Skip to main content
sharethis

ชาวป้อมมหากาฬเปิดใจหลังถูก กทม. ไล่รื้อ เมื่อ 3-4 กันยายนที่ผ่านมา คนในชุมชนกังวล กทม. ไม่รักษาสัญญา ดำเนินการไล่รื้อต่อไม่ฟังเสียงชุมชนและข้อตกลงร่วมกัน ชาวป้อมฯ ยังคงยืนยันว่าคนจนอยู่ร่วมกับการพัฒนาเมืองได้

4 กันยายน 2559 ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพฯ หลังจากชาวบ้านต่อสู้ที่จะอยู่ในพื้นที่ของพวกเขามากว่า 24 ปี เมื่อ 3 กันยายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เข้าทำการไล่รื้อถอนบ้านเรือนไปแล้ว 12 หลัง ตามข้อตกลงที่เกิดจากการที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่รับเงินและสมัครใจที่จะให้ทำการรื้อถอน แต่ชุมชนป้อมมหากาฬยังคงกังวลและต้องการเรียกร้องให้ กทม. ทำตามข้อเสนอคือตั้งกรรมการพหุภาคีเพื่อจัดการปัญหาให้มีสวนสาธารณะที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้

ในโอกาสนี้ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรื้อถอนเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา โดยชาวชุมชนมีความกังวลหาก กทม. ไม่ทำตามข้อตกลงพวกเขาก็คงยืนยันที่จะสู้ และขออยู่และเลือกที่จะตายที่นี่ต่อไป

ความพิการที่เกิดจากการต่อสู่เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยในบ้านเกิด

ภาพ สภาณัช ประจวบสุข และสภาพข้างบ้านหลังจากเจ้าหน้าที่ กทม.รื้อถอน เมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา

สุภาณัช ประจวบสุข อายุ 52 ปี ผู้พิการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ บ้านเลขที่ 159 กล่าวถึงสถานการณ์การไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 และ 4 กันยายนที่ผ่านมาว่า บ้านของตนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการรื้อถอนของเจ้าหน้าที่ กทม. และกรมโยธาฯ สภาพปัจจุบันบริเวณที่ทำการรื้อถอนนั้นเจ้าหน้ารัฐยังทิ้งซากปรักหักพังไว้จำนวนมากทำให้ตนไม่สามารถพักอาศัยได้อย่างสบายใจ เพราะกลัวว่าจะเกิดเพลิงไหม้ และกลัวสัตว์มีพิษต่างๆ มาอยู่อาศัย

สุภาณัช กล่าวต่อว่า แม้บ้านของตนจะไม่ได้อยู่ในข้อตกลง 12 หลังที่ กทม. จะทำการรื้อถอน แต่บ้านของตนนั้นอยู่คั้นกลางระหว่างบ้านที่ถูกสั่งให้มีการรื้อถอน ซึ่งในวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้ามารื้อบ้านในชุมชน ตนก็นั่งอยู่ในบ้านระหว่างเจ้าหน้าที่ทำการรื้อถอน เพราะว่าตนนั้นเดินลำบากด้วยร่างกายที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีอาการลมชักต้องรับประทานยาประจำ ซึ่งในขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการรื้อ ก็มีเจ้าหน้าที่ กทม. ระดับสูงเดินเข้ามาในบ้านของตนโดยพละการ เจ้าหน้าที่คนนั้นเดินเข้ามาหาและเกลี้ยกล่อมให้ตนยอมให้รื้อถอนบ้าน โดยบอกกับตนว่าจะได้ปรับพื้นที่บริเวณนี้ให้โล่งๆ เพราะบ้านของตนมาอยู่กั้นขวางพื้นที่อยู่หลังเดียวและถ้าตนยินยอมก็จะได้มีรายได้ไว้รักษาตัว ซึ่งตนรู้สึกเศร้าใจและโมโหเพราะตนได้ปฏิเสธมาตลอด 20 กว่าปีว่าจะไม่ย้ายออกจากชุมชนแห่งนี้ ขณะนั้นตนอยู่กับหลานในบ้านแค่ 2 คน ตนก็รู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามและไม่วางใจว่าเจ้าหน้าที่จะทำตามคำมั่นสัญญาที่จะไม่รื้อบ้านตนในอนาคต

ภาพ สภาณัช ประจวบสุข กับบัตรคนพิการ เกิดจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

"การต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬกับ กทม. ทำให้เราสูญเสียทุกอย่างไม่ว่าจะสูญเสียเงินทอง อาชีพ และตัวพี่เองสูญเสียแม้กระทั้งสภาพร่างกาย ตั้งแต่ปี 2546 สมัยสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่า กทม. ก็มีการออกหมายไล่รื้อชุมชน ขู่ว่าจะเอาเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไล่รื้อบ้านเอาเราออกไป บางวันบอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่พันคนบางวันบอกสองพันคนเข้ามารื้อถอน ตอนนั้นชาวบ้านจะวางใจกับการอยู่อาศัยได้อย่างไร และบ้านนี้ก็เป็นบ้านเกิดของเราจะให้ทิ้งไปก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน ทำให้พวกเราคนในชุมชนต้องปิดชุมชนป้อมมหากาฬมีการเฝ้าเวรยามตลอด 6 เดือนในช่วงนั้น”

“ตัวพี่เองก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาการไล่รื้อชุมชน ทำให้ต้องออกจากงาน เพราะมาต่อสู้เพื่อชุมชน เพื่อบ้านของเรา สมัยนั้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีอยู่ที่ศูนย์การค้าวรจักร ได้เงินเดือน 18,000 บาท แต่พอ กทม. จะมาไล่รื้อ เราต้องเป็นเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเรายังสาว เราก็มาช่วยคนในชุมชน แต่เราก็อยู่ได้แค่ประมาณ 10 โมง แล้วค่อยไปทำงาน ช่วงนั้นไปสายประจำจนเถ้าแก่เจ้าของศูนย์การค้าวรจักรที่เราทำงานด้วยพูดกับเราว่าเลือกเอาระหว่างที่ซุกหัวนอนกับที่ทำมาหากิน พี่ก็เลยตอบแบบไม่ต้องคิดว่าเลือกที่ซุกหัวนอน เราก็ลาออกเลยทำให้ไม่มีรายได้ หลังจากออกจากงานก็เครียดมากไม่นานก็มีอาการเป็นลมล้มชักบ่อย พอบ่อยครั้งคนในชุมชนก็พาเราไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วงนั้นทั้งอาย ทั้งทำใจไม่ได้ เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติอย่างเคย จากที่เป็นผู้หญิงที่สวยคนหนึ่ง เป็นนางรำ เราต้องกลายเป็นคนพิการ พี่บอกได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากความเครียดเรื่องการไล่รื้อบ้านของเรา”

"พี่บอกตรงๆ ว่าพี่เลือกเกิดไม่ได้ ทุกคนอยากเกิดในที่ดีๆ พ่อแม่รวยๆ แม้พี่จะเกิดมาในชุมชนป้อมมหากาฬ แต่ก็ภูมิใจที่เกิดมาในพื้นที่นี้ เราเลือกเกิดไม่ได้แต่เราเลือกพื้นที่ที่เราจะตายได้ แล้วทุกวันนี้พี่ต้องกลายเป็นคนพิการเพราะความเครียดจากการไล่รื้อตลอดระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา จากที่เคยเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง สดใสแข็งแรง แต่พอกระแสรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีการไล่รื้อบ้านเราตลอดเวลา มีหมายศาลติดทุกบ้าน เราคิดว่าเราเป็นคนไทยทำไมทำแบบนี้กับเรา เราเป็นคนไม่ใช่สิ่งของดินทรายจะเอาไปยกไปปลูกตรงไหนก็ได้ เรามีเลือดเนื้อ อย่าลิดรอนสิทธิความเป็นคนของเรามากเกินไป"

 

