กรุงเทพโพลล์ระบุนักเรียน ม.ปลาย 71.8% เห็นด้วยเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ระบุนักเรียน ม.ปลาย 71.8% เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย สามารลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในการสอบได้ 53.5% ระบุส่งผลกระทบต่อการเตรียมตัวสอบ ต้องวางแผนอ่านหนังสือใหม่หมดทั้งกังวลว่าสอบเพียงครั้งเดียวไม่มีโอกาสสอบแก้ตัวและมีโอกาสสอบติดน้อยลง
 
 
 
17 ก.ย. 2559 เนื่องด้วยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ (ทปอ.) มีมติปรับเปลี่ยนวิธีคัดเลือกนิสิต นักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย แทนระบบแอดมิชชั่น ในปีการศึกษา 2561 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ม.ปลาย เรื่อง “นักเรียน ม.ปลายคิดอย่างไร กับการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี 2561” โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนที่เรียนอยู่ชั้น ม.4 – ม.6 ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,218 คน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.2 ทราบแล้วว่า มีการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561 แทนระบบแอดมิชชั่น ขณะที่ร้อยละ 10.8 ยังไม่ทราบ
 
โดยนักเรียน ม.ปลายร้อยละ 71.8 เห็นด้วยว่า สามารถลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในการสอบระหว่างนักเรียนที่มีฐานะทางบ้านดีกับนักเรียนที่มีฐานะทางบ้านด้อยกว่าได้ รองลงมาร้อยละ 66.1 เห็นด้วยว่า สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเสียค่าใช้จ่ายในการสอบหลายครั้ง และร้อยละ 63.0 เห็นด้วยว่าสามารถแก้ปัญหาเด็กเก่งสอบตรงติดหลายที่ทำให้ไปกันที่ของเด็กคนอื่นๆ
 
ทั้งนี้นักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.5 ระบุว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวมีผลต่อการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะทำให้ต้องวางแผนการอ่านหนังสือใหม่ทั้งหมด ไม่รู้แนวข้อสอบ ขณะที่ ร้อยละ 46.5 ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบ เพราะมีเวลาเตรียมตัวทันอยู่แล้ว ทุกคนจะได้เท่าเทียมกัน ไม่ต้องสอบหลายครั้ง
 
ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดเมื่อเปลี่ยนรูปแบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ร้อยละ 47.0 ระบุว่าไม่มีโอกาสสอบแก้ตัวเพราะสอบเพียงครั้งเดียว รองลงมาร้อยละ 25.5 ระบุว่าโอกาส/ตัวเลือกในการสอบติดมหาวิทยาลัยของรัฐน้อยลง และ ร้อยละ 12.9 ระบุว่าไม่ทราบสูตร/เกณฑ์การคิดคะแนนสอบของแต่ละมหาวิทยาลัย
 
เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกมหาวิทยาลัยที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของรัฐ นักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.7 ระบุว่า เลือกคณะที่ชอบและอยากเรียนเป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 20.4 ระบุว่าเลือกสถาบันที่ชอบเป็นหลัก และร้อยละ 6.5 ระบุว่า เลือกคณะใดก็ได้ที่มีคะแนนถึง
 
สำหรับความเห็นต่อการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบใหม่ ในปีการศึกษา 2561 ว่าจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเรียนการสอนของไทยได้หรือไม่ นั้น  ร้อยละ 28.6 คิดว่าได้ ขณะที่ร้อยละ23.2 คิดว่าไม่ได้ และมีถึงร้อยละ 48.2 ระบุว่าไม่แน่ใจ
 
ทั้งนี้เรื่องที่คิดว่าการศึกษาไทยควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดคือควรลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น ลดทฤษฎี เพิ่มการปฏิบัติและการนำไปใช้ได้จริง(ร้อยละ 23.2) รองลงมาคือ ประสิทธิภาพในการสอนผู้สอน การใช้สื่อและเทคนิคในการสอนของครูเพื่อสื่อให้นักเรียนเข้าใจ (ร้อยละ 17.5) และควรสอบเท่าที่จำเป็น ออกข้อสอบถูกต้องมีมาตรฐาน ไม่ควรเกินจากหลักสูตรที่เรียน (ร้อยละ 17.2)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท