Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


พุทธศาสนาไทย (Thai Buddhism) คือพุทธศาสนาที่ถูกวางกรอบในการศึกษาตีความคำสอน การปฏิบัติถูก ผิดตามธรรมวินัย และแบบแผนพิธีกรรมต่างๆ ภายใต้อำนาจควบคุมขององค์กรสงฆ์ของรัฐที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” ซึ่งเป็นองค์กรสงฆ์ที่รวมศูนย์อำนาจการปกครอง และใช้อำนาจแนวดิ่งแบบระบบราชการ พุทธศาสนาเช่นนี้เกิดจากแนวคิดปฏิรูปที่มีการแยกนิกายและวางแนวทางการตีความพุทธศาสนาให้ทันสมัยโดยรัชกาลที่ 4 แล้วสร้างระบบปกครองสงฆ์แบบราชการขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และยกสถานะเป็น “ศาสนาประจำชาติไทย” ที่เป็น 1 ใน 3 สถาบันหลัก คือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ในสมัยรัชกาลที่ 6

พุทธศาสนาไทยจึงต่างจากพุทธศาสนายุคประเพณี (traditional Buddhism) คือพุทธศาสนายุคก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ย้อนไปหลังสมัยพุทธศาสนาแบบอโศก (Asokan Buddhism) ในพุทธศาสนายุคประเพณี คณะสงฆ์ในราชธานีมีสมณศักดิ์หรือศักดินาพระ มีข้าทาส และที่ดินที่ราชสำนักจัดให้ตามลำดับสูง ต่ำทางศักดินา และพระที่มีสมณศักดิ์ย่อมต้องทำหน้าที่ตอบสนองหรือไม่ขัดแย้งกับชนชั้นปกครอง แต่คณะสงฆ์ยุคนี้ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่มีการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง คณะสงฆ์หัวเมืองต่างๆ มีอิสระปกครองกันเองตามสายครูอาจารย์ของตน

ส่วนพุทธศาสนาแบบอโศก คณะสงฆ์ไม่ได้มีทั้งสมณศักดิ์และตำแหน่งอำนาจทางกฎหมาย เพียงแต่รัฐมีอำนาจเข้ามาจัดการปัญหาภายในของคณะสงฆ์ได้ เช่นจับพระหรือภิกษุณีสึกในฐานความผิดที่ทำ “สังฆเภท” หรือทำให้สงฆ์แตกสามัคคีเป็นต้น ขณะเดียวกันรัฐก็เข้ามาอุปถัมภ์ส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งในชมพูทวีปและส่งพระภิกษุ ภิกษุณีออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งในเอเชียและยุโรป

สำหรับพุทธศาสนายุคต้น (early Buddhism) หรือพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลที่เราทราบจากคัมภีร์พระไตรปิฎก พุทธะและสังฆะเป็นอิสระจากรัฐ คือไม่เข้าไปมีตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจในโครงสร้างการปกครองของรัฐ และเป็นอิสระจากระบบชนชั้น (วรรณะสี่) จึงทำให้พุทธะและสังฆะมีอิสระปกครองกันเองตามธรรมวินัย และมีอิสระในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของระบบวรรณะ และปัญหาของการปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ ผ่านบทสนทนาในพระสูตรและชาดกต่างๆ

สรุปว่า พุทธศาสนาไทยต่างจากพุทธศาสนายุคประเพณี ยุคอโศก และยุคต้นใน “สาระสำคัญ” เพราะพุทธศาสนาไทย พระสงฆ์มีทั้งตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจทางกฎหมายและสถานะทาง “ชนชั้น” ตามสมณศักิด์หรือศักดินาพระ และมีอำนาจผูกขาดการศึกษาตีความธรรมวินัย โดยที่พุทธศาสนายุคอื่นๆ ไม่เคยมีอำนาจเช่นนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์ จะเห็นว่าศาสนาคริสต์ของชาวยิวสมัยพระเยซู มีคำสอนที่เรียบง่ายในเรื่องความรักและการให้อภัย ไม่มีระบบปรัชญาที่ซับซ้อน เป็นศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ ตั้งคำถามกับอำนาจรัฐ คนชั้นสูงและคนรวย ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้กับคนจน คนชั้นล่าง คนบาป โสเภณี เป็นต้น คล้ายกับพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลที่เป็นอิสระจากรัฐ ตั้งคำถามกับความคิดและอำนาจของชนชั้นนำ เปิดพื้นที่ให้คนทุกชนชั้นได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมและบรรลุจุดหมายสูงสุดคือ “นิพพาน” โดยเฉพาะพุทธะได้ทำให้นิพพาน(ซึ่งในความเชื่อเดิมเป็นของคนเฉพาะกลุ่ม)กลายเป็น “ของสาธารณ์” เพราะในคัมภีร์พุทธศาสนามีทั้งเด็กชาย เด็กหญิง สตรีชาวบ้านธรรมดาและคนทุกวรรณะ ทั้งนักบวชและฆราวาสบรรลุธรรมได้เสมอกัน

แต่ศาสนาคริสต์ที่มาเจริญรุ่งเรืองในโรม เป็นศาสนาคริสต์แบบชาวยุโรปที่มีส่วนผสมของปรัชญากรีก ทำให้เกิดการตีความ God, สถานะของพระเยซู และคำสอนอย่างซับซ้อน มีทั้งความพยายามจะทำให้ศรัทธา(faith)กับเหตุผล(reason)จับมือไปด้วยกัน แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนความขัดแย้งระหว่างศรัทธากับเหตุผลตลอดเวลา สภาวะดังกล่าวทำให้มีการตีความ God สนับสนุนทั้งอำนาจเผด็จการ และเสรีภาพ ความเสมอภาค ในช่วงที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกเรื่องอำนาจในยุคกลาง ย่อมมีการตีความ God สนับสนุนอำนาจเผด็จการของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ แต่เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนา (Reformation) และเกิดแนวคิดปรัชญามนุษยนิยม เสรีนิยมมาท้าทายศาสนาในยุคสว่าง (the Enlightenment) ก็เกิดการตีความ God ในทางสนับสนุน “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) เสรีภาพ และความเสมอภาคมากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ได้เกิดแนวคิด secularism หรือแนวคิดโลกวิสัย และเกิดกระบวนการ secularization หรือการทำให้เป็นทางโลกทั้งในเรื่องการเมือง การศึกษา ศิลปะ ศีลธรรมและอื่นๆ ให้หลุดออกมาจากอิทธิพลครอบงำของศาสนา และให้  “แยกศาสนาจากรัฐ” (separation of church and state) คือรัฐไม่นำความเชื่อ ปรัชญาการเมืองแบบศาสนา กฎศีลธรรมแบบศาสนามาใช้เป็นหลักการปกครองอีกต่อไป และรัฐก็ไม่ใช้อำนาจแทรกแซงความเชื่อทางศาสนา หรือกิจการภายในของศาสนจักรที่เป็นเอกชน รัฐเพียงแต่รักษาเสรีภาพทางศาสนาและให้หลักประกันความเสมอภาคระหว่างศาสนารวมทั้งความเชื่ออื่นๆ และการปฏิเสธศาสนาด้วย

พูดง่ายๆคือ กระบวนการ secularization ในเรื่องแยกศาสนาจากรัฐ คือความพยายามจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐใหม่ เป็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของรัฐกับศาสนาให้ชัดเจนขึ้น โดยถือว่า “พื้นที่สาธารณะ” (public sphere) ที่เป็นปริมณฑลหรือขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครอง การให้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมแก่พลเมืองเป็นหน้าที่ของรัฐ ส่วนศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือกนับถือศาสนาใดๆ หรือปฏิเสธศาสนาใดๆก็ได้ รัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนา” (religious neutral )คือไม่สนับสนุนศาสนาใดๆและไม่สนับสนุนการปฏิเสธศาสนาใดๆด้วยเช่นกัน ศาสนาคริสต์ทั้งนิกายเก่าและนิกายใหม่ๆ ที่ถูกท้าทายจากกระบวนการ secularization ดังกล่าว จึงได้เกิดการปฏิรูปตัวเอง และพยายามปรับตัวให้เข้ากับ “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) ตามกรอบคิดเสรีนิยม

แน่นอนว่า กระบวนการ secularization โดยเฉพาะประเด็น “การแยกศาสนาจากรัฐ” เป็น “อุดมคติ” (ideal) อย่างหนึ่งของ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) เช่นเดียวกับประชาธิปไตย เสรีนิยม หรือเสรีภาพ ความเสมอภาคก็เป็นอุดมคติเช่นกัน แม้แต่ความเป็นสมัยใหม่เองก็เป็นอุดมคติ ไม่ใช่สภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในตัวมันเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ปรากฏ “สภาวะจริง” ที่เข้าใกล้อุดมคติมากหรือน้อยกว่ากันอยู่จริง

ถ้าเรามองว่า ความเป็นสมัยใหม่ที่แสดงออกในรูปของเสรีประชาธิปไตยและกระบวนการ secularization เป็นอุดมคติ ก็แปลว่าเสรีประชาธิปไตยและขบวนการ secularization ก็คือการเดินทางเพื่อเข้าใกล้อุดมคติ มันจึงไม่ใช่สภาวะที่เสร็จสมบูรณ์และหยุดนิ่ง เราจึงได้เห็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีลักษณะแตกต่างในบางด้าน และเห็นประเทศที่ประกาศเป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ที่ยังมีลักษณะต่างกันในบางด้าน หรือแต่ละที่มีการทำให้ศาสนาออกไปจากการเมืองหรือพื้นที่สาธารณะได้มากน้อยไม่เท่ากัน