ความกังวลของผู้สูงอายุ ถ้าเกิดไฟไหม้ ไล่รื้ออีกจะทำอย่างไรต่อไปได้

สมพร อาปะนันท์ ผู้สูงอายุในชุมชนป้อมมหากาฬ

สมพร อาปะนันท์ อายุ 75 ปี ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ อาชีพขายของชำ บ้านเลขที่ 169 ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนมานานกว่า 40 ปี ซึ่งย้ายเข้ามาในชุมชนเนื่องจากมาแต่งงานกับคนในชุมชนป้อมฯ จนมีลูกหลานอาศัยอยู่ในชุมชนนี้ กล่าวถึงเหตุการณ์การไล่รื้อวันที่ 3-4 กันยายนที่ผ่านมาว่า มีความรู้สึกกลัวมากๆ เพราะตั้งแต่ตอนปี 2546 ชุมชนป้อมมหากาฬก็ไม่เคยอยู่ปกติ ตอนนั้นหลานกำลังเรียนหนังสือตนต้องดูแลหลาน ต้องไปส่งที่โรงเรียนคอยดูแลความปลอดภัยต่างๆ ให้ ครอบครัวก็เปิดร้านขายของชำซึ่งก็ได้ผลกระทบด้านเพราะพอมีปัญหามากๆก็ไม่ได้ทำมาหากินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต้องเฝ้าบ้านที่กลัวจะถูกไล่รื้อทำให้รายได้ไม่ค่อยดี แม้บ้านของตนไม่ได้ถูกกำหนดให้มีการไล่รื้อแต่บ้านของตนก็อยู่ติดกับบ้านที่ถูกรื้อซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงทิ้งซากปรักหักพังไว้ ทำให้มีความกังวลตลอดว่าจะมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นกับบ้านของตนหรือไม่ ไม่ว่าจะกลัวเพลิงไหม้ สัตว์มีพิษมาอยู่อาศัย หรือว่าเจ้าหน้าที่ กทม. จะมาใช้อำนาจไล่รื้อบ้านตน

"บ้านของเราเป็นบ้านของบรรพบุรุษสามีที่เขาซื้อมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เขาอยู่มาหลายชั่วรุ่น ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา มีความรู้สึกกลัวมากๆ เลย เจ้าหน้าที่มาเยอะมาก เรากลัวมากและเราก็ปวดขา แก่แล้วต้องใช้ไม้เท้า เราก็ไม่กล้าเดินออกไปดูอยู่แต่ในบ้านตอนเจ้าหน้าที่รื้อถอน ตอนนี้เราก็ยังกลัวกลางคืนไม่กล้านอนได้ยินเสียงอะไรเคลื่อนไหวข้างๆบ้านก็กลัว กลัวไฟไหม้ กลัวงู กลัวอะไรจะมาอยู่ในบ้าน และยังคิดตลอดเลยว่าถ้าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจมารื้อบ้านเราจะทำอย่างไร จะไปอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่นี่มาตลอด"

สมพร อาปะนันท์ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กับสภาพข้างบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่รื้อถอนเมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา

"กลางคืนก็ไม่กล้านอน กลางวันก็เฝ้าอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่มารื้อแล้วก็ไม่ยอมมาเก็บไป เป็นเชื้อไฟอยู่ตรงนั้น มีแต่ฝืน มีแต่ไม้ เราแก่แล้วเราก็กลัวว่าถ้าไฟไหม้ขึ้นมาจะทำอย่างไร ถ้าใครโยนไฟลงไปเราก็ถูกเผาสดเลย หลานก็นอนอยู่ในบ้าน สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือไฟและอีกอย่างคือกลัว กทม. เข้ามาไล่อีก”

“ที่คนในสังคมมองว่าเราไม่ยอมออกจากพื้นที่ มองว่าเราดื้อต่อรัฐ เราไม่ได้ดื้อนะ เราอยู่มาตั้งแต่เกิด กทม.จะทำสวนอะไรเราก็จะช่วยดูแล ขอแค่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็ทำตามที่เขาบอก เราไม่ได้ดื้อแค่ขออยู่บ้านตัวเองไล่เราแล้วจะให้เราไปอยู่ไหน ที่นี่บ้านของเรา ลูกเกิดที่นี่ พ่อของลูกมันก็ตายที่นี่ คนที่ไม่เข้าใจ จงเข้าใจคนป้อมฯ เถอะ สงสารคนแก่บ้าง คนแก่ในนี้ก็มีมาก หาหมออยู่ใกล้ๆ แถวนี้ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลหัวเฉียว มีนัดทุกเดือน ถ้าย้ายไปจะไปหาหมออย่างไร ถ้าไปไกลๆ จะทำอย่างไร ขอวิงวอนเถอะนะ ให้อยู่ที่นี่ต่อเถอะ”

 

ความเป็นคนในชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่ใช่อยู่ที่กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินแต่คือคนที่อยู่กินต่อสู้ด้วยกันมา

ภาพ สง่า มาตขาว ชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ถูกรื้อบ้านเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา

สง่า มาตขาว อายุ 66 ปี อาชีพขับรถสามล้อ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ บ้านเลขที่ 49/1 กล่าวว่า ตนเองถูกรื้อบ้านเมื่อวันที่ 4 และพึ่งทราบว่าบ้านต้องถูกรื้อเพียง 2 วันที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจและยากจะรับได้ เนื่องจากไม่เคยคิดมาก่อนว่าบ้านจะถูกรื้อและไม่ได้ตระเตรียมว่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากตนเองไม่ใช่เจ้าของบ้านหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นเพียงผู้เช่า แต่ก็เช่ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2522 เป็นเวลากว่า 37 ปีที่อาศัยอยู่ที่แห่งนี้ ในช่วงเวลานั้นการเช่าเป็นการพูดสัญญากันปากเปล่าใช้ความไว้วางใจและการพึ่งพากันในสังคม จึงไม่เคยมีหลักฐานการอยู่อาศัยที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นคนที่อยู่กับชุมชนป้อมฯ มาตลอดและชุมชนป้อมฯ ก็เหมือนกับบ้านของตนที่เรามาสร้างครอบครัวอยู่ที่นี่และคิดว่าจะฝากชีวิตไว้ในพื้นที่แห่งนี้ เพราะที่นี่เป็นที่อาศัย เป็นที่ทำมาหากิน และความสัมพันธ์ก็อยู่ด้วยกันแบบพี่น้องญาติมิตรทำให้เกิดความอุ่นใจ

"เราเข้ามาอยู่ตั้งแต่ ปี 2522 ตอนแรกที่เข้ามาอยู่ไม่ได้อยู่บ้านที่ถูกรื้อไป แต่อยู่บ้านหลังติดกัน แต่เจ้าของบ้านที่ถูกรื้อในอดีตเขามาชวนให้เราเช่าบ้านและจ้างให้เลี้ยงลูกเขา เขาก็บอกว่าให้ค่าเลี้ยงลูก 1,200 บาท ค่าเช่าบ้าน 900 บาท เขาให้เราเลี้ยงลูกเขาให้และเขาก็ออกไปอยู่นอกชุมชน แต่พอเวลาผ่านมา 20 กว่าปี มีหมายไล่รื้อชุมชนเจ้าของบ้านเขาไปรับเงินจาก กทม. ค่าไล่รื้อ ทั้งๆ ที่เรายังเช่าเขาอยู่ วันที่เขามาที่บ้านหลังนี้ช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้ามาทำการรื้อถอนบ้าน เขากลับพูดว่าเราไม่เคยเช่าเขา เขาให้เราอยู่ฟรีๆ ตลอดมา ทั้งๆ ที่เราเลี้ยงลูกให้เขาและภรรยาเราก็จ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้เขาด้วย เราเลี้ยงลูกเขาเหมือนลูกตัวเองให้เงินไปโรงเรียนและเราก็เช่าเขาเดือนละ 1,000 บาท ตลอดมา แต่อดีตเราอยู่โดยไม่มีสัญญาเช่าพูดตกลงกันปากเปล่า"

ภาพ บ้านของสง่า ที่ถูกรื้อถอนเมื่อ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา

สง่า กล่าวต่อว่า แม้เราไม่ใช้เจ้าของ แต่เราก็อยู่มา 20 กว่าปี เหมือนที่เขาบอกว่าบ้านที่เรามาเช่า แม้นานแค่ไหน มันก็เป็นของเขามันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีความรู้ทางกฎหมายเมื่อเขาให้ออก เราก็ต้องออก แต่ถ้าถามว่าตนเป็นคนในชุมชนไหม ก็เป็นคนในชุมชนป้อมมหากาฬ เรามาทำมาหากินอยู่อาศัยมีพี่น้องคนในชุมชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีครอบครัวอยู่ที่นี่ ทำมาหากินอยู่ที่นี่ การจะบอกว่าเราเป็นผู้เช่าและไม่ใช่คนในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เราอยู่ด้วยความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกันเป็นกลุ่มชุมชนเดียวกัน การเป็นผู้เช่าหรือเจ้าของที่จึงไม่ใช่ตัวแบ่งว่าใครไม่ใช่คนในชุมชนป้อมมหากาฬ

