ราชดำเนินเสวนา รัฐใช้ 'เศรษฐกิจ' นำ 'มั่นคง' ดับไฟใต้ หวังขจัดเหลื่อมล้ำ ลดเงื่อนไขก่อเหตุ

เลขาธิการ ศอ.บต.แนะเพิ่มเงินในกระเป๋า ลดเหลื่อมล้ำ ขจัดเงื่อนไขป่วน หอการค้าปัตตานี ชวนนักลงทุน ก้าวข้าม 'ความกลัว' มาช่วยพัฒนา จชต. ขณะที่ กอ.รมน. เปิด 'สถิติ' เหตุร้ายลด จุดประกาย 'ความหวัง' ไฟใต้สงบ บก.ข่าวอิศรา เตือนอย่ายึดติด 'มายาคติ-ตัวเลข' ในการแก้ปัญหา

8 ก.ย. 2559 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “โมเดลเศรษฐกิจ : ดับไฟใต้?” เพื่อพูดคุยกันว่า จะสามารถนำยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจมาช่วยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน รวมเป็นเวลากว่า 12 ปี ได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลประกาศให้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบ ตามแนวนโยบาย “3 เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่จะมีการทุ่มงบประมาณลงไปพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 6 พันล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า

สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ จัดร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาราจักร (กอ.รมน.)

เพิ่มเงินในกระเป๋า ลดเหลื่อมล้ำ ขจัดเงื่อนไขป่วน

ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงแนวคิดในการใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจมาช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การแก้ไขปัญหาในอดีต ภาครัฐมักให้ความสำคัญกับงานด้านความมั่นคงมากกว่างานด้านการพัฒนา แต่ช่วงหลัง ได้หันมาให้ความสำคัญกับงานในส่วนหลังมากขึ้น จนล่าสุด ให้ความสำคัญกับงานด้านการพัฒนา 70% และงานด้านความมั่นคง 30% และเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ภาคใต้ โดยมีการนำรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจลงพื้นที่ไปด้วย ทั้งคลัง คมนาคม อุตสาหกรรม ฯลฯ รวมถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ พร้อมกับประกาศโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็น “3 เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยให้ 3 อำเภอใน 3 จังหวัดเป็นเมืองต้นแบบ แต่ผลที่จะได้รับไม่ใช่แค่ 3 อำเภอนี้ ยังรวมไปถึงทั้ง 33 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด

เหตุที่ จ.ปัตตานี เลือก อ.หนองจิก เพราะเป็นเมืองหน้าด่าน มีโรงงานเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มูลค่า 1,500 ล้านบาท เป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ผลผลิตปาล์มที่ส่งมาที่โรงงานนี้มาจากแทบทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุที่ จ.ยะลา เลือก อ.เบตง เพราะเป็นเป็นเมืองชายแดนที่มีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เราก็จะไปเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความปลอดภัย ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการสร้างสนามบิน มูลค่า 1,900 ล้านบาท คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562 มันก็สอดรับกัน

เหตุที่ จ.นราธิวาส เลือก อ.สุไหงโก-ลก เพราะเป็นเมืองการค้าชายแดน มีคนเข้าออกเป็นจำนวนมาก 1.5 ล้านคน/ปี มีมูลค่าการค้าปีละกว่า 3 พันล้านบาท/ปี น้อยกว่าแค่สะเดาและปาดังเบซาร์ แต่เราจะไม่พัฒนาแค่ด่านสุไหงโก-ลก ยังรวมถึงด่านชายแดนอื่นๆ ด้วย ทั้งด่านที่มีอยู่แล้ว และด่านใหม่ที่กำลังจะก่อสร้าง คือด่านบูเก๊ะตา

ทั้งนี้ จะผลักดันงบลงไป 6 พันล้านบาทให้สอดคล้องกับโมเดล 3 เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยจะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ สั้น กลาง และยาว ภายในระยะเวลา 4 ปีเศษ

นอกจากจะพยายามดึงดูดทุนใหญ่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น โดยใช้กลไกของบีโอไอ แต่จะให้เป็นบีโอไอพลัส ใน 2 ประเด็น คือ 1.อะไรที่เคยให้เวลาสั้นก็จะให้เวลายาวขึ้น และ 2.อะไรที่เคยให้เป็นตัวเลขน้อยๆ ก็จะเพิ่มขึ้น เช่น จาก 5% เป็น 10% โดยมีการจัดทำ “พิมพ์เขียว” เสร็จแล้ว คาดว่าจะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 20 กันยายนนี้ ซึ่งหลายๆ บริษัทก็แสดงความสนใจ นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังพยายามสนับสนุนให้นายทุนท้องถิ่นได้ลงทุนเพิ่มเติม

“การพัฒนาครั้งนี้ลงไปถึงเงินในกระเป๋าของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านมีเงินมากขึ้น ชีวิตของพวกเขาก็จะดีขึ้น แม้จะมีเมืองต้นแบบแค่ 3 อำเภอ แต่ผลดีจะส่งไปถึงทั้ง 33 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อชีวิตความเป็นของพวกเขาดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง และช่วยลดเงื่อนไขในการก่อเหตุร้ายไปโดยปริยาย” ภาณุ กล่าว

ชวนนักลงทุน ก้าวข้าม 'ความกลัว' มาช่วยพัฒนา จชต.

ศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง แต่การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจะเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ แนวคิด 3 เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เกิดขึ้นจากจุดแข็งของแต่ละจังหวัด อย่างตนอยู่ใน จ.ปัตตานี ก็จะรู้ว่าจังหวัดนี้มีธุรกิจที่เป็นจุดแข็ง 2 อย่าง คือประมงกับยางพารา ซึ่งจำเป็นต้องหาธุรกิจใหม่ๆ ก็พบว่าปาล์มน้ำมันมีความเหมาะสม เพราะสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย

หลังจากรัฐบาลได้ประกาศแนวคิด 3 เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หอการค้าของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มาคุยกันว่าจะทำอย่างไงต่อไป โดยตนได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเชิญชวนนักลงทุนไทยจากจังหวัดอื่นๆ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะนักลงทุนจีนซึ่งไม่กลัวที่จะเดินทางใน 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนตัวเองก็ไม่ได้หยุดที่จะลงทุน อย่างตนทำธุรกิจค้ารถยนต์ก็กำลังจะเปิดโชว์รูมแห่งใหม่ เพราะถ้าขนาดเราเองยังไม่ลงทุน แล้วใครจะมาลงทุน เพราะเราร็ดีว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็เน้นที่จะเกิดการลงทุนและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่อยากฝากก็คือจะช่วยกันทำอย่างไรให้นักลงทุนต่างพื้นที่ก้าวข้ามความกลัว แล้วการลงทุนต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้จริง

“ที่ผ่านมา มีคนบอกว่าต้องให้เหตุการณ์สงบก่อนแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น แค่ก็มีบางคนบอกว่า ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น ความรุนแรงจะลดลง แต่มันเหมือน “ไก่กับไข่” วันนี้ ผมจึงบอกว่า เราต้องแยกทั้ง 2 เรื่องออกจากกัน แล้วปรับตัวให้อยู่ในสถานการณ์นี้ให้ได้ ธุรกิจต้องเดินต่อไปได้ไม่ว่าเหตุรุนแรงจะเป็นอย่างไร ดีขึ้น เท่าเดิม หรือแย่ลง คนในพื้นที่จึงต้องมั่นใจก่อน แล้วสร้างความมั่นใจให้กับคนต่างพื้นที่ เกราะป้องกันที่น่าจะดี คือให้ประชาชนส่วนล่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในภาคธุรกิจแบบเต็มตัว แล้วเขาจะช่วยกันปกป้องธุรกิจนั้นเอง” ศิริชัย กล่าว

เปิด 'สถิติ' เหตุร้ายลด จุดประกาย 'ความหวัง' ไฟใต้สงบ

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน. กล่าวถึงภาพรวมเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก โดยนับตั้งแต่มีสนธิสัญญารวมดินแดนเมื่อปี 2452 หรือกว่าร้อยปีก่อน ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่บ่อยครั้ง เนื่องจากความแตกต่าง ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ โครงสร้างการบริหารจัดการที่มีข้อบกพร่อง และการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ผู้เห็นต่าง” เพื่อให้สามารถกำหนดใจตนเองได้ ซึ่งก็คือเอกราช โดยพยายามสร้างภาพให้เห็นว่ามีคนต่างถิ่นเข้าไปรังแก ครอบครองดินแดน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน

นับแต่เกิดเหตุรุนแรง ในปี 2547 รัฐบาลก็ได้ออกนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาจำนวนมาก รวมถึงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 98/2557 ซึ่งการนำ “โมเดลทางเศรษฐกิจ” มาช่วยในการแก้ปัญหา ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการฉบับล่าสุด ที่จะใช้บังคับระหว่างปี 2559-2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป้าหมายระยะสั้น คือต้องหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตลอด 12 ปีเศษ กว่า 1.5 หมื่นครั้งให้ได้ โดยปีที่เกิดเหตุมากที่สุดคือปี 2550 กว่า 1.8 พันครั้ง ปีที่น้อยสุด คือปี 2558 กว่า 260 ครั้ง ขณะที่ในปีนี้มีไปกว่า 200 ครั้งแล้ว ส่วนเป้าหมายระยะยาว คืออยากให้ประชาชนในพื้นที่มีความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทุกด้าน ทั้งการศึกษา รายได้ อาชีพ ฯลฯ จนสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข

หลายคนดูข่าวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะคิดว่าไม่มีหวัง เกิดเหตุมาสิบกว่าปีแล้วเมื่อไรจะ จบ แต่ถึงวันนี้มีมุมที่เป็น “ความหวัง” เกิดขึ้นมาแล้ว แม้การแก้ปัญหาอาจจะใช้เวลานาน และมี “ภัยแทรกซ้อน” ที่ทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยากขึ้น เช่น ปัญหาการค้าน้ำมันเถื่อน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณว่าสิ่งต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างบางโรงเรียนที่เคยเป็นแหล่งบ่มเพาะที่ทหารไม่สามารถเข้าไปได้เลย แต่ในปัจจุบันกลับเปิดมากขึ้น ทหารไปมาหาสู่ได้ เหล่านี้น่าจะมาจากเงื่อนไขต่างๆ ที่ลดลง ทำให้พื้นที่ๆ เคยมืดก็เริ่มสว่างขึ้น

“ผมเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจลงไปอีก ความเหลื่อมล้ำลดลง ปัจจัยที่นำไปสู่การเข้าร่วมก่อเหตุก็จะยิ่งลดลง เด็กรุ่นใหม่จะไม่เดินขึ้นเขาไปฝึกอาวุธ แล้วลงกลับมาก่อเหตุใส่เจ้าหน้าที่” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว

เตือนอย่ายึดติด 'มายาคติ-ตัวเลข' ในการแก้ปัญหา

ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า นอกจากที่อยากให้ภาคเอกชนก้าวข้ามความกลัว ตนก็อยากเสนอว่าอยากให้สื่อมวลชนก้าวข้าม “มายาคติ” ด้วย เพราะยิ่งการต่อสู้ในช่วงหลายปีหลังเข้มข้นขึ้น แม้สถิติเหตุร้ายจะลดลง และเจ้าหน้าที่รัฐก็เริ่มจับทางได้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบจะทำอะไร มีวิธีการอะไรบ้าง และจะตอบโต้อย่างไร โดยเฉพาะการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) ที่แม้จะดีในการต่อสู้ แต่อาจไม่ดีในเชิงการแสวงหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างสงบ

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดูเป็นเหตุการณ์ไม่ได้ ต้องดูเป็นแพ็คเกจ จากที่ติดตามทำข่าวในพื้นที่มายาวนาน รวมถึงได้สัมภาษณ์ผู้อ้างตัวว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ทำให้พบว่าในขบวนการผู้ก่อความไม่ส งบก็เริ่มคุมกันเองไม่ได้ เนื่องจากมันมีกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น เราจึงบอกไม่ได้หรอกว่า เขาทำไปเพื่อต้องการแยกดินแดนหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุมันเยอะไปหมด และในอนาคตก็มีโอกาสที่พื้นที่นี้จะเป็นแหล่งส่งออกความรุนแรง เพราะบางคนอาจจะปฏิบัติการแบบ lone wolf ตนจึงมองว่าเป้าหมายในการหยุดความรุนแรงจึงน่าจะเป็นไปได้ยาก

เรื่อง “สถิติ” ที่ตอนนี้มีหลายหน่วยเก็บจนไม่รู้จะเชื่อหน่วยงานไหน กระทั่งเมื่อหน่วยงานความมั่นคงมานับเอง ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะอย่าง กอ.รมน.ก็เพิ่งมาเริ่มนับเมื่อปี 2550 ไม่ใช่ปี 2547 หรืออย่างบางหน่วยงานที่เผยแพร่กันก็เคยจ้างให้สื่อมวลชนมาช่วยนับ โดยการฟัง ว. ที่ไม่รู้ว่ามีการนับซ้ำหรือไม่ หรือบางเหตุการณ์เช่นการติดธง 300 จุด จะถือว่าเป็นเหตุรุนแรงได้หรือไม่ เพราะการนับยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนว่าใช้ระเบียบวิธีอะไร ถ้าถามตนว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันดีขึ้นหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามันคงประเมินยาก เพราะอยากที่ พล.ร.ต.สมเกียรติบอกว่า ปี 2550 เกิดเหตุมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจว่า ในปีนั้นไม่มีคาร์บอมบ์เลย ปีที่มีคาร์บอมบ์ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงที่สุดของผู้ก่อเหตุ เกิดขึ้นมากในปี 2555 เป็นต้น ดังนั้น จะบอกว่าถ้าสถิติบอกว่าจำนวนเหตุร้ายมาก จะเท่ากับสถานการณ์แย่ลง จำนวนเหตุร้ายน้อย จะเท่ากับสถานการณ์ดีขึ้น ได้หรือไม่

“เรื่องเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่าดีไหม โดยรวมคิดว่าดีนะ ถนนหลายสายมีร้านน้ำชาเปิดถึงตีหนึ่งตีสอง บางพื้นที่ค่าเช่าห้องขายของเดือนละหลายหมื่นบาท เศรษฐกิจรากหญ้าก็เดินได้ แถมมีกำลังซื้อเพิ่มเติมจากทหารหลายหมื่นนายที่ถูกส่งลงไป ที่มีปัญหาคือราคายางพาราตกต่ำ ทำให้หลายคนต้องย้ายไปหางานทำในต่างจังหวัด ที่อาจจะยังมีน้อยอยู่คือเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่จะสร้างตัวเลขจีดีพี” ปกรณ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท