โลคัลลิสต์: ขั้วอำนาจหน้าใหม่จาก “การปฏิวัติร่ม” ชนะเลือกตั้งหลายเขตในฮ่องกง

ผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการปรากฏตัวของขั้วการเมืองกลุ่มใหม่คือ “โลคัลลิสต์” กลุ่มการเมืองย่อยๆ ที่เปิดตัวหลังการปฏิวัติร่มปี 2014 คนหนุ่มสาวเหล่านี้ฝ่าด่านเอาชนะการเลือกตั้งระบบ “ครึ่งใบ” ได้สมาชิกสภาฮ่องกง 8 ที่นั่ง ทำให้วาระใหญ่ของฮ่องกงนอกจากเรื่องผลักดันประชาธิปไตยแล้ว อีกข้อเสนอจาก “โลคัลลิสต์” ก็คือ ฮ่องกงที่เป็นอิสระจากจีนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการทำประชามติเพื่อขอแยกตัวเป็นเอกราชด้วย

หลังจากที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา รวม 70 ที่นั่ง ที่เป็นการเลือกตั้งระบบ "ครึ่งใบ" ที่มีทั้งแบบเลือกตั้งจากประชาชน และแบบเลือกกันเองจากกลุ่มวิชาชีพ และสมาคมต่างๆ นั้น

 

การผงาดของขั้วการเมืองสาย “Localists” เรียกร้องฮ่องกงที่เป็นอิสระ

หลังเปิดคูหาลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึง 22.30 น. ในคืนวันอาทิตย์ ผลการเลือกตั้งล่าสุดของฮ่องกงพบว่า พรรคการเมืองกลุ่มไม่นิยมรัฐบาลจีน ได้ที่นั่งรวมกัน 30 ที่นั่ง ประกอบด้วยพรรคการเมืองสายนิยมประชาธิปไตย (Pan-democrats) ได้ 22 ที่นั่ง และขั้วการเมืองใหม่ที่ก่อตัวหลังการชุมนุม “Occupy Central” หรือการปฏิวัติร่มเมื่อปี 2014 ได้แก่ พรรคการเมืองสาย “โลคัลลิสต์” (Localists) และกลุ่มเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นอิสระ ได้ 8 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคการเมืองสายนิยมรัฐบาลจีน (Pro-Beijing camp) ได้ 40 ที่นั่ง โดยได้ที่นั่งลดลง 3 ที่นั่ง จากเดิมในการเลือกตั้งปี 2012 เคยได้ 43 ที่นั่ง ส่วนพรรคการเมืองกลุ่มไม่นิยมรัฐบาลจีนเคยได้ 27 ที่นั่ง

โดยผลการเลือกตั้งจำแนกออกเป็น 1) ผลการเลือกตั้งแบบเขต ซึ่งแบ่งตามพื้นที่ในฮ่องกง 5 เขตใหญ่ รวม 35 ที่นั่ง พรรคการเมืองสายไม่นิยมรัฐบาลจีนได้ 19 ที่นั่ง ประกอบด้วย พรรคการเมืองสายนิยมประชาธิปไตย ได้ 11 ที่นั่ง พรรคการเมืองสายโลคัลลิสต์และกลุ่มเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นอิสระได้ 8 ที่นั่ง ขณะที่พรรคการเมืองสายนิยมรัฐบาลจีน ได้ 16 ที่นั่ง

2) ผลการเลือกแบบฟังก์ชันแนล 35 ที่นั่ง ที่ประกอบด้วย การเลือกกันเองจากกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งแบ่งเป็นโควตากลุ่มวิชาชีพ สมาคมต่างๆ 30 ที่นั่ง และการเลือกตั้งแบบสภาเขตที่ให้เลือกโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ที่นั่ง โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคการเมืองกลุ่มนิยมรัฐบาลจีนได้ 24 ที่นั่ง และพรรคการเมืองกลุ่มไม่นิยมรัฐบาลจีน ได้ 11 ที่นั่ง

ทั้งนี้ในส่วนของการเลือกตั้งแบบเขต มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 2.2 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฮ่องกง 3.78 ล้านคน คิดเป็น 58.28% ขณะที่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง เมื่อปี 2012 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบเขต 53.05%

โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงรอบนี้ มีนักกิจกรรมทางสังคมในฮ่องกงชนะการเลือกตั้งหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกิจกรรมสาย “โลคัลลิสต์” ที่เรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยขั้วการเมืองกลุ่มนี้ก่อตัวขึ้นภายหลังการชุมนุม “Occupy Central” หรือ “การปฏิวัติร่ม” ในปี 2014

 

ว่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงหน้าใหม่ ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 กันยายนนี้ (แถวบนจากซ้ายไปขวา) 1. นาธาน หลอ แกนนำนักศึกษาชุมนุมปฏิวัติร่ม จากพรรค Demosistō 2. เอ็ดดี ชู อดีตสื่อมวลชนและนักกิจกรรมด้านสิทธิชุมชนของฮ่องกง 3. เล่า เสี่ยวไหล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่บรรยายเรื่อง "ความยุติธรรมทางสังคม" ในช่วงชุมนุมปฏิวัติร่ม

(แถวล่างจากซ้ายไปขวา) 4. บัจโจ เหลียง ผู้ก่อตั้งพรรค Youngspiration 5. เหยา ไว-ชิง จากพรรค Youngspiration เคยแพ้นักการเมืองรุ่นใหญ่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ขอฮึดสู้สนามใหญ่จนชนะเลือกตั้งในที่สุด 6. เจิ้ง จุง-ไท้ หันหลังให้พรรคสายประนีประนอมรัฐบาลปักกิ่ง สู่การตั้งพรรค Civic Passion

 

นาธาน ลอ: จากแกนนำนักศึกษา สู่การผลักดันข้อเสนอ “ประชามติฮ่องกง” เข้าสู่สภา

นาธาน หลอ ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งฮ่องกง โดยเขาถือเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่อายุน้อยที่สุดคือ 23 ปี (ที่มา: เพจ 羅冠聰 Nathan Law)

นาธาน หลอ ควุน-จุง (Nathan Law Kwun-chung) หรือ นาธาน หลอ วัย 23 ปี อดีตผู้นำนักศึกษายุค “Occupy Central” ในการปฏิวัติร่มเมื่อปี 2014 ก็ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงอายุน้อยที่สุด โดยเขาได้คะแนนเสียง 50,818 คะแนน ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ในเขตเลือกตั้งเกาะฮ่องกง

ทั้งนี้เขาเป็นเลขาธิการของสหพันธ์นักศึกษาในฮ่องกง จัดการชุมนุม “Occupy Central” เป็นเวลา 79 วันเมื่อปี 2014 เพื่อเรียกร้องให้ฮ่องกงปฏิรูประบบเลือกตั้งให้เป็นสากล นอกจากนี้ในช่วงการชุมนุม เขายังเป็น 1 ใน 5 ผู้นำนักศึกษา ซึ่งร่วมเจรจากับผู้บริหารฮ่องกง ซึ่งนำโดย แคร์รี หลำ เช็ง ยึด-หงอ (Carrie Lam Cheng Yuet-ngor) หัวหน้าคณะรัฐมนตรีเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

โดยที่หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) นิยาม นาธาน หลอ ว่า “เป็นคนสงวนท่าที พูดจานิ่มนวล” ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนนี้ว่า เมื่อตอนที่เขายังหนุ่ม เขาไม่เคยคิดจะเข้าสู่การเมือง และคิดว่า “เป็นเกมสกปรก ผู้คนต่อสู้ช่วงชิงกันเพื่อผลประโยชน์ของตน”

ทั้งนี้ในเดือนเมษายน นาธาน หลอ และเพื่อนๆ ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อเดโมซิสโต (Demosistō) ร่วมกับ โจชัว หว่อง จิ้ฟง หรือ “โจชัว หว่อง” ซึ่งเป็นแกนนำนักเรียนนักศึกษากลุ่มสิกขานิยม (Scholarism) โดยที่พรรคการเมืองของพวกเขาดำเนินงานทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิ “การกำหนดอนาคตของตนเอง” โดยในแถลงการณ์ก่อตั้งของพรรค เรียกร้องให้จัดการลงประชามติภายใน 10 ปีนี้ เพื่อให้ชาวฮ่องกงได้ตัดสินใจในชะตากรรมของตนเองก่อนปี 2047 ซึ่งเป็นปีที่หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จะสิ้นสุดลง นอกจากนี้ทางกลุ่มยังยึดหลักการประท้วงโดยปราศจากความรุนแรงอีกด้วย โดยข้อเสนอให้ทำประชามติ ก็เป็นข้อเสนอซึ่งมาแทนข้อเสนอสุดขั้วกว่านั้นก็คือเรียกร้องเอกราชของฮ่องกง

ด้วย 1 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติฮ่องกงของพรรคเดโมซิสโต หลังจากนี้คงได้เห็นว่า นาธาน หลอ จะแสดงให้เห็นว่าจะยกระดับเรื่อง “การกำหนดอนาคตของตนเอง” ไปสู่สาธารณะชนฮ่องกงได้อย่างไร

 

เอ็ดดี ชูนักกิจกรรมชุมชนฮ่องกงสู่สภา LegCo ด้วยคะแนนเสียงสูงสุดเป็นอันดับ 1

เอ็ดดี ชู ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อ 5 กันยายน หลังทราบผลคะแนนว่าเป็นผู้ชนะอันดับ 1 ของเขตนิวเทอร์ริทอรีส์ เวสต์ (ที่มาของภาพ: เพจ 八鄉朱凱廸 Chu Hoi Dick)

เอ็ดดี ชู ฮอย-ดิค (Eddie Chu Hoi-dick) หรือ "เอ็ดดี ชู" อายุ 38 ปี ผู้สมัครอิสระ ซึ่งได้คะแนน 84,121 เป็นผู้ชนะอันดับ 1 ของเขตนิวเทอร์ริทอรี่ส์ เวสต์ (New Territories West) และเป็นผู้ชนะที่ได้คะแนนสูงสุดจากทั่วทุกเขตเลือกตั้งในฮ่องกง โดยเขากล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่เขาชนะถล่มทลายสร้างความประหลาดใจให้กับเขา และนี่เป็นการส่งสัญญาณจากคนฮ่องกงว่า "ต้องการกำหนดอนาคตตนเองด้วยวิถีประชาธิปไตย" ซึ่งแนวทางนี้จะกำหนดการตัดสินใจอนาคตของฮ่องกงด้วย

"ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าประชาชนฮ่องกงเชื่อว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย" เอ็ดดีกล่าว "เราไม่ควรจะที่จะว่าตามหลักกฎหมายพื้นฐานอย่างเคร่งครัดนัก"

แม้จะไม่สังกัดพรรคการเมืองใด แต่เขาก็กล่าวด้วยว่า เอกราชจากประเทศจีนควรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนในขั้นตอนไปสู่ประชาธิปไตย เขากล่าวด้วยว่าจะทำงานร่วมกับพรรคการเมืองสาย "โลคัลลิสต์" อีก 2 พรรคที่เหลือ เพื่อไปสู่ทิศทางการเมืองนี้

ทั้งนี้เอ็ดดี ชู ยังกล่าวอีกว่ามีการสมคบกันจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ภาคธุรกิจ กลุ่มชนบท และสมาคมลับ "นี่เป็นสิ่งที่ตัวผมเท่านั้นที่รู้" โดยเขากล่าวเรื่องนี้ทั้งน้ำตาก่อนที่จะขอบคุณภรรยาที่ให้การสนับสนุน และกล่าวด้วยว่า "ไม่เพียงแต่ตัวผมเท่านั้น แต่ครอบครัวของผมก็ต้องเผชิญกับมรสุมความรุนแรงทางการเมือง"

เมื่อกล่าวถึงเหตุคุกคาม เอ็ดดี ชู กล่าวว่า ในวันเลือกตั้ง มีรถยนต์สีขาวมาจอดรอเขาภายนอกที่พักและคอยสะกดรอยตาม ซึ่งเพื่อนได้บอกกับเขาว่าเป็นรถของเจ้าที่ดินในเขต “หยึนหลง” ซึ่งเป็นเขตชุมชนทางเหนือของนิวเทอร์ริทอรีส์

เอ็ดดี ชู กล่าวด้วยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้นำหมู่บ้านได้โทรศัพท์มาบอกเขาให้หยุดเคลื่อนไหวเรื่องพิพาทที่ดินในเขต “หยึนหลง” ซึ่งโครงการดังกล่าวต้องการนำที่ดินไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยดังกล่าวในที่สุดก็ต้องละทิ้งไป เนื่องจากแรงต้านจากท้องถิ่น

