Skip to main content
sharethis

สดๆ ร้อนๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559  เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร (อ่านที่นี่) ออกโดยอาศัย มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เนื้อหาโดยรวมคือให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารแล้วย้ายไปอยู่ในศาลยุติธรรมปกติ ครอบคลุม 1.ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ (มาตรา 107-112 ประมวลกฎหมายอาญา) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร (มาตรา 113-118) และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนที่ใช้ในการสงคราม

หากดูสถิติจากฐานข้อมูลคดีเสรีภาพของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw (ไอลอว์) จะพบว่าหลังการรัฐประหารและคสช.ประกาศให้คดีเหล่านั้นขึ้นศาลทหาร มีคดีที่ต้องพิจารณาในศาลทหารหลายร้อยคดี (ดูสถิติคดีหลังรัฐประหาร) ซึ่งข้อมูลจากไอลอว์นั้นยังไม่รวมถึงคดีอาวุธอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร และจำนวนคดีมีลักษณะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2559

ที่ผ่านมาหลายองค์กรร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินคดีในศาลทหาร เนื่องจากศาลทหารมีโครงสร้างที่แตกต่างอย่างสำคัญกับศาลยุติธรรม รมว.กลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการทหารในศาลชั้นต้น (รู้จักโครงสร้างศาลทหาร) จำเลยไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกา ได้ หากคดีเกิดระหว่างประกาศกฎอัยการศึก แต่ในทางปฏิบัติแม้ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วจำเลยก็ยังไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกา ได้ ยังไม่นับรวมข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่ดูจะไม่เป็นคุณต่อสิทธิของจำเลย (อ่านลักษณะการดำเนินคดีในศาลทหาร)  

เมื่อ หัวหน้คสช. ใช้มาตรา 44 ยกเลิกการดำเนินคดีลักษณะนี้ในศาลทหาร ประชาไทสัมภาษณ์ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีในศาลทหาร รวมถึงผู้ต้องหาที่ต้องต่อสู้คดีในศาลทหารว่าคิดเห็นเช่นไร

0000

รัฐเตรียมสร้างคะแนนในเวที UPR มั่นใจว่าคุมได้หลังประชามติผ่าน

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก ฟอรั่มเอเชีย (FORUM ASIA) ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าแรงจูงใจสำคัญของรัฐบาลในการออกคำสั่งนี้เนื่องจากต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก เนื่องจากวันที่ 23 ก.ย.นี้ ในเวที UPR (Universal Periodic Review) อันเป็นกลไกหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ประเทศไทยจะต้องตอบเรื่องข้อเสนอแนะที่ค้างอยู่ 68 ข้อหลังผ่านการทบทวนรอบแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มีประเด็นเรื่องการให้ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112  ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐบาลได้รับข้อเสนอคร่าวๆ ในเรื่องการพัฒนาสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก

ทั้งนี้ ประเทศที่เสนอให้ไทยยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารในเวที UPR เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, กรีซ, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, แคนาดา, คอสตาริกา, เช็ค, เยอรมนี, ลักเซมเบิร์ก

“มันเป็นจังหวะที่พอดีกันมาก เมื่อต้องไปพูดอีกครั้งรัฐบาลก็จะบอกได้ว่า ยกเลิกเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่หลายประเทศพูดอย่างชัดเจน รัฐบาลคงมองว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นที่พวกเขาควบคุมได้มากขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านประชามติด้วย คงอยากให้ประเทศอื่นๆ เห็นแนวโน้มว่ากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขายอมได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องไม่ควรทำแต่ต้นและเป็นเรื่องผิดปกติมากๆ  แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมายเช่นกัน คำสั่ง 13/59 เรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพลก็ยังคงอยู่ หรือแม้แต่มาตรา 112 ก็ยังคงอยู่มาโดยตลอด” พิมพ์สิริกล่าว

ควรยกเลิกคดีเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่แค่โอนคดีไปศาลพลเรือน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ องค์กรซึ่งเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคดีสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะมาตรา 112 ให้ความเห็นว่า เขาไม่แน่ใจนักว่าเหตุใดจึงมีการออกคำสั่งยกเลิกให้พลเรือนไปขึ้นศาลทหารในคดีความมั่นคงตามที่เคยประกาศไว้ เนื่องจากสถานการณ์นั้นผ่อนคลายลงมานานแล้ว ที่ผ่านมามีการเรียกร้องจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศให้ยกเลิกเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจาก คสช. แต่อย่างใด นอกจากนี้ในคำสั่งดังกล่าวที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษายังระบุเหตุผลที่ยกเลิกว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิเสรีภาพ แสดงว่า คสช. ยอมรับแล้วว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารขัดกับหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ก่อนหน้านี้ที่ คสช. บอกว่าศาลทหารนั้นไม่ต่างจากศาลยุติธรรมและเคารพหลักสิทธิเสรีภาพนั้นจึงเป็นเพียงคำโกหก

เมื่อถามว่า คำสั่งนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อบรรยากาศสิทธิภาพนสังคมหรือไม่ ยิ่งชีพ ตอบว่า “รู้สึกเฉยๆ ไม่อาจบอกได้ เพราะ1. คดีทางการเมืองจำนวนมากไม่ควรเป็นคดีแต่แรก นักโทษที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ เช่น การชุมนุมเกิน 5 คน ไม่ควรเป็นคดีแต่ต้น สิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องยกเลิกคดี ไม่ใชโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม 2.ไม่เคยคิดว่าที่คดีทางการเมืองในศาลยุติธรรมนั้นดำเนินไปได้ตามกฎหมายปกติ เพียงแต่การที่ไม่ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร อย่างน้อยจำเลยก็รู้สึกดีกว่าว่าคนตัดสินคดีของเขาไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับเขาโดยตรง”

เมื่อถามว่ากรณีนี้จะครอบคลุมถึงคดีของพลเรือนที่กำลังต่อสู้คดีกันอยู่ในศาลทหารด้วยหรือไม่ ยิ่งชีพตอบว่า โดยทางทฤษฎีแล้ว ประกาศหรือกฎหมายอะไรที่ออกมาภายหลังแล้วเป็นคุณต่อจำเลยจะมีผลย้อนหลัง แต่กรณีนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.เขียนให้ชัดอีกว่า ให้คดีพลเรือนขึ้นศาลพลเรือนเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นหลังวันนี้ (12 ก.ย.) ดังนั้น คดีที่เกิดขึ้นและกำลังพิจารณากันอยู่ในศาลทหาร เช่น คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ก็จะยังคงพิจารณาที่ศาลทหารต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ภาพที่ปรากฏออกมานั้นดูดี แต่ในเนื้อหามีข้อหนึ่งที่ระบุว่าคดีที่มีความเกี่ยวพันกันก็ยังต้องไปขอความเห็นจากศาลทหาร นั่นหมายความว่ายังมีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี ถึงแม้จะเปลี่ยนไปขึ้นศาลพลเรือน หาก คสช. บอกว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยดีแล้วก็ควรที่จะยกเลิกทั้งหมด แม้กระทั่งคำสั่ง คสช.3/2558 เพราะอำนาจควรจะถูกแยกออกจากกันตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

ไม่รวมคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ ทนายเดินหน้าโต้แย้งเขตอำนาจศาลต่อ

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายให้จำเลยที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารหลายกรณี ให้ความเห็นว่า หากว่ากันตามหลักการ ประกาศคสช.ที่ 37/38 (การดำเนินคดีความมั่นคงในศาลทหาร) ควรสิ้นสุดนานแล้วหลังจากยกเลิกอัยการศึก เพราะตัวประกาศนั้นอ้างอิงกฎอัยการศึก แต่ก็อ้างว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้รับรองให้ประกาศคำสั่งต่างๆ ของคสช.มีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย มันจึงอยู่โดดๆ ลอยๆ จากกฎอัยการศึก เหมือนกฎหมายทั่วไป เหมือน พ.ร.บ. คำสั่ง ม.44 ที่ออกนี้ก็เหมือนเป็นการออกกฎหมายใหม่เพื่อยกเลิกกฎหมายเก่า

ภาวิณีมองว่า ตามข้อความที่ปรากฏในประกาศนั้น ให้การกระทำผิดต่างๆ ตามประกาศเหล่านั้นที่เกิดตั้งแต่หลังวันที่ 12 ก.ย.เป็นต้นไปให้ขึ้นศาลยุติธรรม แต่ไม่มีผลย้อนหลังและไม่รวมคดีที่ดำเนินอยู่ในศาลทหารที่ต้องอยู่ในศาลทหารตามเดิมเพราะมีข้อความระบุไว้ชัดเจน

