ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์-กฎหมายสหรัฐฯ 200 รายชื่อร่วมเขียน จม.เปิดผนึกวิพากษ์ TPP

ก่อนที่จะมีการประชุมสภาของสหรัฐฯ เพื่อลงมติร่างความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) กลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์มากกว่า 200 คน เขียนจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์ข้อกำหนดที่เอื้อต่อบรรษัทในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และมีนักสิทธิพลเมืองกังวลว่าบรรษัทยักษ์จะพยายามล็อบบี้ให้ TPP ผ่านร่างในสภา

แฟ้มภาพเมื่อปี 2010 เป็นภาพผู้นำชาติเอเชีย-แปซิฟิก 10 ประเทศ นำโดยบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ร่วมประชุมก่อนที่จะพัฒนามาสู่ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) โดยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2016 มีชาติร่วมลงนามแล้ว 12 ชาติ (ที่มา: Wikipedia)

 

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายในสหรัฐฯ มากกว่า 200 คนรวมถึง ลอเรนซ์ ไทรบ์ อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เป็นอาจารย์ของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า เขียนจดหมายถึงสภาคองเกรสเตือนถึงเนื้อหาของหลักการว่าด้วย "การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน" (Investor-State Dispute Settlement หรือ ISDS) ที่มีลักษณะเอื้อต่อบรรษัทในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) โดยระบุว่าเนื้อหาส่วนนี้มีลักษณะคุกคามหลักนิติธรรมและทำลายสถาบันประชาธิปไตยของประเทศสหรัฐฯ เอง

ในจดหมายของนักวิชาการเหล่านี้ยังระบุอีกว่าเนื้อหาของ ISDS มีลักษณะเสี่ยงต่อการลดอำนาจคุ้มครองรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทำให้อำนาจตุลาการอ่อนแอลง และทำให้ระบบกฎหมายภายในสหรัฐฯ ถูกออกนอกระบบกลายเป็นระบบที่เอกชนควบคุมได้ตามอำเภอใจซึ่งอยู่นอกเหนือการตรวจสอบถ่วงดุล เหล่านีกวิชาการเรียกร้องให้ ส.ส. ปฏิเสธ TPP ถึงแม้ว่ารัฐบาลโอบาม่ามีความพยายามจะผ่าน TPP ให้ได้ในการประชุมสภาคองเกรสในอีกไม่นานนี้

นักวิชาการผู้ที่ร่วมลงนามต้าน TPP ในครั้งนี้ยังประกอบด้วย โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ครูซ เรย์โนโซ อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดของแคลิฟอร์เนีย และเจฟฟรีย์ แซคส์ ศาตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและที่ปรึกษาอาวุโสของสหประชาชาติ นักวิชาการเหล่านี้เคยแสดงความกังวลต่อร่าง TPP ก่อนหน้านี้แล้วโดยการส่งจดหมายต่อต้านการรวมหลักการ ISDS เข้าไปในร่าง TPP เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2558 แต่ก็ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ถูกละเลย ไม่เพียงเท่านั้นยังไม่มีการดัดแปลงแก้ไขข้อกำหนดที่เป็นปัญหาจากร่างเดิมก่อนหน้านี้เลย

จดหมายของนักวิชาการระบุอีกว่าถ้าหาก TPP ผ่านร่างการพิจารณาโดยสภาคองเกรสไม่เพียงแค่จะเป็นการตอกย้ำกลไกในแบบที่มีข้อบกพร่องนี้เท่านั้นแต่ยังทำให้กลไกนี้ขยายออกไปนอกสหรัฐฯ ด้วย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบรรษัทสร้างปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ การดูแลความปลอดภัย นโยบายการคลัง มลพิษ การขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาจากวิธีการที่พวกเขาใช้ตอบโต้วิกฤตทางการเงิน ปัญหาคำตัดสินที่ไม่เป็นธรรมของศาลไม่ว่าจะเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาไปจนถึงคดีล้มละลาย ปัญหานโยบายการทำให้เรือนจำและระบบบริการสุขภาพเป็นของเอกชน ปัญหาการพยายามเลี่ยงภาษี และปัญหาอื่นๆ

จดหมายของนักวิชาการสหรัฐฯ ระบุต่อไปว่า มีคดีการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ระบุว่าในปี 2558 มีคดีการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนถึง 70 คดี

อลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์กล่าวว่าจดหมายของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสหรัฐฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าข้อกำหนด ISDS จะทำลายระบบยุติธรรมและทำให้การแข่งขันเอื้อต่อบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บรรษัทเหล่านี้ท้าทายกฎหมายแลข้อบังคับที่พวกเขาไม่ชอบได้ วอร์เรนจึงประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ TPP ที่มีข้อกำหนด ISDS อยู่ด้วย

ลอริ วอลลาช จากองค์กรสิทธิพลเมืองพับลิคซิติเซนยังระบุเตือนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วให้ระวังกลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ร่วมมือกันล็อบบีผลักดันให้ TPP ผ่านร่างในการประชุมสภาในช่วงที่กำลังจะพ้นตำแหน่งซึ่งจะถือเป้นช่วงเวลาที่มีภาระรับผิดชอบทางการเมืองน้อยมากเพราะเป็นการลงมติในแบบที่จะไม่ต้องกลับมาเจอหน้าผู้ลงมติอีก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากการที่ผู้ลงสมัครเลือกตังทั้ง 2 พรรคใหญ่มีจุดยืนต่อต้าน TPP ทั้งสองพรรคบวกกับความไม่พอใจของประชาชนชาวอเมริกันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็อาจจะสามารถหยุด TPP ไว้ได้

เรียบเรียงจาก

Prominent Scholars Decry TPP's "Frontal Attack" on Law and Democracy, Common Dreams, 07-09-2016 http://www.commondreams.org/news/2016/09/07/prominent-scholars-decry-tpps-frontal-attack-law-and-democracy

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท