ศาลปกครองชี้ความเสียหายกับเพิงพักกะเหรี่ยงแก่งกระจาน-ถือว่าจนท.ใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลางพิพากษาให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าสินไหมความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ให้กับชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการรื้อถอนและเผาทำลายเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางข้าว ส่วนความเสียหายที่เกิดกับเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างฯ ถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย  

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Pornpen Khongkachonkiet

7 ก.ย. 2559 รายงานข่าวจากศาลปกครอง ระบุว่า ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้อ่าน คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่  ส. 58/2555 หมายเลขแดงที่ ส. 660 /2557 ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่ 1 นายแจ พุกาด ที่ 2 นายหมี หรือกิตา ต้นน้ำเพชร ที่ 3 นายบุญชู พุกาด ที่ 4 นายกื๊อ พุกาด ที่ 5 และนายดูอู้  จีโบ้ง ที่ 6 (ผู้ฟ้องคดี) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 2 (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกรณีที่เมื่อวันที่ 5 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เดินทางไปยังบ้านของผู้ฟ้องคดีทั้งหกและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้มีคำสั่งโดยไม่เป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกออกจากบ้าน โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย – สหภาพเมียนมาร์ บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและไม่มีสิทธิอาศัยทำกินในป่าแก่งกระจาน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ทำการจุดไฟเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก อันเป็นการปฏิบัติตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดันหรือจับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวชายแดนไทย – สหภาพเมียนมาร์ ที่มีชื่อเรียกว่า ยุทธการตะนาวศรี ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเห็นว่า การกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการบอกกล่าวหรือแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกทราบว่า ไม่สามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและคณะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกรวมเป็นเงิน ทั้งสิ้นจำนวน 9,533,090 บาท กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) มีบ้านเรือนอยู่อาศัยในชุมชนกะเหรี่ยงตั้งอยู่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และผู้ฟ้องคดีมีที่ดินทำกินซึ่งทางราชการจัดสรรให้ทำกินในชุมชนหมู่บ้านดังกล่าวในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนที่ดินแปลงที่เกิดเหตุพิพาทในกรณีนี้ เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่บริเวณป่าดงดิบในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าลึกตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทย – สหภาพเมียนมาร์ ที่ดินที่ตั้งอยู่บนเทือกเขา มีความชันของพื้นที่ 40 – 70 องศา ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 – 1,000 เมตร การเข้าไปถึงที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว คณะเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้สนธิกำลังกันร่วมปฏิบัติการโดยใช้เฮลิคอปเตอร์บินเข้าไปตรวจการณ์และชี้เป้าหมาย พร้อมกับให้กำลังเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่ออกเดินทางร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหรือตัวแทนของประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 ซึ่งเดินเท้าออกจากชุมชนหมู่บ้านเข้าไปในป่าลึกบริเวณดังกล่าว โดยใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปเป็นเวลาหลายวัน สภาพของที่ดินแปลงที่เกิดเหตุพิพาท มีสภาพเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกแผ้วถางเผาป่า ในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าดงดิบธรรมชาติบนเทือกเขาให้เป็นพื้นที่โล่งสำหรับใช้เพาะปลูกเป็นแปลงใหม่ มีซากต้นไม้และตอไม้ถูกตัดโค่นและถูกเผากระจายอยู่ทั่วทั้งแปลงที่ถูกบุกรุก ในขณะที่พื้นที่โดยรอบของที่ดินที่เกิดเหตุพิพาท และโดยรอบของที่ดินแปลงอื่นที่ถูกบุกรุกป่าในบริเวณใกล้เคียง ยังคงมีสภาพเป็นป่าดงดิบบนเทือกเขาการบุกรุกแผ้วถางป่าแปลงที่เกิดเหตุพิพาทในกรณีนี้ ไม่ได้กระทำในพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวกะเหรี่ยง และไม่ใช่แปลงที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ทางราชการจัดสรรให้ทำกิน รวมทั้งไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง จึงเป็นการบุกรุกแผ้วถางหรือเผาป่าเพื่อเข้ายึดถือหรือครอบครองทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  อีกทั้ง การที่ผู้บุกรุกแผ้วถางได้ทำการก่อสร้างเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยหรือยุ้งฉางข้าวบนที่ดินดังกล่าว ย่อมเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีการล่าสัตว์ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 16 (1) (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการกระทำความผิดในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดังกล่าว จึงได้ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนชาวกะเหรี่ยงทั้งสองหมู่บ้าน