เขากล่าวด้วยว่าเขาต้องเผชิญภัยคุกคาม นอกจากนี้ยังต้องขอให้ตำรวจคุ้มครอง “ผมกังวลต่อทั้งครอบครัวของผมและบรรดานักการเมืองในฮ่องกง” เขายังกล่าวอีกว่า “หลังจากนี้การข่มขู่ การทำร้าย การลอบสังหาร จะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปในฉากการเมืองของฮ่องกง”

ทั้งนี้เอ็ดดี ชู ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Chinese University ในฮ่องกง และเคยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาจีน “หมิงเป้า” เคยเป็นผู้สื่อข่าวในปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน นอกจากนี้ยังเรียนภาษาเปอร์เซียเพิ่มเติมอีกด้วย

เขาเคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "Local Action" โดยในปี 2006 เขาต่อต้านการรื้อท่าเรือเก่าแก่ในย่านเอดินบะระเพลสของฮ่องกง ในปี 2009 เขาร่วมก่อตั้งกลุ่มชอย ยืนซืน เพื่อสนับสนุนชาวบ้านฮ่องกงที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมกวางโจว- เสิ่นเจิ้น-ฮ่องกง ซึ่งแม้โครงการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนัก โดยหลังจากนั้น เอ็ดดี ชู ได้ร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูหมู่บ้านเชิงนิเวศแห่งใหม่ขึ้นแทนที่อยู่เดิม

เขายังร่วมอยู่ในกลุ่มสันนิบาตเพื่อความยุติธรรมในที่ดิน หรือ “Land Justice League” และยังมีส่วนร่วมกับชุมชนรากหญ้าในเขตนิวเทอร์ริทอรี่ส์ตอนเหนือ เพื่อต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐบาลฮ่องกง นอกจากนี้เขายังเข้าร่วมกับ “Going Local” เพื่ออนุรักษ์ที่นาและการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจของชุมชนในเขตนิวเทอร์ริทอรีส์ของฮ่องกง

เอ็ดดี ชู ยังเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความชื่นชอบในวิชาชีพสื่อมวลชนของเขาด้วยว่า “ผมรักงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” และยังกล่าวอีกว่า “ผมหวังด้วยว่าในฐานะสมาชิกสภา ผมจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และขุดให้ลึกยิ่งขึ้นเพื่อค้นหาการสมคบกันระหว่างรัฐบาลกับเจ้าที่ดินในท้องถิ่น”

 

เล่า เสี่ยวไหล: นักวิชาการร่วมต่อสู้บนท้องถนน ชนะเลือกตั้งเพราะ “หมัดเด็ด” ในคลิปดีเบท

เล่า เสี่ยวไหล อาจารย์มหาวิทยาลัยโปลิเทคนิค ผู้บรรยายสาธารณะ "ความยุติธรรมทางสังคม" ในช่วงชุมนุม Occupy Central ลงสนามเลือกตั้งชนะคู่แข่งเพราะคลิปรายการดีเบทเกิดไวรัล (ที่มาของภาพ: วิกิพีเดีย)

เล่า เสี่ยวไหล (Lau Siu-lai) อาจารย์วัย 40 ปี จากมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิค (Polytechnic University) ผู้สมัครสตรีจากพรรค Democracy Groundwork ชนะการเลือกตั้งในเขตเกาลูน เวสต์ ด้วยคะแนน 38,183 คะแนน โดยมีคะแนนเป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ เล่า เสี่ยวไหล เริ่มต้นหาเสียงเมื่อ 14 พฤษภาคม หรือ 3 เดือนเศษก่อนวันเลือกตั้ง

เริ่มแรกโอกาสของเล่า เสี่ยวไหล ดูเหมือนจะชนะได้ยาก โดยโพลระบุว่าได้คะแนนนิยมเพียง 1.8% เท่านั้น แต่แล้วความนิยมต่อ เล่า เสี่ยวไหล เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อเธอปรากฏตัวในรายการดีเบททั้งในโทรทัศน์และวิทยุก่อนที่อีกไม่กี่สัปดาห์จะถึงวันเลือกตั้ง

คลิปในเฟซบุ๊คที่มียอดผู้ชม 1 ล้านวิว ภายใน 7 วันที่ “เล่า เสี่ยวไหล” ตั้งคำถามคู่แข่งฝ่ายนิยมรัฐบาลปักกิ่ง พริสซิลลา เหลียง เหมย-ฟุน (Priscilla Leung Mei-fun) ในเรื่องสิทธิแรงงาน และเรื่องกองทุนเกษียณอายุของชาวฮ่องกง ทำให้ความนิยมของเล่า เสี่ยวไหล พุ่งทะยานมาเป็น 11% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

