สังคมไทย: สังคมนิยมวิทยาศาสตร์?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1.

ทุกครั้งที่นักเรียนจากประเทศไทยสามารถสร้างชื่อเสียงจากการคว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ผู้คนรอบตัวมักจะยกย่องว่านักเรียนเหล่านี้เป็นนักเรียนที่มีความสามารถและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

พวกเขาจะออกข่าวหนังสือพิมพ์ ออกรายการโทรทัศน์ ได้รับการชื่นชมยินดีจากคนรอบข้าง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนรุ่นต่อไป...ว่าอยากจะได้รับการยกย่องแบบรุ่นพี่เหล่านั้น

แต่หนทางของการเป็นนักเรียนโอลิมปิกนั้นไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ พวกเขาจะต้องผ่านการทดสอบหลายครั้ง ผ่านการอบรมจากค่ายโอลิมปิกในระดับภูมิภาค ผ่านการแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติของแต่ละสาขาวิชาต่างๆ ผ่านการอบรมรอบคัดผู้แทนประเทศ จะเห็นได้ว่าผู้แทนประเทศไม่ใช่ตำแหน่งที่จะได้มาอย่างง่ายๆ ต้องมีความรู้ทั้งในด้านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสาขานั้นๆ

ว่าแต่สาขาที่มีการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนั้นมีอะไรบ้าง?

หากเราสืบค้นจากข้อมูลของมูลนิธิ สอวน. พบว่าประเทศไทยได้ส่งผู้แทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ โลกและอวกาศ วิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และภูมิศาสตร์

จะเห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์เกือบทั้งสิ้น!

ถ้าจะบอกว่า “สังคมไทยมองเห็นว่าคนเก่งวิทยาศาสตร์คือคนที่สมควรได้รับการยกย่องจากสังคม” จะเป็นคำพูดที่ถูกต้องหรือไม่?

คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าครุ่นคิดเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างในสังคมนิยมวิทยาศาสตร์อย่างเช่นสังคมไทย?

2.

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นสะท้อนได้ว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับการเรียนวิทยาศาสตร์สูงมาก เพราะข่าวความสำเร็จของนักเรียนโอลิมปิกเป็นหนึ่งในภาพจำของสังคมไทยที่มีต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์

สังคมไทยให้ความสำคัญกับคนที่เก่งวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด รัฐเองก็ส่งเสริมและสนับสนุนวิทยาศาสตร์สูงมาก เพราะคนที่เรียนวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทุกคนล้วนมีหลักประกันการมีงานทำและได้รับการยกย่องจากคนในสังคมเสมอมา จนกลายเป็นค่านิยมว่านักเรียนสายสามัญจะต้องเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ถ้าอยากเรียนจบมาแล้วมีชีวิตที่ดี เมื่อดูโรงเรียนหนึ่งพบว่าห้องเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์จะมีจำนวนมากกว่าห้องเรียนสายศิลป์เสมอ

ในที่นี้ยังไม่นับรวมการให้ทุนการศึกษาให้กับนักเรียนสายวิทยาศาสตร์โดยหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รัฐให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก มีทั้งหลักประกันการทำงาน มีทั้งเงินทุนสนับสนุน มีหน่วยงานของรัฐสำหรับรองรับคนที่จบสายวิทยาศาสตร์มา แล้วสังคมไทยก็จะเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ คนไทยทุกคนก็จะกินดีอยู่ดีและมีความสุข

เด็กไทยเกือบทุกคนจึงแข่งขันกันเรียนวิทยาศาสตร์

น่าสงสัยคือว่าทุกสิ่งที่รัฐส่งเสริมให้กับวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ดีจริงหรือ?

แล้วถ้าเป็นสิ่งที่ดีจริง ประเทศไทยก็ควรจะเจริญเท่าเทียมกับประเทศอื่นแล้วสิ?

3.

ในขณะที่สังคมกำลังยกย่องคนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เราลองมามองในมุมกลับบ้างดีไหม?