แต่แกนกลางของ secularization ก็คือ ต้องการให้เกิดเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาอย่างแท้จริง ทำให้รัฐมีความเป็นกลางระหว่างศาสนาต่างๆและการปฏิเสธศาสนาหรือการไม่นับถือศาสนาอย่างแท้จริง เพื่อให้หลักประกันสิทธิในเสรีภาพที่จะเลือกคุณค่า อุดมคติการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคลให้มากที่สุด ขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนาให้มากที่สุด เช่นเดียวกับการพยายามลดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศสภาพ ชาติพันธุ์ สีผิว และอื่นๆ

การที่ศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตกผ่านการท้าทายจากขบวนการ secularization จึงทำให้ศาสนาคริสต์ถูกกำหนดตำแหน่งแห่งที่และบทบาททางสาธารณะในสังคมสมัยใหม่ชัดเจนขึ้น แน่นอน อาจเกิด desecularization ที่ทำให้ศาสนาเข้ามามีบทบาททางสังคมการเมืองในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่บทบาทที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการ หากแต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียม เช่นการต่อสู้ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์และขบวนการชาวคริสต์อื่นๆในสังคมสมัยใหม่ตะวันตก หรือมองกว้างออกไปอาจรวมถึงการใช้แนวคิดทางศาสนาในการต่อสู้ของคานธีเพื่ออิสรภาพของประเทศอินเดีย การต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมของอนาคาริกะ ธรรมปาละในศรีลังกา รวมทั้งขบวนการพระสงฆ์และชาวพุทธในพม่าที่ใช้พุทธศาสนาเป็นฐานทางปัญญาและวัฒนาธรรมต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม

แต่ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ศาสนาในการต่อสู้ของคานธี ก็ไม่สามารถจะข้ามพ้นระบบวรรณะ ขณะที่พุทธศาสนาในศรีลังกาและพม่า ก็ไม่สามารถข้ามพ้นอคติเรื่องชาติพันธุ์และความรุนแรงระหว่างศาสนา พูดให้ถึงที่สุดก็คือพุทธศาสนาไม่สามารถเป็นพลังสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เสรีภาพและความเสมอภาคได้ หรือยังไม่สามารถยกระดับตัวเองให้เคารพหลักการพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่คือหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้อย่างแท้จริง

ส่วนพุทธศาสนาไทยนั้น ไม่ได้ถูกประเทศเจ้าอาณานิคมแยกออกจากโครงสร้างอำนาจรัฐแบบยุคเก่าอย่างพุทธศาสนาในศรีลังกาและพม่า และพุทธศาสนาไทยก็ไม่ได้ผ่านการท้าทายของขบวนการ secularization ผลก็คือ ทำให้พุทธศาสนาไทยติดอยู่ในโลกของ “มายาคติ” 2 ระดับที่สำคัญ คือ

มายาคติที่ว่าเป็นพุทธศาสนาที่รักษาธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ถูกต้องตามพระไตรปิฎกมากที่สุด พระไทยเคร่งธรรมวินัยมากที่สุด แต่แท้จริงแล้วระบบสงฆ์ไทยเป็นระบบที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ พระสงฆ์มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจทางทางกฎหมาย มีชนชั้น และพุทธศาสนาไทยก็เป็นเครื่องมือสนับสนุนอำนาจรัฐ จึงเป็นการสวนทางกับพุทธะและสังฆะตามธรรมวินัยที่เป็นอิสระจากรัฐ

และมายาคติที่ว่า พุทธศาสนาไทยต้องปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคม จะให้เป็นแบบสมัยพุทธกาลไม่ได้ เมื่อรัฐกำหนดให้คณะสงฆ์มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจทางกฎหมายเพื่อให้มีระบบการปกครองสงฆ์ทำหน้าที่รักษาธรรมวินัย คณะสงฆ์ก็ต้องคล้อยตามรัฐ ปฏิเสธไม่ได้

แต่คำถามคือทำไมคณะสงฆ์ไทยจึงคิดว่าควรจะคล้อยตามเฉพาะรัฐสมัยเก่าเท่านั้น ทำไมไม่ยอมปรับตัวคล้อยตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่

ถ้าพุทธศาสนาไทยยอมปรับตัวคล้อยตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย คือ “แยกศาสนาจากรัฐ” ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องทั้งตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ และถูกต้องทั้งตามแนวทางของพุทธะและสังฆะตามธรรมวินัยที่เป็นอิสระจากรัฐ

ไม่ได้หมายถึงการกลับไปเป็นแบบสมัยพุทธกาลทุกอย่าง เพราะบริบททางสังคมและวัฒนธรรมต่างกันมาก แต่ที่น่าจะเป็นไปได้คือ การแยกศาสนาจากรัฐย่อมทำให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากการตกเป็นเครื่องมือของรัฐและมีอิสระที่จะอ้างธรรมะ ศีลธรรมตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจเผด็จการได้แบบที่พุทธะและสังฆะในอดีตเคยทำมาก่อน และจะทำให้พุทธศาสนาเปิดกว้าง ยืดหยุ่น มีความหลากหลาย และเป็นกัลยาณมิตรเคียงข้างกับประชาชนที่ถูกกดขี่เอาเปรียบในสังคมได้มากขึ้น 

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net