เล่า เสี่ยวไหล ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าสาเหตุที่เธอประสบความสำเร็จมากจาก “กฎได้เวลาเท่ากัน” ซึ่งหมายถึงในการอภิปรายทางรายการโทรทัศน์ ผู้จัดรายการได้ให้เวลาเท่ากันแก่ผู้สมัครทุกคน ทำให้เธอมีโอกาสเพียงพอที่จะ “ปล่อยหมัดเด็ด” ในการอภิปรายกับคู่แข่ง

ทั้งนี้ เล่า เสี่ยวไหล ผันตัวจากนักวิชาการมาสู่นักกิจกรรมในช่วงการชุมนุม “Occupy Central” และมักปรากฏตัวสม่ำเสมอในย่านมงก๊ก (Mong Kok) เพื่อบรรยายเรื่อง “ความยุติธรรมทางสังคม” ในระหว่างชุมนุม

เล่า เสี่ยวไหล ตั้งกลุ่ม “Democracy Groundwork” หรือประชาธิปไตยพื้นฐาน โดยหลังสิ้นสุดการชุมนุมใหญ่ เธอก็ยังคงบรรยายอย่างต่อเนื่องให้กับชุมชนในฮ่องกง และพยายามที่จะรวบรวมกลุ่มผู้สนับสนุนเอาไว้

เล่า เสี่ยวไหล ยังเป็นผู้สนับสนุนสิทธิของผู้ค้าหาบเร่ในฮ่องกง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้พวกเขามีใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เล่า เสี่ยวไหล ยังถูกจับข้อหาค้าหาบเร่โดยไม่มีใบอนุญาต ที่ถนนเกวลิน ย่านชาม ชุย ป๋อ ( Sham Shui Po) โดยเธอถูกจับหลังท้าทายอำนาจเจ้าหน้าที่ด้วยการขายอาหารริมถนน

 

บัจโจ เหลียง และ เหยา ไว-ชิง สมาชิกสภานิติบัญญัติหน้าใหม่
จากพรค “Youngspiration” ผู้สนับสนุน “สิทธิกำหนดอนาคตตนเอง” ของฮ่องกง

บัจโจ เหลียง ระหว่างหาเสียงเมื่อ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา (ที่มา: เพจ Baggio Leung)

บัจโจ เหลียง

ซิกตัส “บัจโจ” เหลียง จุง-อัง (Sixtus “Baggio” Leung Chung-hang) หรือ “บัจโจ เหลียง” อายุ 30 ปี เป็นผู้จัดการธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ผู้ก่อตั้งพรรค “Youngspiration” หนึ่งในกลุ่มการเมืองสาย “โลคัลลิสต์” โดยเขาชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่เขตนิวเทอร์ริทอรีส์ อีส (New Territories East) ได้ 37,997 คะแนน

ภายหลังการชุมนุมใหญ่ปี 2014 บัจโจ เหลียง เริ่มชิมลางในสนามการเมือง เมื่อลงสมัครเลือกตั้งระดับสภาท้องถิ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2015 โดยคู่แข่งของเขาคือ หยึง ฮอย-วิง (Yeung Hoi-wing) จากพรรค DAB ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนั้น เขาแพ้ไป โดยได้คะแนน 1,569 คะแนน ขณะที่คู่แข่งได้ 2,491 คะแนน

แม้จะแพ้ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น แต่พรรค “Youngspiration” ก็เริ่มได้รับความนิยมในฮ่องกง โดยเพื่อร่วมพรรคของบัจโจ เหลียง เหยา ไว-ชิง (Yau Wai-ching) ก็เกือบเอาชนะคู่แข่งซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่ พริสซิลลา เหลียง เหมย-ฟุน (Priscilla Leung Mei-fun)

อนึ่งก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง บัจโจ เหลียง ตัดสินใจเปลี่ยนแผนที่จะลงเลือกตั้งในเขตเกาะฮ่องกง เนื่องจากข้อกังวลเรื่องงบประมาณที่ใช้หาเสียง