ภาวิณี กล่าวว่า มองว่าประกาศนี้แม้จะไม่มีผลต่อคดีที่ยังดำเนินอยู่ แต่ก็ดีในแง่เป็นการส่งสัญญาณที่ดีขึ้นและในฐานะทนายจำเลยหลายคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารก็ยังคงจะท้าทายให้ไปศาลพลเรือนทั้งหมดได้อยู่

“จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลได้ นำเสนอข้อเท็จจริงในส่วนนี้ต่อศาลได้ ต้องท้าทายดุลยพินิจศาลต่อไป เพื่อให้เสมอภาค เพราะที่ผ่านมาจำเลยเขาก็ไม่ยอมรับอำนาจศาลทหาร เรายื่นมาโดยตลอดว่าให้ไปศาลอาญา และเริ่มยื่นมาตั้งแต่หลังยกเลิกกฎอัยการศึก โดยยื่นแทบจะทุกเคสที่จำเลยได้ประกัน ไม่ว่าจะเป็นคดีฝ่าฝืนไม่รายงานตัว ชุมนุมเกิน 5 คน คดีราชภักดิ์ คดีพลเมืองโต้กลับศาลนัดฟังคำสั่งเดือนตุลา หรือคดีนัชชชา กองอุดม ศาลก็มีคำสั่งออกมาแล้วว่าศาลอาญาก็ยอมรับคิดว่าเป็นอำนาจศาลทหาร โดยส่วนใหญ่เหตุผลคือ บอกว่า คำสั่งคสช.เป็นกฎหมาย เพราะคสช.เป็นรัฐฏาธิปัตย์”

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ประชาชนไปขึ้นศาลทหาร ที่ผ่านมาหากดูสถิติทุกคดีที่ขึ้นศาลทหารจะเห็นว่ามันมีไว้ใช้จัดการกับคนเห็นต่าง ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐ เพราะเคสความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ต้องหาก็ยังขึ้นศาลพลเรือน ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องจัดการกลุ่มเห็นต่างเป็นปฏิปักษ์เป็นสำคัญ” ภาวิณีกล่าว

ผู้ต้องหาเชื่อแค่แบ่งเบาภาระบุคลากรศาลทหาร งานเยอะ-คนน้อย

ผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ต้องขึ้นศาลทหารคนหนึ่งที่คดีสั่งฟ้องแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นว่า ไม่เชื่อว่า คสช.จะมีเจตจำนงให้สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตยดีขึ้น แต่อาจเป็นเพราะต้องการแบ่งเบาภาระบุคลากรในศาลทหาร

"มันดูดีถ้าอ่านแค่เฮดไลน์ ‘คสช.ประกาศยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร’ แต่พออ่านเนื้อหาจริงๆ แล้วมันยังไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีอะไรที่แอบแฝงอยู่ แต่ถ้ามองแง่บวกคือมันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิม บางทีในอนาคตอาจจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ แต่หากถามความเห็นของตัวเองหากเลือกได้ระหว่างศาลพลเรือนและศาลทหาร ก็เห็นว่าในศาลพลเรือนเราสามารถพิสูจน์ตัวเองได้มากกว่า ได้รับความยุติธรรมมากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีประกาศฉบับนี้ต่อให้ได้ย้ายไปขึ้นศาลพลเรือนแต่อำนาจต่างๆ ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของ คสช. อยู่ มันคงไม่แตกต่างเท่าไร"  

“ก่อนหน้านี้ตอนสั่งฟ้อง มีโอกาสได้คุยกับผู้ช่วยอัยการ ซึ่งท่านบอกว่าศาลทหารงานโหลดมาก เพราะเดิมศาลทหารมีไว้แค่พิจารณาคดีของทหาร แต่พอหลังรัฐประหารพวกคดีความมั่นคงทั้งหลายก็มีอยู่ที่ศาลทหารด้วย แต่จำนวนบุคลากรไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม เลยมองว่าบางทีประกาศฉบับนี้มันอาจจะแค่เพื่อแบ่งเบาภาระของศาลทหาร แต่ไม่ได้มีผลในทางบวกกับประชาชนจริงๆ ไม่ได้มีความหมายในเชิงที่ว่าต้องการทำเพื่อประชาชน หรือทำเพื่อประชาธิปไตย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net