นึกถึงคนที่ไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์

นึกถึงคนที่กดดัน เครียด หรือไม่มีความสุขเพราะเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์

นึกถึงคนที่ต้องฝืนทนเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ทั้งในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับอุดมศึกษาเพราะถูกสังคมบังคับ

เวลานึกถึงคนเหล่านี้ เราอยากจะช่วยให้พวกเขามีความสุขหรือไม่? เราจะปล่อยให้พวกเขาทนทุกข์ทรมาน ประสบ “ปัญหาชีวิตส่วนตัว” จนเป็นโรคเครียด เป็นโรคซึมเศร้า แล้วต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ทำอะไรร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เช่น เผาห้องสมุดของโรงเรียนจริงๆ หรือ?

คิดว่าปัญหาที่พวกเขาประสบพบเจอนั้นเป็น “ปัญหาส่วนตัว” จริงหรือ?

ในความเป็นจริงแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง มันมีผลมาจากการให้ความสำคัญกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐนับตั้งแต่ชนชั้นนำของสยามเริ่มเปิดรับวิทยาการตะวันตกจากมิชชันนารีหลัง
พ.ศ. 2371 เป็นต้นมา 

พูดง่ายๆ คือปัญหาเหล่านี้เกิดจากเงื่อนไขทางสังคม

แต่ในที่นี้ก็ไม่ได้บอกว่าวิทยาศาสตร์ผิด เพราะที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องของกระบวนการหาความรู้จากสิ่งรอบตัวอย่างเป็นระบบ คิดนอกกรอบ และมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องของการท่องจำหรือการจำวิธีทำแล้วเอาไปแก้โจทย์เลยแม้แต่น้อย

วิทยาศาสตร์ที่อยู่ในระบบการศึกษาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงอย่างนั้นหรือ!?

4.

ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ผู้เขียนได้สืบค้นจากอินเทอร์เน็ตว่ายังมีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในสาขาวิชาอื่นๆ
ที่ไม่ใช่กลุ่มวิชาสายวิทยาศาสตร์อีกหรือไม่?

ผู้เขียนพบว่า “มี” โดยอย่างน้อยในโลกนี้ก็มีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในสามสาขาวิชา คือ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และ ภาษาศาสตร์ (Linguistics)

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการศึกษาของภาครัฐยังให้ความสำคัญกับการเรียนศิลปะและมนุษยศาสตร์ไม่มากพอ หรือไม่ก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยเท่านั้น เพราะรัฐไทยไม่เคยส่งตัวแทนนักเรียนไทยไปแข่งขันโอลิมปิก ประวัติศาสตร์ โอลิมปิกปรัชญา หรือโอลิมปิกภาษาศาสตร์

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาอันซับซ้อน ที่ใครหลายคนมักจะมองข้าม

ถ้าสังคมไทยเปิดกว้างกับสาขาวิชาเรียนอื่นที่ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์มากกว่านี้ ถ้าสังคมให้การยอมรับการเรียนศิลปะ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มากกว่านี้ ถ้ารัฐพัฒนาสวัสดิการของประชาชนให้เท่าเทียมกันและทั่วถึงประชาชนมากกว่านี้ คนก็จะไม่ต้องแข่งขันกันเรียนวิทยาศาสตร์ แต่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามความสมัครใจ

ถ้าสิ่งที่หวังนั้นกลายเป็นความจริง นับจากนี้ก็จะไม่มีใครต้องนอนร้องไห้เพราะหาตัวเองไม่เจออีกต่อไป

อย่าลืมว่าสังคมที่ซาบซึ้งกับวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถพัฒนาร่างกายและจิตใจของคนในสังคมได้อย่างยั่งยืนและสมบูรณ์

โลกใบนี้ยังมีมุมมองอื่นๆ อันเป็นความแตกต่างในสังคมที่เราจะต้องยอมรับ

ความแตกต่างอย่างแรกที่เราต้องยอมรับคือวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง

มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถก้าวข้ามอะไรได้เลย

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท