Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) เสนอ ดังนี้  1. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)  2. มอบหมายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำกราบบังคมทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ต่อไป  ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2564 
 
โดยเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้สรุปสาระสำคัญของเรื่องไว้ว่า  สศช. รายงานว่า  แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2559 โดย สศช. ได้จัดทำ ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2539)  โดยหลักการสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกอบด้วย (1) ยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” (2) ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” (3) ยึด “วิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาเป็นกรอบของวิสัยทัศน์ประเทศไทยในแผนพํฒนาฯ ฉบับที่ 12 (4) ยึด “เป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี 2579”  เป็นกรอบการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปีแรก  และเป้าหมายในระดับย่อยลงมา  ควบคู่กับกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน และ (5) ยึดหลักการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังใน 5 ปี
 
วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12  ประกอบด้วย (1) เพื่อวางรากฐานให้คนไทยเป็นคนมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ตลอดจนเป็นคนเก่งที่มีทักษะความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (2) เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม  ผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพ  รวมทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ (3) เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แข่งขันได้ มีเสถียรภาพ  และมีความยั่งยืน (4) เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (5) เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน มีประสิทธิภาพ  โปร่งใส  และมีการทำงานเชิงบูรณาการ (6) เพื่อให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค  และ (7) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ 
 
เป้าหมายรวม  ประกอบด้วย (1) คนไทยมีคุณลักษณะเป็นคนไทยที่สมบูรณ์  (2) ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความยากจนลดลง (3) ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้  (4) ทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5) มีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยและเพิ่มความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อประเทศไทย และ (6) มีระบบบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ กระจายอำนาจ และมีส่วนร่วมจากประชาชน
 
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มี 10 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ 2) ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 4) ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 5) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคั่งและยั่งยืน 6) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย 7) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์  8)  ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย  และนวัตกรรม 9)  ยุทธศาสตร์การพัฒนาภค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และ 10) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

ไฟเขียว Medical Hub ระยะ 10 ปี 

รวมถึง ครม. ยังมีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยให้ สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (ถึงเดือนกรกฎาคม 2560) แล้วดำเนินการต่อไปได้ ส่วนกิจกรรมใดที่เป็นการดำเนินการซึ่งเกินกว่ากรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ให้นำเรื่องดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติรูปเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการต่อไปตามนัยมติข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 (เรื่อง การเสนอโครงการที่ต้องขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี) 
 
ทั้งนี้ ในส่วนงบประมาณและเงินจากแหล่งอื่นสำหรับดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
2. ในการดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hab)กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการโดยไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทยด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2559 – 2568) มีวิสัยทัศน์พันธกิจที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขของโลกภายใน 10 ปี โดยมีเป้าประสงค์ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
 
ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ 2) พัฒนาบริการรักษาพยาบาล 3) พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 4) พัฒนาบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 5) พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub) 6) พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ 7) ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ 
 
ทั้งนี้ แผนระยะเร่งด่วน 2 ปี จะดำเนินการในปี 2559 – 2560 และระยะปานกลาง – ระยะยาว 8 ปี จะดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป โดยมีการติดตามและประเมินผลตามตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net