“ตอนนรู้ว่าบ้านเราถูกรื้อเมื่อ 3 วันก่อน เราเข่าอ่อนเลย ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ไหน อยู่มา 20 กว่าปี วันที่เขารื้อเราไม่กล้าไปดูเจ้าหน้าที่ทุบบ้าน รื้อบ้านด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้เรารู้ว่ามีหมายจะรื้อบ้าน แต่ไม่รู้ว่าเป็นบ้านเราที่จะถูกรื้อ เพื่อนบ้านก็คุยกันว่าบ้านเราโดนแน่ เราตัดสินใจตอน 5 โมงเย็น ก่อนวันที่ 3 ก.ย.หนึ่งวันถึงค่อยเอาของออก ผู้นำชุมชนป้อมมหากาฬสงสารลูกบ้านที่อยู่ด้วยกันต่อสู้กันมานาน จึงช่วยให้ไปอยู่บ้านร้างในชุมชนป้อมฯ ก็เอาไม้อัดมาตีมาซ้อมอยู่ และเอาไฟเข้ามาบ้าน"

“พอรู้ว่าเจ้าหน้าที่จะมารื้อ นอนไม่หลับเลย บ้านหลังนี้แม้เราไม่ใช่เจ้าของแต่ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราดูแลบ้านคอยซ่อมบ้าน ทำบ้านตลอด เจ้าของบ้านหายไปทิ้งลูกเอาไว้ให้เลี้ยงและวันหนึ่งก็ไปรับเงินจาก กทม. และก็กลับมาบอกเราว่าให้เรารื้อย้ายออกไปเพราะรับเงินไปแล้ว เราผู้เช่าพูดอะไรไม่ออกก็พูดได้แต่ ครับ เขาก็พูดว่าอยู่นี่ไม่เคยเก็บค่าเช่า ทั้งๆ ที่ลูกเขาเราเลี้ยงดูให้”

 

ความเป็นผู้เช่าที่ไม่มีสิทธิเรียกร้อง แม้อาศัยอยู่ในชุมชนมาเกือบชั่วชีวิต

อุทรณ์ ปัญญาสิทธิ์ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ

อุทรณ์ ปัญญาสิทธิ์ อายุ 58 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ บ้านเลขที่ 109 เป็นผู้เช่าบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬมากกว่า 30 ปี โดยไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวว่า ตนเป็นผู้เช่าบ้านในชุมชนป้อมมหากฬมาตลอด 30 ปี เจ้าของบ้านเดิมเป็นตำรวจ เช่าเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเจ้าของบ้านรับเงิน กทม. ประมาณช่วงหลัง ปี พ.ศ.2546 ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในชุมชนป้อมมหากาฬ เจ้าของบ้านเขาก็ไม่มาเก็บเงินค่าเช่าแล้ว บ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงที่จะไล่รื้อเพราะเป็นบ้านไม้โบราณ

“สิทธิของผู้เช่าต่างกับเจ้าของที่ ตรงที่ผู้ให้เช่าไม่รู้ว่าไปตกลงกับ กทม. อย่างไร เราก็ผวาว่าวันไหนเราจะโดนไล่ออก แต่เจ้าของบ้านเขาเองก็ไม่เคยเข้ามาเลยตั้งแต่ปี 2546 เราก็ดูแลบ้าน ดูแลชุมชนป้อมมหากาฬช่วยคอยดูแลปกป้องชุมชนป้อมมหากาฬมาตลอด”

อุทรณ์ ปัญญาสิทธิ์ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กับบ้านทีอาศัยมากว่า 30 ปี

“ถึงเราจะเป็นผู้เช่าเราก็ผูกพันกับชุมชนไม่เคยกลับไปบ้านเกิด พ่อแม่ตายหมดแล้ว ลูกก็เกิดอยู่ที่นี่ โตที่นี่ เราก็ทำงานอยู่ที่นี่ เพื่อนพี่น้องก็อยู่ที่นี่ เวลาได้ยินเรื่องการไล่รื้อเราไม่อยากฟังมันบั่นทอนจิตใจ เขาจะเอาคนไปอยู่ไหน เราไม่อยากไปไหนทั้งนั้น เราผูกพันกับชุมชนนี้

“คนที่ไม่เข้าใจ ถ้าไม่ถูกกระทำบ้างก็ไม่มีทางเข้าใจ เรื่องนี้ถ้าไม่เจอกับตัวเองก็พูดยาก เราอยู่มานานกว่า 30 ปี จิตวิญญาณเราอยู่ที่นี่ ชุมชนป้อมมหากาฬไม่เคยแยกแยะผู้เช่ากับเจ้าของเดิม เราอยู่กันแบบพี่น้อง เราสู้กับชุมชนมาตลอด เราเป็นคนในชุมชนป้อมมหากาฬ”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net