Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 'คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ' ผิดมาตรา 112 จำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี


ภาพจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย

15 ก.ย. 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดี 112 ที่นาย อ. อายุ 67 ปีเป็นจำเลย ในฐานะเป็นผู้ขายหนังสือกงจักรปีศาจ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุกจำเลย 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี

ทนายความกล่าวด้วยว่า คำพิพากษาของศาลฎีกามีใจความสรุปว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้แล้วว่าจำเลยนำหนังสือกงจักรปีศาจ ซึ่งมีข้อความตามฟ้อง 6 ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ วางจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป และมีการจำหน่ายไปแล้ว ซึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ปัญหามีต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทราบข้อความที่อยู่ในหนังสือหรือไม่และควรลงโทษจำเลยหนักเพียงใด การพิจารณาว่าจำเลยทราบเนื้อหาในหนังสือกงจักรปีศาจหรือไม่ เป็นเรื่องในความรู้เห็นของจำเลยคนเดียวต้องนำพฤติการณ์อื่นของจำเลยมาพิจารณาประกอบ ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยอายุ 67 ปี ขายหนังสือเร่มาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองตามกิจกรรมต่างๆ จากประสบการณ์ของจำเลยน่าจะต้องพิจารณาก่อนนำหนังสือเล่มใดมาขาย หนังสือในคดีนี้หน้าปกมีข้อความเขียนว่า คดีสวรรคต และมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 จำเลยควรสะดุดใจก่อน ที่จำเลยอ้างว่าไม่มีโอกาสดูเนื้อหาในหนังสือก่อนเพราะมีชายไม่ทราบชื่อนำหนังสือมาฝากขายในวันเดียวกับที่ถูกจับกุม ขัดแย้งกับที่จำเลยเบิกความเองว่าหนังสือมีอยู่ 2 เล่มและเล่มหนึ่งจำหน่ายไปก่อนแล้ว ทั้งที่ราคาจำหน่าย 500 บาทค่อนข้างสูงและเป็นกระดาษโรเนียว ผู้ที่จะซื้อควรต้องมีความสนใจเฉพาะจริงๆ เท่านั้น และการที่จำเลยได้ค่าตอบแทนจากการขายหนังสือเล่มละ 200 บาทเป็นราคาที่สูงจำเลยจึงน่าจะต้องเฉลียวใจก่อน

นอกจากนี้จำเลยไม่อาจระบุได้ว่าชายที่นำหนังสือมาฝากขายชื่ออะไร และไม่ได้อ้างชายดังกล่าวมาเป็นพยานโดยไม่ระบุว่าเพราะเหตุใด นอกจากนี้จำเลยยังจำหน่ายวารสารฟ้าเดียวกัน อันเป็นหนังสือต้องห้ามอีก 5 เล่ม โดยไม่ปรากฏว่าคนขายหนังสือแผงอื่นก็ขายหนังสือลักษณะเดียวกัน จึงไม่เชื่อว่าจำเลยวางขายหนังสือโดยไม่รู้เนื้อความข้างใน แม้จำเลยจะไม่มีเจตนาโดยตรงที่จะกระทำความผิดแต่ก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการวางขายหนังสือจะนำมาซึ่งการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ที่ศาลอุทธรณ์เคยพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ยิ่งชีพยังระบุถึงคำพิพากษาอีกว่า ศาลฎีการะบุว่าอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุก 3 ปีซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำตามกฎหมายและลดโทษให้ 1 ใน 3 แล้วเหลือจำคุก 2 ปี ไม่อาจลดโทษให้ต่ำกว่านี้ได้อีก จำเลยมุ่งแสวงหากำไรจากการขายหนังสือโดยไม่นำพาซึ่งผลที่จะตามมา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรรอลงอาญาให้จำเลย

นาย อ.กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า เขาจะพยายามใช้ชีวิตให้ได้ในเรือนจำ และหวังว่าจะสามารถรักษาตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ตัดเนื้อร้ายแล้ว แต่ยังต้องทานยาต่อเนื่องและพบแพทย์ทุก 3 เดือน

ทั้งนี้ นาย อ. อายุ 65 ปี มีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกตำรวจ สน.ลุมพินีจับกุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2549 หลังจากไปตั้งแผงขายหนังสือบริเวณสวนลุมพินี ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยตำรวจได้ทำการยึดหนังสือกงจักรปีศาจและวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2548) หรือที่เรียกกันว่า ปกโค้ก ไปอย่างละ 1 เล่ม ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 40,000 บาท จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2556 ในคำฟ้องปรากฏ 6 ข้อความจากหนังสือกงจักรปีศาจเพียงเล่มเดียว ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ รัชกาลที่ 8 และถูกคุมขังในเรือนจำในเย็นวันนั้น ต่อมาวันรุ่งขึ้น 28 ส.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวนาย อ. หลังจากกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 300,000 บาท

หนังสือกงจักรปีศาจเคยเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ตามคำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ โดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ ลงวันที่ 31 พ.ค. 2549 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ก่อนจะมีการออก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับใหม่ พ.ศ.2550

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่า กงจักรปีศาจตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 โดยสำนักพิมพ์แคสเซลล์ (Cassell) รัฐบาลไทยได้สั่งห้ามตีพิมพ์ในทันทีและตัวผู้เขียนเองก็ถูกห้ามเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ในปี พ.ศ. 2517 และมีการหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมืดในประเทศไทย โรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับภาษาไทยโดนเผาทำลาย เนื้อหาของหนังสือเป็นแนวสืบสวนการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แบ่งเป็น 4 บท โดยบทท้ายมีข้อสรุปของผู้เขียนที่ว่าคำอธิบายที่น่าพอใจคือทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง เขาสนับสนุนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและเพื่อนนักศึกษานิติศาสตร์ แมรีเลน เฟอร์รารี (Marylene Ferrari) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในสยาม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net