เดินเท้าเข้าไปยังสถานที่ที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่า ถึง 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งหากพบผู้กระทำความผิด จะทำการเจรจาโดยให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงหรือตัวแทนชาวบ้านเป็นผู้ทำหน้าที่เจรจา และกำหนดเวลาให้โอกาสผู้กระทำความผิดไปทำการรื้อถอนเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้าง และเก็บทรัพย์สินออกไปจากที่ดินที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าดังกล่าว หลังจากพ้นกำหนดเวลาไปนานพอสมควรแล้ว คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นสำรวจและชี้เป้าหมายทางอากาศ ในขณะเดียวกันคณะของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงทั้งสองหมู่บ้าน ได้เดินเท้าเข้าไปยังที่ดินแปลงพิพาท ที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แล้วไม่พบผู้กระทำความผิด แต่ยังคงมีเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางข้าวตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยเจ้าของไม่ได้ทำการรื้อถอนออกไปตามที่เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนได้แจ้งเตือนไว้ คณะของพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจที่จะทำการรื้อถอนหรือเผาทำลายได้ และโดยที่สภาพพื้นที่เป็นป่าลึกในลักษณะดังกล่าว การรื้อถอนให้คงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ การรื้อถอนจึงย่อมจะไม่มีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกแผ้วถางป่าบรรลุผล ดังนั้น การที่คณะเจ้าหน้าที่ได้ทำการเผาสิ่งปลูกสร้างเช่นว่านั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์เช่นนั้นแล้ว เฉพาะในส่วนของความเสียหายที่เกิดกับเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางข้าวที่ถูกเผาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวที่อยู่ในเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งของที่จำเป็นจะต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน สิ่งของในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2503 อีกทั้งก่อนที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะทำการเผาที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าว เจ้าหน้าที่นั้นอยู่ในวิสัยที่จะทำการเก็บรวบรวมทรัพย์สินหรือสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว แล้วนำออกมาเก็บรักษาไว้ เพื่อประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อขอรับคืนในภายหลัง หรือจัดเก็บแยกออกจากสิ่งก่อสร้างที่จะเผาทำลายได้แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่กลับมิได้ดำเนินการดังกล่าว โดยปล่อยให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้บุกรุกแผ้วถางป่าที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยถูกไฟเผาไหม้ไปพร้อมกับเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้าง เห็นได้จากหลักฐานภาพถ่ายว่ามีเศษซากสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ประจำตัวบางอย่างที่ตกค้างเหลืออยู่ในกองขี้เถ้าอย่างชัดเจน  ดังนั้น การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่มีผลทำให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยต้องเสียหายไป เพราะถูกไฟไหม้ไปพร้อมกับเพิงพักหรือสิ่งก่อสร้างเช่นว่านั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะพึงต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก นั้น  เห็นว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่จะแสดงให้เห็นถึงราคาหรือมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวที่ถูกไฟไหม้เสียหายได้ ศาลจึงต้องวินิจฉัยไปตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีของผู้ฟ้องคดีทั้งหกมีบ้านพักอาศัยที่แท้จริงอยู่ในชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพรียง บริเวณที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้อยู่อาศัยอยู่แล้ว สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกนำมาเก็บรักษาไว้ในเพิงพักซึ่งตั้งอยู่ในป่าลึกดังกล่าว จึงย่อมจะมีมูลค่าหรือราคาไม่สูงมากนัก  ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท และกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวของผู้ที่อาศัยอยู่ในเพิงพักแต่ละคนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ประจำตัวอื่นๆ อีก เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท

สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นฟ้องโดยระบุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ถูกฟ้องคดีด้วย นั้น เห็นว่า หน่วยงานต้นสังกัดของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ที่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก ได้แก่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเพียงหน่วยงานระดับกระทรวงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นหน่วยงานระดับกรมหน่วยงานหนึ่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เท่านั้น ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงไม่อาจฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

ดังนั้น ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก แต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท ทั้งนี้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท