Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ภายใต้ความพ่ายแพ้ในการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม เสียงเงียบที่ดังกึกก้องในหมู่ผู้รักประชาธิปไตยคือการแสดงออกเชิงตัดพ้อและประชดประเทียดสังคมประเภท “ประเทศนี้ไม่ต้องการประชาธิปไตย”, “สังคมไทยตรรกะวิบัติ”, “เสียงส่วนใหญ่ไบโพลาร์” ฯลฯ

จนหลังวันที่ 7 สิงหาคม เกิดสภาพที่ฝ่ายชนะการออกเสียงเริ่มกำหนดวาระการเมืองได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี ผลการออกเสียงวันที่ 7 สิงหาคม ไม่ได้สะท้อนความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตยมากเท่ากับสะท้อนความล้มเหลวของฝ่ายรณรงค์ “ไม่รับ” ในการเสนอภาพประชาธิปไตยเฉพาะในแง่อุดมการณ์และสถาบันการเมือง

ซึ่งกล่าวอีกนัยคือสะท้อนข้อจำกัดในการอภิปรายประชาธิปไตยตามมุมมองของนักกฎหมายมหาชน

ขณะที่การรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยในปี 2559 ให้น้ำหนักไปที่การอธิบายประชาธิปไตยในแง่อุดมคติและการเปิดโปงความไม่เป็นประชาธิปไตยในสถาบันการเมือง

การรณรงค์ประชาธิปไตยในสังคมไทยที่สำคัญหลายครั้งกลับระดมมวลชนด้วยการ “แปล” ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่แทบไม่อ้างอิงอุดมคติเรื่องประชาธิปไตยหรือสถาบันการเมือง

ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การขับเคลื่อนประชาธิปไตยกระทำผ่านการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ, การตั้งคำถามง่ายๆ ว่าเมื่อไรบ้านเมืองจะมีกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ รวมทั้งการตั้งคำถามที่ท้าทายมโนธรรมของสังคมอย่างถึงที่สุดว่า “เรียกร้องรัฐธรรมนญเป็นขบถหรือ” หลังเกิดการจับกุมผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในช่วงพฤษภาคม 2535 การขับเคลื่อนประชาธิปไตยกระทำผ่านการโจมตี พลเอกสุจินดา คราประยูร โดยอ้างคำพูดของสุจินดาเองที่เคยบอกไว้ก่อนว่าไม่ได้ก่อรัฐประหารปี 2534 เพื่อเข้ามาเป็นนายกฯ การขับเคลื่อนกระทำผ่านประเด็นง่ายๆ ว่า เสียสัตย์, คนพูดเท็จ ไม่ทำบาป ย่อมไม่มี รวมทั้งการโจมตีที่หนักหน่วงขึ้นในช่วงหลังเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” ของกลุ่มรัฐประหาร

ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 การขับเคลื่อนประชาธิปไตยของ นปช. และคนเสื้อแดง กระทำผ่านการชูวาทกรรมไพร่-อำมาตย์, สองมาตรฐาน หรืออีกเรื่องที่พูดกันมากก็คือการตั้งนายกรัฐมนตรีในค่ายทหาร

แน่นอนว่าโดยพื้นฐานแล้วการรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แตกต่างจากการขับเคลื่อนประชาธิปไตยปี 2516, 2535 และ 2553

มิหนำซ้ำเงื่อนไขของสภาพการเมืองปี 2559 ก็แตกต่างจากสามเหตุการณ์หลายประการด้วย

แต่อย่างหนึ่งที่เราพูดได้แน่ๆ ก็คือการ “แปล” ประชาธิปไตยให้ต่อติดกับประชาชนเพื่อแปร “ประชาชน” เป็น “คะแนนเสียง” หายไปในช่วงที่ผ่านมา

ถ้ามองในประชาธิปไตยในแง่อุดมการณ์ การขับเคลื่อนประชาธิปไตยในปี 2516/2535 มีเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น การรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2516 อ้างคำประกาศสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ซึ่งนักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองช่วงสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ 2475 มองว่าเป็นเอกสารทางการเมืองเพื่อโจมตีปรีดีและคณะราษฎร

สำหรับคนที่มองแบบนี้ คำประกาศสละราชสมบัติไม่ใช่เอกสารประชาธิปไตย ซ้ำยังเป็นได้อย่างมากก็คือการสร้างวาทกรรมเพื่อต่อต้านคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ 2475

และฉะนั้น การที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2516 อ้างคำประกาศนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นนั้นหลายรายจึงสนับสนุนรัฐประหาร 2549/2557 และอยู่แนวทางปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน

แน่นอนว่าการอธิบายคำประกาศแบบนี้ฟังได้ในแง่อุดมการณ์และข้อเท็จจริง แต่หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ความคิด ปี 2516 คือช่วงเวลาที่สังคมไทยมีความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 น้อยมาก นักศึกษาธรรมศาสตร์แทบไม่รู้ว่า ปรีดี พนมยงค์ คือใคร ส่วนงานวิชาการที่พูดถึง 2475 ก็คือ “14 ตุลา คณะราษฎร กับกบฏบวรเดช” ของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช เท่านั้นเอง

ในแง่นี้ คนยุค 2516 มีเพดานความรับรู้เรื่องการสละการครองราชย์แตกต่างสิ้นเชิงจากปัจจุบัน การประเมินขบวนการ 2516 ในแง่อุดมการณ์ผ่านเอกสารนี้จึงไม่ช่วยให้เข้าใจอะไรมากนัก เพราะเป็นการเอาความรับรู้เรื่อง 2475 ของวงวิชาการยุคทศวรรษ 2530 ไปวิจารณ์คนยุคที่ยังไม่มีความรับรู้ชุดเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ถ้ามองการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในฐานะการรณรงค์ทางการเมือง การเลือกใช้เอกสารสละการครองราชย์ถือว่าเป็นการ “แปล” ประชาธิปไตยให้ต่อติดกับคนทั่วไปที่แหลมคมมาก เพราะทำให้ประชาชนฉุกคิดว่าขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงสละพระราชอำนาจ ทำไมจอมพลสฤษดิ์-ถนอม ถึงผูกขาดตำแหน่งนายกฯต่อเนื่อง 16 ปี ราวกับเป็นสมบัติส่วนตัว

กรณีพฤษภาคม 2535 หนักกว่าการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2516 เพราะการรณรงค์ให้ประชาชนต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือ “นายกฯ คนนอก” นั้นรวมศูนย์อยู่ที่การโจมตีตัวบุคคลค่อนข้างมาก ถึงแม้จะองค์ประกอบที่พยายามพูดเรื่องอุดมการณ์และสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยบ้างก็ตาม

กลไกสำคัญในการต่อต้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และการชุมนุมที่ขับเคลื่อนโดยพลตรีจำลอง ให้น้ำหนักกับการย้ำว่า พลเอกสุจินดา คราประยูร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร “เสียสัตย์” ที่เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ จากนั้นก็ขยับสู่คำขวัญประเภท “คนพูดเท็จ ไม่ทำบาป ย่อมไม่มี” และจบที่การโจมตีประเด็น “สืบทอดอำนาจ” ในบั้นปลาย

หากทบทวนการต่อต้าน “นายกฯ คนนอก” ปี 2535 ในแง่อุดมการณ์ การรณรงค์ครั้งนั้นเป็นฝันร้ายของผู้เคร่งครัดหลักการประชาธิปไตยอย่างที่สุด

ตัวจำลองไม่เพียงแต่เป็นเลขาฯ นายกฯ คนนอกชื่อพลเอกเปรมในปี 2522 หากยังเคยถูกเปิดโปงว่าเกี่ยวพันกับการปลุกระดมมวลชนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซ้ำยังเดินงานการเมืองผ่านเครือข่ายศาสนาอย่างสันติอโศก รวมทั้งสร้างกระแสเล่นพลเอกสุจินดาด้วยเรื่องศีลธรรมส่วนบุคคล

องค์ประกอบนี้ทำให้มีคนมองว่าการเคลื่อนไหว 2535 ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่การต่อต้านไม่ให้ทหารฝ่ายรัฐประหารเป็นนายกฯ ที่ไหนก็คือการสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งนั้น ส่วนองค์ประกอบในการต่อต้านนั้นขึ้นต่อสถานการณ์จริง ไม่มีใครเลือกได้ และความเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบเป็น “ประชาธิปไตย” ตามอุดมคติ 100%

แม้การต่อต้าน “นายกฯ คนนอก” จะจบอย่างย้อนแย้งด้วยการมีคนนอกชื่อ “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นนายกฯ แต่ฉากจบนี้เกิดบนเงื่อนไขสามข้อ ข้อแรกคือสถานการณ์การเมือง-การทหาร วิกฤตจนทุกคนรู้สึกถึงภาวะไร้ทางออก ข้อสองคืออานันท์มีภาพเป็นพลเรือนที่กล้าเถียงทหาร

และข้อสามคือ อานันท์ประกาศจะอยู่ในตำแหน่งแค่ 3 เดือน เพื่อจัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร

แน่นอนว่าองค์ประกอบและพัฒนาการของการต่อต้านนายกฯ คนนอกปี 2535 เต็มไปด้วยร่องรอยของการเมืองแบบชนชั้นนำและการโจมตีตัวบุคคล

แต่ถ้ามองในแง่การรณรงค์ทางการเมือง การขับเคลื่อนกระแสด้วยประเด็น “เสียสัตย์” หรือ “คนพูดเท็จ ไม่ทำบาป ย่อมไม่มี” ถือว่าเป็นการ “แปล” ประชาธิปไตยให้ต่อติดกับประชาชนที่แหลมคม

ในการยึดอำนาจแทบทุกครั้ง สิ่งที่กองทัพทำเสมอคือการโจมตีผู้นำจากการเลือกตั้งว่าไร้ศีลธรรม คอร์รัปชั่น ฯลฯ เพื่อยั่วยวนให้สังคมโหยหาการนำประเทศออกจากภาวะนี้

จากนั้นการรัฐประหารจะเกิดขึ้นพร้อมกับการดำเนินคดีทุจริตอดีตนายกฯ เช่นเดียวกับการคุมสื่อ การปกครองด้วยกฎอัยการศึก การห้ามประชาชนวิพากษ์ ฯลฯ เพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้เห็นว่าผู้นำจากการรัฐประหารก็สกปรกได้เหมือนกัน

ในเงื่อนไขที่ผู้นำจากการรัฐประหารคุมอำนาจการเมืองและคุมพื้นที่การแสดงออกของประชาชนอย่างเด็ดขาด การโจมตีด้วยประเด็น “เสียสัตย์” หรือ “คนพูดเท็จ ไม่ทำบาป ย่อมไม่มี” คือการ “แปล” ประชาธิปไตยให้ต่อติดกับประชาชนง่ายที่สุด เพราะเป็นการตั้งคำถามไปยังคุณสมบัติทางศีลธรรมของผู้นำซึ่งผิดโดยสิ้นเชิงจากพันธสัญญาที่ให้ไว้ก่อนและหลังรัฐประหาร

เมื่อความเชื่อมั่นในตัวบุคคลที่เป็น “นายกฯ คนนอก” พังทลาย การสืบทอดอำนาจฝ่ายรัฐประหารก็ไม่มีเงื่อนไขรองรับต่อไป

ในการรณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ การ “แปล” ประชาธิปไตยให้ต่อติดกับประชาชนคือสิ่งที่หายไป เมื่อเทียบกับการพรรณนาความดีงามของอุดมการณ์และการโจมตีความไม่เป็นประชาธิปไตยในสถาบันการเมือง

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2559

ที่มา: matichonweekly.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net