวกัน...

ในวันที่เรื่องมันสุกงอมแบบนี้

เคสป้อมมหากาฬไม่ใช่เคสของชาวบ้านที่ป้อมมหากาฬเท่านั้นอีกต่อไป

สำหรับผมมันคือสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองที่ไม่เห็น "คน" เป็นที่ตั้ง

มันอาจจะไกลตัวทุกคนไปสักหน่อย แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเราอยู่ทุกหนทุกแห่งจริงๆ

ในแสงที่ริบหรี่สุดๆ แต่เรายังมีความหวัง

เราก็จะก้าวต่อไป

(หากไม่ดูเป็นการรบกวน ช่วยกันกระจายมันไปนะครับ)

#เราอยู่ร่วมกันได้

#TogetherIsBetter

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net