แต่หลังจากที่ เอ็ดเวิร์ด เหลียง ติน-ไค จากกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองฮ่องกงถูกตัดสิทธิ์ลงแข่งเลือกตั้งในเขตนิว เทริทอรีส์ อีส เนื่องจากจุดยืนสนับสนุนเอกราชของเขา ทำให้ผู้นำพรรค “Youngspiration” ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในเขตที่เป็นพันธมิตรกับเขา ทั้งนี้ผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ์รายดังกล่าวก็ร่วมสนับสนุนด้วย

ทั้งนี้บัจโจ เหลียง มุ่งที่จะสนับสนุน “สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง” ในเรื่องของอนาคตทางการเมืองของฮ่องกง รวมไปถึงเรียกร้องให้รัฐบาลจ้างแพทย์ท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านการบริการสาธารณสุข

เหยา ไว-ชิง อายุ 25 ปี ว่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงอีกคนจากพรรค “Youngspiration” ในภาพเป็นช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายในเดือนกันยายน (ที่มา: เพจ 游蕙禎 Yau Wai Ching)

เหยา ไว-ชิง

ว่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงอีกคนจากพรรค “Youngspiration” อีกคนก็คือ เหยา ไว-ชิง (Yau Wai-ching) อายุ 25 ปี ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเขตเกาลูน เวสต์ (Kowloon West) ได้ 20,643 คะแนน เป็นผู้ชนะในลำดับที่ 6 ของเขต

สำหรับ เหยา ไว-ชิง เริ่มเป็นที่รู้จักหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2015 เมื่อคู่แข่งของเธอคือ พริสซิลลา เหลียง เหมย-ฟุน (Priscilla Leung Mei-fun) หรือ “พริสซิลลา เหลียง” นักการเมืองรุ่นใหญ่ แม้หลังเลือกตั้งท้องถิ่น เหยา ไว-ชิง จะแพ้ แต่ก็เริ่มมีผู้ติดตามมากขึ้น หลายคนเรียกเธอว่า “เทพธิดา” หรือ “เด็กน้อยไว-ชิง” ในเฟซบุ๊คเพจของเธอมีผู้ติดตามถึง 15,000 คน

สำหรับ เหยา ไว-ชิง ผู้เป็นลูกสาวของเจ้าหน้าที่รัฐในฮ่องกง สนามการเมืองเหมือนเป็นช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนเธอไม่ได้เอาใจใส่ต่อประเด็นทางสังคม แต่ความสนใจทางการเมืองเริ่มต้นขึ้นในปีสุดท้ายของเธอที่ภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัย Lingnan University ในปี 2012 เมื่อมีการประท้วงแผนการศึกษาแห่งชาติในปีนั้น

ต่อมาเหยา ไว-ชิงร่วมการประท้วง “Occupy Central” ในปี 2014 ซึ่งในเวลานั้นเธอทำงานเป็นผู้จัดการแล้ว ซึ่งการประท้วงในครั้งนั้นได้พัฒนามุมมองของเธอต่ออนาคตของฮ่องกง และกับเพื่อนรุ่นหนุ่มสาว เหยา ไว-ชิง ได้ช่วยงานพรรค “Youngspiration” ในการเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองของฝ่าย “โลคัลลิสต์”

ทั้งนี้ เหยา ไว-ชิง ลาออกจากงานประจำเพื่อลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น และแม้ว่าเธอจะแพ้ แต่ผลการเลือกตั้งสร้างความประหลาดใจให้กับหลายคน เพราะเธอได้คะแนนสนับสนุน 41% หรือ 2,041 คะแนน แพ้พริสซิลลา เหลียง เพียง 304 คะแนน ทำให้พรรค “Youngspiration” ตัดสินใจส่งเธอลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ในเขตเกาลูน เวสต์ โดยเขตนี้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ 6 คน โดยเธอได้ 20,643 คะแนน เฉือนเอาชนะคู่แข่งอันดับ 7 หว่อง ยึก-มัน (Wong Yuk-man) ที่คะแนนห่างกัน 424 คะแนน

สำหรับ เหยา ไว-ชิง” สิ่งสำคัญอันดับแรกในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงก็คือ “การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เพื่ออนาตตทางการเมืองของฮ่องกง”

“เราพูดเรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เพราะว่า เราเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยควรอยู่ในมือของประชาชน และเราควรมีสิทธิในการหารือกันในเรื่องนี้”

เหยา ไว-ชิง สนับสนุนเอกราชของฮ่องกง เพราะเธอเชื่อว่า “นี่เป็นทางออกสำหรับอนาคตทางการเมืองของฮ่องกง” และกล่าวด้วยว่า “เรื่องนี้ต้องให้ชาวฮ่องกงเป็นผู้ตัดสินใจ”

 

เจิ้ง จุง-ไท้ หันหลังให้แนวทาง "Pan-democrats" สู่พรรค "Civic Passion"

ภาพในช่วงการหาเสียงของเจิ้ง จุง-ไท้ สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงจากพรรค Civic Passion (ที่มา: เพจ Cheng Chung Tai)

เจิ้ง จุง-ไท้ (Cheng Chung-tai) อายุ 32 ปี เป็นว่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงจากพรรค Civic Passion ซึ่งเป็นอีกพรรคที่สนับสนุนเอกราชฮ่องกง ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีแนวทางชาตินิยมฮ่องกงแบบสุดขั้ว โดย เจิ้ง จุง-ไท้ ชนะการเลือกตั้งในเขตนิวเทอร์ริทอรีส์ เวสต์ ได้คะแนน 54,496 คะแนน เป็นผู้ชนะลำดับที่ 4 ของเขต

ทั้งนี้เขามีชื่อเสียงจากการจัดรายการวิทยุออนไลน์ และเขียนบทความให้กับ Passion Times ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของกลุ่มการเมืองของเขา โดยเจิ้ง จุง-ไท้ กล่าวว่าเขาตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หลังจากที่เมื่อ 2 ปีก่อน พรรคDemocratic Party ได้เข้าไปเจรจากับสำนักงานประสานงานของรัฐบาลปักกิ่งเพื่อเสนอเรื่องแพ็กเกจการปฏิรูป และเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายสามารถประนีประนอมกันได้ เจิ้ง จุง-ไท้ พบว่าเขาไม่สามารถที่จะทนได้กับพรรคการเมืองที่ยึดแนวทาง “Pan-democrats” ได้อีกต่อไป

ในปี 2012 เขาเข้าร่วมกับพรรค Civic Passion เพื่อช่วย หว่อง เยิง-ตัด (Wong Yeung-tat) หาเสียงในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง และเมื่อปีที่แล้วเขาเป็นผู้จัดชุมนุมต่อต้านการกว้านซื้อสินค้าจากฮ่องกงไปขายฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่หลายหน โดยอ้างว่าการกว้านซื้อสินค้าจากฮ่องกงทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน

โดยหลังชัยชนะในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง เจิ้ง จุง-ไท้ กล่าวว่า เขาจะจัดการชุมนุมสไตล์ยั่วยุแบบนี้ต่อไปโดยผสานเข้ากับวัฒนธรรมป็อบ

ทั้งนี้เขาเป็นเพียง 1 คน จากผู้สมัคร 5 คน ของพรรค Civic Passion ที่ได้รับการเลือกตั้ง โดยเจิ้ง จุง-ไท้ กล่าวว่า เขาจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อผลักดันวาระของกลุ่มในการขยายกฎหมายพื้นฐานด้วยการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ชาวฮ่องกง

ในขณะที่พรรค Civic Passion และเครือข่าย ถูกวิจารณ์จากพรรคการเมืองสาย “Pan-democrats” ที่พยายามเดินสายกลาง แต่เจิ้ง จุง-ไท้ กล่าวว่า เขาจะพยายามหาทางร่วมมือกับพรรคการเมืองเหล่านั้นในการผลักดันแต่ละประเด็น เช่น เขาจะร่วมมือกับ “Pan-democrats” ในการต่อสู้เพื่อให้ฮ่องกงกลับมาเป็นฝ่ายควบคุมขั้นตอนการขอเอกสารเข้าเมืองของคนจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ปัจจุบันผู้ควบคุมขั้นตอนนี้คือรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่

“นอกจากนั้นแล้ว ผมมีจุดยืนเพื่อชาวฮ่องกง ไม่ใช่แค่กลุ่มของผมเท่านั้น” เจิ้ง จุง-ไท้ กล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

He’s the king of votes, but Eddie Chu warns of ‘storm of political violence’ after landslide Legco election win, SCMP, 5 September 2016

Profiles in victory and defeat: a look at a few notable Legco winners and losers, SCMP, 5 September 2016

Hong Kong legislative election, 2016 Wikipedia

Eddie Chu, Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท